ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
เรื่องและภาพ : กลุ่มหยับนิ้ว
การปักตาเหลวยังคงดำเนินต่อไป เช่นเดียวกันกับความเชื่อเรื่องแม่โพสพที่ยังอยู่คู่กับชาวนา
“ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง…”บทอาขยานคุ้นหูที่ทำให้เรานึกถึงคุณค่าของเมล็ดข้าวซึ่งเคยท่องจำกันมาแต่เด็ก เพราะข้าวในคติความเชื่อแห่งชาวไทยหาใช่เพียงเมล็ดพืช แต่คือสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตของคนไทยมาช้านาน และเป็นที่สถิตอาศัยของเทพยดานามแม่โพสพ
ความเชื่อนั้นเกิดจากความกลัวและความไม่รู้ในธรรมชาติของมนุษย์ ทำให้มีการสร้างนามธรรมอุปมาธรรมชาติให้มีชีวิตเหนือกว่ามนุษย์ถูกยกย่องบูชาในรูปของสิ่งศักดิ์สิทธิ์
เช่นเดียวกันกับความเชื่อเรื่องข้าวที่มีพิธีกรรมตลอดฤดูกาลการเพาะปลูก โดยช่วงที่ชาวนามีความหวังต่อผลที่จะได้ ช่วงที่ทุ่งนาผืนใหญ่ซึ่งกำลังตั้งท้องสีเขียวขจีก่อนที่ข้าวจะออกรวงสีทองอร่ามสุดลูกหูลูกตา
ข้าวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับความเชื่อ “ ตาเหลว” สัญลักษณ์ในพิธีรับขวัญข้าว
เช้าวันทำขวัญข้าว ตามาที่นาพร้อมเครื่องบูชาแม่โพสพ
ตั้งเสาไม้ไผ่ไว้ทิศเหนือ ห้อยตาเหลวและชะลอมผลไม้เก้าชนิด
การแขวนสร้อยคอทองคำบนตาเหลว เปรียบเสมือนการสวมเครื่องประดับให้กับแม่โพสพ
ถนนลูกรังถูกโอบล้อมด้วยทุ่งนาเขียวขจี ท้องฟ้าปลอดโปร่งมีลมพัดเย็นเคล้ากับแสงแดดอ่อนๆ นกหลายชนิดลงมาหาอาหารใกล้ๆ กับคันนา เกษตรกรบางรายกำลังฉีดสารกำจัดศัตรูพืชและหว่านปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งการเจริญเติบโตให้กับต้นข้าว บ้างกำลังรดน้ำแปลงผักสวนครัวแบบยกร่องอยู่
“…ขวัญโว้ย มาเถอะ มาเถอะ” เสียงท่องบทรับขวัญข้าวดังไปทั่วท้องทุ่ง เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าต้นข้าวเริ่มตั้งท้อง สร้างความหวังของชาวนาตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี หวนกลับมาอีกครา
ต้นข้าวบนผืนนากว่า 50 ไร่ของสมวงษ์และ สมปอง ศรีสังข์งาม สองตายายเจ้าของท้องนา เริ่มตั้งท้องช่วงปลายเดือนมิถุนายนพอดิบพอดี ทั้งคู่กำลังเตรียมอุปกรณ์สำหรับประกอบพิธีกรรมทำขวัญข้าว
“เราเชื่อว่าข้าวมีขวัญประจำอยู่ คือคำว่าข้าวไม่ค่อยมีใครลบหลู่ ถึงจะไปเหยียบไปย่ำก็ไม่อยากทำ จะยกย่องตลอด” ตากล่าวขณะนำตะกร้าผลไม้ออกจากหาบ
เพื่อให้เกียรติเนื่องในวันพิเศษนี้ การแต่งกายของสมปองจะสลัดจากภาพจำเดิมของชาวนาที่เคยเห็นกันทั่วไป ไม่มีผ้าขาวม้า ไร้ปลอกคลุมแขน แต่เป็นชุดสุภาพสีดำพร้อมเสื้อคลุมเข้าชุดกับกระโปรงจีบ สวมสร้อยคอทองคำพระเลี่ยมทอง และนาฬิกาสีเงิน แลดูแล้วแปลกตาบนท้องนา แต่สวยสง่าเป็นที่สุด อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่สมปองเลือกที่จะใส่ไว้เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์อาชีพของตนนั่นคืองอบ ที่ผ่านทุกข์สุขร้อนหนาวมาด้วยกัน
พืชผักผลไม้เปรี้ยวหวานเก้าชนิดเปรียบเสมือนอาหารที่หญิงสาวมีครรภ์ใคร่รับประทาน ประกอบด้วยสับปะรด เงาะ กล้วย มะพร้าว กระท้อน อ้อย ส้ม ชมพู่ และลองกอง ซึ่งสามารถหาได้ในพื้นที่ชุมชนแห่งนี้ถูกจัดเรียงบนพาน
อีกด้านคือข้าวของเครื่องใช้สำหรับตกแต่งร่างกายของหญิงสาว เป็นเสมือนของตกแต่งที่หยิบยื่นให้กับแม่โพสพได้แต่งตัว ใช้ไม้ตาเหลวหรือไม้ไผ่สานให้มีลักษณะคล้ายจั่วบ้านทรงไทยในสมัยก่อน โดยเชื่อว่าจะเป็นที่พักให้กับแม่โพสพในยามน้ำท่วมได้ จากนั้นปักธงห้อยทองเพื่อเพิ่มความสวยงาม และใช้ใบสะแกตกแต่งเปรียบเสมือนการเป็นหูเป็นตาปกป้องดูแลไร่นา ถัดลงมาจะห้อยชะลอมใส่เครื่องเซ่น กระท้อนและหมากพลู ของเซ่นไหว้ตามวิถีโบราณที่สืบทอดต่อกันมา
สมปอง ศรีสังข์งาม ผู้เป็นภรรยา ค่อยๆ รวบยอดข้าวราวหนึ่งกำมือ จากนั้นใช้กรรไกรตัดแต่งยอดข้าวเสมือนการตัดแต่งผมให้กับหญิงสาว แล้วบรรจงหวีต้นข้าวก่อนจะประแป้งหอมและส่องกระจกให้กับต้นข้าวนั้น พร้อมจัดวางผ้าสไบ ผ้าซิ่น และเสื้อลูกไม้ไว้บนพานเพื่อประกอบพิธีกรรม
ผู้ทำขวัญข้าวมักเป็นผู้หญิง โดยจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้จำพวกผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม พุทรา เพื่อเปรียบโดยนัยว่าข้าวตั้งท้อง เช่นเดียวกับคนเเพ้ท้องมักอยากกินของเปรี้ยว
แต่งตัวให้แม่โพสพ ความเชื่อตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณ รวบใบข้าวเข้ามาแสร้งว่าเป็นผม หวี และตัด
สวยแล้วให้ส่องกระจกดูด้วย
ทำพิธีกล่าวเรียกขวัญข้าวเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำนาปีนี้
พิธีทำขวัญข้าวเป็นพิธีโบราณที่ชาวบ้านยึดถือ เป็นพลังและเพิ่มความสบายใจให้กับชาวนา การทำขวัญข้าวเชื่อว่าต้นข้าวที่กำลังท้องมีขวัญหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองที่เรียกว่าแม่ขวัญข้าวหรือโพสพ จึงทำให้ต้นข้าวเจริญงอกงามดี หากขวัญข้าวไม่อยู่กับต้นข้าวข้าวจะไม่ออกรวง หรือไม่เจริญงอกงามสมบูรณ์
“ทำแล้วเหมือนเป็นพลังใจ” ยายกล่าว
เราล้วนมีความเชื่อเกี่ยวกับข้าวที่ถูกปลูกฝังไว้ในตัวเราตั้งแต่ยังเยาว์วัย
ความเชื่อว่าการกินข้าวไม่หมดถือว่าเป็นบาป
ความเชื่อของชาวนากับการทำตาเหลวเพื่อเป็นความหวังและกำลังใจของชาวนาในพิธีรับขวัญข้าวที่กำลังตั้งท้อง ที่เชื่อว่าจะช่วยไล่เพลี้ย ขับอุปสรรคต่างๆ ที่จะมาทำให้ข้าวนาเสียหาย ตามบทรับขวัญท้องข้าวในพิธีที่ว่า “…มิ่งมาขวัญนา กันนก กันหนู กันปู กันปลา กันตะกวด กันเหี้ย กันเพลี้ยลงนา…”
นี่คือความเชื่อที่เราต่างรู้สึกและยึดถือ
แต่ในความเป็นจริงพวกเราก็ยังคงกินข้าวเหลืออยู่ทุกมื้อ
ในความเป็นจริงเราเห็นป้ายโฆษณายาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี ปักอยู่ตามคันนามากกว่าตาเหลว หรือนี่คือความเชื่อและความหวังใหม่ของชาวนาในปัจจุบัน ที่เชื่อในปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในกระสอบมากกว่าแม่โพสพเหนือทุ่งข้าว