วรรคทอง หมัดฮุคในงานเขียน

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


อาจไม่ถึงกับต้องจงใจนั่งปั่นสรรคำ แต่การคิดอย่างลึกซึ้ง ตกผลึกทางความคิดให้ได้ ผ่านใจออกมาเป็นถ้อยคำ นั่นล่ะเรียกได้ว่าเป็นวรรคทองในเรื่องได้

เป็นบางบรรทัด บางประโยค ที่จะเสริมน้ำหนักให้ตัวเรื่อง เป็นหมัดฮุคเน้นๆ ที่เข้าตากรรมการ เป็นวรรคเด่นที่คอยสะกิดคนอ่านไม่ให้ผ่านเลยไปอย่างราบเรียบ แต่ตัองหยุดอ่านซ้ำ และจะได้ติดใจเมื่ออ่านจบ

วรรคทองอาจไม่จำเป็นต้องมาจากผู้เขียนเท่านั้น อาจมาจากคำพูดที่ลึกซึ้ง คมคายของแหล่งข้อมูลที่ผู้เขียนจับใจความมาได้. หรือคัดมาจากแหล่งอ้างอิงก็ได้เหมือนกัน

ลองดูตัวอย่างวรรคทองของนักเขียนใหม่บางคน จากค่ายสารคดี รุ่นที่ 14

นักเขียน  : น.ส.เกษมะณี วรรณพัฒน์
ช่างภาพ : นาย จิรเมธ ศรีพรรณ

“สามีของอาเลื่องลือในหมู่ผู้ที่รู้จักว่า มีความฉกาจฉกรรจ์ด้านการหาของป่า สหายแกต่างขาน “พรานสมชื่อ”

พราน หรือสมพาน แวงวรรณ ไม่เคยเดินเข้าป่าแล้วกลับออกมามือเปล่า เสมือนแกรู้แหล่งอู่ข้าวอู่น้ำทางธรรมชาติ แต่เชื่อเถิด บางศึกแม่ทัพใหญ่ก็ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้หากปราศจากสหายร่วมรบ”

“บ้านนอกเมนู ตู้กับข้าวชุมชน”
เกษมะณี วรรณพัฒน์

นักเขียน : น.ส.นันทิศา แดงนรรักษ์รัศมี
ช่างภาพ : น.ส.แพรว ศิริอุดมเศรษฐ

“พริบตาเดียวตอนไหนไม่รู้ มารู้อีกทีตัวฉันก็เสียหลักพุ่งถลาออกด้านข้างไปแล้ว สาบานได้ว่าไม่รู้สึกตัวเลย ตอนที่โดนจับเหวี่ยง ไม่มีการใช้แรงกระตุกแขนใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่เหมือนกับที่เราเคยเจอทั่วไป เป็นแบบนี้อยู่สามสี่รอบ แถมคนที่เท้าขยับตลอดเวลาดันกลายเป็นฉันฝ่ายเดียว”

ไทเก็ก : ไม่ใช่แค่แอโรบิกคนแก่
นันทิศา แดงนรรักษ์รัศมี

นักเขียน : น.ส.กรกมล ศรีวัฒน์
ช่างภาพ : น.ส.ทิพย์มณี ตราชู

“อาหารอวกาศที่พัฒนาให้เราได้ลิ้มชิมรสแล้วได้แก่ ต้มยำกุ้ง อาหารขึ้นชื่อที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของอาหารไทย จากเครื่องต้มยำที่ล้นอยู่เต็มถ้วยสู่อาหารอวกาศในถุงพร้อมหมุนฝาดูด กรรมวิธีผลิตที่ทุ่มเททั้งวัตถุดิบที่ถูกคัดสรรอย่างพิถีพิถันในเรื่องความสะอาด และในเรื่องคุณภาพ กุ้งปั่นเป็นผง ผสมในเครื่องต้มยำเข้มข้นที่ปั่นละเอียด น้ำแกงเนียนข้นเหมือนน้ำซุปสัมผัสกลิ่นหอมของน้ำพริกเผา รสชาติเข้มข้นเผ็ด หวาน และเปรี้ยวเล็กน้อย”

Thai food to space ภารกิจอาหารไทยไปอวกาศ
กรกมล ศรีวัฒน์

นักเขียน : น.ส.กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม
ช่างภาพ : นายณภัทร เวชชศาสตร์

“ภาพที่ฉันประทับใจที่สุดคือ ภาพวาดปลากระโทงข้างผนัง ที่ในท้องมีทั้งปลาตัวเล็กใหญ่ ปะการัง สาหร่าย ราวกับว่าปลาตัวนั้นไม่ได้กินเพียงแค่ปลาหรือสัตว์ต่าง ๆ เข้าไปเท่านั้น แต่กินระบบนิเวศทะเลทั้งระบบเข้าไปด้วย ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วถ้ามนุษย์เรากินปลาเข้าไป เราจะกินระบบนิเวศชีวิตหนึ่งของปลาชนิดนั้นเข้าไปด้วยรึเปล่านะ”

ปะนาเระ: อนุรักษ์กินได้
กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม

นักเขียน : น.ส.ชนฐิตา ไกรศรีกุล
ช่างภาพ : น.ส.อุษา แก้วธิวัง

“ไร่กล้วยหอมพันธุ์คาเวนดิชทอดยาว กินเนื้อที่บนแนวเขาจังหวัดเชียงรายกว้างเกือบสามพันไร่ มองเห็นจากมุมสูงเป็นแพใบตองสีเขียวชูไสวสุดลูกหูลูกตา
‘อย่าเข้ามาหนา นี่ยาฆ่าแมลงหนาง’ เสียงที่ร้องเตือนเป็นของแรงงานที่พูดภาษาไทยกลางไม่ใคร่ชัดนัก แต่ก็ทำให้หัวหน้าคนงานและล่ามที่ยืนอยู่แถวนั้นแผ่นแผล็วไปยืนดูอยู่ห่างๆ ทันที”

ล้งกล้วยหอมจีน : อร่อยเคลือบพิษ คนไทยไม่ได้กิน คนจีนไม่ได้ปลูก
ชนฐิตา ไกรศรีกุล

นักเขียน : นายชยานนท์ ไชยศรีษะเกตุ
ช่างภาพ : นายทิวัตถ์ อำนวยปรีชากุล

“คนทั่วไปมีแรงจูงใจในการเรื่องสรรอาหารมาถวายพระสงฆ์ตอนบิณฑบาตกันอย่างไร ฉันสงสัย

ความสงสัยของฉันเป็นคำถามที่โพสผ่านสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก เพื่อนของฉันต่างมาแสดงความคิดเห็น ทำให้เห็นถึงมุมมองของการเลือกอาหารใส่บาตรของคนรุ่นใหม่ คำตอบที่ได้รับล้วนไปในทิศทางเดียวกัน “เลือกในสิ่งที่เราอยากกินในอนาคต” และ “เลือกในสิ่งที่เราชอบ” สิ่งที่ฉันค้นพบจากคำตอบของเพื่อนอีกอย่างก็คือ ไม่มีใครคำนึงถึงเรื่องสุขภาพของคนทาน”

อาหารจากความศรัทธา: บิณบาต ฉันเพล และสุขภาวะของพระสงฆ์
ชยานนท์ ไชยศรีษะเกตุ

นักเขียน : นายเกียรติก้อง เทียมธรรม
ช่างภาพ : นายสืบสาย สำเริง

“วาณิชกล่าวว่า คนส่วนใหญ่ว่าคิดถึงอาหารสุขภาพ จะคิดถึงประเภทผักผลไม้ แต่เข้าอยากบอกกับใครๆว่ายังมีเนื้อหมูที่ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ ที่เขาทำทุกวันนี้เพราะอยากให้คนรุ่นใหม่ได้รู้ว่า ยังมีการเลี้ยงหมูโดยที่ไม่ต้องพึงสารเคมี สามารถอยู่กับธรรมชาติได้”

คนเลี้ยงหมู : จากหมูสารพิษสู่ตลาดสีเขียว
เกียรติก้อง เทียมธรรม

นักเขียน : น.ส.ศิริลักษณ์ แสดงผล
ช่างภาพ : นายชวกร ตั้งสินมั่นคง

“สำหรับชาวปกาเกอะญอ ระบบไร่หมุนเวียนเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงร่างกายเเละจิตวิญญาณให้ดำรงอยู่ปกติสุข ไร่คือเเหล่งอาหาร คือห้องยาธรรมชาติ คือห้องเรียนทางจิตวิญญาณที่บ่มเพาะภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าที่ถ่ายทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ไร่หมุนเวียนไม่เพียงขับเคลื่อนชีวิตกหรือสืบต่อลมหายใจ หากยังมอบความร่มเย็นให้เเก่คน สัตว์ รวมทั้งโลกใบนี้”

วัตถุดิบไร่หมุนเวียน : จากครัวธรรมชาติสู่การสื่อสารผ่านอาหาร
ศิริลักษณ์ แสดงผล

วรรคทองไม่ใช่ข้อบังคับ งานเขียนชิ้นหนึ่งจะไม่มีก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าลองทำให้มีได้ก็จะเห็นความแตกต่าง ในด้านอรรถรสในการอ่าน และความน่าประทับใจในงานชิ้นนั้น‬


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา