ชื่อจริงและชื่อเล่น (๘)

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


“พระไอยการบานผแนก” เป็นหนึ่งในกฎหมายเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ถูกนำมารวบรวมไว้ใน “กฎหมายตราสามดวง” ยุคต้นกรุงเทพฯ กฎหมายฉบับนี้ตั้งศักราชไว้ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง สาระสำคัญคือ “บานแผนก” ว่าด้วยการแบ่งลูกๆ ตามสังกัดไพร่ของพ่อแม่ ว่าต้องแบ่งสรรปันส่วนกันอย่างไรบ้าง

ข้อมูลสำคัญจากกฎหมายฉบับนี้คือคำเรียกลูกชายและหญิงตามลำดับเรียงพี่เรียงน้อง ได้แก่

ลูกชายคนโต อ้าย คนที่ ๒ ญี่ (ยี่) / คนที่ ๓ สาม / คนที่ ๔ ไส / คนที่ ๕ งัว(งั่ว) / คนที่ ๖ ลก / คนที่ ๗ เจด(เจ็ด) / คนที่ ๘ แปด / คนที่ ๙ เจา / คนที่ ๑๐ จง / คนที่ ๑๑ นิง / คนที่ ๑๒ สอง

ส่วนลูกสาวคนโตคือ เอื้อย / คนที่ ๒ อี่ / คนที่ ๓ อาม / คนที่ ๔ ไอ / คนที่ ๕ อัว / คนที่ ๖ อก / คนที่ ๗ เอก / คนที่ ๘ แอก / คนที่ ๙ เอา / คนที่ ๑๐ อัง

ชื่อทั้งชุดนี้ที่ได้จากพระไอยการ เชื่อว่าคงเป็นการระบุ “เผื่อไว้” มากกว่า เพราะผู้หญิงที่มีลูกได้ถึง ๒๒ คน (หรือเกือบเท่าทีมฟุตบอลสองทีม) จากท้องเดียวกัน คงมีไม่มากนัก

หลักฐานที่ว่าเคยมีการเรียกขานลำดับพี่น้องแบบนี้ประกอบกับ “ชื่อ” จริงๆ ปรากฏเค้าเงื่อนในเอกสารโบราณหลายที่ ดังที่พงศาวดารสมัยอยุธยาตอนต้นเล่าว่าหลังจากสมเด็จพระนครินทราธิราชเสด็จสวรรคตในปี ๑๙๖๗ พระโอรสสองพระองค์ ได้แก่เจ้าอ้ายกับเจ้ายี่ เกิดวิวาทชิงราชสมบัติกันขึ้น เหตุการณ์ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นศึกกลางเมือง ผลสุดท้ายเจ้าอ้ายเจ้ายี่ชนช้างกระทำยุทธหัตถีกันที่สะพานป่าถ่าน สิ้นพระชนม์คาคอช้างทั้งคู่ ราชสมบัติจึงลอยตกมาอยู่แก่เจ้าสาม พระอนุชาลำดับที่ ๓ ผู้ทรงมีนามรัชกาลต่อมาว่า “เจ้าสามพระยา”

ส่วนลำดับพี่น้องถัดไปจาก ๑-๒-๓ ก็มีให้เห็นร่องรอยจากหลักฐานประวัติศาสตร์อื่นๆ อีก เช่น

ไส ลูกชายอันดับ ๔ มีอยู่ในนาม “พนมไสดำ” หรือ “พ่อนมไสดำ” ขุนนางคนสำคัญของพระมหาธรรมราชาลิไท ซึ่งมีนามบันทึกอยู่ใน “จารึกวัดช้างล้อม” ปี ๑๙๒๗

ส่วน งั่ว ลูกชายคนที่ ๕ มีตัวอย่างเช่นขุนหลวงพะงั่ว หรือพ่องั่ว กษัตริย์อยุธยาตอนต้น และพญางั่วนำถม บุรพกษัตริย์สุโขทัย เป็นต้น

ประเพณีการมีคำเรียกเฉพาะสำหรับลำดับพี่น้องทำนองนี้ยังหลงเหลือในคนพูดภาษาตระกูลไตกลุ่มอื่นๆ ด้วย ส่วนในภาคกลางคงสาบสูญไปหลายร้อยปีแล้ว เหลือตกค้างเพียงบางคำ เช่น “พี่เอื้อย” ซึ่งความหมายเลื่อนไป มิได้หมายถึงพี่สาวคนโต แต่กลายเป็นสำนวนหมายถึง “ลูกพี่” หรือ “พี่ใหญ่” แทน และใช้ได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย

“สมเด็จครู” สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรื้อฟื้นธรรมเนียมนี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้งจากที่เคยทรงพบเห็นในกฎหมายโบราณ โดยทรงนำมาใช้ตั้งเป็น “ชื่อเล่น” ประทานแก่พระโอรสพระธิดาในราชสกุลจิตรพงศ์ ได้แก่ หม่อมเจ้าหญิงปลื้มจิตร (เอื้อย) หม่อมเจ้าชายอ้าย (สิ้นชีพิตักษัยในวันประสูติ) หม่อมเจ้าชายเจริญใจ (ยี่) หม่อมเจ้าชายสาม (สิ้นชีพิตักษัยแต่ยังเล็ก) หม่อมเจ้าหญิงประโลมจิตร (อี่) หม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร (อาม) หม่อมเจ้าชายยาใจ (ไส) หม่อมเจ้าชายเพลารถ (งั่ว) และหม่อมเจ้าหญิงกรณิกา (ไอ)


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี