ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก
เรื่อง : พญ. ศรัณยา ศรีวราสาสน์
ภาพ : อรอนงค์ สรรพคีรี
ความเป็นหมอไม่ได้จำเพาะแค่ให้การรักษา
วันหยุดไหนไม่มีภารกิจตรวจคนไข้ ฉันอาจมุ่งขึ้นเหนือไปพักผ่อนริมแม่น้ำยวม หรือเลี้ยวขวาเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ บางครั้งนึกสนุกขับรถข้ามดอยรวกที่ขวางกั้นตัวเมืองตากและแม่สอดเพื่อไปเยี่ยมเพื่อนที่ตำบลระแหงในจังหวัดตาก สัปดาห์นี้มีโอกาสดีเมื่อเพื่อนชวนทำภารกิจที่ต่างจากเดิม
“สนใจบริจาคของให้เด็กๆ ไหม”
เพื่อนพยาบาลสาวชาวปกาเกอะญอชวนไปหมู่บ้านกะเหรี่ยงแม่หละอาคี ตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งตั้งอยู่ชายแดนริมฝั่งแม่น้ำเมย
ตั้งแต่ทำงานที่โรงพยาบาลท่าสองยางมาได้ครึ่งปี ฉันรับรู้เพียงแค่ที่นั่นยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง แต่ยังไม่เคยได้เข้าไปสัมผัสวิถีชุนชนเลยสักครั้ง จึงตอบตกลงง่ายดายทั้งที่เพื่อนสาวกำชับซ้ำว่าให้ “เผื่อใจ” ไปด้วย
ก๊อง! ก๊อง! ก๊อง!
เป็นเสียงที่พวกเราช่วยกันเคาะปล้องไผ่ที่วางไว้ริมแม่น้ำเมย ส่งสัญญาณหาเรือหางยาว
จากนั้นจะมีชาวบ้านขับเรือมารับพวกเราพร้อมขนกล่องเสื้อผ้าไปส่งยังท่าน้ำที่ใกล้หมู่บ้านแม่หละอาคีที่สุด เสื้อผ้าเหล่านี้ได้มาจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลช่วยประชาสัมพันธ์รับบริจาคผ่านทางเฟซบุ้ค
เมื่อขึ้นจากเรือหางยาวพวกเราต้องสัญจรต่อด้วย “รถอีแต๊ก” เพื่อความเหมาะสมกับสภาพเส้นทางในป่าโปร่งที่บางช่วงโรยกรวดหิน บางช่วงต้องข้ามลำธารสายเล็กๆ ระยะทางเพียง ๒ กิโลเมตรกว่านั้น ทำให้ฉันเมาทั้งแดด ฝุ่น และรถที่โขยกเขยกไปมาตลอดเวลา
“นั่น! ถึงแม่หละอาคีแล้วใช่ไหม”
อดตะโกนด้วยความยินดีไม่ได้เมื่อเห็นหย่อมบ้านไม้ยกพื้นสูงซึ่งส่วนใหญ่จะมีหมูดำนอนสบายอารมณ์อยู่ใต้ถุนบ้าน สัญลักษณ์หนึ่งที่บ่งบอกว่าบ้านนั้นมีลูกสาว เพราะเมื่อเธอเติบใหญ่จะต้องไปสู่ขอเจ้าบ่าวพร้อมทั้งล้มหมูดำเป็นอาหารเลี้ยงชาวบ้านในพิธีแต่งงาน
“ถ้าเจอหมู่บ้านนี้แสดงว่าเรามาถึงครึ่งทางแล้ว”
เพื่อนพยาบาลปลอบใจผู้ร่วมทริปชาวไทยเชื้อสายจีนเพียงคนเดียวให้มีแรงฮึดสู้เดินทางต่อ
นั่งหัวสั่นหัวคลอนได้ชั่วโมงกว่า รถอีแต๊กก็จอดที่ต้นทางเข้าหมู่บ้านซึ่งเป็นอาคารไม้ขนาด ๑ โถงใหญ่ ภายในมีเวทีและเก้าอี้ไม้ยาววางซ้อนแถว ข้างผนังติดแผ่นความรู้สอนนับเลข หน้าอาคารเป็นเสาธงชาติกะเหรี่ยงพร้อมที่โล่งด้านหน้าคาดว่าคงใช้เป็นบริเวณเข้าแถวเคารพธงชาติ
ในที่สุดเราก็มาถึงโรงเรียนของเด็กๆ ในหมู่บ้านแม่หละอาคีและหมู่บ้านในละแวกสักที
ภารกิจบริจาคของคือวันพรุ่งนี้ เวลาที่เหลือของวันนี้คืออิสระที่ฉันจะได้เดินเล่นสำรวจชุมชน
หมู่บ้านนี้มีส้วมสาธารณะเพียงแห่งเดียวและไม่มีห้องอาบน้ำ ชาวบ้านจะนุ่งกระโจมอกไปตีโป่งกันในลำธาร หลังได้สัมผัสน้ำใสสะอาดความกระปรี้กระเปร่าก็คืนร่างกายให้ลืมเหนื่อยล้าจากการเดินทาง
“’มึ๊ก๊า’ เตรียมอาหารให้พวกเราเสร็จแล้ว”
คนส่งสัญญานหมายถึงคุณป้าที่ดูแลเรื่องอาหารการกิน
ต้มฟักชามใหญ่ ไข่เจียว ไม่ชวนฉงนเท่าน้ำพริกหน้าตาประหลาด
“จับหนูป่ามาได้ เลยถลกหนังมันออก เอาเนื้อมาตำน้ำพริกให้ ‘ตะละผาโด้’ กินนี่แหละ”
เขาเรียกฉันเป็นภาษากะเหรี่ยง ในความหมายว่าหมอ
น้ำพริกคำที่สองกำลังเข้าปาก เล่นเอาผงะจนเจ้าบ้านหัวเราะชอบใจ
หลังกินข้าวเสร็จพวกเราพากันไปทักทายครูอาสาที่มีอยู่เพียงคนเดียว
“ไม่รู้จะนอนได้หรือเปล่านะ”
มึ๊ก๊าพูดภาษาปกาเกอะญอ ด้วยความห่วงใยว่าหมอต่างถิ่นจะนอนชายระเบียงตากน้ำค้างแล้วไม่สบาย หญิงวัยกลางคนออกตัวว่าเธอมีแค่มุ้งหนึ่งหลังที่กางให้ลูกแดงนอนเท่านั้น ครั้นฉันยืนยันว่าเป็นคนนอนหลับง่ายเธอก็หมดห่วงแล้วแยกย้ายไปเข้าสู่ห้วงนิทราบ้าง
เช้าวันใหม่มาถึง เด็กน้อยในหมู่บ้านต่างมาเรียงแถวรอรับของบริจาคด้วยหน้าตาแจ่มใส
เพื่อนพยาบาลปลีกตัวไปอวดฝีมือทำลอดช่องกะทิเป็นของว่างให้เด็กๆ กินก่อนกลับบ้าน
เด็กหลายคนไม่มีเสื้อผ้าที่พอดีตัวใส่ แต่เสื้อที่ได้รับก็เพียงพอจะให้พวกเขาไม่ต้องทนสะท้านเมื่อฤดูกาลอันหนาวเหน็บมาเยือน เจ้าพวกตัวเล็กต่างยิ้มร่าดีใจที่ได้แฟชั่นเสื้อผ้าใหม่กลับไปอวดพ่อแม่
เป็นความสุขเล็กน้อยในหนึ่งวันของพวกเขา แต่เป็นความอิ่มใจยิ่งของฉันที่เกิดขึ้นใน ๒ วัน ๑ คืน
กิจกรรมง่ายๆ ในวันหยุดไม่เพียงให้ประสบการณ์วิถีเรียบง่ายของชุมชนที่อยู่ห่างความเจริญ ยังได้เรียนรู้ว่าอาชีพหมอยังสามารถจัดคอร์ส “รักษาความสุข” แก่ผู้อื่นได้หลายวิธี
และขณะที่เราเป็นผู้ให้ ก็ได้เป็นผู้รับคืนกลับทันทีเช่นกัน
แพทย์หญิงศรัณยา ศรีวราสาสน์
หลังจบการศึกษาจากแพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับสอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากสวมเสื้อกาวน์ประกอบอาชีพที่รักในโรงพยาบาลทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ยังสนุกกับการเขียนหนังสือ เคยมีผลงาน “โอ้วเอ๋ว…อดีต ปัจจุบัน อนาคต” เผยแพร่กับนิตยสาร สารคดี เมื่อปี ๒๕๕๙ และบทความ “เสียงเพรียกแห่งพงไพร” เคยได้รับรางวัลกำลังใจ จากแพทยสภา ในปี ๒๕๖๑
…….
สุชาดา ลิมป์
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน