เก็บตก
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
พฤ โอโดเชา นักสื่อสารเรื่องราวและรณรงค์เพื่อสิทธิชาวเขาชาวดอย (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)
“เรื่องที่ว่าขัดขวางความเจริญ ขัดขวางงานอนุรักษ์ เขามองว่าเราเป็นกลุ่มที่อยากจะอยู่ในป่า ปลูกฝังมานานแล้วว่าชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า ทั้งที่จริงวิถีชีวิตชาวเขานั่นแหละคือตัวอนุรักษ์ป่าไม้”
คมคำคน (คู่) ป่า ปกาเกอะ
พฤ โอโดเชา
นิตยสารสารคดีฉบับ ๓๖๑ มีนาคม ๒๕๕๘
พฤ โอโดเชา –โดยสายเลือดแล้วเขาเป็นทายาทของผู้เฒ่าจอนิ ปราชญ์ปกาเกอะญอแห่งบ้านหนองเตา อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ และถือเป็นผู้นำด้านจิตใจของผู้คนบนพื้นที่สูงภาคเหนือ
พฤ โอโดเชา –โดยตัวตนแล้วเขาคือนักรณรงค์เพื่อสิทธิชาวเขาชาวดอย เคยเดินเท้ารอนแรมจากบ้านเกิดที่เชียงใหม่มาถึงทำเนียบรัฐบาลในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นกระบอกเสียงเรียกร้อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน และถือเป็นนักสื่อสารเรื่องราวชายขอบที่ต้องจับตา เพราะเขามักนำเสนอเรื่องราวต่างๆ อย่างมีอารมณ์ขัน เป็นธรรมชาติ อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
นานมาแล้วที่เขาเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี ตั้งแต่ยุคกล้องดิจิตอลมาจนถึงสมาร์ตโฟนอย่างทุกวันนี้
แต่เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๑ พฤเปิดเผยระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมโครงการพัฒนาศักยภาพและทักษะนักสื่อสารในภูมิภาคและพื้นที่เปราะบางว่าเพจเฟซบุ๊ก “ฮา กะเหรี่ยง” ที่เขาเป็นหนึ่งในแอดมิน มียอดไลค์เพจมากกว่า ๒๔๐,๐๐๐ คนได้อันตรธานหายไป
พฤ เป็นผู้นำอ่านแถลงการณ์ เพจ ฮา กะเหรี่ยง ถูกแฮก และขอจัดตั้งเพจใหม่ เมื่อวันที่๑๖ กันยายน ๒๕๖๑
“ป่าสมบูรณ์อยู่ที่ใครนิยาม ถ้านิยามแบบคนบวกมนุษย์กับโลกก็จะนิยามแบบหนึ่ง แต่ถ้านิยามแบบคนที่คิดว่าไม่ต้องมีคนอยู่กับป่าก็จะนิยามอีกแบบ ทฤษฎีของคนเรียนนิเวศจัดจึงมองว่ามนุษย์เป็นตัวอันตรายต่อธรรมชาติ ควรจะตายไปเสีย ไม่ควรอยู่ในโลกนี้ด้วยซ้ำ เรียกว่าเขียวนิยมหรือเขียวจัด แต่ผมมองว่ามันต้องเป็นสูตรที่มีคนอยู่กับป่า คุณจะแยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติไม่ได้เพราะมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ”
คมคำคน (คู่) ป่า ปกาเกอะญอ
พฤ โอโดเชา
นิตยสารสารคดีฉบับ ๓๖๑ มีนาคม ๒๕๕๘
คำว่า “ฮา” ในชื่อเพจเป็นภาษาเหนือแปลว่า ข้า หรือ กู มิได้หมายถึงเรื่องตลกขบขัน
การสูญหายไปของเพจที่ชื่อขึ้นต้น ฮา ทำให้พฤและเหล่าแอดมินกินไม่ได้นอนไม่หลับมานับสัปดาห์และฮาไม่ออก
เพจ ฮา กะเหรี่ยง ก่อตั้งโดยพระชาวกะเหรี่ยงเมื่อ ๓ ปีก่อน ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้ทีมแอดมิน ๓ คนช่วยกันทำ นำเสนอเรื่องราวตั้งแต่ประเด็นหนักๆ อย่างปัญหาที่ดิน ความเหลี่ยมล้ำ การต่อต้านเขื่อนในป่าต้นน้ำ การทวงสิทธิชนเผ่าที่จะอยู่อาศัยในป่า เหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก ไปจนถึงเรื่องเบาลงมาอย่าง งานบุญ งานวัฒนธรรม
ตลอดระยะเวลา ๓ ปีของการนำเสนอเรื่องราวชาวเขาชาวดอยอย่างต่อเนื่องและเกาะติด ทำให้เพจเล็กๆ ของคนชายขอบเพจนี้มียอดไลค์สูงกว่า ๒๔๐,๐๐๐ ไลค์
แต่แล้ววันหนึ่งเพจก็หายไป ซึ่งพวกเขาสงสัยว่าน่าจะเป็นการถูก “แฮก” (hack)
พฤเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์แปลกๆ ว่ามีผู้ใช้เฟสบุ๊กชื่อ Lisa ติดต่อเข้ามาขอซื้อหน้าเพจ แต่ถูกแอดมินปฏิเสธ จึงต่อรองให้ช่วยโพสต์เรื่องราวเดือนละ ๑ โพสต์ ให้ค่าตอบแทนโพสต์ ๒๐๐ ดอลล่าร์สหรัฐ
เมื่อเหล่าแอดมินไตร่ตรองว่าไม่น่ามีอะไรเสียหายจึงตอบตกลง ขณะที่ Lisa อ้างว่าไม่สามารถส่งลิงค์ข้อมูลทางอีเมล์ได้ จึงขอส่งผ่านกล่องข้อความโดยมีลิงค์มาให้ หลังจากดำเนินการตามที่ Lisa อธิบาย เพจ ฮา กะเหรี่ยง ก็หายไป แอดมินทั้งหลายถูกปลดออกจากสถานภาพผู้ดูแลเพจ แม้ต่อมาจะสืบพบว่าข้อมูลและยอดคนกดไลค์ทั้งหมดไปปรากฏอยู่บนเพจอื่น แต่ก็ไม่สามารถเรียกคืน
พฤกล่าวอย่างถอดทอนใจว่าในบรรดาเพจพี่น้องกะเหรี่ยง เพจ ฮา กะเหรี่ยง มีคนติดตามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากที่สุด นี่คือเครื่องมือสื่อสารเรื่องราวชาวกะเหรี่ยงอันเป็นกลุ่มคนเล็กๆ ที่ทรงพลานุภาพ และที่สำคัญพวกเขาเองเป็นคนกำหนดเนื้อหา
คงไม่บ่อยนักที่เรื่องราวของชาวเขาชาวดอยจะปรากฏอยู่ในสื่อใหญ่ๆ มิพักต้องพูดว่าหลายต่อหลายครั้ง สารหรือสาระที่อยากนำเสนอคลาดเคลื่อนไม่ครบ
หลายคนอาจจะทำเพจของตัวเองที่มียอดไลค์มากมาย อาจเป็นเพจท่องเที่ยว นักร้อง ศิลปิน หรือเรื่องราวเฉพาะด้านบางอย่างที่ตนชอบ แต่เพจ ฮา กะเหรี่ยง แตกต่างไป นี่คือ “พื้นที่” สำคัญอันมีความหมายของชุมชนชาวกะเหรี่ยง เป็นเครื่องมือเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนพ้องน้องพี่ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย ศูนย์อพยพ กระทั่งถึงประเทศต่างๆ รวมทั้งเป็นพื้นที่สื่อสารระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับสังคมเมืองชนิดแค่ปลายนิ้วคลิกก็เชื่อมต่อถึงกันได้
การหายไปของเพจที่มีผู้ติดตามหลักแสนคนนี้จึงทำให้พวกเขาขาดพื้นที่สื่อสาร ตัดทอนโอกาสที่จะรู้วิถีวิถีชีวิตกันและกัน
พฤตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการหายไปว่าอาจเกิดจากผู้ต้องการเพจที่มียอดไลค์สูงๆ เพื่อนำไปแสวงหาผลทางการค้า หรือไม่อาจเป็นเพราะเพจ ฮา กะเหรี่ยง นำเสนอเรื่องราวเข้มข้นที่เกี่ยวกับการลิดรอนสิทธิชาวเขาจึงทำให้มีผู้ไม่ประสงค์ดี
และยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เพจกอดกะเหรี่ยงจะยังคงนำเสนอเรื่องราวทั้งประเด็นหนักๆ อย่างปัญหาความเหลี่ยมล้ำ ไปจนถึงเรื่องเบาลงมาอย่าง วิถีชีวิต วัฒนธรรม งานบุญ (ภาพ : เพจกอดกะเหรี่ยง)
เพจ ฮา กะเหรี่ยง V2 เป็นอีกเพจหนึ่งที่ตั้งขึ้นหลังเพจ ฮา กะเหรี่ยง หายไป ในความหวังว่าสักวันจะได้รับเพจเก่ากลับมา (ภาพ : เพจฮา กะเหรี่ยง V2)
“วันนี้ป่าที่เหลือเยอะก็ที่บ้านปกาเกอะญอ ความจริงที่ไม่ถูกทำให้เป็นจริง เมืองไทยมีมุมอนุรักษ์ก็จริง แต่มุมใหญ่กว่าคือเรื่องเศรษฐกิจ มีภูเขาดีที่ไหน ในเขตอุทยานกลางดอยสูงสุดจะมีลานเฮลิคอปเตอร์ จะสร้างเขื่อนหรือสร้างเหมืองทองคำเขาก็เปิดให้จากเดิมชุมชนกะเหรี่ยงเคยอยู่ที่นั่น มันเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะมาทำลายล้างกลุ่มอนุรักษ์ ทำลายวิถีชีวิตแบบผม”
คมคำคน (คู่) ป่า ปกาเกอะญอ
พฤ โอโดเชา
นิตยสารสารคดีฉบับ ๓๖๑ มีนาคม ๒๕๕๘
ราวบ่ายโมงของวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๑ พฤชายกะเหรี่ยงเป็นผู้นำอ่านแถลงการณ์ เพจ ฮา กะเหรี่ยง ถูกแฮก และขอจัดตั้งเพจใหม่
ข้อความส่วนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้านาย พฤ โอโดเชา แอดมินเพจ ฮา กะเหรี่ยง ซึ่งมีผู้ติดตามราวสองแสนคน ได้ถูกผู้ไม่หวังดีทำการแฮก ขโมย เพจของข้าพเจ้าไป ที่ผ่านมาเพจ ฮา กะเหรี่ยง ได้นำเสนอเรื่องราวของพี่น้องกะเหรี่ยงชาวดอยในหลากหลายประเด็นปัญหา เป็นปากเป็นเสียงของพี่น้องที่ถูกกดขี่ นำเสนอวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่งดงามของชาวปกาเกอะญอ คนอยู่กับป่า มากมาย ซึ่งเราจะดำเนินการทวงคืนเพจด้วยกระบวนการทางกฎหมายต่อไป และในการนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านความต่อเนื่องของการสื่อสาร พวกเราจึงขอประกาศจัดตั้งเพจใหม่ชื่อว่า กอดกะเหรี่ยง หรือ HugtheKaren เพื่อสืบต่อวัตถุประสงค์ ขอให้พี่น้องช่วยกดไลค์ กดแชร์ กดติดตามเพจใหม่โดยพลัน”
ถือเป็นการเริ่มต้นนับ ๑ ใหม่อีกครั้ง แม้จะเจ็บช้ำน้ำใจ พร้อมๆ กันก็พยายามหาช่องทางดำเนินคดีตามกฎหมาย กลุ่มผู้เสียหายยังได้รับความช่วยเหลือจากผู้หวังดีเสนอตัวประสานงานแจ้งความผิดปรกติไปยังสำนักงานใหญ่เฟสบุ๊กที่สหรัฐอเมริกา
แอดมินทุกคนและชาวกะเหรี่ยงยังหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้เพจของตัวเองกลับคืน
เมื่อเพจ ฮา กะเหรียง ถูกทำให้หายไป สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เรารู้สึกถึงความโหดร้ายของโลกโซเชียลมีเดีย
กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าพื้นที่สาธารณะนี้ยังมีประโยชน์อีกมากมาย โดยเฉพาะการถ่ายทอดและเชื่อมร้อยเรื่องราวข่าวสารของคนเล็กๆ ไปยังคนทั่วโลก
ท่ามกลางความโหดร้ายของโซเชียลมีเดีย
มาให้กำลังใจและติดตามความเป็นไปของพวกเขาได้ใหม่ที่เพจ กอดกะเหรี่ยง และ เพจ ฮา กะเหรี่ยง V2
เก็บตกจาก
- ทำไมเพจสารคดีถึงหายไป คอลัมน์เก็บตกจากลงพื้นที่ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐
- ๓๐ ผู้จุดประกายไฟสีเขียว นิตยสารสารคดีฉบับ ๓๖๑ มีนาคม ๒๕๕๘
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
อีกภาคหนึ่งของ “เจ้าชายหัวตะเข้” นักเขียนสารคดีที่เรียนจบมาด้านวิทยาศาสตร์ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และกีฬาเป็นพิเศษ