ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


 

ในสมัยโบราณ ขุนนางข้าราชการสยามเคยได้รับการแต่งตั้งให้มี “ยศ” และ “ราชทินนาม”

“ยศ” คือคำนำหน้า บ่งบอกระดับสูงต่ำของตำแหน่ง เช่น ขุน หลวง พระ พระยา หรือเรียกด้วย “ภาษาปาก” ก็คือ ท่านขุน คุณหลวง คุณพระ และเจ้าคุณ

ส่วน “ราชทินนาม” เป็นคำไพเราะที่ร้อยเรียงขึ้นมาใช้เป็นชื่อเฉพาะสำหรับตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ

ตัวอย่างเช่นเสนาบดีที่บัญชาการกรมนา ส่วนใหญ่มักได้รับแต่งตั้งให้เป็น “พระยาพลเทพ” เสมอ

ดังนั้น ถ้าเห็นพงศาวดารออกชื่อใครสักคนหนึ่ง เช่น “พระยาพิชัย” ย่อมต้องตรวจสอบให้ดีว่าหมายถึง “พระยาพิชัย” ท่านไหนกันแน่ เพราะตำแหน่งราชการมีการแต่งตั้งโยกย้ายกันตลอดเวลา

วิธีการอย่างหนึ่งเพื่อช่วยระบุอัตลักษณ์ คือการกำกับชื่อตำแหน่งและราชทินนามด้วยชื่อเดิมหรือ “ชื่อตัว” อย่างเช่น เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ผู้ทำหน้าที่บรรณาธิการแปลพงศาวดารจีน “สามก๊ก” สมัยต้นรัตนโกสินทร์ นั่นคือโดยหน้าที่ราชการ ท่านเป็นเจ้าพระยาพระคลัง แต่ชื่อจริงของท่านชื่อ “หน”

หรือกวีอีกคนหนึ่งที่เป็นผู้แต่งนิราศและวรรณคดี “พระอภัยมณี” ซึ่งเรารู้จักกันในชื่อ “สุนทรภู่” นั้น ชื่อตัวคือนายภู่ แต่ท่านได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็น “พระสุนทรโวหาร” เจ้ากรมอาลักษณ์ ฝ่ายพระราชวังบวร (วังหน้า) ดังนั้นเพื่อขยายความว่ากำลังพูดถึง (พระ) สุนทร (โวหาร) คนไหน ? จึงเอาชื่อตัวมาห้อยท้ายไว้กลายเป็น “สุนทรภู่”

ยิ่งไปกว่านั้น หากเป็นผู้ที่มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตราชการ แต่ละช่วงอายุ แต่ละตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับ ก็ย่อมมี “ชื่อ” หรือ “ราชทินนาม” ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา เช่นตัวอย่างจาก “คุณเปรม” พระเอกในนิยาย “สี่แผ่นดิน” ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เริ่มต้นจากการเป็นมหาดเล็ก แล้วต่อมาเป็น “พระบริบาลภูมินารถ” สุดท้ายได้เป็น “พระยาบทมาลย์บำรุง”

ทุกวันนี้ ระบบการแต่งตั้งข้าราชการให้มียศมีราชทินนาม ยุติลงไปแล้วตั้งแต่หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ และเชื่อว่าปัจจุบันนี้เมืองไทยไม่หลงเหลือ “ท่านขุน” หรือ “คุณหลวง” ที่ยังมีชีวิตอยู่แล้ว ทว่า “ร่องรอย” ของระบบนี้ยังคงหลงเหลือตกค้างอยู่ให้เห็น

ในคณะสงฆ์ไทยมีการพระราชทาน “สมณศักดิ์” ให้แก่พระเถรานุเถระ แบ่งเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่พระครู ไล่ขึ้นไปถึงพระราชาคณะชั้นสามัญ ชั้นราช ชั้นเทพ ชั้นธรรม จนถึงสมเด็จพระราชาคณะ โดยในแต่ละชั้นก็จะมี “ราชทินนาม” ประกอบด้วย ทำนองเดียวกับขุนนางศักดินา

เคยผ่านตาว่า พระมหาเถระบางรูปได้ปรารภไว้ในงานนิพนธ์ ว่าการที่ต้องเปลี่ยนแปลงราชทินนามไปตามลำดับสมณศักดิ์ตลอดเวลาเช่นนี้ สร้างความยุ่งยากอย่างยิ่งเมื่อต้องติดต่อกับต่างประเทศ โดยเหตุที่เขาย่อมไม่อาจทราบได้ว่า ท่านที่มีนามว่าอย่างนี้ คือบุคคลเดียวกับผู้ที่เคยใช้อีกนามหนึ่งมาก่อน แต่มาบัดนี้เปลี่ยนชื่อใหม่ทั้งหมดไปแล้ว

นอกจากคณะสงฆ์ ช้างต้น หรือ “ช้างหลวง” ก็ได้รับพระราชทานยศและราชทินนามด้วย เช่นช้างเผือกเมื่อ “ขึ้นระวาง” แล้วมักจะได้เป็น “คุณพระ” มีราชทินนามขึ้นต้นว่า “เศวต” (ขาว) ต่อด้วยสร้อยนามที่พรรณนาความดีงามต่างๆ เป็นคำสัมผัสคล้องจองกัน โดยส่วนใหญ่ลงท้ายว่า “…เลิศฟ้า”

เหล่านี้ คนโบราณท่านเรียกว่า “ยศช้างขุนนางพระ” คือถือเป็นเกียรติยศที่ไม่มีความหมาย ไม่สามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้ใดได้

ช้างที่ได้รับการอวยยศถาบรรดาศักดิ์แล้วย่อมยังคงเป็นช้าง กินหญ้ากินน้ำไปตามที่เคยมา ฉันใด ตำแหน่ง “เจ้าคุณ” ตลอดจนราชทินนามอันไพเราะเพราะพริ้ง ย่อมไม่เอื้อประโยชน์ใดๆ แก่การปฏิบัติศาสนกิจของสมณะผู้แสวงหาทางหลุดพ้นจากห้วงสังสารวัฏ ฉันนั้น

ยศ และ ราชทินนาม (ชื่อจริงและชื่อเล่น ตอนที่ 4)