สารคดีท่องเที่ยวเชิง unique ชวนแบกเป้ไปเปิดมุมมองนอกขวานไทย ติดตามคอลัมน์ Passport ทุกวันศุกร์-สุขหรรษา
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : สุชาดา ลิมป์ และธีรภาพ โลหิตกุล
อยากให้ลองเรียนรู้ร่องรอยสงครามในมุมที่ไม่ใช่ซากความทรงจำอันโหดร้าย
เวลานี้ที่ตำบลตระเปรียงไปร อำเภออัลลองเวง จังหวัดอุดรมีชัย ทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชามีสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่เกิดขึ้นแถวชายแดนช่องจร็อกเจือม
ทั้ง “บ้านพักของนายพลตา ม็อก” และ “สถานที่เผาศพของนายพล พต” สองอดีตผู้นำเขมรแดงผู้สร้างตำนานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมรกว่า ๑.๗ ล้านคน ซึ่งถือว่าโหดเหี้ยมที่สุดในศตวรรษที่ ๒๐
สถานที่หลังน่าสนใจ ทั้งในแง่แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และสัจธรรมชีวิต
ปี ๒๕๔๑ ก่อนฉลองครบรอบ ๒๓ ปี การยึดครองพนมเปญของเขมรแดง สถานีวิทยุเสียงแห่งอเมริกาออกอากาศว่าเขมรแดงตกลงใจจะส่งตัวพล พต ให้ศาลนานาชาติ แต่แล้วภรรยาของเขาก็ให้การว่าพล พต ในวัย ๗๒ ปี เสียชีวิตแล้วอย่างสงบบนเตียงนอนด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ขณะถูกคุมขังในบ้านโดยกลุ่มของตา ม็อก แม้รัฐบาลจะกังขาเกี่ยวกับร่างและการตายของเขาโดยมีข้อสงสัยว่าฆ่าตัวตายหรือถูกวางยาพิษ และมีหลายฝ่ายพยายามจะเข้าไปตรวจสอบศพ แต่ในอีก ๒ วันต่อมาร่างนั้นก็ถูกเผาในพื้นที่เขตของเขมรแดง
“ศพของเขารักษาไว้หลายวันโดยใช้น้ำแข็งก้อนใหญ่วางทับตามตัวเพื่อรอให้ผู้สื่อข่าว Far Eastern Economic Review ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่เขมรแดงวางใจที่สุดมาบันทึกภาพเป็นหลักฐานการเสียชีวิตจริง ส่วนในวันเผาศพจริงมีเพียงผู้หญิงสองคนร่วมพิธีอาลัย คือภรรยาคนสุดท้ายและลูกสาวที่ยังเล็กอยู่ ทั้งสองหยิบดอกเฟื่องฟ้าวางลงยังที่เผาศพ”
ธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ด้านสารคดี เล่าถึงพิธีศพอันเรียบง่ายอย่างที่สุดราวกับไม่ใช่ร่างไร้ลมหายใจของอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองนาน ๓ ปี ๘ เดือน ๒๑ วัน
“ในวันที่เผามีเพียงยางรถยนต์เป็นเชิงตะกอน มีตู้-เตียงนอนเป็นเชื้อเพลิง”
ยากจะนึกภาพออกว่าชีวิตในช่วงสุดท้ายของอดีตผู้บัญชาการเขมรแดงในพื้นที่ติดด่านผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชา ช่องสะงำ ที่ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ สมัยนั้นจะอัตคัดความเป็นอยู่ ฝืดเคืองข้าวปลากันดารน้ำท่าอย่างไร แต่ที่เห็นสภาพโดยรอบของสถานที่เผาศพ-สุสานเมื่อพฤษภาคม ๒๕๖๑ ก็ยังแทบไม่ต่างจากความเป็นอยู่ของชาวกัมพูชาชนชั้นกรรมาชีพ
รัฐบาลกัมพูชาในยุคนี้รู้ แม้ประวัติศาสตร์บาดแผลจะไม่น่าจดจำ แต่ตำนานของอดีตผู้นำเขมรแดงก็ยังเป็นที่สนใจของชาวโลก สิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องย่อมดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้ กระทรวงการท่องเที่ยวของรัฐบาลกัมพูชาจึงประชาสัมพันธ์ให้บริเวณนี้เป็นสถานระลึกถึงเหตุการณ์-ของดีชายแดน
“บ้านของเขาก็อยู่ติดกับที่เผาศพเขานี่ล่ะ”
หญิงชาวกัมพูชาวัยกลางคน ผู้ดูแลอนุสรณ์สถานแห่งใหม่ของรัฐบาลให้ข้อมูลตีขลุม
“ฉันได้มาดูแลสถานที่นี้เพราะสมัยก่อนคนในครอบครัวฉันเคยทำงานบ้านให้เขา ฉันเองก็เคยเห็นเขาตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่ได้อยู่ด้วยตอนที่เขาตาย”
เธอเล่าให้ธีรภาพ-ครูเขียนและถ่ายภาพสารคดีแนวหน้าของไทยฟังว่า ทุกวันนี้ “เมีย ซน” ภรรยาคนสุดท้ายของพล พต ยังมีชีวิตอยู่ แต่แต่งงานใหม่แล้วกับชาวเวียดนามจึงย้ายไปอยู่กับสามี
“ส่วนลูกสาวของเขา ก่อนหน้านี้เคยอยู่บ้านที่เมืองไปเลิน แต่เวลานี้ได้สามีเป็นชาวต่างชาติจึงย้ายไปอยู่ต่างประเทศแล้ว”
หญิงผู้ดูแลหมายถึง “ซอ พัดชาตา” ในวัยสามสิบกว่าปี ผู้เคยหยิบดอกเฟื่องฟ้าร่วมกับแม่วางลงยังที่เผาศพพ่อ หลังเหตุการณ์เธอย้ายไปอยู่จังหวัดไพลิน (ไปเลิน) ซึ่งในอดีตนอกจากอำเภออัลลองเวง จังหวัดอุดรมีชัย ทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา ก็มีเมืองไพลินทางทิศตะวันตกของประเทศกัมพูชาเป็นอีกฐานที่มั่นอันเข้มแข็งของกองกำลังเขมรแดง ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศไทยที่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี
วันนี้ ไม่ปรากฏกระท่อมขนาดสองห้องนอนที่เคยคุมขังพล พต และครอบครัว สถานที่เคยเผาศพเป็นเพียงเนินดินเตี้ยๆ ที่ดูพิเศษกว่าหลุมศพชาวบ้านทั่วไปคือมีหลังคาสังกะสีอาบคราบสนิมพอป้องฝนได้บ้าง และล้อมรั้วไว้ในลักษณะคอกกั้นที่มีเพียงเสาปูนปักดินเตี้ย-ขึงลวดให้พอรู้ว่าเป็นขอบเขตของความสงบ
ทางเข้าสุสานมีป้ายขนาดเล็กเขียนบอกทางปักพื้นอยู่ แต่หากไม่สังเกตก็อาจขับรถผ่านไป
ขณะรถตู้กำลังเคลื่อนออกจากเขตแดนเพื่อนบ้าน นึกขอบคุณธีรภาพ-พี่ชายผู้ชวนร่วมทาง
ที่นี่ไม่ได้ให้ความรู้สึกเศร้าสะเทือนอย่าง “ทุ่งสังหาร” สถานรำลึกอันลือลั่นของชาวกัมพูชา
แต่ยังน่ามาเยือนเพื่อเรียนรู้สัจธรรมความเดียวดาย…ในโลกสงครามไม่เคยมีผู้ชนะตัวจริง