ไม่กี่วันก่อนมีเพื่อนถามว่า เหตุบังเอิญมีจริงไหม หรือทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นเพราะมีเหตุผลรองรับ
๒๔๖๑ คงเป็นปีสามัญธรรมดาของเด็กหลายคนที่เกิดปีนั้น
แต่เมื่อ ๑ ศตวรรษผ่านไป คือวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาลของนักเขียนหลายคน บังเอิญไหมที่ผลงานของพวกเขาส่วนใหญ่กลายเป็นหมุดหมายของวงวรรณกรรม วงวิชาการ และวงการเพลงช่วง ๔๐-๗๐ ปีก่อน
จะเป็นเพราะเหตุของการเกิดปีเดียวกัน มีผลงานร้อนแรงในวัยหนุ่มใหญ่ไล่เลี่ย หรือด้วยบริบทสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง หล่อหลอมเส้นทางนักคิดนักเขียนให้แก่พวกเขา
คงต้องปล่อยเป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์หาคำตอบ
ในฐานะนักอ่าน ผมพบปะพวกท่านผ่านตัวอักษรซึ่งส่งอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คนในยุคสมัยหนึ่งไม่มากก็น้อย
แต่ในฐานะบรรณาธิการ ผมมีโอกาสพบนักเขียนรุ่น ๒๔๖๑ เพียงท่านเดียว คือคุณชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ พร้อมกับคุณดำรงค์ แสงชูวงศ์ เพื่อนสนิทของคุณชาลี จำได้เพียงว่าเพื่อนตายคู่นี้บุคลิกแตกต่างกันสิ้นเชิง ขณะที่คุณชาลีร่างเล็กผอมบาง เป็นฝ่ายเล่าเรื่องนำสนทนา คุณดำรงค์ร่างหนาบึกบึนสมบุกสมบัน พูดน้อยคำต่อคำ
แม้จะไม่มีโอกาสทำงานร่วมกับรุ่น ๒๔๖๑ แต่ผมมามีโอกาสร่วมงานกับนักเขียนที่เกิดถัดมาอีก ๒ ปี หรือรุ่น ๒๔๖๓ ถึงสามท่าน คือ คุณอาสุรพงษ์ บุนนาค คุณตาสรศัลย์ แพ่งสภา และคุณอาพลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์ (ผมขอเรียกคุณอาหรือคุณตาตามความคุ้นเคยที่มีกับแต่ละท่านนะครับ)
ทั้งสามท่านเขียนงานแนวสารคดีบันทึกประวัติศาสตร์ที่อ่านเพลินอ่านสนุก ให้ภาพสังคมยุคอดีตแจ่มชัด
คุณอาสุรพงษ์สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของโลกช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ สามารถเล่าบรรยายเหตุการณ์การรบในยุทธภูมิต่าง ๆ ทั้งสมรภูมิบนบกและในท้องทะเล ให้เห็นเลือดเห็นเนื้อราวกับฉากในภาพยนตร์ ผลงานสร้างชื่อของท่าน มีเช่น ทะเลเดือด ทะเลโหด สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุทธการพลิกโลก เรียกว่าถ้าสมัยก่อนมีรายการแฟนพันธุ์แท้ คุณอาต้องเป็นตัวเต็งหนึ่งของหัวข้อสงครามโลกครั้งที่ ๒ นอกจากนี้ยังเขียนชีวประวัติของศิลปินกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์ในหนังสือ ชีวิตศิลปิน และนักดนตรีคลาสสิกใน ดนตรีแห่งชีวิต ผลงานส่วนใหญ่เป็นต้นฉบับขนาดหนาปึกหลายร้อยหน้า เขียนนานเป็นปี ๆ กว่าจะเสร็จ แต่ละเล่มใช้เวลาค้นคว้าอ่านตำราภาษาอังกฤษ พร้อมกับประสบการณ์ที่ได้เดินทางซึมซับบรรยากาศบ้านเมืองมาทั่วโลก
คุณตาสรศัลย์ใช้นามปากกาว่า “ฒ. ผู้เฒ่า” เขียนเรื่องเล่าเมืองไทยเป็นตอน ๆ ลงใน ต่วย’ตูน ก่อนจะมาพิมพ์รวมเล่ม ผลงานเป็นที่จดจำ เช่น ราตรีประดับดาวที่หัวหิน ชุดของเก่าเราลืม รถไฟ เรือเมล์ ทะเล รถราง และ ชะอำ ฟองคลื่นศักดินา ฯลฯ ด้วยความเป็นคนอารมณ์ดี ท่านจึงเล่าเรื่องแบบเพื่อนเล่าให้ฟัง มีหยิกหยอกให้แสบ ๆ คัน ๆ อ่านแล้วขำ ๆ กับสภาพบ้านเมืองไทยช่วงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองเรื่อยมา
ผลงานของคุณตาได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นจากเรื่อง สงครามมืด วันญี่ปุ่นบุกไทย จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี เมื่อปี ๒๕๔๔ ปีนั้นคุณตาอายุ ๘๑ น่าจะเป็นนักเขียนที่อายุมากที่สุดคนหนึ่งที่เคยเข้ารับรางวัล
คุณตาสรศัลย์เป็นนักเขียนอีกท่านที่มีความจำเป็นเลิศ ชื่อคน สถานที่ และเหตุการณ์ท่านไล่เรียงให้ฟังได้อย่างละเอียด เวลาส่งงานพิมพ์ดีดต้นฉบับประณีตเรียบร้อย ตรวจทานการพิมพ์มาแล้วแบบบรรณาธิการแทบหาที่ผิดไม่เจอ
ส่วนคุณอาถาวรถ้าใครเกิดทันก็อาจคุ้นเคยกับท่านในฐานะผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ เช่น “สัมมนานักสืบ” “การบินไทยไขจักรวาล” ผมมาพบตัวจริงตอนคุณอาสูงวัยแล้ว แต่ยังคงเป็นชายหนุ่มหุ่นสมาร์ต สุภาพ และมีเสน่ห์ สารคดีมีโอกาสพิมพ์ผลงานของท่านเล่มเดียว แต่สำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องราวของกองทหารไทยที่ต้องเดินทัพขึ้นไปถึงเชียงตุง เข้าใจว่าไม่มีคนอื่นอีกที่เคยเขียนบันทึกไว้ หนังสือเล่มนั้นชื่อ ทหารเหลือใช้สงคราม
ผมเองเกิดเดือนกันยายน คุณอาถาวรเกิดเดือนกันยายน คุณอาสุรพงษ์เสียในเดือนกันยายน และคุณตาสรศัลย์จากไปเดือนตุลาคม
ไม่ว่าจะด้วยเหตุบังเอิญหรือเหตุปัจจัยใด ๆ ที่ได้มาประจวบกัน
ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมทุก ๆ ปี ผมยังคิดถึงคุณตา
คุณอานักเขียนทุกท่านอยู่เสมอ ๆ ครับ
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี
suwatasa@gmail.com