เก็บตก
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


รถขยะที่เราเห็นชนชินตา ถ้าสังเกตจะพบว่ามีถุงแยกประเภทขยะแขวนอยู่รอบคันรถ

“ทำไมไม่แยกขยะ ?”

หากถามคนทั่วไปว่าทำไมไม่คัดแยกขยะก่อนทิ้ง ปล่อยให้เศษอาหาร พลาสติก อลูมิเนียม แก้ว กระดาษ ฯลฯ ปะปนกันในถัง คำตอบที่ได้รับคงหนีไม่พ้น “แยกยาก ขยะมีทั้งเศษอาหาร ของเปียกของแห้งปะปนกัน” หรือไม่ก็ “ถึงแยกไปเจ้าหน้าที่ก็เอาไปเทรวมกันอยู่ดี”

แนวคิดข้างต้นน่าจะฝังหัวคนไทยมาหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อหลัง ถึงแม้คนส่วนใหญ่น่าจะไม่เคยดูการทำงานของเจ้าหน้าที่เก็บขยะอย่างจริงจัง แต่ก็เชื่อตามกันไปแล้วว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มากับรถเก็บขยะจะนำขยะที่เราคัดแยกไปเทรวมกันเหมือนเดิม

เพื่อพิสูจน์ข้อสงสัย รายการ นโยบาย by ประชาชน ตอนสามัญชนคนไทย : ขยะของเรา สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ออกอากาศเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๘ เคยทำการทดลองง่ายๆ เพื่อติดตามว่าขยะที่เราทิ้งลงถังไป จะถูกเจ้าหน้าที่เทรวมกันจริงหรือเปล่า

การทดสอบเริ่มจากทีมงานนำถุงขยะมาหลายใบ มีทั้งถุงที่ผ่านการคัดแยกขยะแล้ว ถุงที่มีขยะหลายประเภทปะปนกัน และถุงที่มีขยะอันตรายอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า ขยะอิเล็กทรอนิกส์

ต่อมาทีมงานนำถุงขยะแต่ละใบไปทิ้งลงถังขยะในจุดต่างๆ ในพื้นที่เขตลาดพร้าว แอบรอดูอยู่จนเจ้าหน้าที่เก็บขยะเดินทางมาถึงพร้อมรถขยะคันใหญ่สีเขียวๆ ทึมๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับถังขยะใบที่หนึ่งซึ่งใส่ถุงขยะที่ไม่ผ่านการคัดแยก คือเจ้าหน้าที่เทขยะทั้งหมดในถังใส่ท้ายรถขยะก่อน แล้วค่อยๆ แยกขยะพลาสติกใส่ถุงย่อยที่แขวนอยู่ท้ายรถขยะทีละชิ้นๆ

มาดูถังขยะใบที่สอง ซึ่งใส่ถุงขยะที่มีขยะพลาสติกและกระป๋องรวมกัน กับถุงอีกใบหนึ่งเป็นถุงขยะอันตราย พบว่าเจ้าหน้าที่แยกขยะพลาสติกกับกระป๋องออกจากกันทันที แล้วนำถุงขยะอันตรายแยกเก็บไว้ต่างหาก ไม่ได้เทขยะรวมกันท้ายรถ

มาถึงถังขยะใบสุดท้าย มีถุงขยะพลาสติก ถุงขยะแก้ว ถุงขยะกระดาษ และถุงขยะอันตราย พบว่าเจ้าหน้าที่แยกขยะพลาสติก ขยะแก้ว ขยะกระดาษออกจากกัน ถุงขยะอันตรายก็เดินไปแขวนไว้ข้างรถ แยกเก็บไว้ต่างหาก

เจ้าหน้าที่และรถเก็บขยะบนถนนสายหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่

ผลการทดลองกับถังขยะ ๓ ใบออกมาว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้เทขยะรวมกันแม้แต่คันเดียว และพบว่าการแยกขยะทำให้เจ้าหน้าทำงานได้ง่าย

ทีมงานยังไม่หยุดข้อสงสัยเพียงแค่นี้ เดินเข้าไปแนะนำตัวกับเจ้าหน้าที่แล้วถามต่อว่าทำไมทีแรกตอนที่มาถึงถังขยะ ต้องทำเหมือนเทขยะรวมกัน

คำตอบที่ได้รับคือ “เพราะคนส่วนใหญ่ไม่แยกขยะกัน ผมก็เลยต้องเทรวมกัน จะได้เห็นว่าชิ้นนี้เป็นกระจกหรือเป็นอะไรที่อันตราย”
เจ้าหน้าที่ชุดเสื้อเขียวบอกต่อไปว่า ทุกวันนี้ภายในถังขยะรีไซเคิลก็มีขยะอื่นปะปน ทำให้ต้องเทขยะลงท้ายรถก่อนเพื่อดูและป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับตัวเอง แล้วถึงจะเริ่มคัดแยก ก่อนตบท้ายว่า “ถ้าจะทิ้งขยะ ก็คัดแยกให้ผมสักหน่อย ผมจะได้ไม่ต้องเทรวมกัน”

ในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ ผลการคัดแยกขยะของกรุงเทพมหานครพบว่ามีขยะทั่วไปประมาณ ๑๐,๕๒๖ ตันต่อวัน ขยะรีไซเคิล ๑,๗๙๔ ตันต่อวัน ขยะอินทรีย์ ๖๔๙ ตันต่อวัน และขยะอันตราย ๒.๗ ตันต่อวัน คิดเป็นร้อย ๘๑ , ๑๓.๕๘ , ๕ และ ๐.๐๒ ตามลำดับ

เฉพาะขยะทั่วไปรวมแล้วเท่ากับ ๓.๘๔ ล้านตันต่อปี หรือร้อยละ ๑๔ ของประเทศ (๒๗.๙๓ ล้านตัน)

ในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครต้องเก็บขยะเหล่านี้ ซึ่งเทียบเท่าปริมาณขยะที่พวกเราทิ้ง ต้องใช้เจ้าหน้าที่ประมาณ ๑๐,๒๒๑ คน แบ่งเป็นคนขับรถ ๒,๕๗๗ คน และคนเก็บขนมูลฝอย ๗,๖๔๔ คน ต้องใช้รถเก็บขยะประมาณ ๑,๘๕๖ คัน แบ่งเป็นรถของกรุงเทพมหานคร ๔๑๘ คัน รถเช่า ๑,๔๓๘ คัน มีทั้งประเภทรถอัด ๒ ตัน รถอัด ๕ ตัน รถยกภาชนะ รถเปิดข้าง รถกระบะเทท้าย

การทิ้งขยะของเราอาจเกิดขึ้นในเวลาเสี้ยววินาที ขณะที่พนักงานเก็บขยะต้องเสียเวลาในการตามเก็บ และคัดแยกขยะ
สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวในงานสัมมนาทางวิชาการ SD Symposium 2018 หัวข้อ Circular Waste Value Chain ว่า “หลายคนอาจมีคำถามว่า เขาแยกขยะแล้วเราเก็บรวมทำไม จริงๆ แล้วถ้าท่านแยกเป็นถุง คนของเราไม่เก็บรวม เพราะเขาก็ไม่อยากเสียเวลาแยก แต่ถ้าท่านทิ้งรวมเพราะว่าหมดกำลังใจที่จะแยก เขาก็จะแยกเองเพราะรู้ว่าของเหล่านี้มีค่า เพียงแต่มันจะเสียราคาเพราะเกิดการปนเปื้อน มันจะไม่เข้าระบบ Circular Waste Value Chain ที่ดี นี่คือสิ่งที่อยากบอก

อย่างไรก็ตาม แม้ทางกรุงเทพมหานครจะมีหน้าที่ในการเก็บขยะ มีการกำจัด แต่สุวรรณาเห็นว่าการณรงค์ให้ทิ้งขยะน้อยลงคือสิ่งสำคัญ “แนวคิดของเราคือถ้าลดได้ที่ต้นกำเนิดจะดี เพราะมันจะประหยัดหลายส่วน เรื่องขยะหรือการรักษาความสะอาดยังเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างวินัยให้กับคน จะเป็นการสร้างฐานพฤติกรรมในสังคมเรื่องอื่นๆ”

ทั้งนี้ ยอมรับว่าทุกวันนี้ อุปสรรคในการจัดการขยะในพื้นที่คือภาครัฐไม่สามารถสร้างระบบหรือสื่อสารไปยังชุมชนเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการคัดแยกขยะ รวมถึงมีจุดอ่อนของภาครัฐในการกำกับดูแลให้มีการบังคับใช้ตามกฎหมาย

กลับมาที่คำถามเริ่มต้นว่า “ทำไมไม่คัดแยกขยะ ?”

อาจยังไม่ต้องปักใจเชื่อว่าพนักงานเก็บขยะทุกคนจะไม่นำขยะที่เราคัดแยกไว้ไปเทรวมกันจนกว่าจะเห็นเองกับตา

แต่อย่างน้อยๆ ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองเป็นผู้สร้างสภาวะแวดล้อมของที่ดีขึ้นด้วยการคัดแยกขยะด้วยมือของเราเอง

………

เก็บตกจากลงพื้นที่ : งานสัมมนาทางวิชาการ SD Symposium 2018 ภาคบ่าย หัวข้อ Circular Waste Value Chain การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดตามระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