ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก
เรื่อง : พิณ คืนเพ็ญ
ภาพ : สุชาดา ลิมป์ / บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
โรงเรียนของเราอาศัยน้ำประปาภูเขา
เป็นความโชคดีด้านต้นทุนภูมิประเทศที่ตั้งอยู่บนดอยหนึ่งของอำเภอแม่สะเรียง ในหุบเขาที่แวดล้อมด้วยแมกไม้อุดมสมบูรณ์ ทำให้เราไม่แล้งน้ำท่าใช้สอยเท่าไร
ครู-นักเรียนที่นี่ใช้น้ำผ่านวิธีต่อท่อจากแหล่งน้ำในธรรมชาติ ส่งผ่านบ่อพักเป็นระยะ โดยตัดทางผ่านป่าฝ่าดอยและไร่กะหล่ำเพื่อให้ไหลเข้าหมู่บ้านจนผ่านลงมายังบ่อเก็บน้ำของโรงเรียน
ด้วยเส้นทางไกลทำให้สายน้ำต้องพักหลายจุด บางช่วงต้องแยกไปตามหัวไร่ไหล่ดอยของชาวบ้าน วันไหนเกิดอุบัติเหตุท่อหลุดหรือแตกก็อาจทำให้น้ำชะงักไหล มาไม่ถึงโรงเรียน
เป็นอันเดือดร้อนเพราะไม่มีน้ำอาบน้ำใช้กัน บ่อยครั้งจะได้ยินเสียงพึมพำอยู่เสมอ
“เฮ้อ! มีงานมีแขกทีไร น้ำไม่ไหล เสียทุกที”
แต่ไม่ใช่ปัญหา ทุกคนรับรู้ตามวิถีและปรับตัวอยู่กันอย่างนี้มานาน
กระทั่งวันหนึ่งพบว่า ไม่ควรคุ้นชินกับบางเหตุผลที่ทำให้น้ำไม่ไหล
วันนั้นฝนตกหนัก น้ำป่าไหลแรง ขณะที่น้ำในโรงเรียนหยุดไหล
ตอนแรกคิดว่า น่าจะเป็นท่อส่งน้ำบริเวณใดสักแห่งเกิดหลุดอีก
ผมมาถึงโรงเรียนแต่เช้า ตรงไปห้องน้ำใต้ถุนอาคารเรียนชั้นมัธยมศึกษา จึงได้เห็นว่าเกิดท่อหลุดที่นี่ ด้วยแรงดันของน้ำที่อัดแน่นและส่งต่อมาแต่ไกล ได้สะบัดปลายท่อพร้อมน้ำพุ่งกระฉูดเสียดเต็มลำ
แต่เสียงน้ำที่ดังเสียดหู ยังไม่เสียดแทงความรู้สึกเท่าภาพที่เสียดตา
ท่อระบายใต้อ่างล้างมือมีเศษตะกอนทั้งดินตมจากน้ำป่าและขยะอุดตันทำให้น้ำขังและเอ่อสูงถึงหน้าแข้ง ถังขยะทรงกลมรุ่นเหยียบแล้วฝาเปิดกำลังอ้าอัตโนมัติแม้ไม่มีใครเหยียบและถูกพัดให้ลอยเท้งเต้งกลางสุขานาวา ทิชชูใช้แล้วทะลักออกจากปากถัง แต่ละชิ้นเปื่อยยุ่ยซับน้ำป่าจนเป็นสีช็อกโกแลต บางชิ้นยังปรากฏคราบปฏิกูลให้มองเห็น ขณะด้ามไม้กวาดเก่าสองอันลอยคว้างตามแรงกระเพื่อมของคลื่นน้ำ ฝาปากกาหมุนวนอยู่เหนือท่อระบายคล้ายๆ กำลังหาทางออก ขันพลาสติกและแปรงขัดห้องน้ำก็ไม่ต่างกัน
ในฐานะผู้บริหารโรงเรียน ผมยิ่งรู้สึกเหมือนมีก้อนอะไรสักอย่างจุกอก
แม้โรงเรียนเราจะไม่ได้เข้าร่วม “โครงการส้วมสุขสันต์” กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเหมือนโรงเรียนอื่นๆ อีกหลายแห่งทั่วประเทศ แต่การพัฒนาห้องน้ำ ห้องส้วม ให้ถูกสุขลักษณะก็เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน อย่างน้อยที่สุดห้องน้ำก็ควรเป็นสถานที่พร้อมใช้งานมากกว่าที่เป็นอยู่
คลื่นความเครียดแล่นขึ้นสมอง โดยเฉพาะตอนได้ยินเสียงแว่วผ่านด้านนอก
“ว่าจะมาเข้าห้องน้ำ แต่ใช้ไม่ได้ ท่อมันหลุด”
แล้วเจ้าของเสียงก็เดินผ่านไป ทิ้งความปวดใจที่สุดไว้ให้จนไม่อยู่ในอารมณ์จะพูดคุยกับใครได้ค่อนวัน
น้ำทุกหยดในโรงเรียนมาจากป่าต้นน้ำเหนือหมู่บ้านออกไปอีก ๕ กิโลเมตร
ที่นั่นเป็นผืนป่าอนุรักษ์จึงอุดมด้วยความร่มรื่นและชุ่มเย็นของแมกไม้ กำเนิดหยดน้ำทีละหยด ค่อยๆ ซึมผ่านรากไม้ โขดหิน และไหลมารวมกันจากทั่วสารทิศ
ชาวบ้านจะขุดแอ่งกักน้ำ ใช้ท่อขนาด ๑.๕ นิ้ว ต่อยาวมายังปลายทางโดยไม่นิยมทากาว เพราะสะดวกต่อการรื้อเปลี่ยนหรือแยกทางน้ำ ข้อต่อก็ประยุกต์ด้วยการก่อไฟเผาจนปลายข้างหนึ่งร้อนแล้วนำปลายอีกข้างเสียบดันเข้าไป เมื่อฝนตกหนัก ดินถล่ม ไม้หักทับ ถูกวัวหรือสัตว์ป่าย่ำเหยียบ จึงอาจเป็นเหตุให้ท่อหลุดแตกได้ ซากพืช ซากสัตว์ ทรายและกรวด ก็เป็นสาเหตุทำให้ท่อตันเช่นกัน ปัญหาน้ำไม่ไหล จึงมีให้เห็นเป็นระยะ
แต่น้ำก็ใช่จะได้จากป่าไม้อย่างเดียว ต้นน้ำที่ยิ่งใหญ่ล้วนมีตาน้ำจากใจเป็นสำคัญ
ในโรงเรียนของเราเอง หลายครั้งที่มีผู้ใช้เปิดทิ้งไว้ อาจเพราะปรารถนาดีเห็นในถังพร่องน้ำจึงเปิดรองใส่ จะด้วยความจำเป็น เร่งรีบ หลงลืม หรือตั้งใจฝากให้คนมาทีหลังช่วยปิดก็ตาม กลายเป็นเหตุให้น้ำล้นทิ้ง
บางคนเห็นท่อหลุดเดินผ่านเฉย บ้างดีหน่อย ก็ไปเล่าลอยๆ ให้ใครสักคนฟังเผื่อผู้เกี่ยวข้องจะมาแก้ไข ทั้งที่ใครต่อใครก็ช่วยกันได้แค่จับข้อต่อนั้นใส่คืนที่เดิม
จิตผู้ใช้ ต้องไปไกลกว่าแค่การใช้น้ำอย่างประหยัด แต่ต้องหัดรักษาและคุ้มครองน้ำที่มีอยู่
ผมถอดรองเท้า ถุงเท้า แล้วลุยอุทกภัยนั้น
ขณะที่ตามเก็บขยะอยู่ เด็กหญิงพวงเพชร เด็กหญิงสุภาพร และเพื่อนอีก 2-3 คนของเธอก็อาสามาช่วยเก็บกวาด ยกถังที่ลอยเกลื่อนออกไปพักนอกบริเวณ แล้วกลับมาลงมือล้าง ขัด ถู เช็ด จนพื้นห้องน้ำกลับมาสะอาดแห้งอีกครั้งจัดแจงเก็บอุปกรณ์ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง รองน้ำใส่ถังจนเต็มพร้อมสำหรับใช้งานตามปกติ
ขณะที่น้ำบริเวณหนึ่งขาดหาย ยังมีน้ำมิตรที่เปี่ยมล้นให้ชุ่มฉ่ำอยู่บ้างจากเด็กน้อย แม้หลายคนอาจไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อหนึ่งชั่วโมงก่อนหน้า
เหตุการณ์นี้เป็นโจทย์ท้าทายที่ต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนในโรงเรียนร่วมรับรู้ปัญหา ตระหนักถึงคุณค่าของน้ำและจริงจังต่อการแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่ใหญ่กว่าในอนาคต
ซึ่งบางทีปลายทางของวิธีแก้อาจง่ายแค่ใช้ใจเป็นธารทาง
พิณ คืนเพ็ญ
หรือ สายัญ โพธิ์สุวรรณ์ เกิดและโตกลางนา หมู่วัว และไร่มันสำปะหลัง บ้านโคกลี่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม หลงเสน่ห์มนต์ภูเพราะที่บ้านมีแต่โพน (จอมปลวกตามหัวไร่ปลายนา) จึงมุ่งสู่ดอยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ลิด อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีความสุขที่ได้เรียนรู้ฝึกเกลาตนและยินดีปันเพราะทางสายภูของชีวิตนั้นไม่ได้ยาวนานอย่างที่เข้าใจเลย
…….
สุชาดา ลิมป์
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน