เก็บตก
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี
สภาพน้ำท่วมท้ายเขื่อนหลังสันเขื่อนย่อยกั้นช่องเขาส่วน D หรือ Saddle Dam D ในโครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก เมื่อคืนวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑ (ภาพ : ครอปภาพจากเฟสบุค Attapeu Today)
หากเปิดแผนที่เขื่อนบนแม่น้ำโขง ของโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า (TERRA) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๘ จะพบว่าลาวเป็นประเทศที่มีโครงการสร้างเขื่อนตามแนวแม่น้ำโขงมากกว่า ๔๐ แห่ง มากกว่าจีน ไทย กัมพูชา เวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ละแวกเดียวกัน
อาจเพราะแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านลาวซึ่งมีระยะทางประมาณ ๑,๘๓๕ กิโลเมตร มีแม่น้ำสาขาไหลลงมาเติมน้ำหลายสาย ต่างก็เป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลลงมาจากภูเขา ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าต้นน้ำ ความลาดชันของพื้นที่ ทำให้แม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาในละแวกนี้มีคุณสมบัติที่จะสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ
ยกตัวอย่างในพื้นที่ลาวเหนือ เพียงแค่แม่น้ำอูสายเดียวก็มีโครงการสร้างเขื่อนถึง ๗ แห่ง ตั้งแต่เขื่อนน้ำอู ๑ ถึงเขื่อนน้ำอู ๗ เฉพาะแม่น้ำงึมมีโครงการสร้างเขื่อนอย่างน้อย ๕ แห่ง ขณะที่แม่น้ำลิกที่ไหลมาบรรจบแม่น้ำงึมก็มีการสร้างเขื่อน คือ เขื่อนน้ำลิก ๑ เขื่อนน้ำลิก ๒ แม่น้ำซองที่เป็นสาขาของแม่น้ำลิกก็มีการสร้างเขื่อนน้ำซองแล้ว
เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในลาวได้ถูกสร้างขึ้นทั้งบนแม่น้ำโขงสายประธานหรือสายหลัก แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง แม่น้ำสาขาของแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เรียกว่าสร้างเขื่อนตั้งแต่เส้นเลือดใหญ่ไปถึงเส้นเลือดฝอย
เขื่อนเหล่านี้มีทั้งเขื่อนที่สร้างเสร็จและเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว เช่น เขื่อนน้ำงึม เขื่อนน้ำงึม ๒ เขื่อนน้ำงึม ๕ เขื่อนเทินหินบูน เขื่อนน้ำเทิน ๒ เขื่อนน้ำลึก เขื่อนห้วยเฮาะ ฯลฯ
เขื่อนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น เขื่อนไซยะบุรี (บนแม่น้ำโขงสายประธาน) เขื่อนดอนสะโฮง (บนแม่น้ำโขงสายประธาน) เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เขื่อนเซกามาน ๑ เขื่อนเซกามาน ๓ ฯลฯ
เขื่อนที่อยู่ในแผนการก่อสร้าง อาทิ เขื่อนปากแบ่ง เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนน้ำเทิน ๑ เขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนลาดเสือ เขื่อนภูงอย เขื่อนท่าค้อ ฯลฯ
เขื่อนหลายแห่งตามลำน้ำโขง มีทั้งเขื่อนที่ดำเนินการแล้ว เขื่อนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเขื่อนที่อยู่ในแผนการก่อสร้างตามยุทธศาสตร์ Battary of Asia (ภาพ : โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า (TERRA) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ)
เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยตั้งอยู่บนแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ไหลลงแม่น้ำเซกองซึ่งไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงในประเทศกัมพูชา เหตุการณ์ครั้งนี้จึงทำให้มีน้ำท่วมในเขตสตึงเตร็ง ประเทศกัมพูชาด้วย (ภาพ : ครอปภาพจากโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า (TERRA) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ)
การสร้างเขื่อนจำนวนมากตลอดแม่น้ำโขงเป็นไปตามยุทธศาสตร์ “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” (Battery of Asia) ของรัฐบาลลาว ที่เรียกได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อผู้นำประเทศตั้งเป้าให้ลาวมีรายได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้กับเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันและให้คนลาวใช้เองในประเทศ
ยุทธศาสตร์แบตเตอรี่แห่งเอเชียมาพร้อมนโยบายอื่นๆ เช่น ยุทธศาสตร์การเจริญเติบโตและขจัดความยากจนแห่งชาติ (National Growth and Poverty Eradication Strategy : NGPES), นโยบายแห่งชาติลาวเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ (National Policy – Environmental and Social sustainability of the hydropower sector in Lao PDR), กฎหมายการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (Law on the promotion of foreign investment)
รัฐบาลลาวกำหนดแผนพัฒนาประเทศว่าเมื่อถึงปี ๒๕๖๓ การกระจายไฟฟ้าจะครอบคลุมบ้านเรือนร้อยละ ๙๐ ซึ่งจะช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ช่วยพัฒนาภาคเกษตรกรรม ยกระดับการขยายตัวของอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางในชุมชนท้องถิ่น ทำให้เศรษฐกิจชุมชนขยายตัวมากขึ้น
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอีกด้านหนึ่งของเหรียญคือการสูญเสียพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย
ตราแผ่นดินลาว ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔ มีลักษณะตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญหมวดที่ ๑๐ มาตราที่ ๙๐ ความว่า “เครื่องหมายชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นรูปวงกลม ด้านล่างมีรูปครึ่งกงจักรเป็นฟันเฟืองและโบว์เขียนอักษร “สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” สองข้างล้อมด้วยรวงข้าวสุกเป็นรูปวงพระจันทร์และโบว์สีแดงเขียนอักษร “สันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย เอกภาพ วัฒนาถาวร” ระหว่างกลางของสองปลายรวงข้าวมีรูปพระธาตุหลวง อยู่กลางรูปวงกลมมีหนทาง ทุ่งนา ป่าไม้ และเขื่อนไฟฟ้าน้ำตก”
ภาพเหตุการณ์เขื่อนน้ำอ้าวแตกที่เมืองผาไซ แขวงเชียงขวาง เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๐ (ภาพ : ครอปภาพจากเว็บไซด์ tholakhong.com)
ยกตัวอย่างการสร้างเขื่อนไซยะบุรีที่อยู่เหนือจังหวัดเลยของประเทศไทยขึ้นไปตามลำแม่น้ำโขงประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร จะทำให้เกิดพื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ ๓๐,๖๒๕ ไร่ รายงานการศึกษาความเหมาะสมโครงการเขื่อนไซยะบุรี (Feasibility Study) ระบุว่าตลอดแนวยาวของอ่างเก็บน้ำ ๙๐ กิโลเมตร จะมีประชากรมากกว่า ๒๕,๖๗๖ คน ใน ๕๘ หมู่บ้านได้รับผลกระทบ ทั้งบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตร เช่น ไร่ข้าวโพด งา ชา สวนผัก ต้องจมน้ำ และทำลายอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้าน คือการหาปลา ปลูกไม้สัก ร่อนทองคำ
หรือในกรณีเขื่อนน้ำอูที่สร้างกั้นแม่น้ำอู–แม่น้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขงในประเทศลาว มีลักษณะเป็นเขื่อนขั้นบันไดทั้งหมด ๗ เขื่อนตลอดลำน้ำ เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณท่าเรือของแม่น้ำอูบอกว่าได้รับแจ้งจากทางการให้ย้ายออกจากพื้นที่ เนื่องจากเขื่อนน้ำอู ๓ และ ๔ ซึ่งกั้นแม่น้ำอูตอนล่างมีแนวโน้มว่าจะสร้างเสร็จภายใน ๒ ปี ซึ่งจะทำให้พื้นที่แถบนี้ถูกน้ำท่วม สำนักข่าวชายขอบ (transbordernews.in.th) รายงานบทสัมภาษณ์ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวคนหนึ่งว่า
“ช่วงหลังธุรกิจเดินเรือค่อนข้างย่ำแย่ ผมมีเรืออยู่ ๓ ลำ เมื่อก่อนมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ เขามักเหมาเรือมาจากหลวงพระบางบ้าง หนองเขียวบ้าง เมืองงอยบ้างมาถึงที่นี่ แต่เดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวน้อย เพราะเขาก่อสร้างเขื่อน ทำให้ไม่สามารถล่องเรือตามลำน้ำไปได้ตลอด พอถึงจุดสร้างเขื่อนก็ต้องลงเรือและไปต่อเรือใหม่อีกด้านหนึ่งของเขื่อน ทำให้นักท่องเที่ยวไม่นิยมมาถึงที่นี่ เขามาแค่เมืองงอยแล้วก็กลับ”
ด้านหนึ่งของเขื่อนนำมาซึ่งไฟฟ้าส่งขายให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำงึม เขื่อนน้ำงึม ๒ เขื่อนไซยะบุรี ขายให้กับประเทศไทย ไฟฟ้าจากเขื่อนห้วยเฮาะขายให้กับประเทศกัมพูชา เป็นรายได้เข้าประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งแล้วการสร้างเขื่อนกำลังสร้างปัญหา ไม่ว่าการที่ชาวบ้านถูกสั่งให้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในพื้นที่รองรับผู้อพยพ การต้องหาพื้นที่ทำกินใหม่ การที่ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นถูกทำลาย กระทบต่อพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงและการประมงพื้นบ้าน ฯลฯ ความเดือดร้อนลักษณะเดียวกันกระจายไปทุกหย่อมหญ้าในพื้นที่สร้างเขื่อน
ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑ สันเขื่อนย่อยกั้นช่องเขาส่วน D (Saddle Dam D) ในโครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เมืองปากซอง แขวงจำปาศักดิ์ ทางตอนใต้ของลาวได้เกิดพังลงมา ทำให้น้ำไหลทะลักออกจากเขื่อน ท่วมบ้านเรือนในแขวงอัตตะปือซึ่งอยู่ท้ายเขื่อน และท่วมลามเลยข้ามพรมแดนเข้าไปในเขตสตึงเตร็ง ประเทศกัมพูชา ในลาวมีผู้เสียชีวิตแล้วนับสิบคน สูญหายหลายร้อยคน ชาวบ้าน ๔,๐๐๐-๖,๖๐๐ คนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ สัตว์เลี้ยงจมน้ำตาย บ้านเรือน วัดวา พื้นที่เกษตรวอดวายไปกับสายน้ำ ยิ่งตอกย้ำถึงอันตรายที่คนในพื้นที่ต้องเผชิญหน้าอย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว
เหตุการณ์เขื่อนในลาวใต้แตกน่าจะฉายภาพความสูญเสียจากเขื่อนแตกได้ชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
หากแต่การพังทลายของสันเขื่อนหรือเขื่อนแตกนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
๓ ปีที่ผ่านมามีโครงสร้างเขื่อนแตกในลาวแล้วถึง ๓ ครั้ง เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๓
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ อุโมงค์ไฟฟ้าของเขื่อนเซกะมาน ๓ ทางตอนใต้ของลาวเกิดแตกออกระหว่างการผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้น้ำไหลบ่าท่วมบ้านดายรัง เมืองดากจัง แขวงเซกอง
เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๐ เขื่อนน้ำอ้าวแตกที่เมืองผาไซ แขวงเชียงขวาง ทำให้น้ำไหลบ่าท่วมเมืองท่าโทม แขวงไชยสมบูรณ์ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง
การกลายเป็นผู้ลี้ภัยในแผ่นดินเกิด การต้องอาศัยอยู่ในเต็นท์หรือเพิงพัก บางคนติดอยู่บนหลังคาบ้าน หลังคาวัด ยอดไม้ บางคนต้องรอคอยความช่วยอยู่กลางสายฝน เป็นภาพล่าสุดของผลกระทบจากเขื่อนที่เกิดขึ้นอีกครั้งในลาว
บางทีเหตุการณ์หลังเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามอย่างจริงจังถึงยุทธศาสตร์ Battary of Asia