ค่ายนักเขียนเพื่อเปลี่ยนชายแดนใต้
วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
โครงการค่าย “ปั้นนักเขียนเปลี่ยนโฉมชายแดนใต้” รุ่นที่ ๑ มีจุดแข็งข้อหนึ่งที่มีเวลา ๓ วันต่อเนื่อง ๓-๕ สิงหาคม ๒๕๖๑ ให้กับการปฏิบัติการสร้างนักเขียนยุวชนชายแดนใต้
ศูนย์อำนวยการบริหารจัดการจังหวัดชายแดนใต้ หรือ ศอบต. เปิดรับเยาวชนในจังหวัดชายแดนใต้ ๓๐ คน รวมตัวกันที่ปัตตานี เพื่ออบรมการเขียนเรื่องเล่าจากชุมชนเผยแพร่ในวารสารของ ศอบต. ต่อไป
มีเวลา ๓ วัน นักเขียนสารคดี ๒ คน ครูอรสม สุทธิสาคร กับผม ออกแบบแผนการเรียนรู้ออกเป็น ๓ ภาคส่วน วันแรกปูพื้นฐานด้านทฤษฎีในห้องเรียน วันที่ ๒ ลงพื้นที่และเขียนเรื่องอย่างละครึ่งวัน และวันสุดท้ายนำเสนอผลงาน รับคำวิจารณ์และแนวทางการปรับปรุงผลงานก่อนเผยแพร่
ภาคทฤษฎีว่ากันตั้งแต่ทำความรู้จักนักเขียนและบรรณพิภพในภาพรวม แล้วลงลึกกับงานประเภทสารคดี โดยเริ่มต้นที่เรื่อง “โครงสร้าง” เป็น “คาถา” บทแรก
แล้วต่อด้วยการทำความรู้จักกลุ่ม “ข้อมูล” ๓ ประเภท และวิธีการที่จะได้มา
ดูจากผลการฝึกปฏิบัติการเก็บข้อมูลแต่ละประเภทในห้องเรียน ก็วางใจได้ว่านักเขียนยุวชนชายแดนใต้กลุ่มนี้มีพื้นฐานการเขียนเชิงวรรณศิลป์มาแน่นหนาเกินคาดหมาย
แหล่งเก็บข้อมูลเพื่อการเขียนกระจายกันออกไปใน ๓ พื้นที่ในจังหวัดปัตตานี ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านอ่าวปัตตานี บ้านพักช่วยเหลือ และสวนเกษตรแปลงใหญ่ทรายขาว
ได้เรื่องราวหลากหลายประเด็นจำนวนเกือบ ๓๐ เรื่อง ลองยกบางส่วนมาให้อ่านกันในที่นี่ก่อนตีพิมพ์เผยแพร่
บรื้น บรื้น…
เรือแล่นออกจากฝั่ง น้ำสาดเรือ มีลมพัดเบาๆ ท้องฟ้าอันสดใส และเสียงเครื่องยนต์เรือที่ดังไปทั่วอ่าว จนทำให้ฝูงนกกาน้ำที่เกาะอยู่บนต้นโกงกางต้องบินว่อนออกไปด้วยความตกใจ เมื่อฉันได้มองออกไปไกลจนสุดลูกหูลูกตาก็มีความรู้สึกที่ว่า “โลกมันกว้าง กว้างพอที่ทำให้ฉันคิดว่าโลกนี้มีอะไรให้เราเรียนรู้ได้อีกเยอะ”
มันเป็นความรู้สึกแรกของฉันที่ได้ล่องเรือในอ่าวแห่งหนึ่ง “อ่าวปัตตานี”
ซุลฟา อับดุลมายิส เปิดเรื่องด้วยเสียงและฉากใน “ที่ไหนมีทะเล ที่นั่นมีคนเล” ได้อย่างไม่ธรรมดา และน่าตามต่อ
เมื่อกล่าวถึงเรือของชาวประมงพื้นบ้าน เธอบรรยายว่า
เรือเปรียบเสมือนบ้านหลังเล็กๆหลังหนึ่งที่ต้องอาศัยอยู่และประกอบกิจวัตรต่างๆในแต่ละวันที่ทำการประมงอยู่ ถือได้ว่าวิถีชีวิตของชาวประมงเป็นเหมือนเหรียญสองด้านที่เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างลงตัว
เรื่อง “เสน่ห์ของประมงพื้นบ้าน อ่าวบาลาทูวอ บางปู” ของ นัสริน ยะปา บรรยายถึง บางปู ที่เธอได้ไปลงพื้นที่ ว่า
ครั้งแรกที่เท้าข้ามสะพานไม้เก่าๆไปเพื่อให้เห็น อ่าวบาลาทูวอ ท้องฟ้าเปิดสดใสเป็นใจให้เห็นและสัมผัสลมเย็นๆที่ตีพัดหน้าจนผ้าคลุมที่ใส่ยุ่งเหยิง ต้นไม้กลางน้ำกร่อยก็ไม่ยอมแพ้ที่จะเจริญเติบโตงดงามเพื่อให้ร่มเงา และมีรากที่แข็งแรงออกมากมาย ที่ใครหลายๆ คนรู้จักว่า “ต้นโกงกาง” ใช่ ! ที่นี่คือป่าชายเลน รอบๆ ป่าชายเลนล้อมรอบไปด้วยน้ำทะเลอ่อนๆจาการบรรจบกันของน้ำทะเลและน้ำจืด ที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำชั้นดี เป็นระบบนิเวศที่มหัศจรรย์และน่าสนใจอย่างมาก
เมื่อเดินไปเรื่อยๆพบว่ามี สิ่งก่อสร้างที่บ่งบอกถึงสัญลักษณ์ นั้นก็คือ ปูตัวใหญ่ สีดำแดง สลักไว้เป็นอนุสรณ์ที่ใครๆผ่านมาเป็นต้องเข้าใจเพราะ ที่นี่คือ ตำบลบางปู
เขียนถึงตัวละครที่เธอได้สัมผัสพูดคุยว่า
หารู้ไหม การเล่นพายเรือเพื่อหาปลาของเขาครั้งนั้น ทำให้เขารักเรือและชอบทะเลจนถึงวันนี้ ซึ่งจุดเริ่มต้นในการเป็นชาวประมงพื้นบ้านของเขา นั้นคือการที่ได้พายเรือในอ่าวเพื่อหาปลามาขายเป็นอาชีพเสริม
เงินที่ได้มาคงเทียบไม่ได้กับความสนุกสนานของตัวเอง จนกลายเป็นความสุขอีกอย่างในชีวิตของเขา
เวลาผ่านไป ประมาณ 4 ปี เขาก็เก็บเงินจากการขายปลาที่ไปจับมานั้นไปซื้อเรือที่ใหญ่ขึ้นและเริ่มติดเครื่องยนต์ให้เรือ ทำให้เขาขยับจากความชอบกลายเป็นอาชีพ เป็นหนึ่งความภาคภูมิใจในชีวิตเขา
และจบเรื่องเล่าได้อย่าคมคายเกินความเป็นยุวชนมือใหม่
ทะเลกลายเป็นครูที่ดีให้กับเขา และทะเลยังเป็นที่พักกายพักใจของเขาในเวลาที่คร่ำเครียด
การมองดูตะวันตกในน้ำนั้นเป็นสัญลักษณ์ว่าวันนี้ได้จบไปแล้ว อีกไม่กี่ชั่วโมงก็เป็นวันใหม่ เริ่มใหม่ ใช้ชีวิตได้อีกครั้ง ไม่ว่าจะดีหรือร้าย สุดท้ายก็ผ่านไป ความพอใจของเขาทำให้ค้นพบความสุขที่แท้จริง และความสุขนั้นก็เกิดจากการสร้างด้วยตัวเอง
นัสรูลเลาะห์ อาแว บรรยายภาพและความรู้ของนักเขียนรุ่นใหม่ไฟแรง ไว้ใน “เรื่องเล่าจากป่าโกงกาง ณ บางปู” อย่างมีเสน่ห์เฉพาะตน
ใช้ทางหลวงหมายเลข 42 เดินทางจากตัวเมืองเพียงไม่เกิน 20 นาที ถึงปลายทาง ชุมชนบางปู ระหว่างที่รถกำลังเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่ชุมชน ผมได้สังเกตสองข้างทางที่มีบ้านช่องของผู้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด สะท้อนให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น มีความสัมพันธ์ที่ดีและมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน เพียงเปิดประตูหน้าต่างบ้านก็ยิ้มทักทายให้กันอย่างเป็นมิตร
และบรรยายความรู้สึกผู้เขียนเมื่อได้สัมผัสสถานการณ์จริงว่า
เพื่อนร่วมลงเรือ ลำเดียวกันบางคนรู้สึกตกใจ กังวลใจอย่างบอกไม่ถูก กลัวตกน้ำบ้างละ กลัวเรือจะคว่ำบ้างละ แต่เหตุการณ์เป็นเพียงบททดสอบหนึ่งที่แวะเข้ามาทักทายสติ ลองใจการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของทุกคน
ทุกอย่างบนโลกนี้ไม่เคยถูกสร้างมาเพื่อให้เราสมหวังหรอก หากแต่มันถูกสร้างเพื่อให้เราเรียนรู้ความผิดหวัง และการแก้ปัญหาอย่างมีสติ เหตุการณ์วันนี้ก็เช่นกัน
เช่นเดียวกับ สุไฮณีย์ มาหิเละ ที่เขียนถึงหิ่งห้อยที่บางปูด้วยมุมมองของผู้เขียน ไว้ในงานเขียนเรื่อง “บางปูดินแดนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์”
ในยามค่ำคืนจะมีแสงวิบวับจำนวนมากอยู่ท่ามกลางความมืดมิดของธรรมชาติ ราวกับเป็นการรวมตัวและการพบปะกันของพวกมัน ถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆที่พวกมันจะได้ออกมาเจอและพูดคุยกันเพราะเมื่อดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นจากพื้นดินแสงแวววับเหล่านั้นก็จะหายไปทันที และจะกลับมามีแสงอีกครั้งเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
และจบเรื่องด้วยวรรคทองของผู้เขียน
ทั้งนี้ก็ยังหวังว่าแหล่งท่องเที่ยวชุมชนบางปูจะเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นสำหรับคนนอกพื้นที่และเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยากมาเที่ยวชมบรรยากาศความสวยงามที่แฝงอยู่ในความเชื่อที่ไม่เป็นจริงของหลายๆคน
เป็นภาพและผลงานสดจากห้องเรียนการเขียนที่ชายแดนใต้ กลางเมืองปัตตานี รออ่านฉบับเต็มกันในวารสาร ศอบต. ไม่นานจากนี้
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา