ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
งานเขียนดีเด่น
เรื่อง : สุกฤตา ณ เชียงใหม่
ภาพ : ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

สูงวัย - Happy Grandma : ระบำ ชราโอเกะ ความสุขวัย สว.

“…เขาลืมเสียงเพลง แสงดาวแสงจันทร์ เขาลืมคำมั่นสัมพันธ์ขาดไป…”

เมื่อเพลงย้อนยุคใกล้จบ นักร้องก็เอื้อนเสียงโชว์พลังลูกคอจนสุดขณะที่ดนตรีก็ค่อยๆ ลดระดับเสียงลง ตรงข้ามกับเสียงปรบมือรัวดัง ฉันหยุดอยู่หน้าศูนย์อาหารของดิโอลด์สยามพลาซ่า ห้างเก่าแก่ย่านเจริญกรุง กลิ่นหอมของอาหารออกมาต้อนรับ พร้อมกับเสียงเพลงสุนทราภรณ์ออกมากระซิบข้างหูเสมือนจะเชื้อเชิญให้เข้าไป ใจนึกอยากเห็นผู้ขับร้องเพลงเมื่อสักครู่ก่อนที่เขาจะก้าวลงจากเวที

เมื่อเดินผ่านด่านอาหารหลากหลายเมนูจึงเจอพื้นยกระดับขึ้นมาประมาณหนึ่งขั้นบันได สิ่งที่ยืนยันได้ว่าเป็นเวทีคือไมโครโฟนที่ตั้งอยู่ตรงกลาง และเพิ่งถูกเสียบไว้ที่ขาตั้งดังเดิมหลังจากนักร้องเมื่อครู่ขับขานเพลงจบลง มีม่านสีแดงทึบทำหน้าที่เป็นพื้นหลังของเวทีนี้ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งช่วยลดทอนแสงแดดให้กับนักร้อง นักดนตรี และสร้างบรรยากาศของที่นี่ให้เหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนไปยังคาเฟ่สมัยก่อน

เสียงปรบมือซาลง นักร้องที่ฉันเดินตามเสียงมาอยู่ในชุดลูกไม้สีเขียวมรกตเข้ม ขับผิวหญิงที่อายุราว 70 ก้าวลงมาจากเวทีพร้อมใบหน้ายิ้มแย้มเขินอายตอบรับผู้ฟังที่นั่งอยู่ตามโต๊ะทุกโต๊ะอยู่ในวัยหลังเกษียณ นักร้องเสียงใสหยุดนั่งลงตรงโต๊ะริมกระจก นักเปียโนก็ชะโงกหน้าออกมาเหมือนจะมองหานักร้องคนต่อไป และเริ่มบรรเลงเพลงย้อนยุคขึ้นใหม่อีกรอบ…

ฝีเท้าของคนอายุ 72 ปีที่สนุกสนานกับเสียงร้องและเสียงดนตรี

 ศูนย์อาหาร The O Food Center ภายนอกดูเหมือนศูนย์อาหารทั่วๆ ไป รายล้อมไปด้วยร้านค้าต่างๆ

ภายในเป็นสถานที่เล็กๆ สำหรับ hang out ของผู้สูงอายุ

INTRO : นั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาฟังเพลงดัง

เมื่อดนตรีเพลงช้าจบ ดนตรีใหม่ก็เร่งจังหวะเร็วขึ้น ชายวัย 70 ปีขึ้นโยกตัวตามจังหวะและขับร้องเพลงสนุกสนานในบทเพลงคุ้นหูคนรุ่นใหม่อย่างเพลง “ฮักกันบ่ได้” ของศิลปิน ดอน สอนระเบียบ ดูเหมือนบรรยากาศรอบข้างจะเริ่มเปลี่ยนไป ครื้นเครง สนุกสนานขึ้น และยังมีคู่เต้นลีลาศสวมชุดเสื้อผ้า แต่งหน้า ทำผม เหมือนนักเต้นลีลาศมืออาชีพมาเอง ท่วงท่าการเต้นดูสง่างาม สะโพกโยกย้ายตามจังหวะเพลง ทำให้ดูแล้วเพลิดเพลิน เพิ่มอรรถรสให้กับผู้ที่เข้ามารับประทานอาหารได้เป็นอย่างดี

ฉันละสายตาไปจากเวทีสักพักและเดินมุ่งตรงไปยังโต๊ะริมกระจกเพื่อหวังเปิดบทสนทนากับบุคคลที่ตามเสียงมาตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยิน

“โอ๊ยยย ร้องไม่ถูกเนื้อยังจะมาร้องอีก”

สุวรรณา กุลาตี อายุ 74 ปี อยู่ในชุดลูกไม้สีเขียวมรกต และรองเท้าที่สีดูเข้ากับชุดไม่มีผิด แซวเพื่อนบนเวที

“นั่นมานิตย์ก็เพื่อนกัน ที่นี่รู้จักกันหมด อยู่กันแบบเพื่อน”

สุวรรณาเล่าว่าเพลงที่ร้องจบไปชื่อเพลง “ราตรี” เป็นของศิลปินแห่งชาติ มัณฑนา โมรากุล ที่เธอเรียกได้ว่าเป็นนักร้องคนโปรดตั้งแต่สมัยสาวๆ มีเพลงดังในสมัยนั้นมากมาย อย่างเพลง “วังน้ำวน” “ดวงใจที่ไร้รัก” เธอมักจะนำเพลงเหล่านี้ขึ้นไปโชว์ร้องคาราโอเกะบนเวทีเรื่อยๆ เธอมาที่นี่ปีละ 365 วัน เพราะทำงานอยู่แถวนี้ มีพื้นที่ให้พ่อค้าแม่ขายเช่าสถานที่เพื่อขายของ ทุกเช้าหลังจากเก็บค่าแผงเสร็จก็จะขึ้นมาหลบร้อนร้องเพลง ฟังเพลงบนศูนย์อาหารชั้น 3 ของห้างดิโอลด์สยามพลาซ่า เมื่อก่อนห้างนี้เป็นที่ตั้งของตลาดมิ่งเมือง ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและร้านรับตัดเย็บเสื้อผ้า ต่อมาก็เริ่มปรับปรุงเปลี่ยนเป็นห้างดิโอลด์สยามพลาซ่าเมื่อปี 2536 บริเวณศูนย์อาหารมีบริการคาราโอเกะแต่ไหนแต่ไร แต่เมื่อก่อนเป็นคาราโอเกะแบบกดคอมพิวเตอร์ เพิ่งจะมาเปลี่ยนเป็นแบบดนตรีสดทำให้เริ่มเป็นที่นิยมและยิ่งถูกใจวัยเก๋าผู้หลงรักเสียงเพลงย้อนยุคในย่านนี้

“เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็เคยขึ้นมานะ ไม่รู้ตั้งใจหรือหลงขึ้นมา เคยมีเด็กสวนกุหลาบขึ้นมาทานข้าวแล้วเราก็ร้องเพลงอยู่พอดี มันบอกว่า โอ๊ยป้า ทำไมเสียงโบราณอย่างงี้อะ เราเลยสวนกลับว่า นี่หนู ถ้าหนูไม่ชอบนะไปนั่งไกลๆ ไป แถวนี้ที่ตรงนี้มีแต่คนอายุ 60 ขึ้นไปนะ ไม่มีหรอกเด็กๆ”

เธอเล่าพร้อมกับชี้มาที่ฉันในความหมายประมาณว่าเป็นเรื่องแปลกมากที่มีคนวัยอย่างฉันขึ้นมา เธอบอกว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่มีบรรยากาศน่าอยู่ เป็นแหล่งรวมเหมือนเอาใจคนวัยอย่างเธอ ทั้งอาหารการกิน เสื้อผ้า และบทเพลง บางวัน เช่น วันพฤหัสฯ วันจันทร์ ก็จะมีนักเต้นลีลาศที่เคยเป็นอาจารย์สอน แต่ตอนนี้เกษียณอายุราชการก็จะมาร่วมสนุกเต้นระบำกันเพื่อประกอบเสียงเพลง ทำให้ยิ่งดูสนุกสนาน ครึกครื้นขึ้นไปอีก

โดยปรกติเธออยู่บ้านคนเดียว ลูกหลานเรียนและทำงานอยู่ต่างประเทศหมด ครั้นอยู่บ้านคนเดียวไม่มีอะไรทำก็เบื่อและกลัวเป็นโรคซึมเศร้าเข้าสักวัน เมื่อเพื่อนแนะนำให้ได้มารู้จักที่แห่งนี้จึงตัดสินใจมา แล้วก็ติดใจเพราะที่นี่มีแต่เพลงรุ่นเธอและเพื่อนวัยเดียวกัน วันไหนไม่ได้ร้องเพลงก็มานั่งคุยกับเพื่อนคลายเหงา เธอเล่าว่าเดี๋ยวนี้เพื่อน คนคุ้นๆ หน้ากันหายหน้าหายตาไปบ้างแล้ว ถ้าหายไปนานๆ ก็คงจะเสียชีวิตไปแล้ว อดได้มาร่วมวงพูดคุยกันเหมือนเคย แต่นี่ก็เป็นเรื่องปรกติ เธอบอกว่าถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็จะสร้างความสุขโดยการร้องเพลงที่นี่ไปเรื่อยๆ

เมื่อฉันถามถึงเรื่องร้องเพลงและรสนิยมการฟังเพลง เธอตอบทันควัน

“เรื่องร้องเพลงไม่ต้องพูดถึง ฉันเป็นคนชอบร้อง เมื่อก่อนฉันมาใหม่ๆ หนีกันหมด เขาไม่รู้จักเพลงของฉัน ฉันชอบร้องเพลงสุนทราภรณ์เก่าๆ คนรุ่นฉันก็จะชอบ เพลงนี้ไม่ได้ฟังตั้งนานแล้ว คนฟังก็จะนึกถึงจากเสียงของฉันที่ร้องเพลง ฉันก็ร้องไปเถอะนะเพลงพวกนี้เผื่อคนรุ่นหลังจะได้ยินบ้าง”

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนเรื่อง “สุขตอนแก่” ไว้ว่า “จงรีบหาความสุขเมื่อยังมีความสามารถ และรีบไปเที่ยวตามสถานที่ที่อยากไป หาเวลาเจอเพื่อนเก่า และจงสังสรรค์กับเขาเพราะเวลาเหลือน้อย” เห็นทีจะเป็นผล

การที่ได้เห็นรอยยิ้มของพวกเขาเหล่านี้เหมือนได้รับพลังบางอย่างอย่างบอกไม่ถูก ฉันรู้สึกสนุกที่ได้ฟังเพลงเก่าๆ ทั้งที่เคยบ่นกับแม่เสมอเมื่อได้ยินแม่ฟังเพลงเก่า และคิดเสมอว่าเพลงอะไรทำไมมันกล่อมให้ง่วงได้ขนาดนี้ ที่สำคัญฉันรู้สึกยิ้มตามทุกครั้งที่ได้ยินเรื่องราวออกมาจากปากของเธอ

“ที่นี่คือแหล่งรวมความสุขของคนวัยฉัน” เธอเล่าพร้อมใบหน้าที่ยิ้มเปี่ยม

ฉันนึกถึงคุณยายตัวเองที่บ้านต่างจังหวัด ความสุขของแกมีเพียงการนั่งที่เก้าอี้ไม้ตัวเดิมทุกวัน ดีใจในวันที่ลูกหลานกลับบ้านไปเยี่ยม วันนั้นแกจะยิ้มอย่างมีความสุขมาก

คุณป้าขาประจำกำลังรอคิวเพื่อที่จะขึ้นไปร้องเพลงพร้อมทั้งเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟังไปพลางๆ

เป็นจุดนัดหมายของหลายๆ ท่านเพื่อมานั่ง กิน ดื่ม คุย และสนุกสนาน

HOOK : เพลงสร้างพลัง

ขณะที่ฉันนั่งพูดคุยเรื่องจิปาถะกับสุวรรณา โต๊ะของเราก็จะไม่เคยว่างเว้น เธอจะดึง ชักชวนให้เพื่อนๆ ของเธอที่เดินผ่านไปมาเข้ามาแวะทักทาย พูดคุยกับฉัน ทุกคนมีรอยยิ้มเปื้อนหน้าทักทายพูดคุยกับฉันอย่างเต็มใจ และให้ความสนใจคนวัยอย่างฉันเป็นพิเศษ พวกเขาคงดีใจไม่น้อยที่ยังมีคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่พวกเขาทำแล้วมีความสุข

สุวรรณาได้แนะนำให้ฉันรู้จักอาจารย์พจมาน พะลายยานนท์ เป็นอาจารย์สอนร้องเพลงที่เกษียณแล้วเช่นเดียวกับหลายคนในที่นี้ อาจารย์เล่าให้ฟังถึงความสามารถ วิชาความรู้เกี่ยวกับการร้องเพลงในสมัยหนุ่มๆ ด้วยความภาคภูมิใจผ่านทางสีหน้าโดยไม่รู้ตัว และโชว์พลังเสียงโดยการร้องเพลง “ถ่านไฟเก่า” ของพี่เบิร์ดให้ฉันฟัง ยอมรับเลยว่าเป็นเวอร์ชันเพราะที่สุดเท่าที่เคยฟังมา

