ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
งานภาพดีเด่น
ศิรินภา นรินทร์ : เรื่อง
ธีรพงษ์ ผลบุญ : ภาพ

เสียงบรรเลงเพลงปี่พาทย์ดังก้องกังวานออกมาจากบ้านหลังหนึ่งในซอยลำพู บ้านไม้สองชั้นที่ถูกต่อเติมให้ทันสมัย ประตูเหล็กสีครีมเปิดแง้มไว้เพียงเล็กน้อยดั่งเชิญชวนให้เข้ามาเยี่ยมชม ภายในบ้านเป็นใต้ถุนขนาดไม่ใหญ่นักรายล้อมไปด้วยเครื่องดนตรีไทยหลากหลายชนิด บรรยากาศครึกครื้นไปด้วยเสียงของเครื่องตี เครื่องดีด และเครื่องสายต่างๆ ที่เหล่าครูและนักเรียนต่างฝึกซ้อมกันอย่างสนุกสนาน ณ บ้านดนตรีแห่งนี้

บ้านดุริยประณีต หรือบ้านบางลำพู ชื่อเรียกสำนักดนตรีเก่าแก่ ก่อตั้งโดยครูศุข ดุริยประณีต ซึ่งเคยรับราชการเป็นนักดนตรีในคณะละครของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) สังกัดกรมโขน ก่อนที่จะมาตั้งวงดนตรีไทยของตนเองใช้ชื่อว่า “ดุริยประณีต” ตามนามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีนางแถม ดุริยประณีต ภรรยาเป็นผู้ช่วย ทั้งสองได้ถ่ายทอดวิชาการดนตรีให้แก่ลูกหลานจนมีความเชี่ยวชาญทุกคน ปัจจุบันบ้านดุริยประณีตอยู่ในความดูแลของ ชยันตี ดุริยประณีต อนันตกุล หรือที่ทุกคนเรียกกันว่าครูน้อย ทายาทรุ่นที่ 3 บุตรคนเดียวของครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์)

บ้านดุริยประณีตเป็นสำนักดนตรีเก่าแก่ของไทย แหล่งผลิตศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมาย

ชยันตี ดุริยประณีต อนันตกุล หรือครูน้อย ทายาทรุ่นที่ 3 ของบ้านดุริยประณีต และเป็นประธานมูลนิธิดุริยประณีต

ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) ทายาทรุ่นที่ 2 ลูกคนสุดท้องของบ้านดุริยประณีต

ครูน้อยเล่าให้เราฟังว่า เดิมทีนั้นตนทำงานประจำเป็นพนักงานธนาคาร เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ทำให้ในที่สุดธนาคารที่ทำงานอยู่ก็ปิดตัวลง

“พี่ไม่เคยคิดว่าจะมาทำงานตรงนี้เลยนะ เพราะแต่ก่อนทำงานประจำก็ไม่ได้มีความสนใจที่จะมาดูแล และอีกอย่างเรื่องดนตรีเราก็ไม่ได้เก่ง คุณแม่ก็ทำอยู่แล้ว พอตอนหลังคุณแม่ป่วยเราก็ต้องรับช่วงต่อ ก่อนเสียคุณแม่ก็สั่งไว้ เราเป็นลูกแม่ก็ต้องดูแล”

ครูน้อยเล่าย้อนให้ฟังว่าในย่านนี้ถือว่าเป็นย่านแห่งศิลปวัฒนธรรม มีโรงละคร โรงลิเกอยู่ในละแวกนี้ ครูศุข ดุริยประณีต ได้ตั้งวงดนตรีไทยของตัวเอง แต่ด้วยความที่มีลูกหลายคนจึงต้องหาอย่างอื่นทำเสริมไปด้วย โดยได้เริ่มทำเครื่องดนตรีไทยขายเป็นเจ้าแรกๆ ของประเทศ จนเก็บเงินซื้อบ้านหลังที่อยู่ปัจจุบันนี้ และสอนให้ลูกๆ ทุกคนเล่นดนตรีไทย ผู้หญิงฝึกร้องส่วนผู้ชายก็ฝึกตี

“ตอนที่พี่ยังเด็กอายุได้ 10 กว่าขวบ จนตอนนี้ 61 แล้ว จำได้ว่าที่บ้านเป็นเหมือนโรงเรียนกินนอน คนต่างจังหวัดส่งลูกหลานมาเรียนที่นี่ ไม่ได้เงินค่าสอนนะ แต่ได้เป็นข้าวสารอาหารแห้ง คุณยายก็เลี้ยง หางานให้ทำ ไปเล่นดนตรีตามงานวัดพอได้เงินก็แบ่งกันเป็นค่าขนม อยู่กันแบบนี้เป็นเดือนเป็นปีจนกลายเป็นเหมือนครอบครัว”

เมื่อบ้านดุริยประณีตเปิดเป็นมูลนิธิเมื่อปี 2546 ได้ทำการสอนแบบจริงจัง เปิดสอนเสาร์อาทิตย์ มีเรียนรำ เรียนปี่พาทย์ เครื่องสาย เครื่องตี ครูน้อยเล่าว่าครูที่มาสอนส่วนใหญ่เป็นลูกศิษย์ของครูสุดจิตต์ที่เคยคลุกคลีอยู่ด้วยกัน หรือลูกหลานซึ่งทุกคนล้วนเล่นดนตรีเป็นหมดมาช่วยกันสอน เพราะค่าตอบแทนไม่ได้เยอะเมื่อเทียบกับโรงเรียนสอนดนตรีทั่วไป ที่นี่เก็บค่าเรียนอยู่ที่เดือนละ 500 บาท ซึ่งนำเงินจำนวนนี้เข้ามูลนิธิและเป็นค่าน้ำค่าไฟรวมถึงค่าตอบแทนเล็กน้อยให้กับครูที่มาสอน

ในขณะที่เราฟังครูน้อยเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง เด็กๆ และครูยังคงบรรเลงเพลงกันอย่างต่อเนื่อง เสียงระนาดเอกในวงปี่พาทย์ดังกังวานจนเกือบจะกลบเสียงเครื่องดนตรีชนิดอื่น อาจเป็นเพราะมีจำนวนเด็กที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้มากกว่า ในส่วนของเครื่องตีอย่างขิมเห็นมีเล่นกันอยู่สามคน กำลังค่อยตีค่อยสอนกันไป ครูก็คอยปรับสายดูจังหวะการตี ในขณะที่เครื่องดีดอย่างจะเข้กำลังเล่นพลางมีครูคอยควบคุมการดีดอย่างเข้มงวด ดูจากสีหน้าที่จริงจังของทั้งสอง ลึกๆ ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเขาเหล่านั้นแยกประสาทในการฟังได้อย่างไร จนครูน้อยเอ่ยเปิดประเด็นขึ้นมาว่า

“หนวกหูไหม พี่ก็หนวกหู แต่เด็กเขาไม่หนวกหูหรอก เขาชินแล้ว เด็กบางคนมาเรียนที่นี่เขาก็เอาวิชาความรู้ไปต่อยอดที่โรงเรียน ไปแข่ง ไปประกวดได้รางวัลศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับประเทศ อีกหน่อยก็จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยสืบสานและอนุรักษ์ดนตรีไทยต่อไป อย่างบางคนถ้าเก่งๆ เวลาที่บ้านนี้รับงานแสดงหรืองานจ้างไปโชว์ตามโรงแรมให้กับชาวต่างชาติได้ดู เราก็ให้เขาออกงานเป็นประสบการณ์ให้กับเขาเอง อีกอย่างเขาก็มีรายได้เป็นเงินที่หามาได้ด้วยความสามารถของเขาเองแม้จะไม่มากก็ตาม”

ฆ้องมอญ สมัยปลายรัชกาลที่ 5 ไว้เล่นสำหรับงานศพหรืองานอวมงคล เป็นฆ้องที่มีลวดลายอ่อนช้อยสวยงามทำให้มีคนมาแกะลายจำนวนมาก

บรรยากาศการเรียนการสอนแบบเป็นกันเองของบ้านดุริยประณีต

ครูอั๋น ศิษย์เก่าของครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต หรือคุณแม่สุดจิตต์ ผู้มาสอนดนตรีเด็กๆ ด้วยความเต็มใจ

เราพูดคุยกับครูน้อยอยู่นานพอสมควร จากนั้นจึงขออนุญาตไปนั่งดูเด็กๆ เล่นดนตรี สังเกตเห็นว่ามีผู้ปกครองหลายคนมานั่งรอลูกๆ คอยให้กำลังใจอยู่ห่างๆ และได้มีโอกาสพูดคุยกับ อารีรัตน์ คงพันธุ์ หนึ่งในผู้ปกครองที่พาลูกมาเรียนที่นี่ เธอเล่าว่าเริ่มจากช่วงปิดเทอมที่ผ่านมาอยากหากิจกรรมให้ลูกทำยามว่าง โดยตัวลูกสาวมีความชื่นชอบทางด้านศิลปะอยู่แล้ว ชอบวาดภาพ ประดิดประดอย จึงอยากจะเสริมทักษะทางด้านดนตรีเข้าไป และที่นี่ก็มีชื่อเสียงมานาน เธอเล่าต่ออีกว่า

“ตั้งแต่มาเรียนที่นี่เราก็เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น อย่างเรื่องบุคลิกภาพ จากแต่ก่อนน้องชอบนั่งหลังค่อม พอมาเรียนครูก็บังคับให้นั่งตัวตรงเวลาเล่นดนตรี การเดิน การนั่ง เหมือนเรียนรู้มารยาทไปในตัว จนตอนนี้เปิดเทอมแล้ว พี่ก็ถามเขานะว่ายังอยากเรียนอยู่ไหมเพราะบ้านอยู่ไกล เสาร์อาทิตย์ก็ยังต้องมาเรียนอีก เขาก็บอกเขาชอบ เห็นเขาใส่ใจแบบนี้เราก็ดีใจ”

จากที่พูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กๆ ที่มาเรียนดนตรีไทย นอกจากให้ลูกใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว ปัจจุบันการสอบเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษารวมไปถึงระดับอุดมศึกษามีอัตราการแข่งขันที่สูง และการที่เด็กมีความสามารถพิเศษด้านใดด้านหนึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ผู้ปกครองต้องการได้ด้วยระบบโควตาความสามารถพิเศษ

เด็กๆ ที่เรียนในช่วงเช้าเริ่มทยอยเก็บเครื่องดนตรีและเดินทางกลับ แต่บางคนยังคงเล่นและซ้อมอย่างสนุกสนานแม้เวลาจะล่วงเลยมาจนบ่ายแล้ว จากการพูดคุยกับ อภิชัย เชื้อขำดี หรือครูอั๋น ครูสอนระนาดแห่งบ้านดุริยประณีต เล่าให้เราฟังว่า ที่ยังเห็นซ้อมกันอยู่นี้คือคนที่เรียนมานานและให้มาช่วยสอนน้องๆ หรือบางครั้งมีงานสำคัญก็จะนัดกันซ้อมใหญ่รวมตัวกันที่บ้านนี้ ระหว่างที่คุยกันฉันสังเกตเห็นถึงความสนิทสนมและเป็นกันเองของครูกับลูกศิษย์จึงอดที่จะถามไม่ได้ว่า

“ครูอั๋นสอนที่นี่มานานหรือยัง”

“สอนที่นี่นานแล้วนะ สิบปีได้ ตั้งแต่จบวิทยาลัยนาฏศิลป์มา คือจากเดิมเราเป็นลูกศิษย์บ้านนี้อยู่แล้วตั้งแต่เริ่มเรียนดนตรีไทยในช่วงมัธยมฯ พอช่วงเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์เรียนเสร็จตอนเย็นก็เดินมาที่บ้านนี้เพื่อซ้อมเพลง กลางคืนก็ไปเล่นดนตรีตามห้องอาหาร มันก็เกิดความผูกพันเหมือนบ้านนี้เป็นบ้านเรา กินข้าวอยู่นี่ ทุกอย่างอยู่ที่นี่หมด”

“แล้วรู้สึกอย่างไรที่ได้มาสอนเด็กๆ ในฐานะที่เคยเป็นศิษย์บ้านนี้มาก่อน”

“เราผูกพันนะ เสาร์อาทิตย์ไหนที่เราไม่ได้มาหรือป่วยเราก็ยังอยากจะมา แต่ด้วยร่างกายที่ไม่ไหวบางครั้งก็ต้องละไป ยังไงก็ยังคงต้องทำหน้าที่นี้ต่อไปเรื่อยๆ จริงๆ ผมก็มีงานอิสระที่ทำอยู่ รับสอนตามสถาบันต่างๆ รับงานแสดงบ้าง ทุกครั้งที่มาสอนเราเองก็อาจจะมีการเกรี้ยวกราด มีการสอนเด็กในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อเขาจะได้นำไปใช้ได้ถูก เราก็มีการสอนในระดับที่ว่าไม่เกร็งจนเกินไปไม่หย่อนจนเกินไป ในระดับกลางๆ มีความสนุกครึกครื้นกับเด็กๆ บ้าง สมัยก่อนไม่ใช่แบบนี้ ครูสมัยก่อนครูโบราณจะเคร่งมากเพราะได้วิชามายาก ครูก็อยากจะให้เราได้มันไปจริงๆ”

การเล่นต่อเพลงของเด็กโดยการนำเพลงของครูมาแต่งเติมเองด้วยความสนุก

การฝึกซ้อมจะเข้ระหว่างครูกับลูกศิษย์อย่างจริงจัง

เด็กๆ ซ้อมใหญ่ก่อนขึ้นแสดงจริงงานคุณแม่สุดจิตต์

ครูอั๋นเล่าอีกว่าครูทุกท่านที่มาสอนที่นี่ล้วนมีความผูกพันเป็นเหมือนพี่เหมือนน้อง ในงานไหว้ครูของทุกปีเปรียบเสมือนวันรวมญาติ ลูกศิษย์บ้านดุริยประณีตจะได้มาพบปะกันพูดคุยกัน จะเห็นได้ว่าความรักความผูกพันนี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น แม้แต่ นพณัฐ คณิตสุทธิวงศ์ ที่เป็นลูกศิษย์บ้านนี้ตั้งแต่เรียนมัธยมฯ มีความชื่นชอบและหลงรักดนตรีไทย และเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาเอกดนตรีไทย ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อมีเวลาว่างก็จะมาช่วยต่อเพลงให้กับคนที่มาเรียน

“ที่นี่มีชื่อเสียงมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ศิลปินหลายๆ ท่านที่เป็นที่นับหน้าถือตาในวงการนี้ก็ถูกบ่มเพราะจากที่นี่ เช่น ครูสืบศักดิ์ ดุริยประณีต ครูสุรางค์ ดุริยพันธุ์ ก็เป็นลูกหลานบ้านนี้ ครูที่สอนตอนมัธยมฯ ก็เป็นลูกศิษย์บ้านนี้เลยฝากฝังให้มาเรียนที่นี่ อีกอย่างก็ด้วยความชอบส่วนตัว ความรู้สึกรัก อยู่ไปนานๆ มันก็รู้ว่าวงการนี้อบอุ่น ไปบ้านไหนก็เหมือนพี่เหมือนน้อง อย่างบ้านนั้นมีงานไหว้ครูเราก็ไปช่วยงานกัน”

ปัจจุบันสำนักปี่พาทย์ในประเทศไทยเหลือน้อยเต็มที หนึ่งในนั้นคือบ้านดุริยประณีต บ้านดนตรีที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ณ ย่านบางลำพูแห่งนี้ ยังดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่ได้กลายเป็นย่านธุรกิจการค้าและแหล่งท่องเที่ยว โดยเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกคนที่จะช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานดนตรีไทย ดังคำสั่งเสียของครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ที่ได้บอกกับลูกหลานไว้ว่า

“ขอฝากดนตรีไทยให้เยาวชนรุ่นใหม่ช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานไว้ให้เป็นมรดกของชาติสืบไปตราบนานเท่านาน”


แนะนำนักเขียน – ช่างภาพ

ศิรินภา นรินทร์ (ดรีม) 

ผู้หลงรักธรรมชาติ รักหมา ชอบกินชานมไข่มุก วันหยุดหมดไปกับการดูซีรีส์ ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 3 สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

…….

ธีรพงษ์ ผลบุญ (นก) เรียนอยู่ที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชั้นปีที่2 คณะ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชา นิเทศศิลป์ สาขา การถ่ายภาพ