ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยมีความพยายามสร้าง “วัฒนธรรมใหม่” ให้แก่สังคมไทย ทั้งเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ภาษา การใช้เวลาในชีวิต ฯลฯ หนึ่งในนั้นคือการสถาปนา “มาตรฐานใหม่” ให้แก่ชื่อคนไทย ว่าชื่อที่ถูกต้องเหมาะสมควรแบ่งแยกตามเพศอย่างชัดเจน ไม่มีความคลุมเครือ จึงมีการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน 2484 เรื่องหลักตั้งชื่อบุคคล โดยมีแนวทางว่าผู้ชายต้องมีชื่อเป็นชาย ส่วนผู้หญิงก็ควรมีชื่อเป็นหญิง ชื่อผู้ชายได้แก่ชื่อที่แสดงอำนาจ เข้มแข็ง หรือเป็นนามของอาวุธ เช่น องอาจ กล้า ธนู ส่วนชื่อที่แสดงความอ่อนหวาน ชื่อดอกไม้ ผัก ผลไม้ รวมถึงเครื่องประดับ อย่างเช่นกุหลาบ แตง ทุเรียน แหวน ให้เป็นชื่อหญิงเสมอ เป็นต้น
นี่คือหลักเกณฑ์ที่ให้ยึดถือปฏิบัติอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะสำหรับข้าราชการที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐบาล
ดังนั้น ช่วงปี 2484-85 จึงเป็นยุคสมัยของการ “เปลี่ยนชื่อ” ดังปรากฏเป็นตัวอย่างในประวัติของคนรุ่นเก่ามากมาย
ศักดิชัย บำรุงพงศ์ (2461-2557) อดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ และนักเขียนระดับศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในนามปากกา “เสนีย์ เสาวพงศ์” เดิมเคยชื่อ “นายบุญส่ง” แต่เมื่อจะสมัครเข้ารับราชการในยุคนั้นก็ต้อง “เปลี่ยนชื่อ” ให้สมชาย กลายเป็น “นายศักดิชัย”
นักเขียนการ์ตูน นักวาดภาพประกอบ วีรกุล ทองน้อย (2461-2537) ชื่อเดิมคือ นายพิกุล ทองน้อย แต่ขณะนั้นเขารับราชการเป็นช่างเขียนแผนที่ในกองทัพเรือ และ “พิกุล” เป็นชื่อดอกไม้ จัดอยู่ในหมวดชื่อผู้หญิง จึงต้องเปลี่ยนใหม่ให้ห้าวหาญ เป็น “นายวีรกุล” แต่สุดท้าย ท่านคงยังอาลัยกับชื่อเดิมที่พ่อแม่ตั้งให้ ภายหลังจึงเก็บเอาไว้เป็นตัวย่อ พ. มาประกอบกับถิ่นฐานบ้านเกิดที่สมุทรปราการ กลายเป็นนามปากกา “พ. บางพลี” ที่สร้างชื่อเสียงจากการ์ตูน “อัศวินสายฟ้า”
คุณหลวงอิงคศรีกสิการ (2442-2532) หนึ่งใน “บูรพาจารย์” ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากจะต้องกราบถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์มาใช้ชื่อเดิมของตนเอง เพื่อ “ความเสมอภาค” เท่าเทียมแบบอารยะตามนโยบายรัฐบาลแล้ว แต่เมื่อชื่อจริงคือ “นายเอี้ยง” ฟังดูไม่สมเป็นชื่อผู้ชายอีก ท่านจึงต้องเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ จากนกน้อยท้องนาอย่าง “นกเอี้ยง” กลายเป็น “อินทรี” นกนักล่า สนามกีฬาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จึงมีชื่อว่า “สนามอินทรีจันทรสถิตย์” จนบัดนี้
นอกจากชื่อข้าราชการแล้ว รัฐบาลยังมองหา “บุคคลต้นแบบ” เพื่อประชาสัมพันธ์แนวนโยบายนี้ ได้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่มีพระนามไม่เข้าเกณฑ์ จึงมีการกราบบังคมทูลถวายคำแนะนำให้แก่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (หรือ “สมเด็จย่า” ของในหลวงรัชกาลที่ 9) ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุเกือบ 80 พรรษา ขอให้ทรงเปลี่ยนพระนามเสียใหม่ จาก “สว่างวัฒนา” ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้แต่เมื่อแรกประสูติ อันฟังดูเหมือนชื่อผู้ชาย แต่คำตอบของสมเด็จฯ คือ
“ชื่อฉัน ทูลหม่อมพระราชทาน ท่านทรงทราบดีว่า ฉันเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย”
เกร็ดเรื่องนี้ คุณสมภพ จันทรประภา บันทึกไว้ในหนังสือ “สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ” ว่าด้วยพระประวัติของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โดยกล่าวว่า “ท่านหญิงแก้ว” หม่อมเจ้าหญิงอัปภัสราภา เทวกุล ซึ่งรับใช้ใกล้ชิดสมเด็จฯ อยู่ในขณะนั้น ทรงเล่าประทาน