เกษร สิทธิหนิ้ว : รายงาน / ฝ่ายภาพ สารคดี : ภาพ

หากคุณบังเอิญผ่านไปแถว อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร ลองสังเกตตามข้างทาง บางทีคุณอาจเห็น “ต้นคราม” เข้าก็เป็นได้ หากไม้พุ่มต้นนั้นมีหยดน้ำค้างสีน้ำเงิน อยู่ใต้ต้นในตอนเช้ามืด นั่นแหละต้นคราม–พืชใบเขียวที่ให้สีคราม

ที่บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๑๔ บ้านนาดี ต. นาหัวบ่อ ภายโรงย้อมคราม ผู้หญิงคนหนึ่งนั่งย้อมผ้าอยู่อย่างขะมักเขม้นทั้งเช้า-เย็น บนราวไม้กลางลาน มีฝ้ายสีครามอ่อน ๆ ไปจนถึงน้ำเงินเข้ม พาดอยู่หลายไจ เป็นฝ้ายย้อมสีครามธรรมชาติ

เชื่อหรือไม่ว่า ในประเทศไทยมีคนรู้วิธีย้อมอยู่ไม่กี่คน

เหตุที่เราต้องดั้นด้นมาไกลถึงจังหวัดสกลนคร ก็เพราะคำเล่าลือที่ว่า ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งค้นพบกรรมวิธีย้อมผ้าครามธรรมชาติได้เป็นผลสำเร็จ หลังจากที่องค์ความรู้นี้สูญหายไปนานเกือบร้อยปี

หลายครั้งที่มีงานแสดงสินค้าพื้นบ้านหรืองานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ชุมชน ประไพพันธุ์ แดงใจ หรือพี่จิ๋ว ลูกสาวของยายฑีตา จันทร์เพ็งเพ็ญ ผู้พลิกฟื้นองค์ความรู้การย้อมสีครามธรรมชาติ จะหอบหิ้วผ้าครามจากสกลนครไปจำหน่ายด้วย มีลูกค้ามารุมเลือกซื้อกันเนืองแน่น

“คนก็สนใจเพราะมันเป็นผ้าครามธรรมชาติ สีติดทนทานเท่าอายุผ้า เมื่อเขาซื้อไปใช้แล้ว เห็นว่าใช้ดีก็ตามมาซื้ออีก มีลูกค้าประจำที่เป็นชาวญี่ปุ่นด้วย บ้านเขาคงทำไม่ได้เหมือนเรา และอาจจะหาต้นครามไม่ได้”

คนรุ่นปู่ย่าในภาคเหนือและอีสานรู้จักสีครามธรรมชาติมาช้านาน ชาวบ้านภาคเหนือย้อมผ้าครามธรรมชาติจากต้นฮ่อม ส่วนทางอีสานใช้ต้นคราม แต่เอาเข้าจริง ให้ตระเวนไปทั่วอีสาน พบคนที่ย้อมผ้าครามธรรมชาติได้สักคนก็เรียกว่าเก่ง

“หากไม่ฟื้นฟูและถ่ายทอดแก่คนรุ่นหลัง อีกไม่กี่ปีการย้อมผ้าครามคงสูญหายไปอย่างแน่นอน”

ยายฑีตา จันทร์เพ็งเพ็ญ ยืนยันคำกล่าวข้างต้นว่า การย้อมผ้าครามธรรมชาติที่เห็นอยู่นี้ “ขุด” ขึ้นมาจากความทรงจำที่ยายฑีตาเคยเห็นคนเฒ่าคนแก่ทำตอนที่ตัวเองยังเล็ก ๆ

“อาศัยความจำว่าเคยเห็นเขาทำอย่างนี้ ๆ ก็เอามาลองทำดู” ยายฑีตาว่า แล้วให้ลูกสาวเล่าต่อ

“ตอนแรกพี่กับแม่ไปหาเมล็ดครามในป่า เพราะหาตามบ้านไม่ได้ ไม่มีใครปลูกแล้ว ก็เก็บเมล็ดมาเพาะ ค่อย ๆ ปลูกเพิ่มขึ้นทีละนิดละหน่อยจนได้ต้นครามจำนวนหนึ่ง ก็เริ่มเก็บมาทำเนื้อครามดู แล้วเอามาลองย้อมกับผ้าฝ้าย ลองผิดลองถูกมาเรื่อย กว่าจะสำเร็จก็หลายปีเหมือนกัน”

ชาวบ้านกล่าวขวัญถึงการทำสีครามและย้อมผ้าครามว่า เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนเหมือนไสยศาสตร์ ที่อยู่เหนือการควบคุม เป็นศาสตร์และศิลป์แห่งการสัมผัสอย่างแท้จริง เพราะไม่มีสูตรแน่นอนตายตัว ต้องอาศัยการสังเกตทั้งดู ดม ชิม ด้วยความชำนาญเท่านั้น ขั้นตอนการทำสีครามและย้อมผ้าครามมีรายละเอียดซับซ้อน ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ชาวอีสานถึงกับเปรียบเปรยการดูแลหม้อครามว่า “เป็นยิ่งกว่าการดูแลลูกและสามี” เลยทีเดียว

แค่กระบวนการทำเนื้อครามก็กินเวลามากอยู่ เริ่มจากตัดใบครามที่แก่จัดมามัดเป็นกำ แช่น้ำในหม้อนิลคืนหนึ่งก็จะได้น้ำสีน้ำเงิน เติมปูนขาวแล้วตีจนน้ำในหม้อเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง พักไว้หนึ่งคืนก็จะได้เนื้อครามที่ตกตะกอนอยู่ก้นหม้อ

จากนั้นก็มาถึงขั้นตอน “ก่อหม้อนิล” โดยนำวัตถุดิบหลัก ๆ สามชนิด คือ เนื้อคราม ปูนขาว และน้ำขี้เถ้ามาผสมกันในหม้อนิลตามสูตรของแต่ละบ้าน หลังจากนั้นทุกวันต้องทำงาน “โจกคราม” (ตักของเหลวที่เป็นส่วนผสมในหม้อนิลขึ้นสูง ๑ ฟุต แล้วเทกลับลงไปในหม้อใหม่ ทำอย่างนี้หลาย ๆ ครั้ง) ทุกเช้าเย็น จนกว่าของเหลวในหม้อนิลเริ่มเปลี่ยนจากสีน้ำเงินเป็นเขียวใส ฟองเป็นสีน้ำเงินเข้มเป็นเงา กว่าจะได้สีครามเอาไปย้อมผ้า หรือ “หม้อนิลมา” นั้น ก็ต้องใช้เวลาสองสามสัปดาห์เลยทีเดียว

จากนั้นจึงเริ่มย้อมผ้าครามได้เสียที

การย้อมสีครามหรือ “ย้อมหม้อนิล” ทำได้เพียงวันละสองครั้งเช้าและเย็น ทุกครั้งที่ย้อมเสร็จ ต้องทิ้งหม้อนิลไว้ ๖-๘ ชั่วโมงจึงจะย้อมครั้งต่อไปได้ หม้อนิลแต่ละใบย้อมฝ้ายได้ครั้งละ ๑-๒ ไจเท่านั้น เหตุนี้เอง ที่บ้านยายฑีตาจึงมีหม้อนิลอยู่ถึง ๓๐ กว่าใบ

ชาวอีสานนิยมใช้ฝ้ายย้อมคราม เพราะสีครามจะเกาะฝ้ายได้ดี ไหมก็ย้อมได้ แต่ก็ต้องมีสูตรพิเศษในการก่อหม้อนิลด้วย

“หม้อนิลหนี” เป็นปัญหาสำคัญของการย้อมคราม คือจู่ ๆ สีครามที่เคยย้อมอยู่ กลับไม่ให้สีครามอีก ย้อมยังไงก็ไม่ติด หาสาเหตุไม่ได้ ชาวอีสานมีคำเปรียบเปรยลูกชายที่หนีไปเที่ยวโดยไม่บอกไม่กล่าวว่า “มันหายไปยังกับหม้อนิลหนี เดี๋ยวมันก็กลับมา” ผู้เชี่ยวชาญจะแก้ปัญหาโดยแตะน้ำครามที่ลิ้น ชิมรส แล้วเติมน้ำขี้เถ้าหรือน้ำมะขามเปียกให้ได้สัดส่วน ทิ้งไว้ ๖-๘ ชั่วโมง ถ้าหม้อนิลมาแล้วก็ย้อมได้อีก

การย้อมครามจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ถ้าหยุดไปหนึ่งวันหรือเติมส่วนผสมไม่ได้สัดส่วน หม้อนิลอาจหนี ต้องแก้ไขใหม่ หากแก้ไม่ได้ต้องก่อหม้อนิลใหม่ เสียเวลาไปอีกหลายวัน แต่หากดูแลดีและย้อมผ้าอย่างสม่ำเสมอ ก่อหม้อนิลหนึ่งครั้งอาจย้อมต่อเนื่องไปได้ถึงสองสามปี

อาจารย์อนุรัตน์ สายทอง ผู้ศึกษาเรื่องสีครามธรรมชาติ สถาบันราชภัฏสกลนคร อธิบายว่า การดูแลหม้อนิลไม่ให้หนีนั้น แท้จริงคือการดูแลองค์ประกอบทางเคมีของส่วนผสม ให้มีสภาพที่ดีที่สุดในการย้อมผ้านั่นเอง ทำให้สีครามติดกับเนื้อผ้านานเท่ากับอายุของผ้า สารอินดิโกสีน้ำเงินที่อยู่ในต้นครามให้สีน้ำเงินที่ไม่ละลายน้ำ ทำให้สีไม่ตกเวลาซัก กระบวนการการย้อมครามนับว่าปลอดภัยต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม เพราะไม่มีการใช้ความร้อนในขั้นตอนใดเลย

กระบวนการที่ทั้ง”ยุ่ง” และ”ยาก” และยังต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษนี้ ทำให้ผ้าครามธรรมชาติมีราคาแพงกว่าผ้าย้อมสีสังเคราะห์หลายเท่าตัว สนนราคาตั้งแต่เมตรละ ๓๐๐ ไปจนถึง ๑,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ขึ้นกับหน้ากว้างของผ้า โทนสี และลวดลายการถักทอด้วย

“อาจจะรู้สึกว่าแพงไปหน่อย แต่ถ้าได้มาเห็นว่ากว่าจะได้ผ้าครามแต่ละผืนนั้นมันยากลำบากขนาดไหน และยิ่งได้ลองซื้อไปใช้แล้ว ก็จะรู้ว่าไม่แพงเลยนะคะ” พี่จิ๋วออกตัว

ที่บ้านของยายฑีตา แบ่งพื้นที่ด้านล่างเป็นโชว์รูมผ้าคราม ซึ่งเป็นฝีมือการทอของชาวบ้านในตำบลนาหัวบ่อ ยายฑีตาและพี่จิ๋วพยายามถ่ายทอด และเผยแพร่กรรมวิธีการย้อมครามแก่คนอื่น ๆ ในชุมชนด้วย แต่น้อยคนนักที่จะทำสีครามและย้อมได้เอง เพราะต้องใช้ความอดทนสูง พี่จิ๋วจึงใช้วิธีแบ่งฝ้ายที่ย้อมครามแล้ว ให้ชาวบ้านไปทอเป็นผืน แล้วนำมาขายรวมกันที่บ้าน

แม้ต้นครามจะปลูกได้ทั่วไปในพื้นที่เขตร้อนทั้งเอเชีย แอฟริกา อเมริกากลางและอเมริกาใต้ แต่ภูมิปัญญาในการทำสีครามและย้อมผ้าครามนั้น เป็นองค์ความรู้เฉพาะถิ่น

ทำไมต้องเก็บเกี่ยวครามตั้งแต่เช้าตรู่ที่มีน้ำค้างเท่านั้น ?

ทำไมต้องหมักใบครามในหม้อ ?

ทำไมต้องย้อมครามในเวลาเช้าและเย็นเท่านั้น ?

ทำไมวันดีคืนดีสีครามที่เคยย้อมอยู่กลับย้อมไม่ติด สีครามหายไปไหน และจะแก้ไขอย่างไร ?

คำถามเหล่านี้ คนญี่ปุ่นไม่รู้ คนยุโรปไม่ทราบ แต่คนไทยบางคนรู้และทำได้ แม้จะไม่สามารถให้คำอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้

นี่คงเป็นเหตุผลว่า ทำไมชาวต่างชาติจึงต้องดั้นด้นมาซื้อผ้าคราม ไกลถึงแดนดินถิ่นอีสาน

“ตลาดทั้งในและต่างประเทศยังต้องการผ้าครามอีกเยอะ เราจึงมีงานทำอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องอพยพย้ายครอบครัวไปไหน ที่สำคัญ ยังเป็นการฟื้นฟูความรู้ไม่ให้หายไปไหน”

นอกจากยายฑีตา จันทร์เพ็งเพ็ญ แล้ว ยังมีแม่ครูแห่งการย้อมครามอีกสองสามท่าน คือ ยายคล้าย สิทธิ ยายเภา แก้วฝ่าย แม่ครูจากอำเภอนาหว้า จ. นครพนม และยายเบียน ภูมิสุข จาก อ. เขวาสินรินทร์ จ. สุรินทร์ ผู้ซึ่งสามารถทำสีครามย้อมผ้าไหมที่ใคร ๆ ก็ว่าย้อมยากและย้อมไม่ได้ มีแต่ยายเบียนเท่านั้นที่ทำได้…น่าทึ่งจริง ๆ

อยากรู้ว่าผ้าย้อมครามสวยอย่างไร ลองมองหายามมีงานออกร้านผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือจะไปซื้อถึงถิ่นที่ศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชน อ. นาหว้า จ. นครพนม (อยู่ในวัดพระธาตุประสิทธิ์) และที่บ้านยายฑีตา ต. นาหัวบ่อ จ. สกลนคร ซึ่งเป็นแหล่งรวมผ้าครามก็ได้

ระหว่างทางอย่าลืมสังเกต คุณอาจเห็นต้นครามที่กำลังโตวันโตคืนอยู่ก็เป็นได้