ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก
เรื่อง : แค้จี่
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
“โหม่ๆ หมื่อๆ ช่ามือน่างหม่อ”
เด็กหญิงตัวน้อยส่งภาษากะเหรี่ยงโปว์ถามแม่ว่าเห็นชุดเชวาของเธอไหม
เสียงนั้นดังมาจากชั้นบนของบ้าน ตามด้วยเสียงรื้อค้นก๊อกๆ แก๊กๆ
“ในตู้เสื้อผ้าของหนูไงลูก”
สิ้นคำฉันเสียงข้าวของกระทบกันก็เงียบไป สักพักเจ้าของเสียงเล็กแหลมก็เดินลงมาด้วยชุดเชวาสีขาวสะอาดตา ประดับลวดลายขีดยกดอกสีน้ำเงินตัดกับพื้นสีขาวสวยงาม ที่ย่าเป็นคนทอให้
“เช” แปลว่า เสื้อ “วา” แปลว่า ขาว เชวามีลักษณะเป็นชุดกระโปรงยาวกรอมเท้า ทอด้วยพื้นสีขาวล้วน ค่อยตกแต่งลวดลายสีสันอื่นๆ ภายหลัง
เหตุที่เป็นสีขาว เพราะเชื่อกันว่าสื่อถึงความสะอาด ไร้ราคี ชุดเชวาจึงได้รับการสงวนไว้สำหรับหญิงสาวบริสุทธิ์ สามารถใส่ได้ทุกโอกาส ไม่ว่าจะไปทำไร่ทำนา ไปงานพิธีต่างๆ หรืออยู่บ้าน
เด็กหญิงกะเหรี่ยงทุกคนเติบโตมากับชุดเชวา ลวดลายบนผ้าขาวจึงเป็นดั่งเวทีอวดฝีมือเย็บปัก บางครั้งเห็นของใครสวยกว่าก็นึกอยากได้ เช่นเดียวกับเด็กหญิงโมไบล์-ลูกสาวผู้มักบ่นกระปอดกระแปด
“เสื้อหนูไม่สวย หนูอยากได้แบบของพี่คนนั้น”
เธอหมายถึงเด็กสาวข้างบ้านที่สนิทกัน ถึงอย่างนั้นชุดที่ย่าตั้งใจทอให้ก็เป็นตัวเก่งที่ใส่ประจำอยู่ดี
“โหม่ๆ แหม่จีบะ”
เธอเรียกแม่ แล้วขอสตางค์หนึ่งบาท ฉันส่งเหรียญห้าไปสองเหรียญ ให้ลูกน้อยไว้ซื้อขนมกินอิ่มท้อง และเผื่ออีกเหรียญให้เธอหยอดใส่ตู้รับบริจาคซึ่งในหมู่พวกเรารู้กันว่าเป็นการออมบุญทางหนึ่ง
ทุกเช้าวันอาทิตย์ เด็กกะเหรี่ยงผู้นับถือคริสต์จะไปเรียนเขียนอ่านภาษากะเหรี่ยงกันที่โบสถ์ประจำหมู่บ้าน โดยมีครูสอนศาสนาผ่านพระคัมภีร์ นอกจากได้เรียนภาษาแล้วจึงได้เรียนคำสอนไปในตัว
“หมื่อๆ ลีเดาะ”
เมื่อพี่สาวข้างบ้านของโมไบล์มาส่งเสียงเรียกให้รีบไปกันเถอะ น้องตัวยุ่งก็รีบวิ่งปร๋อ
ฉันมองตามหลังด้วยความเอ็นดูแล้วรีบจัดการภารกิจแม่บ้านของตน งานทำความสะอาดบ้าน หุงหาอาหาร ทอผ้า ดูแลความเป็นอยู่คนในครอบครัว คือหน้าที่ของผู้หญิงที่พอรู้ความ แม่จะปลูกฝังแก่ลูก เพื่อวันหนึ่งเมื่อถึงวัยมีครอบครัวจะได้ทำเป็น ฉันเองก็ได้รับการฝึกมาตั้งแต่ยังสวมชุดเชวา
ยามสายเมื่อทำงานบ้านเสร็จ ฉันอาบน้ำแล้วผลัดเปลี่ยนมาสวม “เชซู” ตัวใหม่เข้าชุดกับ “หนี่” หรือผ้าถุง ที่บรรจงถักทอลายยกดอกสีเข้าชุดกับเสื้อ ชุดนี้บอกฐานะทางหนึ่งของผู้สวมว่ามีครอบครัวแล้วหรือพ้นวัยเด็กสาวแล้วซึ่งไม่เหมาะจะสวมเชวาอีกต่อไป
“ซู” แปลว่า ดำ เชซูจึงหมายถึงเสื้อสีดำ ชายเสื้อยาวพ้นเอวลงมานิดหนึ่ง พื้นเสื้ออาจทอด้วยด้ายสีเข้มอื่นที่ไม่ใช่สีดำก็ได้ ลวดลายบนผ้าอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละถิ่น ที่เหมือนกันคือสวมคู่ผ้าถุง ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ด้ายฝ้ายสีอื่นๆ มาทอเชซูเพื่อความหลากหลายและสร้างสีสันในการดัดแปลงลวดลายผ้า
ปรกติชาวดอยไม่นิยมแต่งหน้า ได้ทาแป้งนิดหน่อยก็พอใจ และจะแต่งกายด้วยชุดเรียบร้อย ยิ่งเป็นวันพิเศษที่ทุกคนในหมู่บ้านต้องไปโบสถ์จะพร้อมใจแต่งชุดประจำเผ่าและสะพายย่ามที่ทอด้วยฝีมือตน
ถนนลูกรังหน้าบ้านเวลานี้จ้อกแจ้กด้วยเสียงพูดคุยของผู้ที่พากันเดินไปโบสถ์กลางหมู่บ้าน บางคนถือหนังสือพระคัมภีร์ติดตัว ฉันอุ้มลูกชายวัย ๕ เดือนที่นอนเล่นอยู่ในเปลขึ้นแนบอกแล้วรีบเดินตามฝูงคน
เมื่อเสียงเพลงสรรเสริญพระเจ้าจากกลุ่มเยาวชนเริ่มบรรเลง พิธีการต่างๆ อย่างนมัสการ อธิษฐานจิต ฯลฯ ก็ไล่เรียงตามลำดับและสิ้นสุดภายในสองชั่วโมงก่อนเวลาเที่ยงวัน จากนั้นทุกคนจึงแยกย้าย
“โหม่ๆ”
เสียงเรียก แม่ๆ มาจากด้านหลังพร้อมแรงโผกอดของเจ้าร่างเล็ก
“แม่นั่งไหน” “แม่เอาน้องมาด้วยเหรอ” “เมื่อกี้แม่เห็นหนูไหม”
ฉันใส่ใจตอบทุกคำถามเจื้อยแจ้วของเจ้าหนูจำไมวัยอยากรู้อยากเห็น แล้วชวนเธอกลับบ้าน
ระหว่างก้าวเดินบนทางลูกรัง เราคุยกันหลายเรื่อง จูงมือบ้าง ปล่อยเดินเองอย่างอิสระบ้าง สังเกตเห็นชุดเชวาตัวเล็กสีขาวนั้นหมองนิดหน่อยด้วยสีฝุ่น แต่ช่างปะไรเมื่อชุดที่เปรอะเปื้อนนั้นยังซักได้
ชีวิตน้อยๆ ที่เป็นดั่งผ้าขาวต่างหากที่สำคัญ และฉันอยากเห็นเธอได้เล่นสนุกอย่างเต็มที่สมวัย
ก่อนที่วันหนึ่งลูกรักของแม่จะเปลี่ยนไปสวมเชซู
แค้จี่
ก่อนได้ชื่อ เสาวนีย์ พลับพลึงพนา เกิดมาพร้อมชื่อ “แค้จี่” (แค้ หมายถึงหนึ่งเดียว จี่ หมายถึงเงิน) เติบโตในครอบครัวกะเหรี่ยงสะกอ-โปว์ ในบ้านป่าบนดอยส่วนหนึ่งของอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันเป็นข้าราชการครูอนุบาลโรงเรียนบ้านแม่ลิดในอำเภอแม่สะเรียง ซึ่งนักเรียนเกือบทั้งหมดเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง
…….
สุชาดา ลิมป์
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน