More Media

เก็บตกสาระ แนะนำสื่อภาพยนตร์ และสื่อแขนงอื่นๆ จากที่เห็นและเป็นไป ในและนอกกระแส


ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ไทยเรื่อง “รักแท้บทที่ 1” ผลงานเขียนบทภาพยนตร์และกำกับของ สุเทพ ตันนิรัตน์ ซึ่งออกฉายในปี พ.ศ.2538 เมื่อไม่นานมานี้ หนังในอดีตมักทำให้เรารำลึกย้อนไปได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์ทางสังคมแวดล้อมอย่างไร ผลงานชิ้นนี้ก็พาเรานึกย้อนไปได้เช่นเดียวกันเมื่อมันผ่านมานานกว่า 20 ปีแล้ว รวมไปถึงสาระที่ตกหล่นเมื่อครั้งดูในวันเก่าๆ เพราะเราไม่ได้ฉุกคิดว่าในช่วงเวลาขณะนั้นมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง

ปี พ.ศ.2538 เป็นช่วงขาลงของหนังไทยยุค ‘กระโปรงบานขาสั้น‘ หรือหนังที่เน้นเรื่องราวกลุ่มวัยรุ่นมัธยมสำหรับเอาใจคนดูกลุ่มหลัก ซึ่งเป็นช่วงที่แทบไม่มีหนังกลุ่มนี้ฉายแล้วนอกจากเป็นหนังที่บิดพล็อตมาเป็นแนวทางใหม่ให้ต่างจากเดิม หลังจากความสำเร็จต่อเนื่องของหนังฮอลลีวู้ดที่เข้ามาฉายทันไล่เลี่ยกับต่างประเทศ เมื่อรัฐบาลไทยปรับลดการเสียภาษีฟิล์มจากในอดีตที่เคยมาตรการขึ้นภาษีการนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศ หนังไทยกลุ่มนี้ที่ถูกผลิตจนคนดูอิ่มตัวก็ถูกเมินในที่สุด แม้แต่ไท เอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งขึ้นชื่อว่าแม่นยำในการทำตลาดระดับหนึ่ง ช่วงเวลานั้นก็ลองตลาดใหม่ๆ และล้มเหลวหลายครั้ง รวมถึงการลองกับ “รักแท้บทที่ 1” ที่ต่างไปจากหนังไทยยุคนั้น ผลลัพธ์อาจไม่เจ็บตัวมาก แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จ

ปีนี้เองยังเป็นการมาถึงของธุรกิจโรงหนังมัลติเพล็กซ์เจ้าแรกอย่าง EGV ที่มาแทนโรงหนังสแตนด์อะโลนที่ค่อยๆ โรยราเสื่อมความนิยมไป โรงหนังที่มาแทนช่วงนั้นคือโรงหนังมินิเธียเตอร์ที่นิยมเปิดในห้างสรรพสินค้าหรือย่านการค้าใหญ่ๆ ก็ไม่สามารถตอบสนองคนดูหนังกลุ่มหนึ่งที่ต้องการความคมชัดทั้งภาพและเสียง โรงหนังที่มีมาตรฐานครบตามเทคโนโลยีที่พัฒนาได้ คือโรงหนังสแตนด์อะโลน หรือมินิเธียเตอร์มักมีการเสิรมสิ่งเหล่านี้แต่ไม่ครบ และไม่ได้มีการบำรุงรักษา ไม่นานก็เสื่อมคุณภาพไป

ใน “รักแท้บทที่ 1” ยังเป็นบทบันทึกอีกอย่างนั่นคือการมาของเพลงยุคอินดี้-อัลเทอร์เนทีฟด้วยเพลง ‘ลมหายใจ’ เพลงประกอบภาพยนตร์หลักของเรื่องจาก บอยด์ โกสิยพงศ์ จากอัลบั้ม Rhythm & Boyd ที่วางขายในปีเดียวกันนั้น ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์การบูมขึ้นมาของค่ายเพลงอิสระในบ้านเรา

และอาจเป็นบทบันทึกแรกๆ ของหนังชีวิตคนวัยทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งต่างไปจากอดีตที่หนังไทยถ้าไม่ใช่เรื่องราวความรักในหนังวัยรุ่น หนังรักก็มักเป็นงานที่มีกลิ่นอายของหนังไทยยุค 80s ที่มีเรื่องชิงรักหักสวาทเน้นบทสนทนาเชือดเฉือนจากนิยายแนวโรแมนซ์ซึ่งเคยได้รับความนิยม หนังรักในช่วงดังกล่าวต่างไปจากยุคนี้ที่นิยมสร้างกันมาก เพราะทำออกมาแล้วมักไม่เคยทำเงิน โดย “รักแท้บทที่ 1” ถ่ายบรรยากาศที่สะท้อนความเป็นกรุงเทพฯ ชัดมาก ไม่่ว่าจะเป็นภาพรถราที่ติดตลอดทุกช่วงเวลา ความเครียดของคนทำงานที่มีเรื่องราวการฆ่าตัวตาย หรือก่ออาชญากรรมเพราะอารมณ์ชั่ววูบ ไปจนการทะเลาะเบาะแว้งทั่วไปจากผู้คนมากมายที่เกิดขึ้นได้ในทุกๆ วัน รวมไปถึงอาชีพใหม่ๆ ความรักแบบสมัยใหม่ของผู้คนในเมืองที่ไม่ได้มีบทสรุปแค่แต่งงาน

หน้าฉากหลักมันยังเป็นหนังรัก เรื่องราวความสัมพันธ์ของ ระบิล(ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง) กับ ทิพย์(บุญพิทักษ์ จิตกระจ่าง) ชายหนุ่มมีการศึกษาที่เริ่มประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน เริ่มอยากมีความรัก เขาเริ่มเรียนรู้ผู้หญิงจากหนังสือ “ผู้หญิงของคุณ” หนังสือประเภทฮาวทูขายดี ซึ่งปกหลังเป็นภาพถนนสู่เส้นทางอุดมคติคล้ายกับภาพความฝันที่ระวิ่งไปไม่รู้จบ ราวกับค้นหาคำตอบบางอย่างแก่ชีวิต

หนังมีการมีเพศสัมพันธ์ไปจนอยู่กินกันก่อนแต่งงานแบบเรื่องรักร่วมสมัยโดยไม่ได้มีเพียงคู่เดียว ยังรวมไปถึง เกริก เพื่อนบ้านรวยของระที่เปลี่ยนผู้หญิงไม่เลือก ในขณะเดียวกันก็แอบสะกดรอยตามและหลงดีเจสาวชื่อดัง ,ป้อม ชายหนุ่มที่พยายามปิดบังความรักของตนกับเพื่อนๆ เพราะความกลัวจะถูกล้อจนอับอาย ,ชีวิตคู่ที่ไม่ได้สวยงามของพี่สาวทิพย์ พร้อมๆ กันนั้นยังมีดุสิต เพื่อนอีกคนที่แม้ไม่มีคู่ เขาก็มักทำละครเวทีเกี่ยวกับความรัก นำประเด็นนี้มาถกเถียงเป็นประจำ ก่อนจะคิดจะดัดแปลงงานวรรณกรรมของ ศรีบูรพา เรื่อง ‘สงครามชีวิต’ ให้เป็นละครร่วมสมัยเป็นผลงานเรื่องถัดไป

บุคลิกตัวเอกของเรื่องอย่างระ ที่หนังดูจะไม่ให้ปูมหลังอะไรเลยเมื่อเทียบกับการตามค้นชีวิตนางเอก การกระทำหลายอย่างมันหุนหันพลันแล่นขาดสติไป และท่าทางบุคลิกซื่อๆ ไม่ประสาโลกของเขาก็ดูจะโชคดีเกินจะได้มาเป็นผู้จัดการ กระนั้นก็ตามหากมองจากช่วงเวลาดังกล่าว ระก็คือภาพลักษณ์ของมนุษย์เงินเดือนชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ทั่วไปที่เดินตามตรอกออกตามประตูโดยหวังว่าการทำงานอย่างขยันจะช่วยให้ชีวิตเจริญก้าวหน้า มีเพื่อนร่วมรุ่นต่างฐานะ ผิดกับทิพย์หญิงสาวที่ไม่ได้วิธีการทำงานแบบตรงไปตรงมา มีรูปแบบการใช้ชีวิตแพรวพราวผิดกับตนเอง เธอใช้วิธีสร้างเรื่องเพื่อมาตื๊อขายประกันให้กับเขา ก่อนจะมาปรากฎตัวในมาดขี่มอเตอร์ไซค์ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสาวสวยในชุดทำงานที่ลิฟต์ มิหนำซ้ำยังรู้จักกับคนในวงการโฆษณา และเลือกจบความสัมพันธ์ที่เหมือนจะเดินไปได้ด้วยดีระหว่างเขาอย่างเป็นปริศนาจนสร้างความสับสนว้าวุ่นให้กับชายหนุ่ม เพราะเธอไม่ได้เหมือนกับที่หนังสือฮาวทูอ้างไว้สักนิด

แม้ตัวหนังเองจะมีการสร้างสังคมในเมืองกรุงที่ดูพ้นสมัยไปไม่น้อย ทั้งวิธีการแสดง ภาษาพูดในหนัง ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกของเพื่อนแต่ละคนของระ หรือประเด็นความรักที่ แต่ส่วนที่คิดว่าดีที่สุดก็ยังเป็นการถ่ายทอดวิถีชีวิตในกรุงเทพฯ เพราะน้ำเสียงตัวหนังก็ไม่ได้ชี้ชัดในแง่บทสรุปของพวกเขาว่าอะไรดีไม่ดี หนังเรื่องนี้ที่แม้จะมีน้ำเสียงบ่นการอยากไปใช้ชีวิตต่างจังหวัดของตัวละครหลายคน แต่นั่นก็เป็นแค่การบ่น พวกเขาสุดท้ายก็ล้วนอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อหวังได้พบอิสระอะไรสักอย่างแก่ชีวิต ความรักที่เสรีอาจเป็นหนึ่งในนั้น บางคนพบเจอ บางคนไม่พบ ท่ามกลางความวุ่นวายในเมือง ที่บางครั้งเจ็บ บางครั้งสุข แต่ชีวิตพวกเขาก็ยังเพิ่งเริ่มไม่ต่างกับคนวัยทำงานอีกหลายครั้ง ที่เพิ่งเริ่มต้นกับชีวิต เช่นเดียวกับความรักที่เริ่มต้นเพียงบทแรก

ในอีกด้านหนึ่งการเลือกจบบทสรุปของหนังที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานที่ซึ่งระบิลนึกถึงเพราะเพื่อนบอกว่าจะดัดแปลงละครเวทีให้มีฉากหลังที่นี่ ขณะเดียวกันมันก็เป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองตลอดมา และอ้างอิงบทประพันธ์ของศรีบูรพาเรื่อง “สงครามชีวิต” (โดยให้ตัวเอกมีชื่อที่คล้ายคลึงกัน “ระพินทร์” และ “ระบิล“) นวนิยายรักที่สะท้อนความแตกต่างทางชนชั้นในสังคม จึงเป็นการจงใจให้หนังส่งสารบางอย่าง ในยุคที่ประเด็นการเมืองตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับเก่า(ปี พ.ศ.2484) ยังไม่สามารถถูกนำเสนอได้อย่างตรงไปตรงมา(และนับถึงวันนี้ก็มีหนังน้อยเรื่องมากที่จะนำเสนอประเด็นทางการเมืองที่ถูกแม้จะให้อิสระมากขึ้น ก็ถูกมองว่าขายยาก)

ปี พ.ศ.2538 เองนั้นเพิ่งผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมาเพียง 3 ปี เหตุการณ์ทางการเมืองที่ชนชั้นกลางออกมาร่วมชุมนุมประท้วงให้รัฐบาลของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ที่มาจากการรัฐประหารลาออก จนนำไปสู่การปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก จะด้วยเจตนามากน้อยเพียงใดก็ตามแต่เราก็ได้เห็นความหวังของคนทำหนังที่มีต่อเหตุการณ์นี้ผ่านฉากดังกล่าว

นอกจากบทประพันธ์ของศรีบูรพาจะถูกนำมาใช้เพื่อเฉลยปมชีวิตของทิพย์ และบอกว่าทำไมพวกเขาทั้งคู่จึงไม่อาจรักกันได้ มันยังบ่งบอกคาดหวังการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ ในสังคม

เมื่อทั้งระและทิพย์ได้มานั่งพูดคุยแบบเปิดใจ ทำความเข้าใจชีวิตอีกฝ่ายกลางอนุสาวรีย์ฯ จนเกิดคำถามต่อหญิงสาวว่า “ผมไม่มีทางจะทำอะไรให้มันเปลี่ยนแปลงไปได้เลยเหรอ ?”

หลังการร่ำลา ชายหนุ่มเผลอหลับหลังการตามหาหญิงสาวมานานจนอ่อนเพลีย ตื่นขึ้นมาเขาก็ถูกถูกตำรวจล้อมเพราะเข้าใจผิดว่าเขาเป็นคนร้าย ไม่ใช่เป็นปัญหาระหว่างคนสองคน ก่อนหญิงสาวจะเข้าไปหาทางช่วยไม่ให้เหตุการณ์บานปลาย และจูบเขาอย่างดูดดื่มต่อหน้าสาธารณชน

หนังจึงเป็นบทบันทึกความรู้สึกต่อเหตุการณ์ในปี พ.ศ.2535 และเป็นดังบทที่ 1 อีกครั้งของการมีเสรีภาพของสังคมในเมืองใหญ่ที่พวกเขาต่างรู้ว่ามีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี แต่พวกเขาก็เชื่อว่าทุกอย่างจะแก้ไขได้หากพูดคุยทำความเข้าใจกันจริงๆ

เช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างโรงหนัง วงการเพลง และความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจอันเกิดในช่วงดังกล่าวที่ภายหลังก็ล่มสลายเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง(วิกฤตการณ์การเงินปี พ.ศ. 2540) หรือการรัฐประหารในประเทศที่เกิดขึ้นอีกครั้ง

เพราะสุดท้ายพวกเขาก็ไม่ได้เข้าใจมันจริงๆ หรือคาดเดาได้ว่าหลังเกิดเหตุการณ์นี้จะเป็นอย่างไร

หากการแสวงหาทางออกที่คับข้องในเวลานั้นต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ

หมายเหตุ : การโต้ตอบกันทางจดหมายใน “สงครามชีวิต” ของศรีบูรพา ยังได้กลายเป็นแรงบันดาลใจเป็นภาพยนตร์เรื่อง October Sonata รักที่รอคอย (2552) ของผู้กำกับ สมเกียรติ วิทุรานิช เพื่อบอกเล่าความรักที่วนเวียนกับการเมืองไทยระหว่าง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ถึงพฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 อีกด้วย

ภาพจาก : Mthai และสามารถชมหนังแบบถูกลิขสิทธิ์ได้ทางเว็บ Seeme


yuttipung

ยัติภังค์

อดีตนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ที่มีงานหลักเลี้ยงลูก มีความบันเทิงจากการดูหนังฟังเพลงเป็นยาใจพอให้ได้ขีด