เก็บตก
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
การตัดอ้อยนอกจากจะเกิดขึ้นเมื่อต้นอ้อยมีอายุได้ที่ ยังขึ้นอยู่กับเวลาเปิดหีบของโรงงานผลิตน้ำตาล
-๑–
การลงทุนข้ามพรมแดนของไทยใน “CLMV” ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม มีทั้งโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองดีบุก โรงงานปูนซีเมนต์ ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฯลฯ เฉพาะในกัมพูชา การลงทุนของนักลงทุนไทยที่น่าจับตาคือการรับสัมปทานที่ดินเพาะปลูกอ้อยและตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลใน ๒ จังหวัด คือ จังหวัดเกาะกง (Koh Kong) ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ ติดชายทะเล และจังหวัดโอดอร์เมียนเจย (Oddar Meanchey) ตั้งอยู่ทางเหนือ ติดชายแดนจังหวัดสุรินทร์ของประเทศไทย
-๒-
กฎหมายที่ดินของกัมพูชา (Land Law of Cambodia 2001) ระบุว่าการให้สัมปทานที่ดินแก่ภาคเอกชนจะให้ได้ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ เฮกตาร์ ต่อ ๑ ราย (๑ เฮกตาร์ มีขนาดประมาณ ๖.๒๖ ไร่ ๑๐,๐๐๐ เฮกตาร์จึงเท่ากับประมาณ ๖๒,๖๐๐๐ ไร่) ด้วยเหตุนี้ทุนไทยที่เข้าไปลงทุนทำน้ำตาลในกัมพูชาจึงมักจะใช้วิธีตั้งบริษัทในเครือหรือ “บริษัทย่อย” ขึ้นมาหลายบริษัท ส่วนใหญ่ได้รับสัมปทานที่ดินบริษัทละเกือบ ๑๐,๐๐๐ เฮกตาร์ เพื่อให้ได้ที่ดินรวมกันมากกว่าที่กฎหมายกำหนด และดึงดูดพอที่จะประกอบกิจการเพาะปลูกอ้อยและตั้งโรงงานผลิตน้ำตาล
๑๒ การลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ โดยคณะทำงานติดตามการลงทุนข้ามพรมแดน มีโครงการปลูกอ้อยและตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ ๒ จังหวัดของกัมพูชาด้วย (ภาพ : The Mekong Butterfly)
-๓-
บริเวณที่ตั้งโครงการสัมปทานที่ดินเพื่อปลูกอ้อยและตั้งโรงงานในจังหวัดเกาะกง เคยเป็นพื้นที่เกษตรที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเพาะปลูกสับปะรด มะม่วง ทุเรียน และถูกจัดสรรเป็นพื้นที่ตามนโยบายการใช้ที่ดินอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Land Use Planning) ที่มีคนอยู่อาศัย ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำเกษตรและเลี้ยงสัตว์อย่างเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะมายาวนาน ๕ ปี เข้าข่ายข้อกำหนดของผู้มีคุณสมบัติในการขอรับเอกสารที่ดิน โฉนดที่ดิน ทั้งนี้ ชาวบ้านบางส่วนยังเข้ามาบุกเบิกพื้นที่เป็นเวลามากกว่า ๗๐ ปีแล้ว
มีรายงานว่าโครงการปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลที่จังหวัดเกาะกงทำให้เกิดการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ อีกทั้งยังมีการทำร้ายร่างกาย ทำลายเรือกสวนไร่นา ยึดสัตว์เลี้ยงและของมีค่า ครั้งหนึ่งชาวบ้านบันทึกภาพขณะมีรถไถเข้ามาทำลายบ้านเรือน ในปีต่อมาชาวบ้านคนนั้นถูกลอบสังหารเสียชีวิต ทนายความและนักเคลื่อนไหวถูกติดตามและคุกคามระหว่างการลงพื้นที่เก็บข้อมูล
-๔-
ที่จังหวัดโอดอร์เมียนเจย ทุนน้ำตาลไทยที่เข้าไปลงทุนเป็นบริษัทน้ำตาลยักษ์ไทยของประเทศไทยและใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้รับอนุมัติสัมปทานผ่าน ๓ บริษัทที่จดทะเบียนในกัมพูชา โดยได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกัมพูชาอย่างถูกต้องให้เพาะปลูกไร่อ้อยและตั้งโรงงานน้ำตาลเป็นเวลานาน ๗๐ ปี ทั้ง ๓ บริษัทได้รับสัมปทานที่ดินรวมกัน ๑๙,๗๓๖ เฮกตาร์ หรือราว ๑๒๓,๕๔๗ ไร่
ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทยได้ตรวจสอบการดำเนินการของทุนน้ำตาลไทยในจังหวัดโอดอร์เมียนเจย รายงานว่า การแผ้วถางที่ดินสัมปทานเพื่อทำไร่อ้อยของบริษัทส่งผลให้ที่ดินสาธารณะและป่าชุมชนจำนวนมากถูกทำลาย แม้ว่าจะไม่ได้ถูกทำลายไปทั้งหมดในพื้นที่ทับซ้อนบนสัมปทานของทั้ง ๓ บริษัท แต่ก็สังเกตได้ชัดเจนว่าความอุดมสมบูรณ์ของป่าลดลง เห็ดป่าลดลง ต้นไม้ไม่มียางไม้ที่สามารถเผาออกมาใช้ประโยชน์ได้เหมือนก่อน
อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยและกัมพูชา การทำไร่อ้อยและตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลเป็นการลงทุนข้ามพรมแดนของไทยในต่างประเทศ เช่นเดียวกับ เขื่อน โรงไฟฟ้าถ่านหิน ท่าเรือน้ำลึก ฯลฯ
-๕-
ตัวอย่างปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดโอดอร์เมียนเจย อาทิ การไล่รื้อและเผาบ้าน ยกตัวอย่างหมู่บ้านโอบัดมุนมีการรื้อถอนและเผาทำลาย ๑๕๔ ครัวเรือนในครั้งแรก ครั้งต่อมาอีก ๑๐๐ หลังคาเรือน รวมเป็น ๒๕๔ หลังคาเรือน ขณะที่หมู่บ้านบอสก็มีเจ้าหน้าที่เข้ารื้อทำลายและเผาบ้านเรือน แม้ชาวบ้านบางส่วนจะได้รับค่าชดเชยเยียวยา ซึ่งคาดว่ามาจากหน่วยงานรัฐ แต่ก็เป็นค่าชดเชยที่ต่ำกว่าความเสียหาย บางครอบครัวได้บ้านบนที่ดินใหม่ แต่ก็ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จึงไม่อาจนอนใจในสิทธิของตนเองบนที่ดิน ชาวบ้านบางรายได้รับอนุญาตให้ทำงานในไร่อ้อย ๑๐-๑๒ ชั่วโมงต่อวัน ได้ค่าจ้างคนละ ๑๐,๐๐๐ เรียล หรือประมาณ ๒.๕ เหรียญสหรัฐ ซึ่งไม่พอกับการดำรงชีพ
-๖-
ช่องว่างของกฎหมายทั้งกรณีจังหวัดเกาะกงและจังหวัดโอดอร์เมียนเจย คือไม่มีหน่วยงานใดของไทยหรือกฎระเบียบใดๆ มีอำนาจดูแลการลงทุนของไทยในต่างประเทศโดยตรง หน่วยงานเท่าที่มีทำได้เพียงกำกับดูแลเอกชนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย
อ้อย ใบอ้อย และน้ำตาล สินค้าเศรษฐกิจจากภาคการเกษตรที่เปลี่ยนชีวิตคน
-๗-
วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๑ ชาวกัมพูชา ๒ คนซึ่งเป็นตัวแทนชาวกัมพูชาประมาณ ๖๐๐ ครัวเรือนจาก ๕ หมู่บ้าน ในจังหวัดโอดอร์เมียนเจยได้เข้ายื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อบริษัทไทยที่ลงทุนข้ามพรมแดนที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายให้ชาวบ้านจากกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบจากการแย่งยึดที่ดินไปทำเป็นไร่อ้อย ขับไล่ชาวบ้าน เผาทำลายบ้านเรือน แม้ว่าบริษัทถอนตัวออกไปจากพื้นที่แล้ว
การยื่นฟ้องคดีนี้เป็นครั้งแรกที่จะได้ใช้กลไกทางกระบวนการยุติธรรมของไทยในทางแพ่งเพื่อเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการลงทุนข้ามพรมแดน และเพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวทางในกระบวนการยุติธรรมที่จะนำมาใช้เพื่อให้เกิดการเคารพต่อหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองการลงทุนข้ามพรมแดน
-๘-
ครึ่งปีต่อมาคือวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๑ ฝ่ายสื่อสารองค์กรกลุ่มมิตรผลออกเอกสารชี้แจงกรณีชาวกัมพูชายื่นฟ้องบริษัทฯ ต่อศาลไทย สยบข่าวลือว่าศาลไทยรับฟ้องคดีกว้านซื้อที่ดินในกัมพูชา ยืนยันว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ศาลยังไม่ได้มีการรับฟ้อง หรือเริ่มการเจรจาไต่สวนแต่อย่างใด เนื่องจากฝ่ายโจทย์ชาวกัมพูชาแถลงต่อศาลว่ายังเตรียมข้อมูลไม่พร้อม ยืนยันว่าทางบริษัทยึดมั่นต่อจรรยาบรรณทางธุรกิจและให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่เป็นธรรม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งการเคารพและถือปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประเทศที่บริษัทเข้าไปลงทุน
เก็บตกจาก :
- ๑๒ ทุนไทยในต่างแดนต้องจับตา
- การประชุม “ติดตามผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากการลงทุนข้ามพรมแดนของไทยอันเกี่ยวเนื่องจากข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” โดย คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร จันทร์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๐ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
อีกภาคหนึ่งของ “เจ้าชายหัวตะเข้” นักเขียนสารคดีที่เรียนจบมาด้านวิทยาศาสตร์ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และกีฬาเป็นพิเศษ