ลงพื้นที่ : สีสันและความสดใหม่ในงานสารคดี (๒)

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

จากประสบการณ์ลงพื้นที่เพื่อเขียนสารคดี มีบางเรื่องที่พอจะนำมาเล่าสู่กันฟังในลักษณะเบื้องหลังการทำงาน หรือเป็นตัวอย่างในลักษณะปฏิบัติการจริง

หัวข้อเรื่อง หมู่บ้านเมียฝรั่ง

จากกระแสสังคมในช่วงที่กำลังตื่นเต้นกับการพบเห็นเขยฝรั่งเพ่นพ่านเต็มบ้านเมืองอีสาน บางหมู่บ้านมีบ้านสมัยใหม่หลังใหญ่เป็นสิบๆ ล้านแบบหมู่บ้านจัดสรรในเมือง ผุดเรียงรายอยู่เต็มหมู่บ้านชนบท เหมือนยกหมู่บ้านจัดสรรในเมืองมาไว้กลางทุ่ง

อยากเขียนเรื่องนี้นักเขียนก็ต้องเริ่มสืบหาอ่านข้อมูล

ก็พบจังหวัดที่มีผู้หญิงในหมู่บ้านได้สามีฝรั่งมากที่สุด พบหมู่บ้านที่มีเขยฝรั่งอยู่หนาแน่นที่สุด หญิงวัยเจริญพันธุ์ในหมู่บ้านนี้ ๑ ใน ๓ คนได้สามีเป็นฝรั่ง

และได้ข้อมูลสำคัญว่า คนในหมู่บ้านไม่ค่อยอยากพูดเรื่องนี้ เพราะพูดแล้วถูกนำไปขยายในแง่เสีย

การลงพื้นที่จึงจำต้องตีอ้อมจากรอบนอก ตามเวทีประชุมเสวนา อภิปราย เกี่ยวกับประเด็นนี้

ในงานดังกล่าวเรามักมีโอกาสได้เจอนักวิชาการ ผู้รู้ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งเมียฝรั่งตัวจริงที่ยินดีเปิดเผยตัวและเปิดใจเล่าเรื่องราว

และทำให้เราได้รายละเอียดหลายด้านเพิ่มขึ้นด้วย อย่างว่าเมียฝรั่งส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่กับสามีที่เมืองนอก จะกลับมาอยู่บ้านหลังละหลายล้านเฉพาะช่วงเทศกาลงานบุญประจำปี บุญบั้งไฟ บุญออกพรรษา

นักสารคดีต้องลงพื้นที่ให้ถูกเวลา จึงจะได้เห็นภาพเขยฝรั่งเดินหัวแดงเต็มหมู่บ้าน

เราเลือกวันงานบุญบั้งไฟของหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอทุ่งขุนหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่เป้าหมาย

ไปเข้าร่วมงานบุญนั้นไม่ยาก แต่อย่างที่รู้กัน ไม่ค่อยมีใครอยากเล่าเกี่ยวกับเรื่องได้สามีฝรั่ง

งานสารคดีควรมีเสียงของแหล่งข้อมูล-จากการสัมภาษณ์ ไม่ใช่มีแต่เสียงผู้เขียนทั้งเรื่องแบบทความ (Aticle)

ลองโทรแบบสุ่มๆ ไปที่ว่าการอำเภอ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์แนะนำว่ามีปลัดพัฒนาชุมชนคนหนึ่งทำงานอยู่ในหมู่บ้านนั้น เธอให้เบอร์ติดต่อ

เมื่อโทรไปแนะนำตัว บอกที่มาและเป้าหมาย ปลัดหนุ่มบอกว่าเขาพาเข้าพื้นที่ได้ ทั้งบอกสถานการณ์และเงื่อนไขเช่นที่เรารู้มา คือยากที่คนในหมู่บ้านจะเปิดปากเล่า แต่เขาจะช่วยเท่าที่เป็นไปได้

อย่างแรกที่ปลัดนักพัฒนาชุมชนบอก จงเก็บเครื่องบันทึกเสียง เก็บสมุดบันทึก เก็บภาพลักษณ์ความเป็นนักข่าว ทำตัวเป็นเพื่อนเขา แล้วไปเที่ยวงานบุญในหมู่บ้านด้วยกัน

ข้าราชการหนุ่มพาเราขึ้นบ้านโน้นเข้าบ้านนี้ตลอดทั้งวัน บ้านไหนได้เขยฝรั่ง หรือมีแผนจะหาเขยฝรั่งก็คุยยาวเท่าที่ทำได้ กินข้าวกินเหล้าด้วยกันจนเขาไว้ใจให้ความเป็นเพื่อน ก็เล่าลึกถึงความคิดจิตใจ ความกดดัน ความใฝ่ฝัน อย่างที่เพื่อนกล้าเล่าให้เพื่อนฟัง

และเมื่อเพื่อนนำมาเขียนก็ต้องทำอย่างเคารพสิทธิ์และรักษาความลับให้กับเพื่อนที่เป็นเจ้าของเรื่องเล่าด้วย

ช่างภาพก็ถ่ายภาพไปอย่างนักท่องเที่ยว ระวังกับการใช้เลนส์ตัวใหญ่ๆ อุปกรณ์แบบจัดเต็ม และโดยเฉพาะมุมภาพที่ต้องช่วยรักษาความลับของ Subject ด้วย

จากนั้นเราก็ออกไปอยู่ท่ามกลางบรรยากาศงานบุญบั้งไฟ ในขบวนแห่ รำฟ้อน กระทั่งการถวายกองผ้าป่า

นั่นแหละช่วงเวลาของการ “สัมผัส” หรือ “สังเกตการณ์” อย่างแท้จริง

ในแง่ภาพบรรยากาศ งานบุญบั้งไฟของหมู่บ้านนี้ไม่ใช่ประเพณีอีสานแบบดั้งเดิม แต่คล้ายเป็นงานนานาชาติที่มีผู้เข้าร่วมงานอย่างหลากหลาย เด็กๆ ที่แต่งกายเป็นเทพีบนรถแห่ เทพผาแดง นางไอ่ ส่วนใหญ่เป็นเด็กลูกครึ่งทั้งนั้น เมียฝรั่งแต่งตัวเฉิดฉายพริ้งพรายกว่าคนในหมู่บ้าน และตอนถวายพวกเธอได้นั่งแถวหน้าสุดอยู่หน้าพระ ไม่ต้องสงสัยเลยว่ากองผ้าป่าที่มียอดเงินสูงสุดมาจากต่างแดน

เหล่านี้เป็นภาพและบรรยากาศที่นักเขียนได้สัมผัส ซึ่งพร้อมจะนำมาแปรเป็นงานเขียน

ปากคำหรือคำสัมภาษณ์ก็พร้อมแล้ว

จากที่ไปร่วมงานเวทีเสวนาและการค้นคว้า ก็ได้เอกสาร งานวิจัย บทความวิชาการ เป็นฐานข้อมูลอ้างอิงในงานสารคดีได้อย่างดี

ข้อมูลทั้ง ๓ กองพร้อมแล้ว ถัดจากนี้ก็เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายได้อย่างมั่นใจ ซึ่งเป็นขั้นที่จะชี้วัดความสำเร็จของงานเขียนชิ้นนั้น

นั่นคือการเขียนเล่าออกมาเป็นตัวหนังสือ ที่เรียกว่า งานเขียนสารคดี


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา