ลงพื้นที่ : สีสันและความสดใหม่ในงานสารคดี

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ภาพโดย ประเวช ตันตราภิรมย์

เมื่อได้ประเด็นและวางโครงเรื่องแล้ว ขั้นต่อไปคือการลงพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งไม่ควรขาดในงานสารคดี

ดังที่กล่าวแล้ว ข้อมูลในงานสารคดีมี ๓ กอง

๑.อ้างอิง
๒.สัมผัส
๓.สัมภาษณ์

กองที่ ๒ สัมผัส หรือสังเกตการณ์ จะได้มาก็โดยการเข้าสู่พื้นที่จริงเท่านั้น

จริงอยู่มีงานสารคดีบางเรื่องบางกลุ่ม ผู้เขียนเขียนจากการค้นคว้าเพียงอย่างเดียวก็เป็นไปได้ และถือได้ว่าเป็นงานสารคดี

แต่ถ้าจะให้ครบรส กลมกล่อม เป็นงานสารคดีที่ให้รสรอบด้าน ก็ไม่ควรขาดการลงพื้นที่

และอีกนัยหนึ่ง การลงพื้นที่มักเกาะเกี่ยวกับข้อมูลกองที่ ๓ ด้วย คือการสัมภาษณ์

ไปดู ไปรู้เห็น มีส่วนร่วมในกิจกรรม และพูดคุยกับผู้รู้ในพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน

การลงพื้นที่เป็นการออกไปเผชิญความสดใหม่ ไปพบสถานการณ์ปัจจุบันเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ เท่านั้น อาจมีที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเกิดซ้ำได้อีก แต่สถานการณ์ในแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนครั้งอื่น

นี้เป็นเสน่ห์ข้อหนึ่ง ซึ่งเมื่อมาอยู่ในงานเขียนของเราก็ย่อมมีความเฉพาะตัวไม่เหมือนชิ้นไหน แม้มีคนเคยเขียนเรื่องนั้นมาก่อนแล้ว

บ่อยครั้งการลงพื้นที่เป็นเรื่องมิอาจรู้ล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างไร บางเรื่องรู้กำหนดการและวางแผนได้ แต่ที่จะเจอก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจล่วงรู้ไปก่อนอยู่ดี

หลักข้อหนึ่งของการลงพื้นที่เพื่อเขียนสารคดี ผู้เขียนจึงต้องฝึกเปิดใจให้กว้างที่สุด เปิดรับสิ่งที่จะเข้ามาสัมผัส เก็บซับด้วยความละเอียดอ่อน เพื่อรอผันออกไปเป็นงานเขียน

ไม่มีข้อแนะนำที่เป็นสูตรสำเร็จเด็ดขาดว่าการลงพื้นที่มีหลักเกณฑ์เช่นไร เพียงแนะนำคร่าวๆ ได้ว่า หากเป็นเรื่องที่มีกำหนดการล่วงหน้าชัดเจน เช่น งานเทศกาลประจำปี ประเพณี ฯลฯ ก็ดูว่ามีเวลาทั้งหมดกี่วัน แล้วลองซอยแบ่งย่อยว่าแต่ละวันจะเก็บเรื่องอะไรช่วงเวลาไหน แต่ในละช่วงเวลาจะลงไปเกาะอยู่ตรงจุดไหนของงาน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อไปอยู่ต่อหน้าสถานการณ์จริงก็ย่อมปรับแผนการได้ตามความหนักแน่นน่าสนใจของข้อมูลใหม่ที่ได้พบเฉพาะหน้า

การนัดแหล่งข้อมูลคนสำคัญที่เราไม่อยากพลาดก็เป็นเรื่องจำเป็นมาก เพื่อนอกจากลงพื้นที่เพื่อการสัมผัสแล้ว เราจะได้ข้อมูลสัมภาษณ์มาเพิ่มความหนักแน่นในงานเขียนด้วย

ค้นข้อมูลไปก่อนบ้างก็ดี อย่างแรกสุดทำให้เราได้รู้จักพื้นที่เป็นเบื้องต้น เช่นรู้ว่าพื้นที่นั้นอาจมีสีสันในวันสุดสัปดาห์ หรือในวันสำคัญใด ก็ช่วยให้เราเลือกช่วงเวลาลงพื้นที่ให้ได้ข้อมูลที่มีน้ำเนื้อมากขึ้น

การลงพื้นที่เพื่องานสารคดี ไม่ใช่การทำราชการที่มีเวลาเข้างาน-เลิกงานแน่นอน ดังนั้นหากทำได้ควรค้างในพื้นที่ ใช้ชีวิตร่วมมีส่วนร่วมให้มากที่สุดตลอดการเก็บข้อมูล เป็นหนึ่งเดียวกับแหล่งข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

สำหรับเรื่องที่เราสามารถเข้าเป็นอย่างเขาได้ อย่างในเรื่องการงาน กิจกรรม การละเล่น การประดิษฐ์ ที่เราสามารถร่วมทำได้ นักเขียนสารคดีไม่ควรพลาดที่จะเข้าร่วมด้วย นั่นเรียกว่าการเก็บข้อมูลสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม

ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลอันหนักแน่นเมื่อนำมาเขียน เป็นชิ้นงานที่ให้รสความและอารมณ์ต่อคนอ่านต่างไปจากข้อมูลกลุ่มอื่นใด และแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกเรื่องที่นักเขียนสามารถจะเก็บข้อมูลสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมได้

นี้เป็นสูตร หรือข้อแนะนำเบื้องต้นบางข้อในขั้นการลงพื้นที่ เรื่องเฉพาะหน้าที่นักเขียนต้องลงไปเจอเอง และจะกลายเป็นเรื่องเฉพาะตัวของงานชิ้นหนึ่งนั้นเมื่อนำมาใช้ในงานเขียน


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา