คิดถึงเขาไหม
ตามหาคนในความทรงจำ เรายังคิดถึงเขาไหม
เรื่อง ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ยุครุ่งโรจน์ของ “ต๋อง ศิษย์-ฉ่อย” อยู่ในช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐
เขา “เทิร์นโปร” (turn pro) ขึ้นสู่ระดับอาชีพด้วยอายุเพียง ๑๙ ปี จากนั้นใช้เวลาเพียง ๓-๔ ปี ก็สามารถติดอันดับ ๑ ใน ๑๖ ของโลก และเมื่อถึงฤดูกาลแข่งขัน ๒๕๓๗-๒๕๓๘ ต๋องก็ขึ้นชั้นเป็นมือวางอันดับ ๓ ของโลก
ฉากการทำ “แมกซิมัมเบรก” (maximum break) ในรายการบริติชโอเพน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี ๒๕๓๕ ยังได้รับการกล่าวขวัญกันมาจนวันนี้ เมื่อเขา “ตบแดง-กินดำ-ตบแดง-กินดำ” จนลูกหมดโต๊ะในไม้เดียว และโกยแต้มสูงสุดไปถึง ๑๔๗ แต้ม
“ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” มีชื่อจริงว่า วัฒนา ภู่โอบอ้อม เติบโตมาในครอบครัวที่ประกอบกิจการโต๊ะสนุกเกอร์ มีพ่อเป็นนักสนุกเกอร์ฉายา “ฉ่อย ซู่ซ่าส์” เขาหัดแทงสนุกเกอร์ตั้งแต่หัวสูงไม่ถึงโต๊ะสักหลาด ต้องใช้ลังเครื่องดื่มมาวางต่อให้ยืนถึงเพื่อแทงลูก
หลังฉายแววโดดเด่น กวาดแชมป์ทุกรายการในประเทศ ต๋องออกเดินทางสู่อังกฤษ ฝึกปรือ ใช้ชีวิต สร้างชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็นนักสนุกเกอร์เอเชียคนแรกที่ประสบความสำเร็จในการเล่นระดับอาชีพ
ด้วยลีลาการแทงที่แม่นยำ ฉับไว ถนัดแทงแลกหมัด และชอบเล่นลูกหลุมกลาง ทำให้ชายผู้นี้ได้รับฉายาว่า “ไทย-ทอร์นาโด” หรืออีกชื่อที่ชาวต่างชาติรู้จักดีคือ “เจมส์ วัฒนา”
ความสำเร็จของต๋องในเวทีนานาชาติทำให้เกิดกระแส “ต๋องฟีเวอร์” สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๗ ต้องถ่ายทอดสดทุกนัดที่เขาลงแข่งขัน แต่เมื่อต๋องมีอายุมากขึ้น ผลงานเริ่มไม่เปรี้ยงปร้าง ข่าวคราวของฮีโร่ยอดนักสนุกเกอร์ชาวไทยจึงค่อย ๆ หายไปจากความรับรู้ แม้ในความจริงเขาไม่เคยหายไปไหน ยังคงลงแข่งสนุกเกอร์มาโดยตลอด ล่าสุดในเดือนเมษายน ๒๕๖๑ ก็เพิ่งลงแข่งรอบคัดเลือกรายการ Betfred World Snooker Championship 2018 ที่เมืองเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ โดยก่อนนั้นเดินทางไปเล่นสนุกเกอร์โชว์ในงาน Cues Sport Expo ณ เมืองกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน
“สนุกเกอร์เหมือนลูกเมียน้อย บางทีผมก็น้อยใจ พวกสร้างหนัง ทำละคร เวลามีฉากยิงกัน ขายยาบ้า ทำไมต้องมาไว้ในโต๊ะสนุกเกอร์ตลอด มันทำให้ภาพลักษณ์ของเราต่ำ ผมพูดเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปีแล้ว”
ต๋องยืนยันว่า “ผมไม่เคยเลิกเล่น ยังออกเดินทาง แต่ตอนนี้ก็ถือเป็นโค้งสุดท้าย ใกล้แล้ว ผมอายุ ๔๘ ปี อีก ๒-๓ ปี อายุ ๕๐ ก็น่าจะพอ”
ในวัยเฉียด ๕๐ ต๋องยังอยู่ในอันดับโลกลำดับที่ ๘๐ กว่า จากการลงแข่งกว่า ๑๐ รายการในรอบปีที่ผ่านมา ตัวเลขที่เขาออกตัวว่าเป็นการลงแข่ง “เท่าที่ลงได้”
ต๋องขยายความต่อไปว่า “ความหิวกระหายของเรามันไม่เหมือนเมื่อก่อน พวกมือทอป ๆ เขาก็เลือกลงเหมือนกัน การลงทุกวันมันไม่ได้ช่วยให้เราแทงดีนะ เหมือนคุณกินข้าวจำเจ ๆ ทุกวัน ยังไม่หิวเลยก็ต้องกินอีกแล้ว มันมีเบื่อ ต้องลงบ้างไม่ลงบ้าง”
เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินสายแข่งขัน รายการเล็ก ๆ ที่ประเมินแล้วว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับรายการสำคัญ ๆ เจ้าของฉายา “ไทยทอร์นาโด” จำเป็นต้องเลือกอย่างหลัง
ตลอดเวลากว่า ๓๐ ปีในวงการสนุกเกอร์ อดีตมือ ๓ ของโลกเป็นนักสอยคิวที่มีสปอนเซอร์ให้การสนับสนุนไม่ขาด ตั้งแต่กาแฟ ธนาคาร น้ำดื่ม ฯลฯ
ต๋องให้ความเห็นต่อแง่มุมนี้ว่า “นักสนุกเกอร์ไม่เหมือนนักฟุตบอลหรือนักกอล์ฟ นักฟุตบอลดัง ๆ บางคนอาจจะได้เงินเดือนละ ๑ ล้าน หรือ ๕ แสนบาท สปอนเซอร์แยกต่างหาก แต่นักสนุกเกอร์อย่างเราจะขอปีละ ๒ ล้าน หรือ ๑ ล้าน ๕ แสนยังเหนื่อยเลย ทั้งที่นี่เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียแน่ ๆ ในการฝึกซ้อมและเดินทาง การที่นักสนุกเกอร์เลือกลงบ้างไม่ลงบ้างส่วนหนึ่งก็เพราะทุนทรัพย์”
นักสอยคิวที่ผ่านเวทีแข่งขันมาครึ่งค่อนชีวิตวิเคราะห์ต่อไปอีก
“ข้อเสียของสนุกเกอร์คือไม่รู้ว่าจะต้องเล่นกี่เฟรม สมมุติแข่งทั้งหมด ๙ เฟรม คุณไม่รู้หรอกว่าจะชนะ ๕-๔ หรือ ๕-๐ จะได้ถ่ายทอดสดนานแค่ไหน ไม่เหมือนฟุตบอล แพ้ชนะก็เตะกัน ๙๐ นาที สปอนเซอร์อยากให้คุณเล่นทุกเฟรม จะได้โฆษณาเต็ม ๆ แล้วสุดท้ายต้องเบียดชนะด้วย”
ไม่ว่าจะเรียกเขาว่าอะไร “ไทย-ทอร์นาโด” หรือ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” ชายคนนี้คือผู้สร้างสีสัน สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ และเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ให้แก่วงการสนุกเกอร์ แต่ถึงวันนี้ ภาพจำว่าสนุกเกอร์เป็นกีฬาของคนชอบเล่นการพนัน และโต๊ะสนุกเกอร์เป็นแหล่งมั่วสุม ดูจะยังไม่จางหาย
ต๋องให้สัมภาษณ์อย่างไม่ค่อยสบอารมณ์ว่า
“สนุกเกอร์เหมือนลูกเมียน้อย บางทีผมก็น้อยใจ พวกสร้างหนัง ทำละคร เวลามีฉากยิงกัน ขายยาบ้า ทำไมต้องมาไว้ในโต๊ะสนุกเกอร์ตลอด มันทำให้ภาพลักษณ์ของเราต่ำ ผมพูดเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปีแล้ว”
พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๘ ยอมรับให้มีการจัดการแข่งขันกีฬาสนุกเกอร์ แต่ขณะเดียวกัน พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. ๒๔๗๘ ที่มีอายุยาวนานถึงกว่า ๘๐ ปี กลับกำหนดให้สนุกเกอร์อยู่ในบัญชีการพนัน ร้านสนุกเกอร์ โต๊ะ คลับ ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ไม่สามารถเข้าเล่นหรือฝึกซ้อมได้อย่างเปิดเผย
“สมาคมฯ ทำงานหนัก แต่เรายังขาดนักกีฬารุ่นต่อไป ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ไทยไม่เหมือนจีนที่เด็กอายุ ๑๔-๑๕ คว้าแชมป์โลกกันแล้ว เพราะจีนให้เด็กหัดเล่นตั้งแต่ ๔-๕ ขวบ ส่วนเมืองไทยอายุต่ำกว่า ๑๘ ยังห้ามเข้า แล้วคุณจะไปหา ‘ต๋อง ๒’ ‘ต๋อง ๓’ จากที่ไหน”
ความพยายามผลักดันให้มีการถอดชื่อสนุกเกอร์ รวมทั้งบิลเลียด ออกจากบัญชีการพนัน ดำเนินมาหลายปี แต่ดูท่ายังไม่ประสบความสำเร็จง่าย ๆ
ราชาสนุกเกอร์ไทยตั้งข้อสังเกตว่า
ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ค.ศ. ๒๐๒๐ หรืออีก ๒ ปีข้างหน้า มีโอกาสไม่น้อยที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจะยอมรับให้บรรจุสนุกเกอร์เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติเป็นครั้งแรก
หากเวลานั้นมาถึง สถานะของสนุกเกอร์ไทยจะอยู่ตรงไหน
การเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ฝึกซ้อมสนุกเกอร์จะเกิดขึ้นหรือไม่ ?
เป็นคำถามจากคนรักกีฬาสนุกเกอร์ด้วยหัวใจ และฝันอยากให้มี “ต๋อง ๒”
สถานที่ : World Class Snooker Club By James Wattana