ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
โดย ทีมฉันเพล(ย์)

“ตั้งจั้ง” คือขั้นตอนการตากกองธูปบนลานปูนให้แห้งสนิทเสมอกัน ตากกลางแดด วิธีการคือ จับเต็มกำมือ เคาะ แล้วบิด ได้จังหวะจึงปล่อยฉับให้ก้านธูปคลี่บาน เพื่อโอบรับความร้อนให้เนื้อฝุ่นแห้งสนิท

ฝุ่นจันขาวฟุ้งกระจายจับไปทั่ว ทั้งเนื้อหนัง ใบหน้าและเส้นผม คงเหลือไว้แต่บริเวณรอบปากและจมูกเพียงเท่านั้นที่โมเลกุลขนาดเล็กไม่สามารถเข้าไปเกาะได้เพราะมีหน้ากากอนามัยช่วยปกปิด “ฝัด” ศัพท์ที่เธอใช้เรียกกลวิธีส่วนหนึ่งในการทำ สองมือประสานกำก้านไม้แน่นสนิท ก่อนจะกระหน่ำฝัดลงไปบนผงขาวในกระบะไม้ตรงหน้า …เธอกำลังทำธูป

ธูป มาจากภาษาบาลี แปลว่าเครื่องหอม สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานบันทึกเรื่องธูปไว้ว่า แรกเริ่มเดิมทีคนเราก็ใช้วิธีโยนของหอมเข้ากองไฟกันดื้อๆ ปล่อยให้กลิ่นกำจายออกมาจากกลุ่มกองไฟ ต่อมาจึงวางไว้ในเตา มีจานรอง เพื่อให้สะดวกต่อการพกพาไปไหนมาไหน ส่วนธูปแบบมีก้านก็ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่ ธูปแบบแท่งนี้นิยมใช้ในหมู่ชาวตะวันออกมากกว่า

เมื่อเวลาผ่านไปธูปเปลี่ยนหน้าตาและวัสดุไปหลากหลายรูปแบบ ทั้งอัดเป็นกรวย ปั้นเป็นแท่ง ทำด้วยไม้หอมราคาแพงบ้าง ทำด้วยขี้เลื่อยไม้แล้วเติมน้ำหอมเข้าไปแทนเพื่อประหยัดต้นทุนและทำกำไรบ้าง แต่สิ่งที่ยังคงเป็นไปไม่เปลี่ยนแปลงนั่นคือจุดประสงค์ของธูปที่ถูกจุดจนร้อนลุกไหม้ ส่งควันลอยเอื่อย พร้อมหอบเอาความเชื่อ คำอธิษฐาน และการบูชาของผู้คนขึ้นไปบนฟ้า ไปหาภพภูมิหน้า หรือสสารลึกลับที่ตาเนื้อของมนุษย์มองไม่เห็น

ธูปที่ถูกจุดจนลุกไหม้ส่งควันลอยเอื่อย หอบเอาความเชื่อ คำอธิษฐาน และการบูชาของผู้คนขึ้นบนฟ้า

โรงงานธูปพรหมเศรษฐีที่มีห้องโถงโรงงานเล็กๆ เป็นสถานที่ขับเคลื่อนกระบวนการผลิตธูป วันไหนบ่ายแก่จัดในลานพื้นที่โล่งด้านหน้าจะเป็นที่ตากธูป

ธูปสีตามวันเกิด สื่อความหมายสีประจำวันต่างๆ ใน 1 สัปดาห์ สีของธูปมาจากสีของธรรมชาติบ้าง สีสังเคราะห์เฉพาะของธูปบ้าง เช่น สีฟ้าสกัดมาจากฝาง สีเขียวสกัดมาจากใบเตย

ความศรัทธาในพระพรหมตั้งแต่แรกของคุณอ้วน เจ้าของโรงงานเล็กๆ แห่งนี้ จนนำมาสู่การตั้งชื่อโรงงาน เข้าสู่ตลาดการค้าขายธูปจนถึงทุกวันนี้

ประภัสสวา ศรีดี หรืออ้วน ชาวบ้านเเหลม จังหวัดสุพรรณบุรี เดิมเป็นลูกจ้างผลิตธูปในโรงงานแห่งหนึ่ง เธอคลุกคลีกับธุรกิจธูปมาตั้งแต่เล็ก ขณะที่พ่อแม่รับเหมาก่อสร้างอยู่ในไซต์งานตามต่างจังหวัด อ้วนในวัย 8 ขวบที่ติดสอยห้อยตามไปก็เริ่มห่อธูปขายเป็นอาชีพเสริมแล้ว

“พี่รับจ้างห่อธูปตั้งแต่ 8 ขวบ ตอนนี้อายุ 32” เธอเล่ากลั้วหัวเราะขณะย้อนความหลัง “สมัยนั้นห่อหนึ่งเรียกเป็นแหนบ ห่อได้ 100 แหนบก็ได้เงิน 7 บาท วันหนึ่งห่อ 1,000 แหนบก็ 70 บาท สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ 3 บาท เราก็ดีใจที่ได้เงินกินขนม” ท่ามกลางบรรยากาศร้อนระอุจนเหงื่อไหล พี่สาวของอ้วนกำธูปหลากสี บิดแล้วปล่อยฉับให้กำธูปคลี่บาน ก้านชี้ไปรอบทิศเป็นรัศมีรูปพลุ เรียกว่าขั้นตอนการ “ตั้งจั้ง” เพื่อตากกองธูปบนลานปูนให้แห้งสนิทเสมอกัน ถัดไปด้านในเป็นห้องโถงโรงงานเล็กๆ กลางกองวัสดุเรียงรายมีแม่ของอ้วนคุมกิจกรรมการปั้นธูปใหญ่อยู่ผู้เดียว ข้างตัวมีธูปที่ทำเสร็จแล้วปักเรียงรายตากไว้บนกระถางทราย

อ้วนเล่าว่าเมื่ออายุ 12 ขวบก็ออกมาทำธูปอย่างเต็มตัว “ตอนแรกก็ยอมรับว่าพี่อายเพราะเป็นคนที่เด็กสุดในบรรดาคนขายธูป” พออายุย่าง 17-18 เธอก็กำเงิน 1 หมื่นบาทมาลงทุนทำแบรนด์ธูปของตัวเอง ใช้ชื่อว่า “ธูปหอมพรหมเศรษฐี”

“เอาคำว่า ‘พรหม’ มาก่อนเพราะเรานับถือพระพรหม เราอยากค้าขายดี เราเลยเอาคำว่า ‘เศรษฐี’ มาต่อท้ายแล้วกัน เราก็ไปทำตราสัญลักษณ์จนมีบ้านหลังนี้ขึ้นมา เพราะมาจากคำว่า ‘พรหมเศรษฐี’ นี่แหละเราเลยมีเงิน พี่มีศาลพระพรหมอยู่ที่โรงงาน ส่วนมากก็จุดธูปไหว้ขอเรื่องกิจการ ขอให้ลูกค้าโทร.มา ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นก็โทร.มาเลย”

อย่างไรก็ตามเธอเล่าว่าอุปสรรคของธุรกิจขายธูปคือธูปสีขาวธรรมดาที่ขายกันมีราคาคงที่มานานหลายปีแล้ว ไม่ว่าค่าครองชีพจะขึ้นหรือลง ธูปก็ยังไม่ได้รับอนุญาตจากบรรดาผู้มีศรัทธาให้ขึ้นราคา ซ้ำในวันที่ธุรกิจธูปต้องต่อสู้กับข่าวเรื่องสารปนเปื้อนก่อมะเร็งในธูป เธอเล่าว่ารายได้หายไปกว่าครึ่ง แม้เธอจะยืนยันว่าส่วนประกอบทุกอย่างของธูปจากโรงงานแห่งนี้มาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นก้านธูปที่ทำมาจากไผ่สีสุกจากอยุธยา ตัวธูปทำมาจากขี้เลื่อย ก๊อแดง จันขาว และแป้งอัลฟา แตกต่างจากธูปอื่นๆ ที่มักใช้ดินประสิวเพื่อเพิ่มน้ำหนักและโซดาไฟเพื่อติดไฟง่าย แต่ใช้แล้วก็จะเป็นอันตราย

“ตอนที่มีข่าวเรื่องมะเร็งยอดขายก็ตกไปเยอะ ดีที่ช่อง 9 เขามาถ่ายรายการทีวี ก็เอางานวิจัยมาเล่าว่า เออ ที่เราทำมันปลอดภัยนะ พอคนได้ดูรายการลูกค้าก็กลับมาเหมือนเดิม” เธอเล่าถึงประสบการณ์การปรับตัวครั้งใหญ่ในชีวิตธุรกิจ “แต่เราก็มาคิดได้ว่าจะขายแค่ธูปขาวก็ไม่ได้แล้ว เลยทำธูปหอมประจำวันเกิดขึ้นมา ให้คนซื้อไปเอาไหว้พระได้ เพราะยังไงคนก็รู้จักพระประจำวันเกิดของตัวเองอยู่แล้ว จะได้ไหว้พระที่ตรงกับตัวเองด้วย” อ้วนเชื่อว่าตลาดธูปจะไม่ล้มหายไปง่ายๆ จากธูปขาวเธอก็เริ่มทำธูปหอมเจ็ดสีประจำวันเกิด ขายเป็นห่อ ห่อละ 6 ดอกไปจนถึง 21 ดอก ตัวเลขที่ต่างกันไปในแต่ละห่อแฝงไว้ด้วยความเชื่อเรื่องกำลังวันในทางโหราศาสตร์ ส่วนในทางเศรษฐศาสตร์อ้วนตั้งราคาขายในราคาห่อละ 15 บาทถ้วนทุกห่อ ต้นทุนอาจลดหลั่นกันไปตามจำนวนธูปในแต่ละห่อแต่ละวัน อย่างวันศุกร์มีต้นทุนเฉลี่ยมากที่สุดเพราะต้องใช้ธูปมากถึง 21 ดอก

แต่รวมแล้วก็ยังได้กำไรมากกว่าธูปขาวธรรมดา เพราะธูปหอมประจำวันเกิดนี้มีราคากิโลกรัมละ 100 บาท แพงกว่าธูปแบบธรรมดาที่น้ำหนักเท่ากันถึงสองเท่า นอกจากนี้อ้วนยังมีธูปใหญ่สำหรับจุดในงานศพ ธูปไหว้พระ และกำยานแบบต่างๆ ไว้คอยท่าบริการแก่ลูกค้าผู้มีความเชื่อและมีกำลังทรัพย์อีกด้วย

คนงานกำลังทำการฝัดธูปเพื่อขึ้นรูปทรงของก้านธูปอย่างขะมักเขม้นจนเห็นท่อนแขนเลอะละอองธูปเป็นคราบขาว เป็นขั้นตอนสำคัญที่เปลี่ยนจากก้านไม้ธรรมดาให้เป็นก้านธูปที่ศักดิ์สิทธิ์และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

จากละอองเล็กๆ นับล้านที่อยู่ในกระบะ นับแสนลอยอยู่ในอากาศ นับหมื่นเกาะเกี่ยวก้านไม้ที่กำลังจะแปลงร่างไปเป็นธูป

ขั้นตอนการห่อธูปที่รวดเร็วและชำนาญของคุณอ้วนที่มีก้นซองห่อเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ให้ความหมายว่า พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

อุปกรณ์ในการห่อธูปพร้อมส่งไปจำหน่ายที่ร้านค้าและวัดวา

ธูปหลากสีแบตากแดดสะพรั่งเหมือนกำลังบูชาพระอาทิตย์

เพราะอะไรธูปก้านน้อยๆ จึงเป็นที่นิยมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมาย ความเชื่อที่แพร่หลายในสังคมไทยนี้อาจตรงกับที่ เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) นักปรัชญาชาวอังกฤษและนักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เมื่อปี 2439 เคยกล่าวไว้ว่า มนุษย์นั้นยึดเหนี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นเป็นเพราะมนุษย์มี “ความกลัว” ซึ่งความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อาจเป็นที่พึ่งของมนุษย์ในสังคมที่ระบบไม่สามารถจัดการกับความกลัวของคนได้เช่นนี้ เช่นเดียวกันชีวิตในวิถีการเกษตรแบบรอฟ้าฝนก็น่ากลัวว่าจะเป็นอย่างไรในวันหน้า คนจำนวนไม่น้อยจึงยังคงยึดมั่นศรัทธาในการจุดธูปขอพรจากพระแม่โพสพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าจะช่วยปกปักรักษานาข้าวให้รอดพ้นจากน้ำท่วม ที่ชาวบ้านตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ต้องเผชิญทุกปี เฉลี่ยปีละกว่า 3-4 เดือน

อ้วนใช้เวลาก่อร่างสร้างตัว สร้างความสนิทชิดเชื้อกับลูกค้าจนสามารถก้าวมาเป็นผู้ขายรายใหญ่ ทั้งที่มีกำลังผลิตในครอบครัวเพียงแม่ ลูก หลาน แค่สามรุ่น แต่ด้วยความเชื่อในพระพรหมนำมาสู่การผลิตธูป จึงเป็นอีกสิ่งที่นำรายได้มาให้ เช่นเดียวกันกับที่ลูกค้าน้อยใหญ่ที่ซื้อธูปของอ้วนเพื่อให้ควันธูปนำความหวังมาสู่ผู้คน สำหรับเธอธูปเป็นทั้งรายได้ เป็นสื่อ และความผูกพันที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ครั้งยังมีเงินไม่มาก กระทั่งมั่นคง-มั่งมี

“ถ้าถามว่าเราค้ากำไรกับความเชื่อคนไหม พี่ว่าเป็นเรื่องปรกติที่จะซื้อขายธูป อย่างเวลานึกถึงการตื่นเช้ามาใส่บาตร คนก็คิดถึงธูปเทียนเป็นอันดับ 1 แล้ว”

เพราะความเชื่อยังมี ธูปจึงยังมีอยู่ถึงปัจจุบัน

รับธูปไปจุดบูชาสักกำไหมจ๊ะ