ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 14
งานภาพดีเด่น
เรื่อง : กรกมล ศรีวัฒน์
ภาพ : ทิพย์มณี ตราชู

จากผมถึงคุณ

ทาวน์เฮาส์หลังปานกลางในซอยอ่อนนุช 46 หมู่บ้าน The Estate Srinakarin 2  นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัย บางหลังอย่างบ้านของเต้ คงยศ มะโนน้อม ยังเป็นมากกว่าที่หย่อนกายหลังเหนื่อยล้าจากการทำงาน

บ้านของเต้เป็นที่ตั้งของร้าน hairintrend.com ร้านตัดผมแบบโฮมซาลอนที่บรรยากาศแสนอบอุ่น เราเปิดประตูรั้วเตี้ยสีขาวเข้าไปยังตัวบ้าน หน้าบ้านเต็มไปด้วยสีเขียวจากการแต่งแต้มของพรรณไม้ เราเปลี่ยนรองเท้าคู่เก่งของตัวเองมาเป็นรองเท้ายางสีน้ำเงินเข้มของร้าน ก่อนเลื่อนประตูกระจกเข้าไปสู่สถานที่อันเป็นทั้งบ้านและร้านทำผม

พื้นไม้สีครีมสะอาดตา ห้องนั่งเล่นที่มีการปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นร้านตัดผม ของสะสมที่มีทั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียง เก้าอี้ตัดผมแบบวินเทจ และเก้าอี้ตัดผมที่ใช้งานจริงสองตัวพร้อมกระจกบานใหญ่ ทำให้เรารู้สึกเหมือน “บ้าน” มากกว่าร้านทำผมทั่วไป

นอกจากจะเป็นร้านตัดแต่งทรงผมให้กับหญิงและชายที่แวะเวียนเข้ามาเสริมความงาม ยังพิเศษตรงเป็นร้านที่รับบริจาคผมไปทำวิกให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ผ่านการทำเคมีบำบัดจนผมร่วง

จากผมถึงวิก จากคุณถึงผู้ป่วยมะเร็ง

มัดผมเป็นร้อยๆ ช่อที่มีความยาวตั้งแต่ 10 นิ้วขึ้นไปถูกเตรียมไว้สำหรับทำวิกผม โดยปรกติวิกหนึ่งหัวต้องใช้มัดผมสามถึงห้ามัด หรือก็คือจากคนสามถึงห้าคน

Home Salon แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อมอบวิกผมให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ด้วยความตั้งใจว่าวิกนั้นต้องมีคุณภาพและมาจากผมจริงเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้สวมใส่

ความใส่ใจรายละเอียด ความละเมียดบรรจงของร้านนี้ ทำให้วิกผมทุกอันเป็นดั่งงาน hand craft ที่มีคุณภาพและทำเพื่อคนคนนั้นโดยเฉพาะ

พี่เต้ เจ้าของร้านทำผม ได้เปิดกิจการแห่งนี้เข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว

เต้เล่าว่าทำโครงการนี้มานานกว่า 8 ปี ภายใต้ชื่อโครงการ “ตัดเพื่อทอ ส่งต่อเพื่อรอยยิ้มเธอ”

“ตอนที่มาทำวิกก็ตั้งใจจะทำบุญให้คุณย่า เพราะคุณย่าก็ป่วยด้วยโรคมะเร็ง” คุณย่าที่เลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เด็กป่วยเป็นมะเร็งไต ก่อนลุกลามไปยังตับและขึ้นไปยังสมอง จนเสียชีวิต ในช่วงที่คุณย่าล้มหมอนนอนเสื่อ ผมของคุณย่าเริ่มร่วง เต้จำได้ว่าสมัยนั้นมีเพียงวิกที่ไม่เป็นธรรมชาติ

“คนไหนใส่วิกจะดูแล้วรู้เลย หัวจะพองๆ หนาๆ เป็นหนูหิ่น ตอนนั้นเราก็ยังทำวิกไม่เป็น ก็คิดเล่นๆ ว่าน่าจะมีคนเข้ามาแก้ไขปัญหา” เต้เล่าเรื่องราวในอดีตโดยไม่รู้เลยว่าคนที่จะแก้ปัญหาคือตัวเขาเอง

เต้เริ่มต้นชีวิตวัยทำงานจากการเป็นสไตลิสต์ในวงการโฆษณา และเป็นมายาวนานกว่า 15 ปี เคยถ่ายหนังโฆษณาหลายชิ้น แต่ผลิตภัณฑ์ที่เขารู้สึกสนุกกับการถ่ายทำมากคือแชมพูบำรุงผม

เมื่ออายุมากขึ้นเต้เริ่มมองหาอาชีพที่มั่นคงและได้เป็นเจ้านายของตัวเอง จึงตัดสินใจออกเดินทางไปเรียนทำผมที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลากว่า 1 ปี

ที่ดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัย เต้ได้เรียนรู้การตัดผมที่เข้มข้น เน้นรายละเอียด ทำให้มีพื้นฐานเรื่องการเข้าใจเส้นผมและองศาของผมเป็นอย่างดี จากที่เรียนเพื่อทดลองอะไรใหม่ๆ เขาพบว่าการทำผมสนุกกว่าที่คิดไว้ จนสุดท้ายเมื่อกลับมาประเทศไทย เขาตัดสินใจไปฝึกงานที่ร้านทำผม ก่อนเปิดร้านของตัวเองในเวลาต่อมา

เต้เล่าว่าลูกค้าช่วงแรกเป็นคนในวงการโฆษณา

“วันหนึ่งก็มีลูกค้าผมยาวๆ มาให้เราตัด เราก็เสียดายผม”

เมื่อย้อนนึกถึงเรื่องราวของคุณย่าในวัยเด็กก็ทำให้เขาเริ่มคิดเรื่องวิกอย่างจริงจัง ช่วงแรกเขาตัดผมยาวๆ ของลูกค้าไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลเท่านั้น ต่อมาโรงพยาบาลแจ้งว่าต้องการวิกมากกว่าเส้นผม เต้จึงเริ่มเรียนรู้การทำวิก พยายามศึกษาด้วยตัวเอง ค่อยๆ พัฒนาทักษะการทอเส้นผมทีละขั้นๆ

“ตรงไหนไม่ธรรมชาติก็จดเอาไว้แล้วลองตัดแก้ การเย็บ การทอ การเอียงของเส้นผมเป็นองศาที่ใช้ทอก็สำคัญ มันควรจะใกล้เคียงกับแนวผมจริงถึงจะตัดออกมาเป็นธรรมชาติ” เต้เล่ารายละเอียดช่วงที่ศึกษาการทำวิกอย่างจริงจัง ดวงตาของเขาเป็นประกายเมื่อพูดถึงเรื่องวิก

กระบวนการทำวิกในส่วนที่ร้านรับผิดชอบคือการตัด คัดแยก และออกแบบ ในส่วนการผลิตเป็นรูปทรงของวิกจะเป็นความรับผิดชอบของโรงงาน หลังจากทำวิกเสร็จแล้ววิกจะถูกส่งมาอยู่ในมือเต้อีกครั้งเพื่อตัดแต่งทรงผมให้เข้ากับผู้ป่วย

เต้เล่าว่าเส้นผมที่ทางร้านรับมาทำวิกจะต้องเป็นเส้นผมที่ยาว 10 นิ้วขึ้นไป และมีการสระเป่าแห้งมาเรียบร้อยแล้วเพื่อป้องกันความชื้นที่จะเป็นผลเสียต่อเส้นผม ลูกค้าต้องเสียค่าบริการตัด 850 บาท เมื่อมาถึงร้านช่างจะทำการแบ่งช่อผมตามทรงที่ลูกค้าเลือกเพื่อให้ได้ผมยาวนำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด โดยช่อจะมีตั้งแต่ 4-16 ช่อ ก่อนตัดจะมัด ตัดเก็บ แล้วพักไว้ในลัง

“พอเราจะใช้ก็จะเอาผมมาคัดแยกประเภท มีทั้งผมดำ ผมน้ำตาลอ่อน แก่ น้ำตาลธรรมชาติ ก็แยกไป แล้วยังมีผมทำสี ผมยืด ผมดัด ผมหยักศก ผมเด็ก ผมผู้ใหญ่”

ผู้ป่วยมะเร็งมีทุกช่วงอายุ การเลือกเส้นผมที่จะนำมาใช้ทำวิกจึงเป็นสิ่งสำคัญ จะต้องเป็นเส้นผมที่เหมาะกับวัย ยกตัวอย่างวัยเด็กจะเน้นผมเส้นเล็ก พลิ้วสลวยไม่หยาบกระด้าง ผมของผู้ใหญ่ที่ค่อนข้างมีอายุก็มีความแตกต่าง ผมหงอกคนอายุ 50 ปี และ 90 ปี ก็มีปริมาณผมหงอกไม่เท่ากัน

เต้เล่ารายละเอียดของการทำวิกต่อไปว่า “คนส่วนใหญ่จะคิดว่าต้องบริจาคผมตรง ดำ เท่านั้น ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เลย บริจาคได้หมด ยกเว้นผมที่แห้งเสีย แตกปลาย ผมที่มีเหาหรือเส้นผมที่ผ่านการทำเดรดล็อก“ เต้บอกพร้อมเน้นย้ำว่าวิกผมที่คนไข้ต้องการคือวิกผมที่ใส่แล้วมั่นใจ สวย ดูเป็นธรรมชาติ

หลังจากคัดแยกเส้นผม ขั้นต่อไปคือการออกแบบทรงผม แล้วส่งให้โรงงานทำวิกตามรูปแบบที่ทางร้านและลูกค้าต้องการ โดยลักษณะของการทำวิกมีสองแบบ แบบแรก คือ วิกขนาดกลางๆ ที่ทุกคนสามารถใส่ได้ ถ้ารอบศีรษะไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป และไม่ได้กำหนดตำแหน่งของรอยแสก อีกแบบคือวิกสั่งทำเฉพาะสำหรับลูกค้าที่ศีรษะเล็กหรือใหญ่เกินไป เลือกสีผมและทรงเฉพาะ ทางร้านก็จะทำตามความต้องการของลูกค้า โดยมีค่าบริการ 8,500-12,000 บาท และค่าตัดแต่งทรง 1,500 บาท

“โจทย์คือออกแบบยังไงให้เป็นธรรมชาติ อันนี้คือหัวใจสำคัญของวิกที่นี่” เต้เล่าว่าวิกที่ได้รับมาทีแรกจะมีลักษณะเป็นวิกผมยาวธรรมดา ขั้นตอนต่อมาที่ทำให้วิกของที่นี่แตกต่างคือตัดแต่งให้เข้ากับรูปหน้าของแต่ละคนจนไม่สามารถมีคนอื่นมาใส่แล้วเนียนได้เท่ากับเจ้าของวิก เน้นทรงผมตามความต้องการของลูกค้าเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจสามารถใช้จริงในชีวิตประจำวันได้ โดยปรกติวิกผมจะมีอายุการใช้งานประมาณ 3-5 ปี แล้วแต่รูปแบบการใช้

วิกของเต้ส่งผลกับผู้ป่วยอย่างไร เป็นคำถามสำคัญที่เราถามเขาในช่วงท้ายๆ การสนทนา

“อันดับแรกสมมุติว่าวันนี้เรารับรู้ว่าเราป่วย อีก 2 อาทิตย์ไม่มีผม คนไข้บางคนทำใจได้ คนไข้บางคนมีความวิตกกังวล เขาก็จะโทร.มาปรึกษาเรา เราเองเป็นช่างทำวิก เราก็ต้องให้คำปรึกษาให้เขาลดความกังวล อธิบายให้คนไข้สบายใจขึ้น

“วิกที่ทำช่วยให้เขากลับมาใช้ชีวิตได้ตามปรกติ คนไข้ที่ผมร่วงเขาจะขาดความมั่นใจ โดยเฉพาะผู้หญิง วิกที่เราทำคือไปสร้างความมั่นใจ เขากล้าออกไปใช้ชีวิตได้ตามปรกติในสังคม เพราะว่าบางทีคนไข้พอรู้ว่าป่วย บางคนเขาก็ไม่อยากให้ใครรู้ และบางทีมันกลายเป็นคำถามที่ตอกย้ำความรู้สึกของเขาตลอดเวลา วิกที่ใส่แล้วดูเป็นธรรมชาติมันก็ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาตรงนี้อยู่”

ไม่ใช่แค่วิกที่ทำให้ร้าน hairintrend.com พิเศษ แต่รายละเอียดอย่างการตัดสินใจยกเลิกการให้บริการที่มีสารเคมีเพื่อให้ลูกค้าที่ป่วยสามารถใช้บริการได้อย่างมั่นใจ รวมไปถึงการเลือกเปิดร้านตัดผมที่บ้าน ตกแต่งเพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลายเพื่อให้คนไข้ที่เข้ามารู้สึกเป็นส่วนตัว ก็ทำให้ร้านของเต้เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ผู้ป่วยเลือกมาใช้บริการ

ปัจจุบันรูปแบบการทำวิกของเต้จะเป็นการทำเพื่อขายและเพื่อบริจาคอย่างละครึ่ง เมื่อทำวิกเสร็จจะทำการติดต่อกับโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยมะเร็งเพื่อไปตัดแต่งทรงผมให้กับคนไข้ถึงโรงพยาบาล ส่วนมากจะเป็นหนึ่งถึงสองครั้งต่อปี อนาคตเขายังคงตั้งใจที่จะทำวิกต่อไปเช่นนี้ ตราบใดที่ยังมีผู้ป่วยที่ต้องการวิกอยู่

หญิงวัยกลางคนคนนี้ป่วยเป็นโรคมะเร็งและทำการรักษาด้วยเคมีบำบัด ก่อนจะเดินทางมาทำวิกที่ Home Salon แห่งนี้

สภาพวิกก่อนจัดทรงจะดูยุ่งเหยิง ซึ่งทำให้เธอหวั่นใจไม่น้อยถึงผลลัพธ์ที่จะออกมา พี่เต้จึงอธิบายขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้เธอหายกังวล

ก่อนทำการตัดแต่งทรงผมจะมีการเลือกทรงที่เหมาะกับใบหน้าของแต่ละคน ซึ่งพี่เต้จะปรึกษาทั้งกับผู้ช่วยและผู้มาทำวิก และเมื่อความเห็นทุกคนตรงกันจึงจะเริ่มจัดทรง

การทำวิกมีขั้นตอนทุกอย่างเหมือนตัดแต่งทรงผมทั่วไป ทั้งตัด หนีบ และซอย เพื่อให้ผมมีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด

ผ่านไปหลายชั่วโมงของการทำผมอันประณีต วิกจากใจแห่งการให้ก็ได้เผยให้เห็นความงามของมัน และสิ่งที่ตามมาคือรอยยิ้มที่ประทับอยู่บนใบหน้าของทั้งคู่

เพราะคุณมีผม

“ไม่มีผมนานจนเริ่มจะชินกับการไม่มีผมแล้วนะเนี่ย” เสียงของรุ่ง หญิงวัย 50 ปีที่เข้ามาใช้บริการพูดกลั้วหัวเราะ ขณะนั้นเต้ ช่างตัดผม เจ้าของร้าน hairintrend.com กำลังตัดแต่งวิกเป็นทรงบ็อบสั้นให้เข้ากับรูปหน้าของเธอ

เป็นทรงผมที่คล้ายคลึงกับผมทรงเดิมของเธอก่อนล้มป่วยด้วยมะเร็งเต้านม

ล่วง 8 เดือนแล้วที่แม่เลี้ยงเดี่ยวคนนี้รับรู้อาการป่วย เธอเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด รวมถึงให้เคมีบำบัดเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

“พอรับคีโมครั้งแรกแล้วก็ผมร่วงช่วงสงกรานต์ ผ่านไปวันเดียวก็จิตตก ผมร่วงเต็มบ้านหมดเลย พอรุ่งขึ้นก็ไปหาร้านทำผมประจำ ไม่รอให้ร่วงหร็อมแหร็มไปเรื่อยๆ ก็ไปโกนออก” เธอบอกเล่าให้เราฟังในช่วงที่ผมของเธอเริ่มได้รับผลกระทบจากการทำคีโม หลังจากโพกผ้าและสวมหมวกมาสักพักใหญ่ แต่ความไม่มั่นใจในการเข้าสังคม โดยเฉพาะการที่เธอเป็นคาทอลิก ต้องเข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ เมื่อโพกผ้าและสวมหมวกเข้าโบสถ์ซึ่งสะดุดตา ทำให้เธอเริ่มมองหาร้านทำวิกจนมาเจอร้าน hairintrend.com

เมื่อติดต่อสอบถามเธอก็มาใช้บริการ ภาพที่ติดตาเราคือผู้หญิงโพกผ้าและสวมหมวกสีเทาที่เดินเข้ามาในร้าน เธอไม่ได้แต่งหน้า และก่อนที่จะทำวิกดูคล้ายไม่มีความมั่นใจ แต่เมื่อช่างค่อยๆ จัดทรงผมไป ความมั่นใจก็เริ่มจะฉายชัดขึ้นในแววตา จนสุดท้ายจัดทรงเสร็จรอยยิ้มก็ปรากฏบนใบหน้าของเธอ หลังจากนั้นเธอเริ่มแต่งหน้า ทาลิปสติก เติมแป้ง รวมถึงถ่ายรูปตัวเองเมื่อกลับมามีผมอีกครั้ง หลังจากที่สวมหมวกและผ้าโพกมานานกว่า 3 เดือน

ภาพเธอเอามือสางผม จับผม ยิ้มให้กระจก เป็นภาพที่ไม่ว่าราคาเท่าไรก็อาจจะไม่สามารถซื้อคุณค่านี้ได้ นี่คือคุณภาพชีวิตที่ผู้ป่วยจะต้องอยู่ต่อไปกับโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตประจำวันแบบไม่โดนตั้งคำถาม

“ก็มั่นใจขึ้น มีผมแล้วไง เดี๋ยวฉันจะไปเดินซื้อของ ไม่ต้องให้ใครมามองฉัน โอเคมันอาจจะรกรุงรังนิดนึงกับหน้าม้า แต่เดี๋ยวมันก็จะชิน เราเองก็มั่นใจ แล้วก็รู้สึกดีมากกับผมที่ได้ กับสิ่งที่อยู่บนเราเนี่ย”


กรกมล ศรีวัฒน์
หญิงสาวหัดเขียน ผู้กำลังแสวงหาความสุข เชื่อว่าฤดูกาลของตนเองกำลังจะมา (เสียที)

……..

ทิพย์มณี ตราชู (พลอย)
เราชอบพูดผ่านภาพถ่าย ซึ่งเราหวังว่าคำพูดของเราจะสามารถสร้างสิ่งดีๆหรือเป็นพลังให้กับคนอื่นๆได้บ้าง