โครงเรื่อง : ของต้องมีก่อนสร้างงาน

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ภาพโดย ณัฐพล สุวรรณภักดี

โครงเรื่องเปรียบเหมือนแบบแปลนที่เราจะสร้างบ้าน เป็นเค้าโครงความคิด เพื่อกำหนดทิศทางทำงานของเราเอง และเพื่อสื่อสารกับคนอื่น

จะเขียนออกมาหรือไม่ก็ตาม ทว่าก่อนจะสร้างสรรค์งานเขียนสักเรื่อง นักเขียนต้องวางโครงเรื่อง กำหนดขอบเขตเนื้อหา เป็นหลักยึดให้เราทำงานได้อย่างไม่หลุดลอยออกนอกเรื่องที่ต้องการจะเล่า

ยิ่งหากต้องสื่อสารกับทีมงานอย่าง ช่างภาพ หรือต้องเสนอ บ.ก. เพื่อพิจารณา โครงเรื่องที่ละเอียด ชัดเจน น่าสนใจ ก็ยิ่งมีความจำเป็นอย่างสำคัญ เฉกเช่นเค้าโครงบทหนังที่จะยื่นขอ(นาย)ทุนมาสร้างเป็นภาพยนตร์ฉันนั้น

โครงเรื่องเป็นเค้าโครงความคิด จึงต้องเริ่มจาก แนวคิด — ว่าทำไมเราต้องเล่าเรื่องนี้?

ถามตัวเอง-เพื่อคิดแทนคนอ่านว่า เขาจะได้อะไรเมื่ออ่านงานเขียนเรื่องนี้

คำตอบที่ได้นั่นหมายถึง–ประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับ ซึ่งจะย้อนกลับมาตอบโจทย์คนเขียนว่า ในเมื่อมีประโยชน์ก็ย่อมต้องมีคนอ่านงานเขียนชิ้นนี้

จากนั้นก็ลงรายละเอียดว่าจะหยิบจุดไหนมาเป็นหัวใจของเรื่อง สิ่งนี้เรียกว่า ประเด็นหลัก

ส่วนเรื่องแวดล้อมอื่นๆ เป็นประเด็นรอง หรือ ประเด็นย่อย ซึ่งยิ่งเยอะจะยิ่งช่วยให้เรื่องหนักแน่น รอบด้าน มีสีสันน่าสนใจ เปรียบได้กับเสารองรับตัวบ้าน ยิ่งมากยิ่งมั่นคงแข็งแรง

สุดท้ายคือ พื้นที่ แหล่งข้อมูล และตารางการทำงาน

เพื่อกำหนดการและวางแผนให้ตัวเองว่า จะเก็บข้อมูลที่ไหน จากใคร วันเวลาใด

ทำให้เราลงพื้นที่ได้อย่างมีเป้าหมายและมองเห็นภาพ ทั้งการค้นคว้า ลงสัมผัสพื้นที่ และเจาะจงตัวบุคคลที่จะสัมภาษณ์ พูดคุยหาข้อมูล สารคดีบางเรื่องขึ้นกับช่วงเวลาหรือรอบฤดูกาล เราก็จะลงพื้นที่ได้ถูกจังหวะโดยไม่คว้าน้ำเหลว

เพื่อให้เห็นรูปธรรมของคำกล่าวดังว่ามานี้ได้ชัดเจนขึ้น ขอยกตัวอย่างโครงเรื่อง ก่อนจะมาเป็นสารคดี “หัวเราะและน้ำตา ในทุ่งกุลาร้องไห้”

หัวข้อเรื่อง ทุ่งกุลาร้องไห้

แนวคิด

เมื่อได้ยินชื่อ ทุ่งกุลาร้องไห้ คนส่วนใหญ่นึกเห็นแต่ความแห้ง ซึ่งคงไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะมีหลักฐานว่ามีชุมชนอารยธรรมโบราณตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่แถบนั้นมานับ ๔ พันปี สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ที่กำลังมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในฐานะแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิดีที่สุดในโลก

ยังมีอะไรอื่นอีกบ้างอยู่ในทุ่งกุลา?

ประเด็นหลัก
ข้าวหอมมะลิ และแหล่งอารยธรรมโบราณ

ประเด็นย่อย

  • สภาพภูมิเทศ พื้นที่ ขอบเขต ของทุ่งกุลา
  • วิถีชีวิตผู้คนและการเกษตรกรรมในทุ่งกุลา
  • ตำนานพื้นบ้าน ที่มาของชื่อทุ่งกุลา
  • ข้อมูลวิชาการทางธรณีวิทยา โบราณคดี
  • ความเป็นมาและความเปลี่ยนแปลงของทุ่งกุลา
  • การเลี้ยงสัตว์ และชีวิตนายฮ้อย
  • ความเป็นแหล่งปลาน้ำจืด
  • แหล่งต้มเกลือโบราณ
  • ไม้ยูคาลิปตัว

พื้นที่ แหล่งข้อมูล และตารางการทำงาน

  • ลงพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ใน 5 จังหวัด 2 ล้านไร่ เจาะจุดเด่น เช่น ชุมชนชาวทุ่งกุลา บ่อพันขัน ลำพลับพลา ชุมชนที่มีชื่อปรากฏในตำนาน บ้านเมืองบัว แหล่งโบราณคดี ชุมชนนายฮ้อย นาข้าวหอมมะลิ ๓ ครั้ง ในหน้าร้อน หน้าน้ำหลาก และในฤดูเก็บเกี่ยวข้าว
  • ค้นคว้าข้อมูล งานเขียนที่มีคนเขียนถึงทุ่งกุลา วิดีโอ เพลง บทกวี หนัง ที่เกี่ยวกับทุ่งกุลา
  • เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์
  • ลองกินข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา
  • สัมภาษณ์ นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องทุ่งกุลา เอ็นจีโอที่ทำงานในทุ่งกุลา เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบพื้นที่ นายฮ้อย ปราชญ์พื้นบ้าน นักโบราณคดี ชาวนา เจ้าของโรงสี คนต้มเกลือ ใครและใครอื่นๆ ฯลฯ

ได้โครงเรื่องแล้วก็เหมือนนักเดินทางที่มีแผนที่ ออกเดินได้อย่างมั่นใจต่อเป้าหมาย

ในพื้นที่เราอาจพบว่าเส้นทางเปลี่ยนไป เจอทางลัด หรือเจอทางใหม่ที่เราเป็นผู้บุกเบิกเอง ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เช่นเดียวกับการทำงานเขียน เมื่อลงพื้นที่จริงบ่อยครั้งสถานการณ์ไม่เป็นดังแผนการที่ร่างไว้ และมีมากเช่นกันที่จะเจอแง่มุมใหม่ ที่ “สด” และน่าสนใจกว่าที่เคยรู้มาก่อน เจอแหล่งข้อมูล “ตัวจริง” ที่เราไม่เคยรู้จัก ในสถานการณ์เช่นนั้นเราสามารถเพิ่มเติม บวก ลด ปรับเปลี่ยนโครงเรื่องได้หมดโดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นตายตัว

โครงเรื่องคือเค้าโครงร่างความคิด แต่ไม่ใช่กรอบเกณฑ์ที่ต้องยึดถือแบบออกนอกลู่ทางไม่ได้

มีโครงเรื่องไว้เสมือนแผนที่ แต่เรื่องราวรายทางระหว่างออกเดินนั่นแหละ คือเนื้อแท้ในงานสารคดี


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา