สารคดีในโรงเรียนมัธยม
วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
คงด้วยความรักชอบในทางวรรณศิลป์ ครูปฐมรัตน์ จำรัส จึงชักชวนเพื่อนครูในหมวดวิชาภาษาไทย โรงเรียนคลองลานวิทยา กำแพงเพชร ขออนุมัติผู้บริหารทำค่ายอบรมการเขียนให้กับนักเรียน ม.ปลาย ของโรงเรียน ระหว่างวันที่ ๘-๙ กันยายน ๒๕๖๑
วิชาภาษาไทยหรือหลักการเขียนภาษาไทยเบื้องต้น นักเรียนได้เรียนในรายวิชาบังคับมาแล้ว
แต่การเขียนแนววรรณศิลป์ไม่มีอยู่ในหลักสูตรชั้นมัธยม ถ้าครูไม่ริเริ่มบางทีเด็กนักเรียนก็ไม่มีโอกาสได้รู้จัก
การทำค่ายของโรงเรียนมัธยมเล็กๆ ประจำอำเภอไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร มีทรัพยากรใกล้ตัวคืออุทยานแห่งชาติคลองลาน อยู่บนเทือกเขาที่กั้นแบ่งแดนจังหวัดกำแพงเพชรกับจังหวัดตาก
เป็นน้ำตกใกล้บ้านที่เด็กๆ อาจเคยไปเที่ยวเล่นเองบ่อยๆ อยู่แล้ว แต่ย่อมไม่เหมือนครั้งนี้ที่ทุกคนเข้าไปที่นั่นด้วยเป้าหมายเพื่อเก็บเรื่องราวมาเขียนเล่าเป็นงานสารคดี
ครูปฐมรัตน์เชิญครูอัมพิกา ไกรอ่ำ ครูนักเขียนและผู้มีประสบการณ์ทำค่ายอบรมการเขียนที่โรงเรียนเชียงคำวิทยาคม จังหวัดพะเยา มาแล้ว ๘ รุ่น มาช่วยเป็นวิทยากรในค่ายครั้งแรกของโรงเรียนคลองลานวิทยา และชวนผมให้มาช่วยนำนักเรียนเขียนสารคดี
เมื่อได้พูดคุยกับคุณครูและนักเรียน ยังได้รู้ว่าคลองลานเป็นอำเภอริมเทือกเขา ที่ไม่ได้มีแค่น้ำตกเลื่องชื่อ แต่ยังมีความหลากหลายในมิติวิถีชีวิตวัฒนธรรม มีการทอผ้าจากเส้นใยกล้วย มีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่มากถึง ๕-๖ เผ่า เป็นวัตถุดิบชั้นดีที่รอให้ยุวชนนักเขียนใหม่ในพื้นที่ เป็นผู้เล่าเรื่องราวในบ้านของพวกเขาเองต่อไป
แต่ในคราวนี้ด้วยเวลาอันจำกัด ค่ายอบรมการเขียน “ฮ. นกฮูก” ครั้งที่ ๑ จึงเจาะจงแค่สารคดีท่องเที่ยวธรรมชาติเพียงประเด็นเดียว ดังตัวอย่างบางตอนจากบางเรื่อง ที่เชิญมาให้ลองอ่านกันพอสังเขปในที่นี้
“เสียงน้ำตกไหลกระทบโขดหินน้อยใหญ่ ให้ความรู้สึกสดชื่นอย่างบอกไม่ถูก เป็นเสียงที่น่าอัศจรรย์อย่างประหลาด ไม่ว่าฉันจะได้ยินสักกี่ครั้งก็ทำให้รู้สึกดีได้ทุกครั้ง อย่างที่บอกความงดงามของสิ่งที่ธรรมชาติสรรค์สร้าง เป็นสิ่งที่ต้องใช้หัวใจเราสัมผัส
……
แต่ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าบางครั้งสายฝนกับต้นไม้ก็เป็นสิ่งที่น่าสวยงามหลงใหล แต่คงจะดีกว่านี้ถ้าไม่มีฉันเปียกปอนอยู่ใต้ต้นไม้นั่น”
(จากเรื่อง “เสน่ห์ของธรรมชาติ ความงามที่ต้องใช้หัวใจสัมผัส”)
“หากโลกใบนี้ไม่มีต้นไม้ ก็เหมือนไร้ซึ่งหัวใจ เป็นโลกที่แสนขมขื่น”
(จากเรื่อง “อดีตในเมืองหลวงกับปัจจุบันที่ชนบท”)
“การที่เราไม่อยากมาค่ายนั้น ทำให้เราเกือบพลาดโอกาสที่เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นนักเขียน เราอาจไม่รู้ว่าการเป็นนักเขียนนั้นต้องปฏิบัติและเรียนรู้กับอะไรหลายๆ อย่างบ้าง แต่พอเรามารู้จากค่าย ฮ. นกฮูก แล้วทำให้เราไม่ปิดกั้นต้นเอง ทำให้เราเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ที่เราเคยได้ยินมาแต่ไม่เคยเข้าใจรายละเอียดของมัน”
(จากเรื่อง “ไม่อยากมาค่าย”)
บางคนใช้ใช้ธรรมชาติที่ได้สัมผัสเปรียบกับนามธรรมในใจ
“ความรักก็ต่างอะไรกับธรรมชาติที่งดงามรอบตัว ความรักที่ยาวนานเหมือนสายน้ำที่ไหลไปเรื่อยไม่มีวันจบสิ้น ความรักเหมือนสายลมที่พัดผ่านไปมาตลอดเวลา เส้นทางที่ยาวไกลในธรรมชาติก็เหมือนกับความรักที่ยาวไกลไม่มีวันสิ้นสุด”
(จากเรื่อง “ธรรมชาติกับความรัก”)
“ไม่เคยมีอะไรที่แบบนี้มาก่อน จะจดจำช่วงเวลานี้ไว้ภายในใจ จะพยายามเก็บความรู้ความและจดจำไว้ให้เยอะที่สุด”
(จากเรื่อง “การมาค่ายในวันนี้”)
“บางครั้งการเขียนดีกว่าการพูด เพราะเราได้แสดงความรู้สึกผ่านตัวหนังสือ ต้องผ่านการไตร่ตรองก่อนจะมาเป็นประโยคหนึ่ง เราจึงควรให้ความสำคัญกับการเขียน แต่การฟังและการพูดก็สำคัญ”
(จากเรื่อง “ความประทับใจในค่าย ฮ. นกฮูก)
เป็นผลงานบางส่วนจากค่ายในช่วงเวลา ๒ วัน ๑ คืน ในโอกาสต่อไปหากมีเวลาให้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในประเด็นที่หลากหลาย ย่อมได้งานเขียนที่ดีมีคุณค่าอย่างไม่ต้องสงสัย จะเป็นงานเขียนที่บันทึกประวัติศาสตร์-องค์ความรู้ของชุมชนโดยในคนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดคลุกคลีอยู่กับข้อมูลโดยตรง
เป็นเรื่องที่ลงตัวงดงาม ถูกต้องแม่นตรง และน่าภาคภูมิใจเสียนี่กระไร กับการที่เราสามารถบันทึกท้องถิ่นของเราได้ตนเอง
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา