ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก


“โปรดทราบ เครื่องบินของสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG461 พร้อมแล้วที่จะออกเดินทางไปยังเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ขอเชิญผู้โดยสารทุกท่านขึ้นเครื่องได้ ณ ทางออกหมายเลข E1 ขอบคุณค่ะ”

สิ้นเสียงประกาศจากสายการบิน ฉันได้ยินความคิดพึมพำ

ยังไม่อยากเชื่อว่าตัวเองจะกล้าเดินทางออกนอกทวีปคนเดียวจริงๆ ทั้งตื่นเต้นและกังวล แม้จะรู้ว่ามีน้องสาวรอรับที่สนามบินปลายทาง แต่การอยู่บนเครื่องบินท่ามกลางชาวต่างชาติหลายชั่วโมงนั้นน่าอึดอัด เสียงพูดคุยรอบตัวเวลานี้เป็นภาษาที่ฉันฟังเข้าใจเพียงเล็กน้อยและไม่อาจสื่อสารได้ นั่นเป็นเหตุผลให้ตัดสินใจเก็บกระเป๋าออกจากบ้านเกิดไปเริ่มต้นเรียนภาษาอย่างจริงจัง

ความรู้สึกเวลานี้ ไม่ต่างจากการไปโรงเรียนครั้งแรกในวัยเด็ก

เด็กหญิงม้งคนนั้นไม่รู้จักภาษาไทยแม้แต่คำเดียว

เดาไม่ได้เลยว่าชีวิตข้างหน้าต้องเจออะไรบ้าง จะอยู่โดยไม่มีพ่อกับแม่ได้หรือ จะคุยกับคนอื่นรู้เรื่องไหม แต่ไม่ว่าจะกลัวอย่างไรก็ถูกพ่อบังคับให้ไปโรงเรียนอยู่ดี

นั่นเป็นครั้งแรกที่ต้องจากหมู่บ้านในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นหมู่บ้านตัวเอง

พ่อพาลูกสาววัย ๖ ขวบ เดินเท้าตามเส้นทางเล็กๆ ไปยังอีกหมู่บ้านซึ่งห่างประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ทางสายเล็กนี้หากเป็นฤดูฝนจะลื่นและเป็นหล่มโคลน ถึงหน้าแล้งจะมีฝุ่นดินฟุ้งกระจาย ฉันเดินตามพ่อข้ามภูเขาลูกแล้วลูกเล่า บางช่วงเป็นป่าทึบจนแสงอาทิตย์ไม่สามารถลอดผ่านถึงตัว มีเสียงนกนานาชนิดร้องระงมจนแยกไม่ออกว่าเป็นเสียงชนิดใด บางช่วงมีต้นไม้พอร่มรื่น บางช่วงเป็นป่าปาล์มสลับกับทุ่งหญ้า อากาศเย็นสบายได้ยินเสียงใบไม้ใบหญ้าที่ไหวตามแรงลม
ตลอดระยะทาง ฉันไม่เคยนับว่าเดินข้ามภูเขากี่ลูก เพราะพ่อมักบอกว่า

“ถ้ามัวนับทุกก้าวและจดจ่อที่ปลายทางมากเกินไปจะทำให้รู้สึกเหนื่อยและหมดแรง แต่ความสนุกระหว่างทางจะทำให้เราไม่รู้สึกเหนื่อยและถึงปลายทางได้เร็วขึ้น”

ความสนุกที่พ่อว่า อยู่ตรงที่พ่อจะเดินจูงมือและคอยเล่านิทานให้ฟัง เล่าเรื่องหนึ่งจบก็เล่าเรื่องใหม่ บางครั้งเป่าใบไม้เป็นเสียงเพลงขับกล่อม ถ้าขาสองข้างของฉันอ่อนล้าจนก้าวตามไม่ทัน พ่อจะให้ขี่หลังจนหายเหนื่อยค่อยกลับลงมาเดินเอง สลับแบบนี้ไปเรื่อยๆ

บางครั้งฉันกับพ่อเจอกิ่งไม้แห้งหล่นขวางทางเดิน แทนที่จะเดินอ้อมและข้ามไป พ่อจะเดินตรงไปหากิ่งไม้นั้น แล้วเก็บให้พ้นทางเดิน

“เราเป็นคนที่มาเจอก่อนก็เก็บให้เรียบร้อย เผื่อคนอื่นมาทีหลังจะได้เดินสะดวก”

สิ่งที่พ่อทำไม่ใช่แค่งานจิตอาสาเล็กๆ ยังสะท้อนการใช้ชีวิตอย่างคนไม่หนีปัญหา

เมื่อเดินจนเหนื่อย เราจะพากันนั่งพักใต้ต้นไม้ข้างทาง หิวก็แกะข้าวที่แม่เตรียมให้

ข้าวฝีมือแม่อร่อยที่สุด แม่ใช้ใบตองสีเขียวห่อข้าวที่ยังร้อน แล้วมัดห่อให้แน่นด้วยตอกไผ่ เมื่อไรที่เปิดห่อข้าวจะได้กลิ่นหอมของข้าวสุกและใบตองสดเคล้ากัน เป็นข้าวที่ให้รสอร่อยและความรู้สึกชื่นใจ

ใช้เวลาเกือบ ๔ ชั่วโมง จึงเดินถึงหมู่บ้านหนึ่งซึ่งเจริญกว่าหมู่บ้านของฉันนิดหน่อย

เพื่อไปขออาศัยขึ้นรถยนต์ของญาติไป “โรงเรียนในเมือง” ซึ่งก็ยังเป็นเพียงโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งในชนบทห่างไกล แต่นับว่าเป็นสถานที่สำคัญมากสำหรับเด็กๆ ชาติพันธุ์อย่างพวกเรา

ที่โรงเรียน ฉันกลายเป็นคนใบ้ พูดไม่เป็น ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่รู้แม้แต่ชื่อภาษาไทยของตัวเอง เพราะที่บ้านเรียกกันแต่ชื่อชนเผ่า ต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่หลายเดือนกว่าจะรู้ว่า “เด็กหญิงรัตนา แซ่ท้าว” ที่ครูเรียกแล้วไม่มีคนขานรับ คือชื่อของตัวเอง

หลังจากที่ฉันออกจากหมู่บ้านไปเข้าโรงเรียนในเมืองไม่นาน ก็รู้ข่าวว่าทุกคนในหมู่บ้านของเราถูกบังคับให้ย้ายออกจากพื้นที่เดิมด้วยเหตุผลว่าหมู่บ้านของเราอยู่ใน “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก” ในพื้นที่จังหวัดตาก

เมื่อชาวเผ่าม้งย้ายออกมาอยู่นอกป่า วิถีชีวิตเดิมก็มีอันปรับเปลี่ยน ฉันไม่มีโอกาสได้กินข้าวหอมๆ ห่อใบตองของแม่อีกเลย ใครๆ พากันใช้กล่องพลาสติกหรือปิ่นโตใส่ข้าวแทน

“อีกสักครู่เจ้าหน้าที่จะบริการอาหารเช้าให้กับผู้โดยสารนะคะ”

เสียงประกาศของแอร์โฮสเตสปลุกฉันจากโลกของเด็กหญิงที่ไม่รู้จักชื่อไทยของตัวเองกับข้าวห่อใบตองฝีมือแม่ และไม่นานเกินรออาหารสไตล์ยุโรปชุดใหญ่ก็เสิร์ฟอยู่ตรงหน้า

ระหว่างเส้นทางเครื่องบิน ฉันนั่งจินตนาการถึงอนาคตที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ชั่วโมง

ครั้งหนึ่งมีพ่อพาเดินเท้าลงจากดอยไปเริ่มต้นเรียนภาษาไทย

ครั้งนี้นั่งเครื่องบินออกนอกทวีปเองไปเริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษ

ฉันในวัย ๓๐ ปีกำลังจะกลับไปเข้าเรียนเช่นเด็กหญิงวัย ๖ ขวบ

แม้ไม่มีพ่อจูงมือมา ๒๓ ปีแล้วนับแต่พ่อจากไป แต่คำสอนยังนำทางให้ลูกเสมอในทุกที่ที่ไป

“ท่านผู้โดยสารครับ ขณะนี้เราได้นำท่านมาสู่ท่าอากาศยานทัลลามารินเมลเบิร์น รัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลียแล้วครับ…”


ป้าเขียว
คือชื่อที่เพื่อนเรียกมากกว่าชื่อไทย รัตนา ด้วยดี หรือชื่อม้ง NplaimThoj (บล่าย ท่อ) อาจเพราะเป็นหนอนหนังสือตัวเล็กๆ ที่หลงรัก “สีเขียว” เป็นชีวิตจิตใจ แม้จะเกิดในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแต่เชื่อว่า “บ้าน” คือที่ไหนก็ได้ที่มีความรักและความสบายใจ

…….

สุชาดา ลิมป์
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน