ประเด็นดี มีชัยไปครึ่ง

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ภาพโดย เกน กิติมาภรณ์

เรื่องแน่นอนอย่างหนึ่งก่อนเขียนงานแต่ละเรื่องคือการตั้งประเด็น กำหนดหัวข้อเรื่องที่จะเล่า เป็นการถามและตอบตัวเองว่าเราจะเล่าเรื่องอะไร

ถือเป็นลำดับขั้นแรกสุดของการทำงานเขียนก็ว่าได้

ประเด็นดีที่น่าสนใจย่อมดึงดูดใจคนให้อยากอ่าน นี่แหละที่ว่าประเด็นดีมีชัยไปครึ่ง

แล้วอย่างไรที่เรียกว่าประเด็นที่ดี จะเลือกหาประเด็นที่ดีได้อย่างไร

  • เลือกจากความสนใจของผู้เขียน

เรื่องที่เราสนใจย่อมเป็นแรงหนุนด้านบวกให้เราตั้งใจทำงานนั้นอย่างสุขใจและเต็มที่กับมัน และเป็นแรงผลักดันโดยปริยายว่าการทำเรื่องที่เราให้ใจกับมันย่อมเป็นที่หวังได้ว่าจะออกมาดีอันเนื่องมาจากการที่เราทุ่มเทให้

  • หากต้องทำหัวข้อเรื่องที่ถูกกำหนดให้โดยมิอาจเลือก

หากไม่สามารถเลือกหัวข้อเองได้ตามใจก็ให้เลือกหยิบแง่มุม เพราะทุกหัวข้อเรื่องมีหลายแง่มุม การเล่าภาพรวมทั้งหมดลงรายละเอียดกับทุกประเด็นใช้เวลาและกำลังมากกว่า งานสารคดีสามารถใช้หลัก “ก้อนกรวดอธิบายพื้นพิภพ” ได้ คือการเลือกหยิบแง่มุมหนึ่งใดขึ้นมาเป็นประเด็นหลักของเรื่อง เล่าเรื่องจากจุดเล็กๆ นั้น แล้วขยายเชื่อมโยงให้เห็นภาพกว้างโดยไม่ต้องไปลงรายละเอียดกับทุกแง่มุม

หากต้องทำหัวข้อเรื่องที่ถูกกำหนดให้โดยมิอาจเลือกหากต้องทำหัวข้อเรื่องที่ถูกกำหนดให้โดยมิอาจเลือก หากไม่สามารถเลือกหัวข้อเองได้ตามใจก็ให้เลือกหยิบแง่มุม เพราะทุกหัวข้อเรื่องมีหลายแง่มุม  การเล่าภาพรวมทั้งหมดลงรายละเอียดกับทุกประเด็นใช้เวลาและกำลังมากกว่า  งานสารคดีสามารถใช้หลัก “ก้อนกรวดอธิบายพื้นพิภพ” ได้ คือการเลือกหยิบแง่มุมหนึ่งใดขึ้นมาเป็นประเด็นหลักของเรื่อง เล่าเรื่องจากจุดเล็กๆ นั้น แล้วขยายเชื่อมโยงให้เห็นภาพกว้างโดยไม่ต้องไปลงรายละเอียดกับทุกแง่มุม

  • เลือกจากเรื่องที่กำลังเป็นกระแส

เหตุการณ์สถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คน ซึ่งรับรู้เรื่องราวผ่าน “ข่าว” อยู่แล้ว หากนักเขียนประมวลเรื่องราวโดยรอบ ลงรายละเอียดเชิงลึก เล่าเหตุการณ์ให้ครบถ้วนในรูปแบบงาน “สารคดี” แน่นอนว่าย่อมมีคนรออ่าน ด้วยความอยากรู้ต่อจากที่เนื้อข่าวเล่าเหตุการณ์เบื้องต้นไว้แล้ว และสารคดีจะตอบโจทย์การได้รู้เรื่องราวครบถ้วนตั้งแต่ต้นจนปัจจุบันอยู่ในงานเขียนชิ้นเดียว

  • เลือกเรื่องที่ยังเป็น Unseen

เรื่องที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้ เมื่อนำมาเล่าในงานสารคดีก็ง่ายที่จะเรียกความสนใจจากคนอ่าน อ่านเพราะเขายังไม่เคยรู้เห็นมาก่อน ตามหลักข้อหนึ่งของงานสารคดีที่ว่าต้องให้ความรู้ใหม่ๆ ต่อคนอ่าน

  • หากต้องทำเรื่องซ้ำจากที่มีผู้อื่นเขียนไปก่อนแล้ว

เรื่อง Unseen หาได้ยาก หากต้องทำซ้ำก็ให้เป็นในมุมใหม่ หรือหากแม้นหามุมใหม่ที่ต่างจากเดิมไม่ได้ก็ให้ใหม่โดยสถานการณ์ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดการที่เราได้ลงพื้นที่ใหม่ ก็ถือว่ามีแง่มุมใหม่ในแง่ความเป็นปัจจุบันที่สุดอยู่แล้ว กับอีกอย่างที่ช่วยได้ในกรณีที่ต้องทำประเด็นซ้ำกับที่มีคนทำไว้ก่อน คือการสร้างมุมใหม่ด้วย “วิธีการเล่าเรื่อง” และให้ถือว่างานชิ้นที่คนอื่นเขียนไว้ก่อนนั้น เป็นแหล่งข้อมูลค้นคว้าอ้างอิงสำหรับการเขียนชิ้นใหม่ของเรา

เช่นเดียวหลัก-สูตรแนะแนวทางการเขียนในหัวข้ออื่นๆ “การเลือกประเด็น” ก็มีกรอบเกณฑ์ ช่องทาง หรือวิธีการสรรหาประเด็นผ่านช่องทางอื่นๆ ได้อีกมากมายนอกเหนือจากที่ยกมานี้

ในที่นี้เป็นเพียงบางตัวอย่างที่อาจใช้เป็นเครื่องมือเบื้องต้นในการมองหาหัวเรื่องมาเป็นประเด็นในงานสารคดี

เมื่ออยากเขียนสารคดีแต่ยังไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี ลองมองหาจากทางเลือกที่ว่ามานี้เป็นตัวตั้งดูบ้างก็ได้

ตอนต่อไป จะพูดกันถึงเรื่องการเก็บข้อมูล ซึ่งถือเป็นขั้นที่ ๒ ของลำดับการทำงาน ก่อนลงมือสร้างสรรค์งานเขียน


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา