ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก
เรื่อง : ป้าเขียว
ภาพ : ทรงศักดิ์ ด้วยดี / กรดล แย้มสัตย์ธรรม
ฉันเคยเป็นเด็กสาวตุ้ยนุ้ย หรืออาจเรียกว่าอวบระยะสุดท้ายก็ได้
แต่หลังเรียนจบมหาวิทยาลัยน้ำหนักก็ลดเหลือ ๔๐ กิโลกรัม ผ่านมา ๑๑ ปีแล้วก็ยังคงที่
“ผอมไปนะลูก น่าจะมีน้ำมีนวลกว่านี้ สมัยก่อนถ้าตัวแค่นี้เหยียบครกกระเดื่องไม่ขึ้นหรอก”
แม่หมายถึงเครื่องทุ่นแรงที่ช่วยกระเทาะเมล็ดแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร อันที่จริงลึกไปกว่าเรื่องการงานแม่อยากให้ฉันเพิ่มน้ำหนักเพื่อความแข็งแรงและดูสวยตามค่านิยมความงามในแบบที่แม่ชอบ
“แหม…แม่ ยุคนี้หนูแค่ใช้นิ้วพิมพ์งานหน้าคอมพิวเตอร์ก็ได้ข้าวกินแล้ว ไม่ต้องใช้เรี่ยวแรงอะไร”
จะว่าไปในยุคของแม่สุขภาพของผู้หญิงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีหน้าที่ต้องหุงหาอาหาร ดูแลปากท้องทุกคนในครอบครัว วิถีชีวิตของชาวดอยอย่างพวกเราต่างปลูกและตำข้าวกินเอง ไม่เคยต้องใช้เงินซื้อข้าวกิน ผู้หญิงม้งทุกบ้านจึงต้องใช้ “จู่” (Cug) หรือ “ครกกระเดื่อง” เป็นกิจวัตร
เจ้าครกแบบนี้มีชิ้นส่วนสำคัญอยู่สองส่วน คือ ตัวครกและตัวคาน
“ขอจู่” (Qhov cug) หรือตัวครก ทำด้วยไม้ขนาดใหญ่ตัดเป็นท่อน สูง ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ขุดเบ้าลึกเป็นครกไว้ใส่ข้าวเปลือก จุได้เกือบ ๑ ถัง แล้วขุดหลุมฝังส่วนล่างของครกเพื่อยึดครกให้นิ่งอยู่กับที่
ส่วน “จ๋างจู่” (Caav cug) หรือตัวคาน เป็นคานไม้ยาว ๓-๔ เมตร โดยตั้งเสา ๒ ต้น ฝังดินให้แน่นและอยู่ในแนวเดียวกัน ใช้สิ่วเจาะรูหรือบากไม้ให้เป็นร่องตรงกลางของเสาทั้งคู่ แล้วสอดคานยึดไว้กับเสาให้ขนานกับพื้นดิน และให้ด้านที่มีสากค่อนไปอยู่ปลายคาน วางตัวสากให้พอดีกับครกที่ตั้งไว้
ภาพชินตาในวัยเด็กคือเห็นแม่ตำข้าวช่วงหัวค่ำหลังอิ่มมื้อเย็น ไม่ก็เช้ามืดที่ตื่นมาหุงหาอาหาร
วิธีใช้ครกกระเดื่องของแม่ไม่ต่างจากหญิงม้งบ้านอื่น คือใส่ข้าวเปลือก ข้าวโพด หรือพันธุ์พืชต่างๆ ที่ต้องการลงไปในครก แล้วเหยียบปลายคานด้านที่ยึดติดเสา ๒ ต้น เมื่อออกแรงเหยียบสากจะยกขึ้น พอยกเท้าขึ้นสากจะตำทุกสิ่งในครก แล้วแต่ว่าเราอยากตำสิ่งต่างๆ ให้แปรรูปอย่างไร เช่น ให้ข้าวเปลือกกระเทาะออกเป็นข้าวสาร หรืออยากตำจนข้าวสารละเอียดเป็นแป้งก็ได้
ความจริงเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ แต่ถ้ามีผู้ช่วยสักคนก็จะยิ่งสะดวก
เมื่อคนหนึ่งเหยียบคานเพื่อตำ อีกคนจะได้ช่วยกวนสิ่งที่อยู่ในครกไปมาให้สากตำได้ทั่วถึง
ในสายตาฉัน แม่เป็นคนที่บริหารเวลาเก่งมาก สามารถทำหลายอย่างไปพร้อมกัน
ขณะใช้ครกกระเดื่อง หลังก็สะพายลูกน้อยที่ยังเล็กไว้ด้วย มือไม่ปล่อยให้ว่างด้วยการปักผ้าไปพลางๆ แล้วมอบหมายหน้าที่ให้ผู้ช่วยตัวจ้อยอย่างฉันคอยกวนหรือพลิกข้าวเปลือกกลับไปมา
ในวัยนั้นถือเป็นหน้าที่ยิ่งใหญ่ สนุก และน่าตื่นเต้นมาก เพราะเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิและรู้จังหวะที่พอดีเพื่อไม่ให้สากตำมือ ซึ่งฉันก็ทำได้ดีเสียด้วย ไม่เคยถูกตำมือสักครั้ง แม่เป็นพยานได้
เมื่อฉันโตขึ้นอีกหน่อยจึงได้เลื่อนตำแหน่งจากคนกวนข้าวเปลือกมาเป็นคนเหยียบคาน
ช่วงแรกยังต้องอาศัยอีกคนช่วยออกแรงเพราะรูปร่างยังเล็กเกิน น้ำหนักไม่มากพอจะทำให้คานยก พี่สาวหรือน้องสาวจึงต้องมาช่วย แต่การเหยียบคานหลายคนก็ยากกว่าการเหยียบคนเดียว ต้องใช้ความพร้อมเพรียง เหยียบและยกในจังหวะเดียวกัน ไม่อย่างนั้นคานจะยิ่งหนักกว่าเดิม
การตำข้าวด้วยครกกระเดื่องจึงเป็นงานแรกในชีวิตที่สอนให้ฉันรู้จักการทำงานเป็นทีม
แต่หากครั้งใดที่ฉันต้องตำข้าวคนเดียว จะแก้ปัญหาเรื่องตัวเบาโดยนำฟักทองผลใหญ่ใส่ตะกร้าแบกไว้ข้างหลังเพื่อเพิ่มน้ำหนักการเหยียบให้คานยก วิธีนี้ใช้ได้ผลแต่จะทำให้ฉันเหนื่อยง่ายขึ้นกว่าปรกติ
เมื่อข้าวเปลือกกลายเป็นข้าวสารแล้วต้องนำเมล็ดข้าวสารไปใส่กระด้งอีกทีหนึ่ง เพื่อฝัดให้เปลือกข้าวและเศษผงต่างๆ ปลิวออกไป จึงนำไปหุงเป็นข้าวสวย
เดี๋ยวนี้ที่ในหมู่บ้านฉันยังมีครกกระเดื่องอยู่ แต่เราไม่ค่อยได้ใช้ตำข้าวแล้ว
เพราะหันไปใช้บริการโรงสีข้าวแทน ซึ่งมีความรวดเร็วและไม่ต้องใช้แรงงานแบบเดิมแลกกับจ่ายค่าบริการ ๓๐-๕๐ บาท ต่อข้าวสาร ๑ กระสอบ หรือไม่ก็เสียข้าวสารบางส่วนให้โรงสีเป็นการแลกเปลี่ยน ที่น่าเสียดายกว่านั้นคือบางครอบครัวเลิกปลูกข้าวกินเองแล้วหันไปซื้อข้าวสารจากตลาด นั่นหมายถึงสภาพชีวิตที่ต้องพึ่งเงิน หากไม่มีเงินก็ไม่สามารถอยู่ได้อย่างเมื่อก่อน
ค่านิยมความงามของสาวม้งก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากที่เคยรูปร่างอวบอั๋น แข็งแรง เดี๋ยวนี้พากันดูแลรูปร่างให้ผอมบางสวยแบบรสนิยมสาวเมือง ส่วนหนึ่งเพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป
หมดยุคยืนตำครกกระเดื่องที่เป็นดั่งโรงสีข้าวประจำบ้านแล้ว
ป้าเขียว
คือชื่อที่เพื่อนเรียกมากกว่าชื่อไทย รัตนา ด้วยดี หรือชื่อม้ง Nplaim Thoj (บล่าย ท่อ) อาจเพราะเป็นหนอนหนังสือตัวเล็กๆ ที่หลงรัก “สีเขียว” เป็นชีวิตจิตใจ แม้จะเกิดในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แต่เชื่อว่า “บ้าน” คือที่ไหนก็ได้ที่มีความรักและความสบายใจ
…….
สุชาดา ลิมป์
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน