พระไตรปิฎก
ผ่านกาลเวลามา ๒,๐๐๐ กว่าปี เป็นข้อพิสูจน์ว่าพระไตรปิฎกคือหนังสือเก่าแก่ที่สุดเล่มหนึ่งของโลก เป็นคัมภีร์หลักในพระพุทธศาสนาที่ไม่ได้มีแต่คำสอน หากยังรวมถึงเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ สังคมในยุคพุทธกาลไว้ด้วย
การอ่านพระไตรปิฎกจึงย่อมได้อะไรนอกเหนือไปจากหลักธรรมคำสอนซึ่งเป็นหัวใจหลัก โดยนับได้ว่าเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของผู้ใฝ่ความรู้ได้อย่างหนักแน่น
แต่อาจด้วยความเป็นพระคัมภีร์ หรือด้วยความหนาถึง ๔๕ เล่ม ทำให้พระไตรปิฎกกลายเป็นหนังสือที่ถูกเก็บไว้ในตู้หรือขึ้นหิ้งบูชา มากกว่าเป็นหนังสือหัวเตียงของทุกครอบครัว
สารคดี ฉบับเข้าพรรษา ๒๕๖๑ นำเสนอเรื่องราวของพระไตรปิฎกโดยสังเขป ตั้งแต่เส้นทาง ความเป็นมา และเนื้อหาสาระสำคัญเป็นเบื้องต้นแบบย่นย่อ เผื่อว่าอาจเป็นการจุดประกายหรือให้แรงบันดาลใจในการไปอ่านพระไตรปิฎกฉบับย่อหรือฉบับ ๔๕ เล่มกันต่อไป
ตามรอยอภิธรรม พระสัทธัมมโชติกะ
ในหมู่ผู้สนใจพระอภิธรรมย่อมรู้จัก “อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย” มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะศูนย์กลางการศึกษาพระอภิธรรมในเมืองไทยยุคปัจจุบัน
และในหมู่นักอภิธรรมย่อมรู้จักนาม “พระอาจารย์โชติกะ” ผู้เป็นที่มาของชื่อสถาบัน
ศิษย์รุ่นหลังรับรู้ว่าท่านเป็นพระพม่าที่มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนาถึงขั้นตัดนิ้วก้อยถวายเป็นพุทธบูชา
แต่แทบไม่มีใครรู้ความเป็นมาและชาติภูมิของท่าน
กระทั่งใกล้วาระ ๑๐๐ ปี ชาตกาลของท่าน คณะศิษย์กลุ่มหนึ่งออกติดตามรอยธรรมของพระอาจารย์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการบันทึกประวัติพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ อย่างเป็นระบบ รวมทั้งถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของวงการศึกษาพระอภิธรรมในไทย
ตามรอยพระถังซำจั๋ง
คนไทยรู้จักพระถังซำจั๋งจากวรรณกรรมเรื่อง ไซอิ๋ว ตำนานการผจญภัยที่มีทั้งเทพเจ้า ภูตผีปีศาจ และบรรดาลูกศิษย์ที่สำแดงเดชวุ่นวายโกลาหลอย่างเห้งเจีย ตือโป้ยก่าย และซัวเจ๋ง
ตามประวัติศาสตร์จีน พระถังซำจั๋งเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง
พระถังซำจั๋งมีนามเดิมก่อนออกบวชว่า เฉินเหว่ย เกิดใน ค.ศ. ๖๐๒ เมื่อบวชแล้วได้รับสมณฉายาว่า “เสวียนจ้าง” แปลว่า ลึกซึ้ง ยิ่งใหญ่
ส่วน “พระถังซำจั๋ง” เป็นชื่อที่ยกย่องท่านว่าเป็น “พระไตรปิฎกแห่งราชวงศ์ถัง”
เหตุใดพระถังซำจั๋งจึงเดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากอินเดียกลับมาเมืองจีน
ท่านต้องเดินทางฝ่าเส้นทางทุรกันดารเหมือนในตำนาน ไซอิ๋ว หรือไม่ ยากลำบากแค่ไหน
และด้วยคุณูปการใดท่านจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นพระไตรปิฎกแห่งราชวงศ์ถัง
พบคำตอบในสารคดีพิเศษฉบับนี้ ตามรอยพระถังซำจั๋ง บุรุษผู้โลกลือเลื่องในความเพียรมายาวนานเกือบ ๑,๔๐๐ ปี