นักเขียนเปลี่ยนชายแดนใต้-สุด (สุไหงโก-ลก)

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ค่ายนักเขียนเปลี่ยนชายแดนใต้ รุ่นที่ ๒ ของ ศอบต. (ศูนย์อำนวยบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เปิดห้องเรียนกันที่สุไหงโก-ลก อำเภอใต้สุดของนราธิวาส และแดนใต้สุดของประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๔ กันยายน ๒๕๖๑

เรียนรู้ทฤษฎี ทดลองฝึกปฏิบัติกันในห้องเรียนพอรู้ทาง ก็แยกย้ายกันไปลงพื้นที่ในอำเภอต่างๆ ของจังหวัดนราธิวาส

กลุ่มหนึ่งไปเก็บข้อมูลเรื่องโครงการชลประทานลุ่มน้ำบางนรา “หนึ่งในน้ำพระทัย กับวิถีชีวิตชายแดนใต้” อีกกลุ่มไปดูการเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยเศรษฐกิจพอเพียงใน “หมู่บ้านแม่หม้าย” บ้านรอตันบาตู อำเภอเมือง

อีกกลุ่มไปศูนย์วิจัยและศึกษาป่าพรุสิรินธร กับตลาดการชายแดนไทย-มาเลเซีย อำเภอสุไหงโก-ลก

และอีกกลุ่มลงพื้นที่ชุมชนอีสานปลายด้ามขวาน ที่อำเภอสุคิริน

เพียงออกพ้นเขตตัวเมืองก็จะเริ่มสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของท้องถิ่นใต้ ทิวทุ่งสุมทุมพุ่มไม้เขียวชอุ่ม ทิวเขาเนินควนน้อยใหญ่ โอบอุ้มความชื้นชุ่มไว้เต็มอ้อมอก ดูสดชื่นตื่นตายามหน้าฝน ตามที่ลุ่มริมบึงริมห้วยมักมีกอสาคูขึ้นอยู่เป็นหย่อม ในทุ่งริมทาง หรือแม้กระทั่งตามเกาะกลางถนนตรงสี่แยก มักเห็นฝูงวัวเดินและเล็มหญ้าอย่างสบายอารมณ์

ภัยความไม่สงบทำให้จังหวัดชายแดนใต้กลายเป็นพื้นที่พิเศษ ใช่ว่าใครนึกจะขับรถเข้ามาเที่ยวเล่นได้ตามสะดวกเหมือนที่อื่น จะไปที่ไหนต้องมีคนรู้พื้นที่นำไป กลายเป็นข้อจำกัดโดยนัยให้พื้นที่ยังคงความดั้งเดิมไว้ได้มาก ไม่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วดังใจทุนนิยม

ตามเส้นทางเข้าสู่อำเภอสุคิรินต้องข้ามเทือกเขาสูงคล้ายเส้นทางตามภาคเหนือ แต่ทิวป่าดิบชื้นแบบภาคใต้

บนเทือกเขาเหล่านั้นมีไม้ผลนานายืนต้นสูงใหญ่โดยไม่ได้ล้มล้างป่าเดิม แต่ดูคล้ายว่าเป็นการปลูกแซมลงไว้ด้วยกันในป่าดั้งเดิม ในท่ามกลางป่าดิบเขาเราจึงเห็นไม้ผลพื้นบ้านอย่าง มะพร้าว หมาก ทุเรียน ปะปนอยู่อย่างกลมกลืน

สะตอกำลังหย่อนชื่อดอกที่คนใต้เรียกว่า โหม่ง บ้างเริ่มออกฝักอ่อนเป็นช่อที่เรียกว่า มูน อวดฝักสีเขียวอ่อนบิดเกลียว ปุ่มเม็ดนูนเรียงเป็นสาย

พวงลูกเงาะกำลังสุกเต็มพุ่ม แต้มสีแดงอยู่ตามกิ่งใบดกหนาสีเขียวเข้ม ดกหนักจนกิ่งเอนลู่ เช่นเดียวกับพวงลองกองที่หย่อนช่อเหลืองเรื่อแน่นหนาอยู่ตามกิ่งรอบต้น ที่ดูเหมือนเจ้าของไม่ไยดีที่จะเก็บสอย

ปล่อยไว้ให้เป็นเหมือนนิทรรศการแห่งฤดูฝน ที่จัดแสดงอยู่ตามธรรมชาติในหุบเขาแห่งบ้านสวน

วัตถุดิบละลานตาอยู่รอบๆ ตัว ขอเพียงแต่นักเขียนในพื้นที่หยิบออกมาเล่าให้ได้

และเมื่อได้เล่าแล้วจะก่อความเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยเพียงใด ก็เป็นไปได้ในหลายระดับ

แน่นอนว่าอย่างน้อยที่สุดย่อมเริ่มต้นจากตัวผู้เขียน จากการได้มองเห็นคุณค่า เห็นแง่งาม ความภาคภูมิใจในบ้านของตน

กระทั่งหากส่งผลถึงคนอ่าน เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อพื้นที่ เห็นความดีความงามความจริงดังที่ผู้เขียนสื่อสาร ก็นับความสมบูรณ์สมดังเจตนาของผู้ทำค่าย

ลองดูเนื้อสารจากงานบางชิ้น ว่าพอจะมีพลังส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้เพียงใด

นักเขียนใหม่ในพื้นที่ สะท้อนความรู้สึกการข้ามแดนไทย-มาเลย์ โดยไม่ใช้พาสพอร์ตไว้ในบทเปิดเรื่องเล่า…

ระหว่างที่กำลังเดินทางไปยังชายแดนของประเทศมาเลเซียนั้นเป็นความรู้สึกประหลาดมาก ทั้งตื่นเต้น ทั้งเครียด อีกทั้งยังสนุก เพราะครั้งนี้เป็นการไปเที่ยวประเทศมาเลเซียแบบไม่ต้องใช้พาสพอร์ต

หากมาด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือมากับทัวร์จะต้องมีการใช้พาสปอร์ตในการจะเข้าประเทศมาเลเซีย แต่เนื่องจากคณะของเรามีการติดต่อกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงไม่มีปัญหาที่เข้าไปมาเลย์

เขตการค้าชายแดนของประเทศมาเลเซียนั้นถือเป็นเขตการค้าชายแดนระหว่างประเทศที่ใหญ่ ใช้ระยะเวลาในการเดินทางจากที่พักถึงด่านศุลกากรไม่ถึง 15 นาที และเดินทางจากด่านศุลกากรไปถึงยังเขตการค้าชายแดนฝั่งมาเลเซียที่เรียกว่า Rantau Panjeng หรืออ่านตามภาษามลายูว่า รันตูปันจัง Rantau Panjeng หรือ รันตูปันจัง เป็นเขตการค้าชายแดนที่มีขนาดใหญ่เปรียบเสมือนอำเภอหนึ่งของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ในเขตนี้มีทั้งตลาดที่เป็นศูนย์รวมของต่างๆจากทั้งประเทศไทยและมาเลย์เซียที่มีการแลกเปลี่ยนสินค้ากัน เนื่องจากมีพรมแดนติดกัน

เมื่อเดินทางเข้าไปถึงเขต Rantau Panjeng สิ่งแรกที่เห็นก็คือบ้านเรือนที่มีขนาดเล็กแต่มีบริเวณข้างหน้าและข้างๆตัวบ้านและผู้คนที่ดูแปลกตาไปจากที่ประเทศไทย”

(จากเรื่อง “มาเลย์ มาลอง มาแล” โดย ธมนวรรณ แสงศิลา)

กลุ่มที่ต้องข้ามเทือกเขาสู่อำเภอสุคีริน จังหวัดนราธิวาส ได้ตื่นเต้นกับวิถีอีสานในถิ่นใต้สุดของสยาม…

ออกเดินทางด้วยใจไหววูบ เมื่อปลายทางคือสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย คำถามมากมายถูกบรรจุใส่ในกระเป๋าเป้สีดำที่ถูกรูดซิปด้วยความกังวลว่าจะทำหล่นหายระหว่างทางซอกแซกของภูเขา

รถตู้นำหนึ่งนักเขียนและแปดนักเรียนหัวใจใฝ่รู้ มุ่งหน้าสู่หมู่บ้านที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘อีสานที่ปลายด้ามขวาน’

ภูเขาทอง เป็นตำบลเล็ก ๆ ที่ไกลที่สุดในจังหวัดนราธิวาส ติดชายแดนมาเลย์เซีย มี ๘ หมู่บ้าน ประชากร ๒,๖๒๑ คน อาศัยอยู่ร่วมกันบนพื้นที่ ๑๓๕.๙๓ ตารางกิโลเมตร

“เป็นตำบลที่งบประมาณน้อยที่สุด แต่รวยทรัพยากร” นายก อบต. สายเลือดอีสานพูดยิ้ม ๆ

ประเพณีบุญบั้งไฟตามความเชื่อของผู้คนในภาคอีสานทำเพื่อขอฝน แต่ในพื้นที่อำเภอสุคิริน ตำบลภูเขาทอง ไม่ได้มีภัยแล้งอย่างอีสาน บุญบั้งไฟของที่นี่จึงจัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์ประเพณีเอาไว้ และเป็นเสมือนกุศโลบายให้คนในชุมชนได้มาช่วยกันสามัคคีกัน

(จากเรื่อง “บุญบั้งไฟที่ปลายด้ามขวาน” โดย ซูวารา อาลี)

อีกชิ้นเล่าชีวิตของสาวนักร่อนทอง

ตอนหนึ่งว่า…

“คนร่อนทองไม่มีทองใส่ คนทอผ้าไม่มีผ้าไหมใช้”

สำราญ ทองอิน อายุ ๔๓ ปี ภูมิลำเนาเดิมอยู่จังหวัดนครราชศรีมา ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาตั้งแต่เปิดหมู่บ้านภูเขาทอง เป็นหนึ่งในคนร่อนทองของตำบลภูเขาทอง เธอจะใช้เวลาว่างหลังกรีดยางพารา เดินทางไปยังคลองเพื่อร่อนทอง ช่วงนี้น้ำในคลองตื้น ทำให้สะดวกในการลงไปหาแร่ทอง

ทุกวันเธอจะใช้เวลาในการร่อนทองทั้งวัน แต่ถ้าวันไหนที่เธอมีธุระหรือต้องไปรับลูกที่โรงเรียนเธอก็จะใช้เวลาในการร่อนทองประมาณ 3-4 ชั่วโมง

วิธีการหาแร่ทองของเธอคือ เธอจะดำน้ำเพื่อไปขุดดินที่อยู่ชั้นใต้เรียกว่า “ชั้นดาล” แล้วนำดินที่ได้มาร่อนทอง ถ้าบริเวณนั้นไม่มีทองเธอก็จะเปลี่ยนพื้นที่ไปเรื่อย ๆ แต่โดยปกติแล้วเธอและชาวบ้านจะรู้อยู่แล้วว่าบริเวณไหนที่มีแร่ทอง

ชาวบ้านที่มาร่อนทองจะมีทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งเด็ก ๆ บางคนมาช่วยพ่อแม่ในวันเสาร์ อาทิตย์ หรือหลังกลับจากโรงเรียน เด็ก ๆ จะสนุกกับการร่อนทองมาก เพราะได้เล่นน้ำและได้เงิน

สำหรับชาวบ้านคนไหนที่ยังพอมีเงินอยู่ก็จะเก็บทองที่ร่อนได้ไว้ก่อนเพื่อสะสมให้มันเยอะและสามารถนำมาใช้ได้ในยามฉุกเฉิน แต่สำหรับชาวบ้านคนไหนที่ไม่มีค่ากับข้าวก็นำทองที่ร่อนได้ไปขายเพื่อซื้อกับข้าว

จากการขายทองที่ร่อนได้ สามารถนำมาเป็นรายได้ของครอบครัวอีกทางหนึ่ง ซึ่งทองที่ร่อนได้จะมีร้านค้าที่รับซื้ออยู่ 4-5 แห่ง โดยในปัจจุบันราคาทองจะอยู่ที่ 1040 ต่อ 1 กรัม จะแตกต่างจากสมัยก่อนราคาจะอยู่ที่ 150-200 ต่อ 1 กรัม

อุปกรณ์ในการร่อนทองที่ต้องมีคือ เลียงจะมีลักษณะคล้ายกระทะที่ทำจากไม้หลุมพอซึ่งราคาสูงพอสมควร ไม้พลั่ว จอบ ถังหรือขวดดูดทองสำหรับใส่แร่ทองที่ร่อนได้
ขั้นตอนการร่อนทองเริ่มจากตักดินโคลนในคลองใส่ในเลียง แล้วค่อยๆ ร่อนกับผิวน้ำในคลอง ซึ่งจะทำให้หินและโคลนดินค่อยๆ หลุดออกไปจากเลียง คนร่อนต้องร่อนไปเรื่อยๆ จนเหลือแต่เศษแร่อยู่ในเลียง ซึ่งก็คือผงแร่ทอง เมื่อได้แล้วก็ค่อยๆ เทเก็บใส่ถังที่เตรียมไว้

สมัยก่อนมีชาวบ้านบางกลุ่มที่ใช้เครื่องสูบน้ำสูบดินโคลน ทำให้สามารถหาแร่ทองได้มากขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ทำให้น้ำขุ่นและทรัพยากรเสื่อมเสีย ทางจังหวัดจึงเข้ามาแก้ปัญหาด้วยการสั่งห้ามใช้เครื่องสูบน้ำ และให้ใช้วิธีการร่อนทองโดยใช้เลียงตามวิถีชาวบ้านแบบดั้งเดิม

การร่อนทองในสมัยก่อนเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านภูเขาทอง แต่ในสมัยนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่หันมาทำสวน ทำการเกษตรมากขึ้น ทำให้การร่อนทองกลายเป็นอาชีพเสริม ส่วนหนึ่งก็เพราะการร่อนทองในสมัยนี้ได้ไม่มากเท่าสมัยก่อน

ที่นี่เป็นหนึ่งเดียวที่มีการร่อนทองโดยใช้เลียง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การรักษาไว้

ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงได้ แต่วัฒนธรรมและประเพณีต้องไม่เปลี่ยนไปจากรากเหง้าเดิมของมัน

(จากเรื่อง “สาวอีสานที่ปลายด้ามขวาน ‘ทอง’ ” โดย นูรฆูบัยซะห์ อาหะมะ)

นักเขียนชายแดนใต้อีกคนลงพื้นที่โครงการชลประทานฯ นำสิ่งที่ได้สัมผัสเรีนรู้มาเขียนเล่า ตอนหนึ่งว่า…

“น้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในงานเกษตร หรือมีอุปสรรคทางด้านอื่นๆ ถ้าแก้ปัญหาในเรื่องแหล่งน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกได้แล้ว เรื่องอื่นๆก็จะพลอยดีขึ้นตาม มีน้ำแล้วเราอยู่ได้ แต่ถ้าขาดน้ำแล้วประชาชนอยู่ไม่ได้”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙
วันที่ ๑๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙

แม้อยู่ถิ่นชายแดนใต้แต่ รายอ กีตอ หรือ พระเจ้าแผ่นดินของเรา ก็มิทรงทอดทิ้งพสกนิกรของพระองค์ พระองค์ทรงรับรู้ว่า… แผ่นดินกำลังเผชิญกับปัญหาเรื่องน้ำอย่างรุ่นแรง พุทธศักราช ๒๕๑๘ จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นยุทธวิธี พัฒนาสายนที และทรงต่อสู้มาตลอดเวลามากกว่า ๒๐ ปี วันนี้ ทรงเป็นดั่งแสงสว่างเหนือลุ่มน้ำบางนรา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานแนวทาง ให้กรมชลประทาน ขุดคลองระบายน้ำ จากแม่น้ำบางนรา ออกสู่อ่าวไทย ขึ้นมาสายหนึ่งเรียกว่า คลองน้ำแบ่ง เพื่อระบายน้ำจากลุ่มน้ำบางนรา ออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด

พื้นที่บ้านยูโย อยู่บริเวณของพรุโต๊ะแดง มีปัญหาดินเปรี้ยว การเพาะปลูกไม่ได้ผล พระองค์ได้มีพระราชดำริให้สร้างคลองส่งน้ำ พร้อมอาคารบังคับน้ำ เพื่อควบคุมให้น้ำดีจากคลองสุไหง ปาดี มาช่วยล้างดินเปรี้ยวในพื้นที่บ้านยูโย ให้สามารถทำเกษตรกรรมได้

เหมือนดั่งเนรมิตร แม้คนในพื้นที่บ้านยูโย เอง ก็ไม่เคยคาดคิดว่า… ทุ่งร้างที่อยู่เบื้องหน้า จะกลายเป็นนาเขียว ดินที่เคยเป็นดินเปรี้ยว จะสามรถปลูกพืชพันธุ์ได้งอกงามถึงเพียงนี้

แต่ด้วยสายน้ำแห่งพระราชหฤทัย ประสานกับพระปรีชาสามารถในการบริหารจัดการน้ำ ของ รายอ กีตอ พระองค์นี้ก็ได้ช่วยให้ ชาวนราธิวาสรอดพ้นจากศัตรูของพื้นดินทำกินเหล่านั้นไปได้ ฤดูกาลแห่งชีวิตของผู้คนในลุ่มน้ำบางนรา ก็ได้กลับมาหมุนเวียนเปลี่ยนผันไปอย่างที่ควรจะเป็น

หน้าฝน ไม่มีน้ำท่วมขังอย่างที่เคย หน้าแล้ง มีน้ำจืดไว้ทำการเกษตร ดินเปรี้ยว ถูกแปลงสภาพให้สามารถทำการเกษตรได้ แผ่นดิน กลายเป็นผืนดินที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

ณ วันนี้ได้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ท่ามกลางความสลัวของแสงไฟ ได้เป็นจุดกำเนิดของแนวพระราชดำริมากมาย ที่เป็นดวงประทีป สว่างสไหว ส่องนำทางให้ชาวไทยในพื้นที่ต่างๆ มีชีวิตที่ดีขึ้น

แซะหะมิ เซะ ชาวบ้านปูเกะกูนุง อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เขาได้กล่าวพร้อมสีหน้าที่สดใสและยิ้มแย้มแจ่มใสว่า

“พวกเราทุกคนนี้ ขอบคุณในหลวงของเรามากๆ ที่มีโครงการของในหลวงลงในหมู่บ้านของเราที่นี้”

(จากเรื่อง “แสงสว่างเหนือลุ่มน้ำบางนรา” โดย ฮัสซัน ลีมูสา)

เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของจากชิ้น จากผลงานทั้งสิ้นเกือบ ๓๐ เรื่อง จากนักเขียนชายแดนใต้ที่หวังว่าพวกเขาจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ด้วยการใช้งานวรรณศิลป์เป็นเครื่อง

ส่วนที่ว่าจะเกิดผลมากน้อยเพียงใดนั้น คงต้องรอระยะผ่านและการพิสูจน์ฝีมือ-ด้วยผลงานในกาลข้างหน้าของเขา เหล่านักเขียนถิ่นใต้วัยหนุ่มสาว


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา