Swing Documentary : จับมือกับความกลัวแล้วเต้นไปพร้อมกัน
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14

งานเขียนดีเด่น
นฤพล เปาอินทร์ : เรื่อง / ภาพ
ศศิธร มูลสาร : ภาพ / เรื่อง

Swing Documentary : จับมือกับความกลัวแล้วเต้นไปพร้อมกัน

กลุ่มคนที่หลงใหลในการเต้นสวิงกำลังเคลื่อนไหวไปตามจังหวะเพลง jazz ที่กำลังบรรเลงอยู่ในฟลอร์เต้นรำของสตูดิโอที่ชื่อว่า The Hop ในตึกเก่าชั้น 3 ย่านสีลม

การจับมือคือพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์

ฉันกลัวการจับมือ

ในความมืดของโรงหนังที่มีเพียงแสงรางๆ จากหน้าจอที่มาตกกระทบบนแก้ม แสงไฟในจอสะท้อนผ่านนัยน์ตาของเธอ นาทีนั้นหัวใจฉันเต้นไม่เป็นจังหวะ ส่วนหัวสมองก็คิดอะไรไม่ซื่อกับเธอ

“อยากจับมือเธอจัง” ความคิดชั่วร้ายโผล่ขึ้นมาในหัว

ฉันหันหน้ากลับมา เกร็งคอ มองตรงไปที่จอ บอกตามตรงนาทีนั้นฉันกลัว กลัวว่าเธอจะได้ยินเสียงหัวใจที่มันเต้นโครมครามและเสียงในหัวสมองที่กำลังสั่งการให้ร่างกายทำสิ่งต่อไปนี้

ฉันค่อยๆ เขยิบมือเข้าไปทีละนิด การหายใจที่เคยเป็นปรกติก็เริ่มติดขัด

ฉันเขยิบมือเข้าไป / แขนเราสัมผัสกัน / หัวใจฉันเต้น / มือฉันสอดเข้าไปใต้มือเธอ / ฝ่ามือเธอนุ่มจัง / นิ้วฉันสอดเข้าหว่างนิ้วของเธอ / ฉันหยุดหายใจ / ฉันกุมมือเธอ / …เธอกุมมือฉัน

ราวกับนาทีนั้นหัวใจฉันหยุดเต้น
ราวกับนาทีนั้นเวลาหยุดเดิน

ในฐานะเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่โตพอจะรู้ว่าการที่คนสองคนจะจับมือกันนั้นอาจไม่ใช่แค่เพียงคนรู้จัก แต่อาจต้องเป็นคนรู้ใจ คนคนนั้นละที่เราจะมีโอกาสได้จับมือเขาไว้

ถ้าไม่เชื่อก็อยากจะให้ลองยกมือขึ้นมาตอนนี้ แล้วลองไล่นิ้วดูว่ามีสักกี่คนกันที่เราสามารถจับมือกันได้อย่างสนิทใจ

เขาคนนั้นอาจเป็นเพื่อนคนสนิท อาจเป็นคนในครอบครัว หรือเป็นคนที่ทำให้ใจเราเต้นไม่เป็นจังหวะจนต้องแอบจับมือเวลาดูหนัง และสำหรับฉันแล้วเขาเหล่านั้นมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนนิ้วมือข้างเดียวซะอีก

และฉันคิดว่าการจับมือกับคนแปลกหน้านั้นน่ากลัว

แต่เมื่อฉันได้ทำความรู้จักกับสิ่งนี้ ความคิดที่เคยมีก็เปลี่ยนไป

สตูดิโอ The Hop แหล่งรวมตัวของนักเต้นสวิง สตูดิโอย่านตึกเก่าสีลม มีเพียงป้ายเล็กๆ แขวนอยู่ตรงทางเข้าให้เป็นที่สังเกต

ภาพ แฟรงกี แมนนิง (Franky Manning) นักเต้นรำชาวยุโรปที่ถ่ายทอดศิลปะการเต้นสวิงที่เกือบจะสูญหายไปในยุโรป จนกลายเป็นที่แพร่หลายอีกครั้ง

Swing Dance

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดอยู่ที่หนังเรื่องหนึ่ง Singin’ in the Rain หนังเก่ายุค 50s ที่ว่าด้วยเรื่องของชายหนุ่มสองคนที่ออกไปหาฝันในวงการบันเทิง พลอตเรื่องธรรมดาๆ ที่เรามักเห็นได้ตามละครหรือภาพยนตร์ แต่สิ่งที่ทำให้ใจฟูฟ่องจนต้องจดเป็น new year resolution ของปี คือวิธีการดำเนินเรื่องแบบ musical ที่ทุกตัวละครต่างกระโดดโลดเต้น

“เราจะต้องเต้นแบบนี้ให้ได้ก่อนสิ้นปี” นั่นคือ new year resolution ที่แอบตั้งไว้ในใจ

swing dance การเต้นที่มีจุดเริ่มต้นประมาณช่วง ค.ศ. 1920-1930 เริ่มเป็นกระแส ค.ศ. 1940 กำลังเฟื่องฟู และก็หายไปทันทีเมื่อเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะในสมัยก่อนที่ยังไม่มีเครื่องบันทึกเสียง ในยุคนั้นเพลงจึงต้องมาจากนักดนตรีจริงๆ มาเล่นเพลงกันสดๆ เท่านั้น

เมื่อเข้าช่วงสงครามดนตรีกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยอย่างฉับพลัน ทำให้สมัยนั้นต่อให้เป็นนักดนตรี jazz ที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็ต้องไปขัดรองเท้า ไปล้างจาน ทำให้การเต้น swing หายไปพร้อมกัน

จนกระทั่ง ค.ศ. 1980 มีคนที่สวีเดนได้เห็นการเต้นจากวิดีโอที่บันทึกไว้ และสนใจการเต้น swing dance มากๆ ทำให้เริ่มออกตามหาคนที่เต้นในวิดีโอนั้น จนพบ แฟรงกี แมนนิง (Frankie Manning) ที่อดีตเรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกการเต้น swing เลยก็ว่าได้ แต่ตอนนั้นกลายเป็นบุรุษไปรษณีย์

และนับแต่นั้นมาชาวสวีเดนกลุ่มนั้นให้แฟรงกีมาช่วยสอนคนรุ่นใหม่ จนเริ่มกลับมาเป็นเทรนด์ในอเมริกา สวีเดน ไปยุโรป สิงคโปร์ จีนก็มีตามหัวเมืองใหญ่ๆ ไต้หวัน เกาหลี และกรุงเทพฯ คลับของคนรักการเต้น swing dance ที่ The Hop

“lead กับ follow จับคู่กันครับ” เสียงครูสอนเต้นบอกให้เราก้าวเข้าหากัน นั่นคือครั้งแรกที่เรายืนประชันกับคนแปลกหน้าอยู่บนฟลอร์ตอนนี้ที่ The Hop คลับสอนเต้นเล็กๆ ตั้งอยู่บนชั้น 3 ของตึกแถวเก่าแก่ย่านสีลม ในพื้นที่ขนาดหนึ่งคูหา ขณะนี้จุคนไม่ต่ำกว่า 30 คน พร้อมจะกระโดดโลดเต้นไปพร้อมกันหลังจากนี้ นาทีนั้นความฝันของฉันกำลังจะเป็นจริง

ที่นี่จะมีสอนสเตปการเต้นพื้นฐานให้กับคนที่ยังไม่เคยเรียนมาก่อนให้ได้ลองเต้นกันในท่าง่ายๆ โดยบทเรียนแรกสำหรับมือใหม่ทุกคนต้องรู้ก็คือการเต้น swing แบบ lindy hop จะต้องเต้นเป็นคู่

โดยทั้งสองคนจะมีหน้าที่ที่ต่างกัน lead คือตำแหน่งของผู้นำ จะเป็นคนออกแบบการเต้น นำไปด้วยท่าทางต่างๆ และ follow ผู้ตามจะเต้นตามแรงส่งและท่าทางที่ lead จะพาไป

ด้วยจุดกำเนิดของการเต้น swing dance นี้เกิดขึ้นในช่วงประมาณ ค.ศ.1920 ในช่วงนั้นคติผู้ชายต้องเป็นช้างเท้าหน้ายังคงมีอิทธิพลอย่างเข้มข้น และแม้ว่าจะผ่านเวลาเกือบ 100 ปีแล้วก็ตามวิธีการต่างๆ ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนไปเท่าไรนัก ทำให้สถานะทางเพศเป็นสิ่งที่แบ่งตำแหน่งการเต้นไปโดยปริยาย

นั่นละ…คือเหตุผลที่ทำให้ชายหนุ่ม หญิงสาวแปลกหน้า ต้องมายืนประชันหน้ากันในเวลานี้

“ทีนี้จับมือกับคู่ของตัวเองครับ” สารภาพ นาทีนั้นฉันกลัว เขิน ตื่นเต้น กังวล หลายความรู้สึกถาโถมเข้ามาปะทะกันอย่างที่ยากจะอธิบาย จนทำตัวไม่ถูก

…ฉันยื่นมือออกไป เธอยื่นมือเข้ามา มือเราสัมผัสกัน

“มือเย็นจังเลย” เธอพูดพร้อมยิ้มให้น้อยๆ คู่เต้นสัมผัสได้ถึงความตื่นเต้นผ่านมือที่เย็นเฉียบ แต่ถึงมือจะเย็นขนาดไหนทั้งแผ่นหลังและหน้าผากกลับเต็มไปด้วยเหงื่อที่ผุดขึ้นมาในอุณหภูมิ 24 องศา เวลานั้นฉันควบคุมร่างกายตัวเองไม่ได้เลย

เราเริ่มออกเต้นไปพร้อมกันด้วยท่าทางที่เก้ๆ กังๆ ด้วยพื้นฐานของการเต้น swing คือการทำตามกันเหมือนกับภาพสะท้อนในกระจก การยืนหันหน้าเข้าหากันโดยที่หาก lead ก้าวเท้าซ้าย follow จะก้าวเท้าขวา หาก lead ขยับไปทางซ้าย follow จะขยับไปทางขวา

การเลียนแบบกันนี่เองที่ทำให้เราสนิทใจกันมากกว่าที่คิด จากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลี Giacomo Rizzolatti และ Laila Craighero ได้บอกไว้ว่า ที่พฤติกรรมการเลียนแบบได้ไปกระตุ้นเซลล์สมองกระจกเงา (the mirror-neuron system) เป็นสมองส่วนที่จะเห็นได้ชัดในช่วงวัยเด็กที่จะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่อยู่เสมอ และเซลล์กระจกเงานี้เองก็ไปทำให้เรารู้สึกผูกพัน สร้างความรู้สึกว่าเราคือพวกเดียวกัน

ทำให้ทุกครั้งที่เซลล์สมองส่วนกระจกเงาได้รับการกระตุ้นยิ่งทำให้เรารู้สึกสนิทสนมกันมากขึ้น

นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันกับเธอไม่ได้รู้สึกเกร็งกันอย่างที่คิดไว้เมื่อเราได้ออกเต้นไปตามจังหวะ

ก่อนเปิดฟลอร์เต้นรำจะมีครูมาสอนเต้นให้กับนักเต้นหน้าใหม่เป็นเวลา 30 นาที เพื่อปูพื้นฐานการเต้นสวิง ทำให้ทุกคนที่เข้ามารวมตัวในสถานที่แห่งนี้ได้มีความสุขไปกับการเต้น

บรรยากาศการเรียนเต้นสวิงของเหล่านักเต้น โดยมีครูที่อยู่ประจำ The Hop คอยให้คำแนะนำ

คู่เต้น มด-ตูน ครูสอนเต้น swing dance ที่ Bangkok Swing กำลังซ้อมเต้นสวิงอยู่ภายในสตูดิโอก่อนงานเต้นรำจะเริ่มขึ้น

ภาษาสากลบนฟลอร์เต้นรำ

rock step …step …step rock step

เมื่อเราเริ่มก้าวไปในจังหวะเดียวกัน การก้าวผิดข้างในบางครั้งหรืออาจพลาดในบางจังหวะคือเรื่องธรรมดาที่มือใหม่ทุกคนต้องเจอ แต่ความผิดพลาดเหล่านั้นกลับทำให้เรายิ้ม หัวเราะ และลดความกังวลที่เคยมีค่อยๆ หายไป
หลังจากนั้นเราก็เริ่มเรียนรู้ที่จะสื่อสารผ่านร่างกาย ผ่านแรงที่ lead ส่งและ follow รับรู้ เราทั้งคู่เริ่มขยับไปในจังหวะเดียวกัน ขับเคลื่อนไปตามเสียงเพลงและรอยยิ้มที่ส่งให้กัน หมุนตัว กระโดด ทำท่าล้อเลียน เซลล์สมองกระจกเงา ของเรากำลังทำงาน

…และเสียงเพลงก็จบลง

ไม่มีคู่แท้และถาวรในการเต้นที่นี่ เพราะทุกคนจะต้องสับเปลี่ยนหมุนเวียนคู่กันไปเรื่อยๆ และเพลงที่จบลงคือสัญญาณได้เวลาเปลี่ยนให้เราได้ไปพบคนแปลกหน้าคนใหม่ที่จะมาเป็นคู่เต้นของเราคนต่อไป

…ใช่ ในคืนคืนหนึ่งเราอาจต้องจับมือกับคนแปลกหน้านับสิบ

และสิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากการเต้นคือ ไม่ว่าจะมาจากประเทศอะไร เมืองไหน หรือจะอายุเท่าไร หลายครั้งอาจยังไม่ต้องมีประโยคใดๆ ที่เราแนะนำตัว เพียงแค่เราจับมือและออกไปเต้นด้วยกัน เท่านั้นก็มากพอสำหรับการทักทายและทำความรู้จักกันสำหรับที่นี่

เหมือนอย่างที่ครูสอนเต้นบอกไว้ว่า การสื่อสารระหว่างคู่เต้นไม่ใช่คำพูด แต่คือแรงที่ส่งต่อระหว่างมือที่เราจับกันไว้และเหวี่ยงเราไปพร้อมๆ กัน

นี่คือภาษาสากลในโลกของ swing dance

การเต้นสวิงเป็นศิลปะที่มีความร่าเริง มีการสัมผัสระหว่างมนุษย์ เต้นสวิงจะต้องเต้นเป็นคู่ เป็นการสื่อสารผ่านร่างกายไปพร้อมกับเสียงเพลงของคนสองคน

การเต้นสวิงจะมีการนำและการตาม (lead & follow) หาก lead ก้าวเท้าซ้าย follow จะก้าวเท้าขวา หาก lead ขยับไปทางซ้าย follow จะขยับไปทางขวาไปตามจังหวะเพลง ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว lead จะเป็นผู้ชาย ดังนั้นการเต้นสวิงนี้ถือว่าผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้าโดยสมบูรณ์

รอยยิ้มและมิตรภาพของคนแปลกหน้าในฟลอร์เต้นรำ การเต้นสวิงจะมีการเปลี่ยนคู่เต้นไปเรื่อย การที่จะได้พบเจอกับคนมากหน้าหลายตานั้นเป็นเรื่องปรกติและเป็นเสน่ห์อย่างมากของการเต้นสวิง

บางสิ่งที่ยึดโยงเราไว้ให้ใกล้กัน

แม้เพลงจะจบลงแล้ว แต่เรื่องราวของคนที่นี่เพิ่งจะเริ่มเท่านั้น หลายครั้งก็มีการออกไปแฮงก์เอาต์กันต่อ เพราะที่นี่ไม่ใช่โรงเรียนสอนเต้น แต่เหมือนเป็น community ที่เพื่อนๆ มาสนุกกับการเต้นกัน และต่อให้เพลงจบแล้ว แต่เรื่องของพวกเขาเพิ่งเริ่ม

“มีบ่อยครั้งมากที่พอเต้นกันเสร็จแล้วเราก็ชวนกันไปกินเบอร์เกอร์ กินมิลก์เชกกันต่อ เคยมีหนหนึ่งพวกเราไปผับกันแล้วคนที่นั่นงงมาก นี่มันกลุ่มอะไร เพราะมีอายุตั้งแต่ 20-70 แล้วทุกคนร้องเฮ้! ไปด้วยกัน จนมีคนเข้ามาถามว่านี้มันคือกลุ่มอะไร จะเพื่อนมหา’ลัยดูจากวัยก็คงไม่ใช่ จะครอบครัวก็มีหลากหลายชาติเกินไป” โน้ต-ดร.มาลียา โชติสกุลรัตน์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Bangkok Swing เล่าให้เราฟัง

“คนที่นี่หลากหลายนะ มีตั้งแต่หมอ สถาปนิก บัญชี คนทำ magazine และที่แปลกสุดที่เคยเจอเลยก็คืออาชีพหมอสะกดจิต! คืออาชีพที่เราไม่คิดว่ามันมีอยู่ด้วย และเราก็ไม่มีวันได้รู้จักเลยนะว่าคนที่เขาเป็นหมอสะกดจิตจะเป็นคนอย่างไรถ้าไม่ได้มาเต้นที่นี่” โอ๊ต-ชยะพงส์ นะวิโรจน์ หุ้นส่วนหลักและผู้ก่อตั้งเสริมขึ้นมา
หลายคนมักบอกว่าที่นี่เป็นเหมือนสนามเด็กเล่นของผู้ใหญ่ที่ทุกคนมีสิทธิ์มากระโดดโลดเต้นกันอย่างไม่ต้องแคร์อะไร นั่นละมั้งเป็นสิ่งที่ดึงดูดคนจากหลากหลายอาชีพเข้ามาอยู่ด้วยกันที่นี่ และสิ่งหนึ่งที่คนที่เต้น swing มีร่วมกันคือพวกเขามีหัวใจที่เป็นเด็กอยู่ในตัว

ที่พร้อมจะจับมือกันอย่างไม่ต้องคิดมาก ที่จะสนิทสนมและกระโดดโลดเต้นไปพร้อมกัน

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราพบหลังจากได้จับมือกับความกลัวและเต้นรำไปกับมัน

————————————————————

Swing Documentary – เพราะเราไม่สามารถเต้นได้เพียงลำพังความสนุกของการเต้น swing คือการที่ไม่ได้มีเพียงเราที่กระโดดโลดเต้นแต่เพียงลำพัง ยังมีคนอีกคนที่มาเต้นไปด้วยกันถึงทำให้การเต้นสมบูรณ์

งานชิ้นนี้เองก็เช่นกัน …มันจะสมบูรณ์ขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดช่างภาพที่ได้ถ่ายภาพให้คุณได้เห็น หากนี่คือการเต้น ผู้เขียนคือ lead ผู้นำประเด็นและการร้อยเรียง ช่างภาพก็คือ follow ที่หมุนและเหวี่ยงไปตามประเด็นที่เราพยายามจะสื่อสารให้ผู้คนได้เห็นท่วงท่าและการสะบัดที่สวยงาม

ถ้า swing คือการเต้นและล้อเลียนกัน เราก็อยากจะล้อเลียนกันด้วยการให้ช่างภาพมาลองเขียนและให้นักเขียนลองไปถ่ายภาพ
…เราไม่รู้ว่าผลลัพธ์ที่ออกมามันจะดีไหม

แต่นี่คือการจับมือกับความกลัวของเราทั้งคู่ ที่ลองทำอะไรในจังหวะที่ไม่คุ้นเคย

Swing Documentary (งานเขียนฝีมือช่างภาพ)

“swing dance” คำสั้นๆ ที่ฉันไม่เคยรู้จักมาก่อน ถูกเอ่ยออกมาจากเพื่อนที่กำลังเล่าในสิ่งที่เขาสนใจ ทำให้คนที่กำลังฟังอย่างฉันเพลิดเพลินไปกับแววตาและสีหน้าที่เต็มไปด้วยความสุขขณะที่เขาพูดถึงการเต้นสวิงที่เขารัก

จากการเล่าสู่กันฟังในวันนั้นก็กลายมาเป็นการชักชวนให้ฉันได้เข้าไปทำความรู้จักในสิ่งที่เรียกว่าการเต้นสวิง ครั้งแรกที่ได้เข้าไปสัมผัสก็พบกับบรรยากาศที่แปลกใหม่ ผู้คนมากหน้าหลายตามารวมตัวกันในสถานที่เล็กๆ ภายในเทศกาลดนตรี Fête de la musique ที่จัดขึ้นที่สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ ฉันกวาดสายตามองคนแปลกหน้าและบรรยากาศที่ไม่คุ้นเคยด้วยความสนใจ

การแสดงตรงเวทียังคงดำเนินไปชุดแล้วชุดเล่า จนช่วงเวลาเกือบ 2 ทุ่มก็ถึงเวลาที่ฉันรอคอย การแสดงของกลุ่มนักเต้นสวิงกำลังจะเริ่มขึ้น ฉันยืนสังเกตการด้วยใจพองโต

นี่คือสิ่งแปลกใหม่สำหรับฉันจริงๆ พอการแสดงเริ่มขึ้นก็ยิ่งทำให้ฉันค้นพบอะไรบางอย่างกับการแสดงการเต้นครั้งนี้ มันแตกต่างจากการเต้นที่เคยเห็น

ลีลาการเต้น ทำนองเพลงแจ๊ซที่บรรเลงอยู่ ทำให้ร่างกายของฉันโยกตามจังหวะไปโดยไม่รู้ตัว ผู้คนในงานร่วมเต้นและปรบมือตามจังหวะเพลง เสียงกรี๊ดเกรียวกราวเป็นระยะบ่งบอกว่านี่คือเสียงของคำว่าความสุข จบงานฉันก็ยังจำบรรยากาศในนั้นได้เป็นอย่างดี

จากความประทับใจกลายเป็นอาการอยากลองเต้น หลังจบงานฉันก็มีโอกาสไปในคลับที่สอนเต้นสวิง ที่นี่คือ เดอะ ฮอป (The Hop) สตูดิโอที่ซ่อนตัวอยู่ในตึกแถวชั้น 3 ย่านสีลม คอมมูนิตีของกลุ่มเพื่อนที่หลงใหลในการเต้นสวิง

ฉันเดินเข้าไปในร้านเป็นเวลา 2 ทุ่ม ช่วงเวลา social dance ที่จะจัดขึ้นทุกวันอังคารและวันเสาร์ของสัปดาห์ ภายในสตูดิโอให้บรรยากาศราวกับในหนังฝรั่งยุค 90’s ผู้คนทยอยเข้ามาในสตูดิโอแห่งนี้ไม่ขาดสาย ห้องโถงกว้างเริ่มแน่น สำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานในการเต้นอย่างฉันเริ่มหวั่นใจและเกิดความประหม่าเล็กน้อย

แต่ก็เริ่มเบาใจขึ้นมาได้บ้างเมื่อรู้ว่าก่อนเปิดฟลอร์เต้นรำจะมีการสอนพื้นฐานการเต้นสวิงสำหรับมือใหม่ ไม่นานนักความประหม่าของฉันก็หายไป เพื่อนที่ชวนฉันมาเขาไม่ปล่อยให้ฉันต้องยืนนิ่ง ร่างกายของเราทั้งสองเริ่มโยกย้ายไปตามจังหวะเพลง เพื่อนที่เต้นเก่งแล้วนั้นสามารถนำเราเต้นได้ง่ายและสนุกขึ้น

ร่างกายเคลื่อนไหวไปอย่างอิสระตามจังหวะเพลงแจ๊ซที่บรรเลง เมื่อความกังวลหายไปก็ไม่มีอะไรแล้วที่จะหยุดความสนุกสนานนี้ได้ พวกเราต่างสลับคู่เต้นเวียนกันไปในฟลอร์เต้นรำ ในค่ำคืนนั้นนอกจากการได้เต้นสวิง ฉันยังได้เพื่อนใหม่เพิ่มมาโดยไม่รู้ตัว

สีหน้าแววตาของคนที่ฉันเพิ่งรู้จักเหล่านั้นเต็มไปด้วยความสุข ความสนุกสนาน และดูเป็นมิตร นี่มันไม่ใช่แค่การเต้น แต่นี่เป็นสังคมของคนรักการเต้น เป็นศิลปะที่มีความร่าเริง มีการสัมผัสระหว่างมนุษย์ เราจะเต้นกับใครก็ได้โดยไม่ต้องมีการนัดแนะหรือต้องเป็นคนที่เรารู้จัก

คนสองคนที่มาเต้นคู่กันได้สื่อสารกันผ่านจังหวะและท่วงทำนองของเพลง หรือนี่จะเป็นสิ่งที่ฉันตามหามานาน การเต้นที่ทำให้ฉันไม่รู้สึกอึดอัดหรือเขินอายที่จะเต้น
จากความอยากรู้ที่นำมาสู่การทดลอง ก็เหมือนว่า “swing dance” กำลังกระซิบบอกฉันว่านี่คือความสุข

มิตรภาพนอกฟลอร์เต้นรำ สังคมเพื่อนที่เกิดจากการเต้นสวิงทำให้เห็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ อยู่ทุกมุมของสตูดิโอ The Hop งานเต้นรำจบลงแต่มิตรภาพยังคงอยู่ต่อไป จากความหลงใหลในการเต้นสวิงกลายมาเป็นครอบครัวเล็กๆ ที่ทำให้รู้สึกผูกพัน

Swing Documentary (งานภาพฝีมือนักเขียน) – สองหุ้นส่วนผู้ก่อตั้ง The Hop คุณโอ๊ต-ชยะพงส์ นะวิโรจน์ และคุณโน้ต-ดร.มาลียา โชติสกุลรัตน์

นี่อาจไม่ใช่งานเขียนที่ดีที่สุดและนี่อาจไม่ใช่ภาพถ่ายที่งดงามที่สุด แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราได้พบหลังจากเต้น swing การเต้นที่ดีอาจไม่ใช่ท่าเต้นที่สวยงาม ไม่ใช่ท่าเต้นที่อลังการ หรือถูกต้องตามแบบแผน

แต่การเต้นที่ดีอาจเป็นท่าเต้นที่ผิดพลาดแต่เรายังหัวเราะไปกับมัน อาจคือจังหวะที่เรากระโดดไม่พร้อมกันแต่ก็ยังคงยิ้มให้กันอยู่ สิ่งสำคัญคือความรู้สึกสนุก ความสุข รอยยิ้มที่เราส่งให้กัน ตลอดเวลาที่เสียงเพลงยังคงดัง บนฟลอร์เต้นรำ และบนงานของเรา Swing Documentary

ขอขอบคุณ
คุณโน้ต-ดร.มาลียา โชติสกุลรัตน์
คุณโอ๊ต-ชยะพงส์ นะวิโรจน์
กฤตยา สิริมงคลเสถียร

*ที่นี่จะเปิด free class สำหรับคนทั่วไปให้ได้มาลองเต้นกันทุกวันอังคารและวันเสาร์ เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป และหลังจากเวลา 20.30 น. ก็จะเป็นเวลา social dance ค่าบัตร 200 บาท สามารถนำไปแลกเครื่องดื่มได้ นอกจากนี้ยังมี class สำหรับคนที่สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดได้ใน Facebook : Bangkok swing

  • ที่ตั้ง : 252/8 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร (ตั้งอยู่ระหว่างสีลมซอย 18 กับ 20 เยื้องวัดแขก)

นฤพล เปาอินทร์ (ณ.)
อดีตครู ที่ผันตัวมาเป็นนักเรียน พยายามลองเป็นนักเขียน และอยากลองเป็นคนนั้นของเธอ (ฮิ้ววว)

…………………………………

ศศิธร มูลสาร  (เมย์)
จากเด็กอนุบาลที่แอบขโมยกล้องคุณพ่อมาเล่น กลายมาเป็นคนที่หลงใหลในการถ่ายภาพ รักในสีเขียวของใบไม้ ชอบท่องเที่ยวเพราะโลกนี้คือดินแดนที่ไม่มีใครรู้จักมันได้จากการบอกเล่า แต่คนเราจะต้องเดินทางท่องเที่ยวไปเพื่อทำความรู้จักกับมันด้วยตัวเอง