อำลาค่ายสารคดี #๑๔
วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
ภาพโดย ณัฐพล สุวรรณภักดี
สิ่งที่จะพูดใน ๑๐ นาทีนี้ ใช้เวลาเขียน ๔ เดือน เริ่มตั้งแต่วันแรกที่เปิดค่ายสารคดี รุ่นที่ ๑๔ จนถึงเช้านี้ เพื่อจะรวบยอดเป็นบทสรุปว่าเราได้อะไร และได้สร้างสิ่งใดร่วมกันไว้บ้าง
อย่างที่แนะนำตัวกันตั้งแต่วันแรก “ค่ายสารคดี” เป็น “ห้องเรียน” จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมี “ตำรา” และ “ครู”
แม้ว่าบางทีทั้งสองสิ่งนี้หาได้จำเป็นต่อการเป็น “นักเขียน” และ “ช่างภาพ” แต่ค่ายก็เตรียมไว้ให้เธอ-นักสารคดีมือใหม่ผู้มาใหม่ ด้านหนึ่งเพื่อช่วยย่นย่อระยะทางในการลองผิดลองถูกกับสิ่งที่แน่นอนตายตัวอยู่ หรือเป็นส่วนช่วยให้เธอเติบโตได้เร็วขึ้น ซึ่งเมื่อถึงตรงนั้น เธอโยนตำราทิ้งได้โดยไม่ถือว่าอกตัญญูแต่อย่างใด!
ครู
เคยมีผู้ให้นิยามไว้ ๔ แบบ
บอก อธิบาย เป็นแบบอย่าง บันดาลใจ
ครูที่ดีบอกให้ทำ ดีกว่านั้นอธิบายให้เข้าใจ ดีขึ้นไปอีกคือสอนไปพร้อมกับทำให้เห็นเป็นแบบอย่างด้วย และดีที่สุดคือ ให้แรงบันดาลใจ
นี่คือครู ๔ แบบในอุดมคติ ในห้องเรียนจริงแห่งนี้ ครูเป็นได้แค่ไหน นักเรียนเป็นผู้ให้คะแนน
ส่วนนักเรียนนั้น ไม่ว่าเธอจะมาค่ายด้วยความตั้งใจ เข้าใจผิด อยากมาใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอม มาหาเพื่อน มาค้นหาตัวเอง หรือล่าค่ายเพื่อเพิ่มหน้าพอร์ทโฟลิโอ (Portfolio ) ให้ตัวเองก็ตาม ครูก็สอนเต็มที่อย่างเต็มใจ ในการอ่านงานเพื่อตรวจงาน ครูทุกคนอ่านงานเขียนทุกชิ้นอย่างละเอียดใส่ใจ กระทั่งเชื่อว่าบางกรณีครูอ่านอย่างตั้งใจกว่าที่ผู้เขียนทำมาเสียอีก
ครูเพิ่งรู้ในค่ายครั้งนี้ว่า ยุคนี้นักเขียนสามารถพูดให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยเขียนแทนได้แล้ว ต่างจากยุคของครูที่เราต้องร่าง คัด ขัดเกลา ซ้ำแล้วซ้ำอีกกว่าจะส่งสู่สายตาผู้อ่านคนแรก
การขัดเกลาอาจไม่ใช่ตัวชี้ขาดคุณภาพผลงาน แต่มีผลอย่างสำคัญในส่วนที่เป็นรายละเอียด ความประณีตเรียบร้อยในชิ้นงาน อันหมายถึงการเคารพให้เกียรติต่อบรรณาธิการและต่อผู้อ่าน
สิ่งนี้เป็นความสง่างามที่น่าภาคภูมิข้อหนึ่งของการเป็นนักเขียน
ความทุ่มเทตั้งใจของผู้สร้างค่ายไล่เรียงมาตั้งแต่การวางกระบวนการ ประชุม ถกเถียง ออกแบบหลักสูตร สำรวจพื้นที่ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ซักซ้อมวางแผนกันเปรียบปานว่าจะส่งประกวดค่ายชิงถ้วยรางวัล
ความจริงเราเพียงแค่อยากให้ค่ายสารคดีออกมาสมบูรณ์ที่สุด คนมาค่ายได้อะไรมากที่สุด
เป็นเวลา ๔ เดือนที่สำคัญ ในช่วง ๒๐ ปีแรกของชีวิตเธอ
ปรารถนาดีแต่ก็อาจมีแง่มุมที่ร้ายด้วย
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักเขียนสารคดีมากฝีมือ เคยกล่าววาทะอันร้อนแรงวรรคหนึ่งว่า “มหาวิทยาลัยทุกวันนี้ เหมือนเป็นโรงเลี้ยงเด็กของชนชั้นกลาง”
ฟังแล้วน่าสะทกสะเทือนใจยิ่งนัก ถ้าไม่ระวังเราก็จะเป็นอีกคนหนึ่งที่ส่งลูกเข้าสู่มหาวิทยาลัยโรงเลี้ยงเด็ก และเป็นครูค่ายที่จะทำให้คนหนุ่มสาวซึ่งคุโชนไฟฝัน กลายเป็นเด็กอนุบาล!
กับผลงานของนักเขียนและช่างภาพฝึกหัด ครูจึงไม่โอ้โลมปฏิโลมแบบประคบประหงม แต่ชำแหละให้เห็นแง่ดีร้าย อย่างไม่ยอมปล่อยให้ข้อด้อยออกไปลอยนวลประจานตัวเองในวันข้างหน้า
ต้องอภัยหากว่าหนามกุหลาบนั้นทิ่มแทงกรีดบาดใจ หรือทำให้เสียหน้า
จากนี้จะไม่มีแล้ว เมื่อจบจากชั้นเรียนไป เราคือเพื่อนนักสารคดี ครูจะอ่านงานของเธอในฐานะผู้อ่านที่กระตือรือร้น เอาใจช่วยและเชียร์อย่างสุดใจ
กับเรื่องที่น่าชื่นชม จะไม่เคลมว่านี่ลูกศิษย์ฉันปั้นมากับมือ ในขณะเดียวกันครูก็คงไม่อาจตามแก้ต่างหรือปกป้อง หากบังเอิญเธอกลายเป็นนักสารคดีที่แย่ของวงการ
ความเป็นศิษย์เป็นครูจำต้องสิ้นสุดลงแล้วเมื่อจบค่าย แต่ความเป็นกัลยาณมิตรต่อกันนั้น เมื่อเป็นแล้วรักษาไม่หาย
เย็นวันหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว ลูกชายวัย ป.๑ กลับจากโรงเรียนมายื่นกระดาษแผ่นหนึ่งอวดให้ดู ด้านหนึ่งเป็นสัญลักษณ์หน้ายิ้มบนพื้นเหลืองแบบไอคอนในออนไลน์ อีกด้านครูเขียนว่า ขอบคุณครับที่ตั้งใจฟังและปฏิบัติตาม ลงชื่อครูสาวประจำชั้น
อ่านแล้วน้ำตาจะไหล ภูมิใจที่เขาเป็นลูกศิษย์ที่ดีของครูนั้นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนหลักของความประทับใจคือ เขาทำให้ครูได้กล่าวคำว่า ขอบคุณ แก่ลูกศิษย์ ซึ่งยากในสังคมของเราที่ผู้ใหญ่จะลดตัวลงขอบคุณผู้น้อย
ศิษย์นั่นแหละที่ทำให้มีครู นักเรียนทำให้ครูได้เรียนรู้และฝึกฝนตนเองไปพร้อมกัน และบางทีศิษย์ยังทำให้ใจครูได้รู้จักความอ่อนน้อมและอ่อนโยนด้วย
๔ เดือนกว่าที่ได้ร่วมห้องเรียนกันมา ก็ไม่รู้ว่าครูจะเป็นครูที่ดีใน ๔ แบบได้บ้างหรือไม่
แต่ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถย้อนกลับไปเปลี่ยนหรือทำอะไรได้อีก
นอกจากขอหยิบยืมคำครูประจำชั้น ป.๑ คนนั้น มากล่าวกับพวกเธอในที่นี้
ขอบคุณครับ…