เก็บตก
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
นกแสกมักอยู่เป็นคู่ หรือครอบครัว ไม่ชอบรวมฝูงใหญ่ ชอบอาศัยตามวัด โบสถ์ หรือสิ่งก่อสร้างที่ไม่มีคนรบกวน
เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๑ เว็บไซด์ชื่อดังหลายแห่งรายงานข่าวอุบัติเหตุเสียชีวิตที่จังหวัดชัยนาท หนึ่งในนั้นพาดหัวข่าวว่า
“นกแสกร้องทัก-บินวนหลังคาบ้าน หนุ่มใจไม่ดีห่วงแม่ สุดท้ายน้องชายดับคาคันนา” ไม่นานก็มียอดคนกดอ่านเกือบ ๑ แสนคน เฉพาะยอดแชร์มากกว่า ๒ หมื่นครั้ง
เนื้อหาของข่าวที่มีความยาว ๔ ย่อหน้า ๒๐ บรรทัด ระบุว่าผู้ตายเป็นชายวัย ๓๙ ปี มีโรคประจำตัวคือลมชักซึ่งเป็นมานานมากกว่าสิบปี ถึงแม้จะช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ไม่สามารถประกอบอาชีพ เพราะมักมีอาการชัก ยิ่งช่วงไหนดื่มเหล้าก็ยิ่งชักบ่อยครั้งขึ้น
เมื่อเจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพไม่พบร่องรอยการต่อสู้หรือถูกทำร้าย อีกทั้งญาติเองก็ไม่ได้ติดใจสาเหตุการตาย คิดว่าผู้ตายน่าจะเดินมาตามทางเข้าหมู่บ้านที่อยู่ติดกับร่องน้ำริมคันนา แล้วเกิดอาการชักจนหมดสติ พลัดตกลงไปในร่องน้ำจนเสียชีวิต จึงเตรียมนำศพมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในเนื้อข่าวระบุคำให้สัมภาษณ์ของพี่ชายผู้ตายว่า หลายวันที่ผ่านมาได้ยินเสียงนกแสกร้องและบินวนบนหลังคาบ้าน ทีแรกรู้สึกกังวลใจ เป็นห่วงแม่ที่อายุมากและสุขภาพไม่ค่อยดี แต่กลับกลายเป็นน้องชายที่เสียชีวิต อันนำมาซึ่งการเขียนพาดหัวข่าวข้างต้น ตอกย้ำว่ามีนกแสกร้องทักก่อนที่จะมีคนตาย
ความเชื่อว่านกแสกเป็น “นกผี” หรือ “สัญลักษณ์แห่งความตาย” ถ้าบินวนและร้องเสียงดังที่บ้านหลังไหน ก็มักจะมีคนตายนั้นมีมานานแล้ว แม้ว่าจะไม่มีเหตุผลยืนยันเลยในทางวิทยาศาสตร์
ความเชื่อเกี่ยวกับนกแสกแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ขณะที่คนไทยเชื่อว่านกแสกเป็นนกอัปมงคล คนอินเดียกลับเชื่อว่านกขนาดกลางชนิดนี้เป็นนกของพระลักษมีผู้เป็นเทวีแห่งโภคทรัพย์และความเจริญงอกงามทางการเกษตร ชาวฮินดูในแคว้นเบงกอลเชื่อว่าถ้านกแสกมาทำรังที่บ้านใคร จะนำโชคดีมาให้ เจ้าของบ้านจะได้รับทรัพย์สินเงินทอง
อันเป็นความเชื่อที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับคนไทย
….
นกแสก (Barn owl) เป็นนกล่าเหยื่อที่หากินในเวลากลางคืน จัดอยู่ในอันดับ Strigiformes วงศ์ Tytonidae ซึ่งเป็นวงศ์ของนกเค้า มีลักษณะเด่นคือใบหน้ารูปหัวใจสีขาว มองดูคล้ายหน้าลิง บางประเทศจึงเรียกว่า นกเค้าหน้าลิง (monkey faced owl)
ความเชื่อว่านกแสกเป็นนกผี น่าจะมีที่มาจากสาเหตุบางประการ อาทิ พฤติกรรมของนกแสกที่เมื่อออกจากโพรงรังแล้วมักจะส่งเสียงร้องหวีดแหลม ๒-๓ ครั้ง ก่อนบินไปเกาะตามมุมมืดของหลังคาโบสถ์ ยอดเมรุ หรือต้นไม้ใหญ่ ก่อนที่จะบินต่อไปล่าเหยื่อ ดวงตาสีดำของนกแสกเมื่อต้องแสงไฟยามกลางคืนยังเห็นเป็นสีแดงดูลึกลับ
ทั้งที่จริงแล้วนกแสกก็เป็นเพียงนกชนิดหนึ่ง ไม่ได้มีพิษมีภัย ตรงกันข้ามยังช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศด้วยการจับหนูกินเป็นอาหาร
ฤดูผสมพันธุ์และวางไข่ของนกแสกส่วนมากอยู่ระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน แต่หากบริเวณที่อยู่อาศัยมีอาหารมากพอก็อาจวางไข่ได้ตลอดปี
เมื่อนกแสกจับคู่กันแล้ว การเกี้ยวพาราสีจะเกิดขึ้นบริเวณที่มีแสงสว่างไม่มากนัก โดยนกสองตัวจะเกาะอยู่บนกิ่งไม้ หรือตามขื่อบนเพดาน ส่งเสียงครางสลับกับใช้จะงอยปากกระทบกันดังแก๊กๆ แล้วค่อยๆ ขยับเข้ามาชิดกัน จากนั้นจึงมีการเอาข้างแก้มถูกกันไปมา ตัวผู้ที่มีขนาดเล็กกว่าจะยืดหัวและคอขึ้นด้านบนพร้อมกับพองขน นกตัวเมียจะโยนตัวแกว่งไปมา ในขั้นสุดท้ายนกตัวผู้จะเริ่มผสมพันธุ์ด้วยการใช้ปากจิกขนคอของตัวเมียก่อนขึ้นทับ เมื่อผสมพันธุ์แล้วตัวเมียจะวางไข่และกกไข่ โดยมีตัวผู้เป็นฝ่ายหาอาหาร
ไข่ของนกแสกมีสีขาว ยาวประมาณ ๔ เซนติเมตร ปรกติวางไข่ครั้งละ ๕-๗ ฟอง เฉลี่ยใช้เวลาฟักประมาณ ๓๒-๓๔ วัน ไข่แต่ละฟองฟักไม่พร้อมกัน ขณะที่ตัวที่ฟักออกมาก่อนมีขนสีขาวอุยขึ้นแล้วแต่ตัวที่ฟักออกมาทีหลังยังเป็นตัวแดงๆ อีก ๑ เดือนต่อมาขนจึงเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง เริ่มมีรูปร่างคล้ายพ่อแม่นก โดยเฉพาะปรากฏวงหน้ารูปหัวใจ หลังจากใช้ชีวิตเติบโตอยู่ในรังประมาณ ๖๐ วัน จึงบินออกจากรังไปหาแหล่งอาหารและที่อยู่ใหม่
นกแสกเป็นนกประเภทเดียวกับนกฮูก นกเค้า ที่มีนิสัยกลืนกินเหยื่อที่จับได้ทั้งตัว ถ้าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ ก็จะฉีกออกเป็นชิ้นแล้วกลืนกินโดยไม่แยกกระดูกหรือขนออกมา แตกต่างจากนกเหยี่ยวหรือนกอินทรีที่จะฉีกเหยื่อกินเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อ ส่วนต่างๆ ของเหยื่อที่เป็นกระดูกหรือขนที่ไม่ได้ถูกส่งผ่านไปตามท่อของระบบย่อยอาหาร ที่จะขับถ่ายเป็นมูลออกมา จะถูกรวมเป็นก้อนเก็บไว้ภายในกระเพาะ รอเวลาสำรอกออกมาทางปาก ตามโพรงหรือหลังคาโบสถ์ที่นกแสกเข้าไปอาศัยจึงมีเศษซากของเหยื่อให้เห็นเกลื่อนบริเวณ เมื่อพบเห็นก็ทราบได้ทันทีว่ามีนกประเภทนี้อาศัยอยู่และรู้ว่านกกินอะไรเป็นอาหาร
ตามปรกติแล้วนกแสกจะอยู่กันเป็นคู่ หรือครอบครัว ไม่ชอบรวมฝูงใหญ่ๆ ชอบอาศัยอยู่ตามวัด หรือสิ่งก่อสร้างที่ไม่มีคนรบกวน
ทุกวันนี้จำนวนประชากรนกแสกลดลงจากสาเหตุสำคัญคือถูกล่าหรือขับไล่ออกจากโพรงที่อยู่อาศัย เพราะคนกลัวว่านกแสกเป็นนกผีที่จะนำสิ่งชั่วร้ายมาให้ เป็นลางบอกเหตุความตาย ที่พักพิงของนกแสกจึงเหลือเพียงซอกหรือโพรงใต้หลังคาโบสถ์ในวัดเก่าๆ หรือวัดเล็กๆ ตามต่างจังหวัด หากเป็นวัดใหญ่หรือวัดที่มีชื่อเสียงจะไม่ค่อยพบนกแสก เนื่องจากถูกกล่าวโทษว่าเป็นตัวการสร้างความปกสรก ขณะที่โรงนาเก่าๆ บ้านร้าง ต้นไม้ใหญ่ที่มีโพรงพอจะเป็นที่ทำรังก็มีจำนวนลดลง
นอกจากนี้สาเหตุสำคัญอีกประการที่มีผลต่อความอยู่รอดและจำนวนนกแสกคือการใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อกำจัดศัตรูพืช
สาเหตุข้อนี้เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของนกแสกอย่างไร ?
ลูกนกแสกเกิดใหม่ยังมีขนอุยสีขาวขึ้นตามตัวกินหนูบริเวณโพรงอาศัย
เกี่ยวข้องอย่างแน่นอนเพราะเพราะนกแสกเป็นผู้ควบคุมประชากรหนูที่สำคัญในระบบนิเวศ ในคืนหนึ่งๆ นกแสกสามารถจับหนูได้เป็นจำนวนมาก เคยมีงานวิจัยว่าในช่วงเวลาแค่ ๒๐ นาที นกแสกสามารถจับหนูได้ถึง ๑๘ ตัว แต่ตามปรกติแล้วจะกินหนูวันละ ๒ ตัว ประมาณ ๗๐๐ ตัวต่อปี วิธีจับหนูของนกแสกคือบินรอนอยู่สูงจากพื้นดินราว ๔-๖ เมตร เมื่อพบเหยื่อจะทิ้งตัวเข้าจับเหยื่อด้วยกรงเล็บที่แหลมคม บางครั้งอาจบินลงมาดักหน้าหนูที่กำลังวิ่งให้เข้ามาซุกอยู่ที่ปีก แล้วใช้จะงอยปากงับเหยื่อไว้
เมื่อมนุษย์ใช้สารเคมีแพร่หลาย สารเคมีจะเข้าไปสะสมในสัตว์กินพืชเช่นหนู เมื่อนกแสกกินหนูก็รับสารเคมีจากหนูเข้าไปสะสมในร่างกาย ถ้าสะสมถึงระดับอันตราย นอกจากตายแล้วยังมีผลต่อการสืบพันธุ์ของนกแสก ทำให้เปลือกไข่บาง เมื่อแม่นกหย่อนตัวลงฟักก็ทำให้ไข่แตก บางครั้งทำให้เป็นหมัน ไข่ไม่ฟักออกเป็นตัว
นกแสกมีพฤติกรรมการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอดเช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่น เมื่อข้าวในนาออกรวง ถ้ามีนกแสกชาวนาก็ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะมีนักล่าตัวฉกาจอย่างนกแสกคอยตามจับหนูนา
ลำพังการใช้ยาฆ่าแมลง ยาเบื่อหนู ก็ทำให้สัตว์ปีกผู้อาภัพถูกทำร้ายมากพอแล้ว
อย่าปล่อยให้ความเชื่อแบบผิดๆ ว่านกแสกเป็นนกผีทำให้ประชากรนกแสกน้อยลงกว่านี้เลย