“ผู้สูงอายุก็จะได้ผ่อนคลายด้วยวิธีนี้ มันเป็นการผ่อนคลายที่ถูกที่สุด ถ้าเรามีเงิน 100 บาท สามารถอยู่นี่ได้ทุกวัน ร้อยบาทที่อื่นจะทำอะไรได้บ้าง ที่นี่ร้องเพลงได้ 10 กว่าเพลง แถมเงินเหลือไว้กินข้าวอีก คนวัยเกษียณเนี่ยไม่ใช่วัยหาเงิน เป็นวัยใช้เงิน” อาจารย์พูดทิ้งท้ายเหมือนจะฝากอะไรหลายๆ อย่างให้ฉันคิด ก่อนจะดูนาฬิกาข้อมือแล้วขอตัวกลับ

ระหว่างที่ฉันนั่งคุยกับสุวรรณาไปเรื่อยๆ บรรยากาศก็ไม่เคยเงียบเหงา ทุกช่วงบทสนทนาจะมีเสียงเพลงย้อนยุคเคล้าเรื่องราวกระจายอยู่ทั่วห้องอาหารแห่งนี้ ต่อสู้กับกลิ่นของอาหารที่เย้ายวนให้ฉันเข้าไปซื้อรับประทานเสียให้ได้

ในที่สุดคูปองเงินสดในราคา 100 บาทก็มาอยู่ในมือฉัน คูปองนั้นเป็นกระดาษและมูลค่าแต่ละใบก็จะมีเลขเขียนกำหนดเหมือนใช้แทนธนบัตรจริงๆ ซึ่งสมัยนี้น่าจะเป็นการ์ดหมดแล้ว

“อะไรที่อนุรักษ์ได้เราก็จะทำ”

คำพูดจาก สุพัตรา โพธิขำ ผู้จัดการศูนย์อาหาร ผุดขึ้นมาในหัว ไขข้อข้องใจเรื่องคูปองได้เป็นอย่างดี

สุพัตราเล่าว่าเธอมาทำงานที่นี่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งห้างเมื่อปี 2536 เริ่มจากเป็นพนักงานบัญชี ขยับเป็นผู้จัดการดูแลศูนย์อาหารจนถึงปัจจุบัน ห้างดิโอลด์สยามพลาซ่าจะบริการทุกอย่างเพื่อเอาใจลูกค้าสูงวัย ที่แห่งนี้จึงเหมือนแหล่งสังสรรค์ ใครอยากจะร้อง ใครอยากจะเต้น เล่นดนตรี ก็สามารถขึ้นไปบนเวทีได้เลย เธอเล่าพร้อมกับเชิญชวนให้ฉันขึ้นไปร้องเพลงกับเหล่าคุณตาคุณยาย ฉันอยากจะตอบรับคำเชิญมาก แต่เป็นห่วงสุขภาพหูของเหล่าคนฟังเหลือเกิน

ค่าบริการของที่นี่ วันธรรมดาเพลงละ 25 บาท บางคนเหมาจ่ายวันละ 100 บาท ร้องได้ 4 เพลง 2รอบ แต่หากวันเสาร์อาทิตย์ราคาเหมาจะอยู่ที่ 200 บาท รายได้จะหักเป็นค่าเช่าเปียโน ค่านักดนตรี โดยจะเปิดทุกวันตั้งแต่ 10.00-19.00 น.

“ถ้าเราคิดหวังกำไรมันก็คงทำต่อไม่ได้ แต่ถ้าเราคิดถึงความสุขของพวกเขามันมีมากกว่ากำไรแน่นอน เราจึงสามารถเปิดมาได้ยาวนานขนาดนี้”

สุพัตรากล่าวพร้อมกับยิ้มมุมปากเล็กน้อย สื่อถึงอุดมคติในการทำงานที่ได้อยู่ท่ามกลางรอยยิ้มของเหล่าผู้สูงอายุ

คุณลุงที่กำลังร้องเพลงจังหวะเร็วตัดกับเพลงก่อนๆ ที่คนอื่นร้องผ่านไป

คาราโอเกะที่ร้องเพลงคู่กับนักดนตรีที่เล่นเพลงสด

เป็นที่ที่มีกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้สูงอายุทำในยามว่าง

THE END : เพลงจบ แต่ความสุขยังไม่จบ

หลังจากนั่งทานข้าว ฟังเพลงได้สักพัก เด็กรับคิวร้องเพลงก็เดินมาที่โต๊ะฉัน มาบอกให้รู้ว่าถึงคิวสุวรรณาขึ้นไปร้องเพลงแล้ว เธอรีบลุกขึ้นพร้อมจัดการกับเสื้อลูกไม้สีเขียวมรกตตัวเก่งให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและหยิบโพยชื่อเพลงไป ไม่ลืมที่จะหันมายิ้มให้ฉันเหมือนกับจะสื่อว่า ฟังฉันร้องให้ดีนะหนู…

“วันไหนลืมวันฉันจะมองหาเขาอันดับแรกเลยนะว่าวันนี้เขาใส่เสื้อสีอะไร จะรู้ทันทีเลย มันเป็นสไตล์ เค้ามีครบทุกสีประจำวัน” สุพัตราเอ่ยขึ้นมาพร้อมกับมองไปที่คนบนเวที น่าจะเป็นการพูดถึงสุวรรณากับเสื้อลูกไม้สีเขียวมรกตตัวนั้นแน่ๆ

เพลงที่สุวรรณากำลังขับร้องอยู่ชื่อเพลง “ดอกไม้ใกล้มือ” ของ มัณฑนา โมรากุล ศิลปินในดวงใจของเธอ เสียงที่ใสร้องประสานกับเปียโน นักดนตรีเล่นให้เข้าจังหวะกับเสียงของเธอ ทุกอย่างประสานกันได้อย่างลงตัว ใบหน้าของสุวรรณาเปื้อนรอยยิ้มตลอดทั้งเพลง เธอดูมีความสุขและสวยสง่ามากโดยเฉพาะตอนจับไมโครโฟนร้องเพลง ระหว่างที่ฉันเคลิ้มไปกับบทเพลงก็มีคุณตาอายุราว 70 ปี เข้ามาพูดคุยทักทายกับฉัน รู้สึกว่าวันนี้ตัวเองฮอตอย่างบอกไม่ถูก

ปรเมทย์ วัย 71 ปี เข้ามาพูดคุยเล่าแกมหัวเราะว่า เขาเพิ่งจะมาหัดร้องเพลงที่นี่ เห็นเพื่อนร้องก็อยากจะร้องตาม มาที่นี่เพราะเพื่อน การได้พูดคุยกับคนรุ่นราวคราวเดียวกันแลกเปลี่ยนความคิดมันทำให้เราอารมณ์ดี สุขภาพร่างกายก็จะแข็งแรงไปด้วย ปรเมทย์เล่าต่ออีกว่า เคยอ่านงานวิจัยของชาวญี่ปุ่นที่ว่าการร้องเพลงจะสร้างความสุขและมีอายุยืนเฉลี่ยกว่าคนปรกติถึง 5 ปี จึงอยากที่จะสร้างความสุขให้กับตัวเองด้วยวิธีนี้

“วันไหนที่ผมไม่ได้ร้องเพลงเหมือนกับผมกินข้าวไม่อิ่ม” ปรเมทย์กล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม เสียงเพลงค่อยๆ เบาลงอีกครั้งเพื่อจะเริ่มบรรเลงเพลงใหม่ที่ไม่ใหม่…อีกรอบ…

การได้มาที่นี่

ทำให้ได้คิดว่าคนวัยอย่างฉันสุดท้ายก็ต้องกลายเป็นคนวัยอย่างพวกเขา เพลงที่ฟังอยู่สมัยนี้ก็ต้องกลายเป็นเพลงย้อนยุคเข้าสักวัน

พอถึงตอนนั้น

ฉันจะเป็นคนสูงวัยที่มีความสุขได้เหมือนอย่างกับพวกเขาหรือไม่

รู้แค่ว่าความรู้สึกที่ทิ้งท้ายก่อนจะกลับคือ…

ฉันอยากจะกลับบ้านไปหาคุณยาย แล้วชวนร้องเพลงสักเพลงก็พอ


นักเขียน : สุกฤตา ณ เชียงใหม่
นามสกุลเชียงใหม่ แต่เกิดขอนแก่น เป็นนักศึกษาวารสารคนหนึ่ง ที่เพิ่งจะเริ่มเดินทางบนเส้นทางของนักเล่าเรื่อง งานอดิเรกชอบฟังเพลง และคิดตามความหมายเนื้อเพลง ชอบการได้รับรอยยิ้มจากคนอื่น ชื่นชอบการทานบ๊วยมะละกอเค็มในเซเว่นเป็นชีวิตจิตใจ

…………..

ช่างภาพ : ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์
ชื่อ คิดครับเป็นนักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการ คิด และดู