ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
งานเขียนและงานภาพดีเด่น
กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม : เรื่อง
ณภัทร เวชชศาสตร์ : ภาพ

 

โลก                เจ็ดพันล้านคน กับมหาสมุทรหนึ่งมหาสมุทร
ประเทศไทย  เจ็ดสิบล้านคน กับมหาสมุทรหนึ่งมหาสมุทร

“ทรัพย์” จากมหาสมุทรเดียวต้องเลี้ยงคนเกือบทั้งโลก ยิ่งจำนวนคนเพิ่มขึ้นเท่าไรปริมาณการบริโภคก็ยิ่งเพิ่มขึ้น “คนจับปลา” จึงเพิ่มปริมาณการจับปลาตามจำนวนคนไปด้วย จากประมงพื้นบ้านใช้เครื่องมือพื้นฐานอย่างเรือลำเล็กไปเป็นประมงพาณิชย์ใช้เครื่องมือหนักอย่างเรือลำใหญ่เพื่อตามกำลังกินของคนในโลกให้ทัน

ใจความสำคัญของคำว่าประมงพาณิชย์คือคำว่า “ปริมาณ” ด้วยขนาดเรือใหญ่กว่า 10 ตันกรอสขึ้นไป ใช้เครื่องมือที่เรียกขานในชนอนุรักษ์ว่าอุปกรณ์ทำลายล้าง ไม่ว่าจะอวนตาถี่ อวนลาก อวนรุน เรือปลากะตัก หรือเรือปั่นไฟ และแรงงานจำนวนมากลากปลากองมหาศาล กวาดสารพัดสิ่งในทะเล ไม่ว่าจะปลา เต่า กุ้ง หอย สัตว์หายากต่าง ๆ เพื่อให้ได้ปริมาณการขายที่มากที่สุด จะกินได้บ้างกินไม่ได้บ้างก็ไม่เป็นอะไร เมื่อเหลือขายไปก็กลายเป็น “ปลาเป็ดปลาไก่” เข้าโรงงานอาหารสัตว์ ตอบสนองสังคมบริโภคนิยมต่อไป

“คุณภาพ” จึงกลายเป็นสิ่งหายากยิ่งกว่าแก้วแหวนเงินทอง แต่ใครเล่าจะคิดถึง ในโลกที่ปากท้องต้องยัดด้วยราคาค่าของเท่านั้น

อาหารทะเล ปริมาณกลายเป็นเรื่องราคาถูก แต่คุณภาพกลับเป็นสิ่งที่มีราคาแพง เมื่อประมงพื้นบ้านและอาหารทะเลคุณภาพอยากอยู่รอดในยุคที่ปริมาณนั้นสำคัญ โครงการ “ร้านคนจับปลา” จึงกำเนิดขึ้นเพื่อตามหาความหมายของคำว่าคุณภาพและอิสรภาพของการประมง…

ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะในท้องทะเลไทย ซึ่งนอกจากความสวยงามที่คอยดึงดูดนักท่องเที่ยวแล้วประเทศไทยก็ยังเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าประมงอันดับต้นๆ ของโลก

เมื่อเรือประมงพาณิชย์เทียบท่าหลังจากที่พระอาทิตย์ขึ้น วงจรทางอุตสาหกรรมก็เริ่มทำงาน รถบรรทุกเตรียมไปรับปลาที่จับมาได้เพื่อนำไปแปรรูป ส่งออก และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป

โจรจับปลากลับใจ

หลายๆ คนคงเคยได้ยินชื่อร้าน “คนจับปลา (Fisher Folk)” ร้านขายอาหารทะเลออร์แกนิกจากแหล่งประมงที่ไม่มีพิษ ด้วยวิธีการไม่มีพิษ และการส่งต่อที่ไม่เกิดพิษ ร้านนี้เกิดจากการร่วมมือของสมาคมรักษ์ทะเลไทยกับสมาคมประมงพื้นบ้านหลายแห่ง เริ่มต้น ณ สมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีกำลังสำคัญคือ จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ (บุช) ชายวัย 44 ปี ผิวเกรียมแดด สำเนียงติดเหน่อแบบที่บอกได้ว่าเป็นชาวประจวบฯ ของแท้ และ โกศล จิตรจำลอง (น้อย) วัย 58 ปี ที่รอยเหี่ยวย่นบนหน้าบอกถึงประสบการณ์คร่ำหวอดในวงการ ในยามบ่ายสองคนนี้มักรวมกลุ่มกันที่อาคารโล่งสีสันสดใสที่เรียกว่า “ศาลารวมใจ” ของชุมชนอ่าวคั่นกระได ซึ่งเป็นทั้งที่ประชุม ที่เรียกร้อง ที่เลี้ยงฉลอง และที่แปรรูปปลา

ถึงแม้วันนี้ทั้งคู่จะเป็นกำลังหลักในการฟื้นฟูทะเล แต่เขาทั้งสองก็เผยว่าเคยเผลอใจไปกับความคิดว่า “ยิ่งมากยิ่งคุ้ม” เหมือนกัน

จิรศักดิ์และโกศลเป็นชาวประมงรุ่น 2 เริ่มต้นจับปลาตามพ่อตั้งแต่วัยประถมฯ โกศลเล่าว่า แต่ก่อนนั้นทะเลสมบูรณ์ อาหารทะเลนั้นหาง่าย เมื่อลูกหลานแต่ละครอบครัวเติบโตขึ้นต่างก็ออกเรือหาปลา เมื่อจำนวนคนเยอะเลยยิ่งแข่งกันหากินมากขึ้น

“ลูกผู้ชายก็ออกไปหากินเป็นครอบครัวใหม่ ทรัพยากรน้อยลง เหมือนว่าเราแย่งกันหากิน ไม่ได้พักผ่อนอะไรเลย ถ้าไม่สว่างก็ไม่ได้กลับบ้าน มีแรงเท่าไรก็ทุ่มลงไปกับทะเล ให้ได้ปลามา กอบโกยจนเรียกว่าปลาหมด”

แรกเริ่มเดิมทีในชุมชนนี้ใช้อวนติดตาสำหรับจับปลาอกกะแล้หรือปลาหลังเขียว ขนาด 2.9 เซนติเมตร แต่เมื่อเห็นเพื่อนๆ จากชุมชนอื่นใช้อวน 2.5 เซนติเมตรแล้วได้ปลาร่วมพันกิโลกรัมต่อคืน พวกเขาจึงเกิดความคิดที่จะใช้อวนตาเล็กขึ้นมาบ้าง

“ตอนแรกปลาบ้านเรามีเยอะ พอเราทำมาได้สัก 2 ปี ปลาที่ได้จากอวนขนาดนี้เริ่มน้อยลง เลยไปใช้ 2.5 นึกได้ว่าลูกปลามันยังทะลุอวนได้อยู่ เลยลดเหลือ 2 เซนต์” ช่วงที่ใช้อวนตาเล็กนั้น จิรศักดิ์รายได้ดีมาก เขาจับปลาได้ถึง 2,000 กิโลในหนึ่งคืน ถึงแม้ราคาปลาตัวเล็กหรือลูกปลาจะถูกกว่า แต่ด้วยปริมาณที่เยอะ รายได้คืนหนึ่งก็ถือว่าคุ้มแสนคุ้ม

“จับจนหน้าบ้านไม่มีปลาให้จับ ย้ายไปเรื่อย” จนเมื่อปี 2550 จิรศักดิ์และโกศลได้ย้ายไปจับปลาจากแหล่งอื่นในแถบอำเภอเมืองประจวบฯ

“ปลาอยู่ตรงไหนก็ไปสุมเอากันเลย หมด! เมื่อหมดก็ไปหากินที่อื่น ย้ายไปจนถึงอ่าวมะนาวที่เป็นเขตห้ามล่า จนทหารไล่ขู่ดำเนินคดี” จิรศักดิ์และโกศลจึงเปลี่ยนที่ทำกิน เดินทางเลียบชายฝั่งลงใต้ ลัดเลาะไปเรื่อยๆ จนถึงแถบทะเลชุมพร เมื่อพวกเขาไปถึงก็พบว่าในทะเลแถบนั้นปลายังอุดมสมบูรณ์

“เราไปถึงปลายังอยู่มากมาย เราก็จับของเขาหมด บางทีไม่กล้าเอาขึ้นมาเรือ ต้องสะบัดทิ้ง ปลาลอยขึ้นฝั่ง พอปลามันตายเยอะแล้วเขาก็จับได้ ไล่ไม่ให้เราอยู่” บางกลุ่มถึงกับประท้วงว่าทั้งคู่ไปตัดตอนลูกปลา เมื่อหนักข้อขึ้น แม้แต่บ้านก็ไม่ให้ทั้งคู่เช่า จึงต้องเดินทางกลับบ้านในที่สุด

เมื่อพากลุ่มโซซัดโซเซกลับมาอ่าวคั่นกระได ทั้งคู่ก็ได้รู้จักคำว่า “อนุรักษ์” เป็นครั้งแรกเมื่อได้ข่าวโครงการของสมาคมรักษ์ทะเลไทยที่เขาตาม่องล่าย หมู่บ้านใกล้เคียง นับตั้งแต่นั้นคนในชุมชนจึงเลิกใช้อวนตาเล็กและอวนลาก แต่ไม่ว่าจะพยายามสักเท่าไรประชากรปลาก็ยังไม่กลับมาสู่อ่าว จิรศักดิ์และพรรคพวกจึงเดินทางลงใต้อีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้ด้วยเป้าหมายใหม่ ไปยังอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ซึ่งพวกเขาได้ยินมาว่ามีชุมชนประมงที่แข็งแกร่งด้าน “สิทธิชุมชน” และมีวิถีประมงแบบฟื้นฟูอยู่ จากแต่ก่อนที่ไม่เคยคำนึงถึงความเป็น “ชุมชน” และพื้นที่บ้านของตน จิรศักดิ์ก็ได้รู้ว่าชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยในพื้นที่มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะดูแลอนุรักษ์ฟื้นฟูบ้านของตน

“เรามีสิทธิที่จะทำให้ชุมชนเราดีขึ้น” จิรศักดิ์กล่าวพลางหันไปยิ้มกับโกศล เพื่อนที่ผ่านคืนวันทำลายจนมาถึงคืนวันอนุรักษ์…

ภายใต้เม็ดเงินกองโต ปลาหลากหลายชนิดที่ถูกจับขึ้นมาจะถูกคัดแยกก่อนนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมต่อ ซึ่งปลาบางชนิดมนุษย์ไม่สามารถบริโภคได้ก็ต้องนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งการทำประมงแบบไม่เลือกชนิด ขนาด และจำนวน ส่งผลให้ระบบนิเวศเสียสมดุล ซึ่งเป็นการลดจำนวนประชากรปลาและความอุดมสมบูรณ์ในอนาคต

ลูกฉลามหูดำ หนึ่งในเหยื่อที่ถูกจับโดยเรือประมงพาณิชย์แบบอวนลากซึ่งไม่สามารถแยกชนิดปลาที่จะจับขึ้นมาได้ ทำให้ฉลามหูดำซึ่งเป็นสัตว์ที่คอยคุมประชากรสัตว์น้ำและความสมดุลในระบบนิเวศ ถูกทำเป็นเมนูอาหารต่างๆ เช่น ผัดฉ่าฉลาม หรือหูฉลามในภัตตาคาร ซึ่งถึงแม้จะมีกระแสรณรงค์ต่อต้านการบริโภคหูฉลามในหลายประเทศ แต่ไทยก็ยังขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ส่งออกหูฉลามอันดับ 1 ของโลก

ซั้งกอ ธงฟื้นฟูอ่าวคั่นกระได

จิรศักดิ์และโกศลเห็นหมู่บ้านทางใต้ยังมีทรัพยากรปลาอยู่มากมายเพราะใช้ “ซั้งกอ” ในการอนุรักษ์ฟื้นฟู ทั้งคู่จึงเปลี่ยนวิถีและนำซั้งกอกลับมาใช้กับหมู่บ้านตัวเองบ้าง

เดิมทีซั้งกอเป็นเครื่องมือล่อปลาของเรือพาณิชย์ มีหลากหลายรูปแบบ อาจทำมาจากทางมะพร้าวและมีลูกตุ้ม ลอยถ่วงตามน้ำไปมา แต่ถ้าเป็นภูมิปัญญาฉบับชาวอ่าวคั่นกระไดจะใช้ลูกปูนที่ช่วยกันหลอมผูกกับเชือกและไม้ไผ่ มีทางมะพร้าวล้อมไม้ไผ่อยู่เป็นทาง ซั้งกอนั้นตั้งตรงกลางทะเลได้เพราะลมในกระบอกไม้ไผ่ดันให้ตั้งขึ้น ในกอหนึ่งจะมี 10 ต้น รวมเป็นทางมะพร้าว 40 ทาง จึงกลายเป็นร่มใหญ่ให้สัตว์ทะเลได้เข้าไปอาศัยใต้ร่มนั้น บวกกับความที่จังหวัดประจวบฯ ไม่มีเกาะแก่ง ซั้งเหล่านี้จึงเหมือนที่พักชั้นดีสำหรับปลาในทะเลโล่งได้มาชุมนุม จึงต้องมีกฎในการอยู่ร่วมกับซั้ง นั่นคือห้ามวางอวนล้อมซั้ง เพื่อปลาจะได้อยู่รอด

หากเป็นเรือประมงพาณิชย์จะทิ้งซั้งไว้เพียง 3 วัน เท่านั้น เมื่อปลาชุกชุมจึงถอนขึ้นแล้วใช้อวนล้อมจับฝูงปลา แต่ชุมชนอ่าวคั่นกระไดปล่อยซั้งลงทะเลปีละ 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่าง 3 เดือน แล้วทิ้งซั้งเหล่านั้นให้อยู่ต่อไป เมื่อทางมะพร้าวย่อยสลาย เหลือเพียงกิ่งก้าน ไม้ไผ่ และลูกปูน เป็นที่ให้เพรียงมาเกาะ เกิดแพลงก์ตอน ปลาจึงมาอาศัยหากินแถบนั้น ส่วนลูกปูนที่ถมกันมานับ 10 ปีก็กลายเป็นบ้านปะการังไปในตัว เป็นสถานที่เพิ่มประชากรปลา ให้ปลาเล็กน้อยได้เติบโตและหลบจากอวนได้ด้วย เนื่องจากอวนไม่สามารถวางล้อมในแถบที่มีซั้งกอได้ เพราะหนามไผ่และทางมะพร้าวจะฉีกให้อวนขาดเสียหาย

เมื่อเริ่มทำซั้งกอก็ปรากฏความแตกต่างให้เห็น

“ทั้งวิธีการทำประมงและสัตว์น้ำ เมื่อก่อนบ้านเราไม่มีปลาสากตัวใหญ่ แต่ตอนนี้มี”

เมื่อปลาเพิ่มขึ้นรายได้ก็เพิ่มขึ้น ส่วนรายจ่ายก็ลดลงไปเนื่องจากไม่ต้องเดินทางออกไปหาปลาที่ไหนไกล

“พอเราทำซั้ง สิบปีที่ผ่านมาเรายังไม่เคยไปไหน หากินจริงๆ เฉพาะบ้านเรา ถึงมีคลื่นมีลม แต่เรามีซั้งอยู่หน้าบ้าน เราหากินอยู่ได้โดยไม่ต้องไปอาศัยบ้านอื่น ก็พอจะยืนยันได้ว่าอันนี้ได้ผล เราก็อยากจะให้ทุกอ่าวทุกหมู่บ้านที่อยู่ติดชายทะเลทำแบบเราจะได้ออกจากบ้านมาหากินได้ง่ายๆ เลย ไม่ต้องดิ้นรนมาก ไม่ต้องเสียค่าน้ำมันเยอะ” โกศลกล่าว

ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้จะเป็นฤดูที่ไม่ค่อยมีปลา แต่ชาวอ่าวคั่นกระไดก็ยังอุ่นใจเพราะมีซั้งกอหล่อเลี้ยงปลาไว้ให้นั่นเอง

เมื่อไรก็ตามที่มองไปยังขอบฟ้าก็จะเห็นธงทางมะพร้าวซั้งกอลอยเป็นกลุ่มอยู่ลิบๆ พลิ้วไหวไปตามลม บอกพื้นที่ 3 ไมล์ทะเลจากฝั่ง เขตแดนทำกินของชาวประมงพื้นบ้าน และบอกให้รู้ว่าทะเลยังมีปลา

“ซั้งกอ” หรือบ้านปลากลางทะเล มีการนำมาติดตั้งเพื่อการอนุรักษ์โดยเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อชาวบ้านตระหนักและเรียนรู้จากอดีตที่ตนได้เคยทำประมงแบบไม่เลือกขนาดและจำนวน ส่งผลให้ปลาที่อยู่บริเวณหน้าบ้านตนถูกจับหมดไป

ภายใต้เมฆและฝนที่ตกปรอยๆ ในหน้ามรสุม อวนหลังเขียวของชาวประมงพื้นบ้านซึ่งมีขนาดตาอวน 2.9 เซนติเมตร ที่จะจับได้เฉพาะปลาหลังเขียวขนาดตัวเต็มวัย ได้รับการปล่อยลงทะเลก่อนที่ลูกเรือจะเปิดไฟสปอตไลต์เพื่อล่อปลาหลังเขียวให้มาติดอวน

วิถีพื้นบ้าน

สิ่งที่แตกต่างระหว่างประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ไม่ได้มีแค่ขนาดเรือ แต่ยังรวมถึงวิธีและวิถีในการจับปลา

จิรศักดิ์เดินถอดรองเท้าสะพายกระเป๋าอาดิดาสสีลอกที่ผ่านมาไม่รู้กี่มรสุมไปขึ้นเรือในยามเย็นของทุกวัน เพราะปลาอกกะแล้ที่เขาหมายตาจะออกมาในช่วงพลบค่ำ เมื่อถึงเรือสิ่งแรกที่เขาทำคือจัดแจงตำแหน่งประจำของกัปตัน วางซาวเดอร์สำหรับหาปลา วาง GPS และวิทยุทรานซิสเตอร์ไว้ฟังเพลงขากลับฝั่ง ต่อสายวิทยุสื่อสารไว้ทักทายเพื่อนฝูงประมง ติดเครื่องยนต์เสียงดังกระหึ่ม หันหางเสือพร้อมแล่นไปหาแหล่งปากท้อง

ชาวประมงพื้นบ้านจะใช้เครื่องมือเฉพาะอย่างกับปลาแต่ละชนิดเท่านั้น เรียกว่าอวนติดตา เช่น อวนปลาทู อวนอกกะแล้ อวนกุ้ง อวนปู หรือไม่ก็ใช้เบ็ด เช่นเบ็ดปลาอินทรีย์ ปลาที่ได้มาส่วนใหญ่จึงเป็นปลาตามชนิดอวน โดยใช้กระแสน้ำพาอวนเดินไปเป็นตัวจับปลาให้

“อย่างอวนกุ้งต้องให้น้ำเดิน ถ้าน้ำยึดก็ไม่ติดกุ้ง ถ้าน้ำขึ้นอวนจะเดินขึ้นเหนือ ถ้าน้ำลงอวนจะเดินลงใต้”

การดูน้ำสำหรับการประมงพื้นบ้านจึงสำคัญมาก ราวกับต้องเล่นเกมโชว์อยู่ทุกวัน จะน้ำเดิน (น้ำไหล) หรือน้ำยึด (น้ำนิ่ง) สองสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับทั้งพระจันทร์และสายลม นอกจากนั้นยังต้องรู้การว่ายของปลา หากวันไหนปลากินเข้าก็ต้องรู้วิธีที่จะปล่อยอวนให้กินปลา หากวันก่อนปลาแถบเหนือมีน้อย วันต่อมาก็ตัดสินใจว่าจะเสี่ยงขึ้นไปทางเหนืออีกหรือไม่ การได้ปลาในแต่ละวันจึงขึ้นอยู่กับทั้งเดือน น้ำ โชค และความชำนาญ

“พอสาวอวนเสร็จเราก็ต้องคิดแล้วว่าพรุ่งนี้เราจะไปตรงไหน ถ้าปลาติดตรงเหนือเราก็วิ่งไปไล่ดูเหนือว่ามีปลามั้ย ถ้าไม่มีเราก็ไปไล่ดูที่อื่น”

วิถีเช่นนี้ต่างกับการใช้อวนลากของประมงพาณิชย์ที่ใช้เรือสองลำ ลากอวนยาวเป็นชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องดูพระจันทร์หรือลม เพียงใช้แนวลากเรือที่คุ้นเคย กวาดเอาทุกอย่างแล้วแยกเมื่อถึงฝั่ง ในขณะที่อวนพื้นบ้านต้องอาศัยกระแสน้ำพาไป

ขณะบังคับเรือ จิรศักดิ์หันดูสภาพแวดล้อมรอบกายว่ามีปะการังหรือซั้งหรือไม่ และคำนวณระยะและทิศทางในการปล่อยอวนให้ดี มิฉะนั้นหากอวนลอยไปติดสิ่งอื่นอวนจะเสียหาย

จิรศักดิ์เริ่มปล่อยอวนในขณะที่แสงสุดท้ายลับขอบฟ้า จากนั้นจึงเริ่มขับเรือวนรอบเพื่อดูว่ามีปลาติดหรือยัง ลูกโป่งยังลอยอยู่ไหม พอค่ำเขาก็ฉายสปอตไลต์ลงไปที่อวน เมื่อปลาติดอวนก็สะท้อนแสงไฟวิบวับ หากปลาติดเยอะจึงสาวอวนขึ้นมาได้ หากไม่ก็ต้องทำตามขั้นตอนกันใหม่

ลูกน้องของจิรศักดิ์คนหนึ่งใช้มือสาวอวน อีกคนหนึ่งเลื่อนอวนให้ตรงกับเครื่องกว้านช่วยทุ่นแรงสาวอวนขึ้นมา เมื่อเจอปลาหายากอย่างปลาจาระเม็ดจึงจะเก็บแยกใส่กระบะสักครั้ง

“เอากลับบ้านไปทอดกิน” จิรศักดิ์หันมายิ้มให้…

ปลาหลังเขียวตัวเต็มวัยน้ำหนักรวมกว่า 400 กิโลกรัม ถูกจับขึ้นมาโดยเรือประมงพื้นบ้าน ตักใส่กระบะชั่งน้ำหนักก่อนที่จะนำส่งเพื่อแปรรูปต่อ ซึ่งข้อดีของการประมงอนุรักษ์คือการที่ทำให้ได้ปลาที่มีขนาดตัวเต็มวัย และลดการจับลูกปลาที่กำลังเติบโต

ปลาที่จับได้จะนำมาล้างทำความสะอาดแล้วแช่น้ำแข็งเพื่อรักษาความสดของปลา หลังจากนั้นจะนำไปแพ็กในถุงสุญญากาศซึ่งทำให้สามารถเก็บไว้รับประทานได้นานกว่า 8 เดือนโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี

ร้านคนจับปลา ราคายุติธรรม

แต่เดิมทั้งจิรศักดิ์และโกศลต้องทำยอดขายเพราะขายปลาให้กับเถ้าแก่เจ้าหนี้เท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป 15 วันเจ้าหนี้จึงคิดเงินให้พวกเขาสักที โดยหักค่าน้ำแข็ง ค่าขนส่ง ค่าขาย เสร็จสรรพแล้วจึงนับเป็นรายได้ จิรศักดิ์เล่าว่าเขาไม่เคยได้เป็นผู้ตัดสินใจเรื่องราคาเอง เถ้าแก่จะให้เท่าไรเขาก็ต้องรับ เมื่อเกิดความคิดที่จะอนุรักษ์ จิรศักดิ์และโกศลจึงต้องหาทางอยู่ร่วมกับวิถีการประมงที่เน้นการจับปลาแบบคุณภาพให้ได้ เขาจึงเริ่มต้นโดยการกู้เงินธนาคารมาปลดหนี้เถ้าแก่เพื่อให้ตัวเองสามารถคงวิถีนี้ไว้

“เราได้ปลาไม่พอรายได้ เลยพยายามจับปลาให้ได้มากๆ เลยคิดว่าถ้าเอาปลามาแปรรูปก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ไม่ต้องไปรบกวนทะเลมากมาย” ด้วยเหตุนี้ร้านคนจับปลาจึงเกิดขึ้น ขายทั้งปลาแปรรูป ปลาปูหมึกกุ้งแช่แข็งตามฤดูกาล รับซื้อของสดมีคุณภาพจากชาวประมงโดยตรง โดยมีชาวประมงในแต่ละพื้นที่และสมาคมรักษ์ทะเลไทยเป็นหุ้นส่วน กิจการร้านคนจับปลาจึงได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย ทั้งคนขายปลา ผู้บริโภค และทะเล

จากเดิมที่ขายผูกอยู่กับแพปลา เมื่อออกมาขายให้กับร้านคนจับปลาจึงกลายเป็นคนจับปลาฟรีแลนซ์ ของในร้านคนจับปลานั้นราคาสูงกว่าท้องตลาดอยู่ 20% ถึงแม้ว่าออร์เดอร์จากร้านคนจับปลาจะไม่ครอบคลุมปลาที่จิรศักดิ์จับมาได้ทั้งหมด แต่ก็มีข้อดีคือความอิสระ จิรศักดิ์เล่าว่าหากจับปลามาได้ 100 กิโลกรัม เขาขายให้ร้านคนจับปลาได้ 20 กิโลกรัม แต่อีก 80 กิโลกรัมที่เหลือนั้นเขาก็สามารถกำหนดราคาและเลือกแม่ค้าที่จะขายให้เองได้ ต่างกับก่อนนี้ที่ต้องผูกกับหนึ่งเจ้าเท่านั้น เมื่อเพื่อนชาวประมงเห็นเขาออกมาเป็นฟรีแลนซ์แล้วขายปลาได้ในราคาที่ยุติธรรมมากขึ้น จึงพากันไปปลดหนี้กับเถ้าแก่และออกมาขายปลาในราคาที่ตนเลือกเองตามต้องการ สำหรับผู้บริโภคนั้นก็มั่นใจได้ว่าจะได้ทานอาหารที่สด ปลอดภัย และปลอดสาร เพราะตลอดเส้นทางการเดินทางของร้านคนจับปลาสู่ผู้บริโภคผ่านมือก็เพียงแค่ชาวประมงและผู้ขาย ไม่ผ่านทางใครอื่น

“พอเรามาทำร้านคนจับปลา รู้เลยว่าเรากินอาหารใส่สารมาตลอด ก่อนหน้านี้ที่ขายให้กับแพปลาเราเห็นเขาใส่ฟอร์มาลิน เลยคิดว่าเราต้องทำตลาดปลอดสารและเพิ่มมูลค่าปลาเราด้วย ช่วงแรกที่ทำก็ไม่ง่าย เพราะอาหารทะเลไม่ใช่ว่าได้มาแล้วขายหมดเลย ลองผิดลองถูก ปลาหวานปลาเค็ม ทำแล้วเปรี้ยว ทำแล้วเน่า ทำแล้วขึ้นรา”

จนถึงวันนี้ร้านคนจับปลาและสมาคมฯ ได้สร้างมาตรฐานบลูแบรนด์ (Blue Brand) มาตรฐานอาหารทะเลที่ปลอดสารและไม่ตั้งอยู่กลางแหล่งโรงงาน จิรศักดิ์กล่าวพลางหัวเราะว่า ตั้งแบรนด์มาตั้งนานแล้ว แต่ยังไม่มีใครมาขอนำแบรนด์ไปใช้สักที ทั้งที่เขาตั้งใจอยากให้ชุมชนประมงอื่นๆ นำไปใช้ เพื่อสร้างราคาเพิ่มให้ปลาของตน

เมื่อตั้งร้านคนจับปลาคนในชุมชนก็ได้ประโยชน์ ปรกติแล้วร้านคนจับปลาสาขาประจวบฯ มีคนแปรรูปปลาเพียงแค่หนึ่งคน แต่หากช่วงใดที่ลูกค้าสั่งเข้ามาเยอะ คนอื่นๆ ในชุมชนก็ต้องมาช่วยกันแล่ ตากแห้งปลา จัดใส่ถุงสุญญากาศ ซึ่งก็เป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนอีกทางหนึ่ง

การเปิดร้านคนจับปลาก็ยังส่งผลประโยชน์คืนกลับสู่ทะเล ร้านคนจับปลามีกฎว่าจะรับซื้อปลาจากชาวประมงที่คุ้นเคยกันดีที่รู้ว่าไม่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย ไม่ทำผิดกติกาชุมชน และที่สำคัญยังทำงานด้านอนุรักษ์ฟื้นฟูทะเล ซึ่งในที่นี้คือช่วยกันสอดส่ายสายตาดูแลซั้งกอซึ่งเป็นแหล่งปลาสำคัญของหมู่บ้าน กำไรจากร้านคนจับปลานั้น 30% แบ่งออกไปฟื้นฟูทะเล ซึ่งสำหรับชุมชนอ่าวคั่นกระไดแล้วก็เป็นทุนในการสร้างซั้งกอนั่นเอง

ทุกวันนี้ร้านคนจับปลามีสาขาในสี่จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สตูล สงขลา และนครศรีธรรมราช หลังจากผ่านการดำเนินงานมา 4 ปี บางสาขาเช่นในจังหวัดตราดก็ต้องปิดตัวลงไปเนื่องจากประเด็นปัญหาในชุมชนที่ทำเคียงคู่กับร้าน

รูปแบบร้านคนขายปลาจึงเป็นเพียงการทดลองของกลุ่มและสมาคมฯ โดยหวังให้ชาวประมงพื้นบ้านกลุ่มอื่นนั้นหันมาตั้งกลุ่มและกำหนดราคาเองเช่นนี้บ้าง หากมีแต่ร้านปลาเพียงอย่างเดียวแต่ไม่มีชุมชนก็ไม่สามารถอยู่ได้ และถึงแม้มีร้านกับชุมชนแต่หากไม่มีผู้บริโภคก็ไม่สามารถอยู่ได้เช่นกัน

ชายหาดอ่าวคั่นกระไดยามเย็นเต็มไปด้วยเรือมากมาย สะท้อนความจริงของคำพูดโกศลเมื่อยามบ่าย เรือในทะเลมีมาก แต่ฝูงปลานั้นมีจำกัด การประมงอนุรักษ์และฝูงปลาจะอยู่รอดอย่างไรในภาวะเช่นนี้ หากไม่มีปลายทาง…


กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม
“เอิน พวกโรแมนติกที่ไร้ความหวัง พยายามทำตัวให้มีความหมายด้วยการถ่ายทอดเรื่องราว ชอบภูเขา รักสายน้ำ พระอาทิตย์ตกและชีวิต อยากขึ้นที่สูงให้ได้ในทุก ๆ ปี ตั้งเป้าว่าจะต้องไม่เกิน 6,500 ม. เหนือระดับน้ำทะเล เพราะกลัวตาย”

……….