สำหรับลูกหลานจีนส่วนใหญ่ น่าจะคุ้นเคยกับนิทาน ไซอิ๋ว โดยเฉพาะตัวเอกน่ารักน่าชังอย่างเห้งเจียหรือซึงหงอคง เจ้าแห่งลิงที่มีฤทธิ์เดชสารพัด จนแม้แต่บรรดาเทพเจ้าน้อยใหญ่บนสรวงสวรรค์ยังเอาไม่อยู่

ไซอิ๋ว เป็นวรรณกรรมจีนที่แต่งขึ้นเมื่อราว ๕๐๐ ปีก่อน จินตนาการต่อเติมขึ้นจากเรื่องราวของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ คือพระถังซำจั๋งหรือพระเสวียนจ้าง ซึ่งมีชีวิตอยู่ก่อนเกิดบทประพันธ์ถึง ๙๐๐ ปี

เหตุการณ์ที่พระเสวียนจ้างเดินทางฝ่าดินแดนทุรกันดารไปอัญเชิญพระไตรปิฎกที่อินเดียนั้นเกิดขึ้นจริง

แต่ใน ไซอิ๋ว เสริมแต่งเรื่องให้สนุกสุดพิสดาร โดยพระถังซำจั๋งมีลูกศิษย์เป็นสัตว์สามตัวร่วมทางไปด้วย คือ เห้งเจีย - ลิง  ตือโป้ยก่าย - หมู  ซัวเจ๋ง - ปลา  ในระหว่างทางต้องพบปีศาจร้ายต่าง ๆ ที่หมายจับพระถังซำจั๋งมากินเนื้อเป็นยาอายุวัฒนะ

นอกจากจะอ่านเป็นนิทานสนุกสนานสำหรับเด็กแล้ว ไซอิ๋ว ยังได้รับการตีความว่าซ่อนปริศนาการบรรลุธรรมเอาไว้

ความนัยที่อาจเคยได้ยินกันคือ ตือโป้ยก่าย ซัวเจ๋ง และเห้งเจีย เป็นตัวแทนของศีล สมาธิ และปัญญา (ตามลำดับ) หรือไตรสิกขา ซึ่งเป็นวิถีของการหลุดพ้น

แต่ก็ยังมีการวิเคราะห์ตีความอื่น ๆ อีก คำอธิบายหนึ่งบอกว่าการเดินทางของพระถังซำจั๋งและลูกศิษย์ คือความพยายามเจริญสติตื่นรู้อยู่ทุกขณะ ซึ่งเป็นหนทางที่ยากเย็นแสนเข็ญ แต่ถ้าทำได้ก็จะไปถึงการบรรลุธรรม

พระถังซำจั๋งเป็นตัวแทนของจิตใจที่มุ่งมั่นสู่นิพพาน  ส่วนเหล่าปีศาจคือความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาขัดขวาง

เมื่อไรที่เราพยายามตั้งสติมั่น อารมณ์ความคิดต่าง ๆ ก็เข้ามาครอบงำให้สติเผลอไผลไปครั้งแล้วครั้งเล่า  สติรู้ตัวนั้นจึงขาดเป็นช่วง ๆ เช่นเดียวกับพระถังซำจั๋งที่มักถูกปีศาจร้ายจับตัวไปทุกครั้ง

แถมตามท้องเรื่องนั้น พระถังซำจั๋งมักไร้เดียงสา หลงกลปีศาจที่แปลงกายมาในรูปร่างหน้าตาต่าง ๆ กันไปเสียทุกครั้ง ซึ่งก็เหมือนกับธรรมชาติจิตใจคนเราที่
ถูกล่อลวงด้วยอารมณ์ดีอารมณ์ร้ายต่าง ๆ ได้ง่าย

พระถังซำจั๋งหรือจิตใจมุ่งมั่นจึงไม่อาจเดินทางไปถึงจุดหมายได้โดยลำพัง

เห้งเจียเป็นตัวแทนของปัญญา เขาเรียนรู้สรรพ-ตำราและเวทมนตร์มากมาย แต่ความเก่งกาจทำให้หยิ่งผยอง ต้องการมีอำนาจเป็นเจ้าแห่งสวรรค์ ก่อความวุ่นวายไปทั่ว จนพระพุทธเจ้าต้องมาปราบและขังเห้งเจียไว้ใต้ภูเขาเป็นเวลานาน ๕๐๐ ปี แต่หากยอมเป็นคนรับใช้พระถังซำจั๋งเดินทางสู่ชมพูทวีป เห้งเจียจึงจะเป็นอิสระ

ในแง่นี้มีการตีความว่า ปัญญาที่ช่วยการเจริญสตินั้นมีประโยชน์ ทว่าปัญญาที่สร้างความเห็นแก่ตัวนั้นเป็นปัญหา

ส่วนตือโป้ยก่ายหรือหมูผู้เกียจคร้านและเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา คือสัญชาตญาณในจิตใจที่คอยยุยงพระถังซำจั๋งให้ยกเลิกการเดินทางที่ยากลำบากหันมาใช้
ชีวิตชิล ๆ  หลายครั้งที่มันปรักปรำใส่ร้ายเห้งเจียให้พระถังซำจั๋งเข้าใจผิด กว่าพระถังซำจั๋งจะเรียนรู้และเชื่อใจเห้งเจียหรือปัญญามากขึ้น ๆ ก็ต้องโดนหลอกไปหลายรอบ

เช่นเดียวกับเส้นทางสู่การตื่นรู้ที่ต้องผ่านการต่อสู้ทดสอบมากมายด้วยการใช้ปัญญาที่ถูกต้อง

ส่วนขุนเขาสายน้ำ ปราการทุรกันดาร คือความคิดฟุ้งซ่านในจิตใจคนเราที่ต้องก้าวข้ามให้พ้น เพื่อไปให้ถึงจุดหมาย

หลังผ่านความยากลำบากนานัปการ พระถังซำจั๋งก็ไปถึงชมพูทวีปและได้รับคัมภีร์มาหนึ่งเล่ม

เป็นคัมภีร์ที่มีแต่หน้ากระดาษว่างเปล่า

คือสุญตา ผลลัพธ์สุดท้ายของการปฏิบัติที่ได้ละวาง ว่างจากกิเลสและอกุศลทุกประการ

ชวนอ่านนิตยสาร สารคดี ฉบับนี้ที่เต็มไปด้วยตัวอักษร แม้จะยังไม่บรรลุถึง “ความว่างเปล่า” แต่ก็เป็นเสบียงปัญญาระหว่างการเดินทางครับ

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี
suwatasa@gmail.com

#สมัครสมาชิกวันนี้ต่อชีวิตนิตยสารไปยาวๆ