เรื่อง : ธนากร สิงห์ทา
ภาพ : ธนากร สิงห์ทา, และ Pixabay
หลายครั้งที่เราอาจถูกล่วงละเมิดโดยที่เราเองไม่รู้ตัว และบางครั้งเราอาจเป็นผู้สนับสนุนการล่วงละเมิดคนอื่นไปก็เป็นได้
มันใกล้ตัวมากจนเราอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำแต่บทสรุปคือ เรากำลังกลายเป็นผู้ถูกล่วงละเมิดหรือเป็นผู้สนับสนุนให้มีการล่วงละเมิดสิทธิโดยที่เราไม่รู้ เป็นโจทย์หลักที่กลุ่ม “ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” พันธมิตรที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่ม กินเปลี่ยนโลก, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย เรียกร้องและให้ความสำคัญกับนโยบายสาธารณะด้านสังคม
เนื่องด้วยธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เป็นหนึ่่งในธุรกิจที่สร้างมูลค่า สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไทยสูงถึง ๒.๒ ล้านล้านบาท มีสัดส่วนสูงถึง ๑๕% ของผิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไทย ตามข้อมูลในปี ๒๕๕๙
นอกจากนี้ธุรกิจการค้าปลีกยังส่งผลในด้านตลาดแรงงานอีกด้วย หนึ่งในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่สำคัญของคนไทยในปัจจุบันอย่าง “ซุปเปอร์มาร์เก็ต” ปัจจุบันประเทศของเรามีจำนวนซุปเปอร์มาร์เก็ตรวมทั้งสิ้นกว่า ๓,๐๐๐ สาขา อัตราการเติบโตของตลาดซุปเปอร์มาร์เก็ตนับว่ามีการเติบโตและขยายอย่างต่อเนื่องตลอดสิบปีที่ผ่านมา
ความเฟื่องฟูของตลาดอย่าง “ซุปเปอร์มาร์เก็ต” ที่กำลังรุ่งโรจน์จนอะไรก็ฉุดไม่อยู่ เกี่ยวข้องอะไรกับการล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมของคน ?
เกษตรกรรายย่อย การผลิตอาหาร และแรงงาน ปัจจัยสำคัญที่นับว่าทำให้เกิดสินค้าที่ปรากฎตามซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เราเห็นทั่วไป
การเติบโตของรายได้ที่สูงขึ้นของซุปเปอร์มาร์เก็ตทำให้การเติบโตรายได้ของ เกษตรกรรายย่อย การผลิตอาหารและแรงงาน สูงขึ้นเช่นเดียวกันหรือไม่ ?
คุณภาพชีวิตของเกษตรกรและรายงานจะดีขึ้นตามดัชนีมูลค่าของซุปเปอร์มาเก็ตหรือไม่ ?
คำตอบคือไม่
เกษตรกรรายย่อย การผลิต อาหารและแรงงานในภาคเกษตรกรรม ยังคงไม่กระเตื้อง ทั้งที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญของตลาดซุปเปอร์มาร์เก็ต
ปริศนาข้อนี้ได้รับการเปิดเผยจากมูลนิธิชีววิถี ว่าห่วงโซ่อุปทานของคนไทยมีลักษณะเป็นคอขวด กล่าวคือจำนวนเกษตรกว่า ๒๓ ล้านคน จำนวนมากกว่าผู้ค้าผู้ผลิตและผู้จำหน่ายปลีกส่งรายใหญ่
จำนวนที่แตกต่างกันส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของมูลค่าทางเศรษฐกิจ กล่าวง่าย ๆ คือ จำนวนเกษตรกรรายย่อย การผลิตอาหารและแรงงานในภาคเกษตรกรรมมีจำนวนมากกว่าผู้ค้าผู้ผลิตและผู้จำหน่ายปลีกส่งรายใหญ่ ทำให้เกิดการแข่งขันและการต่อรองราคา จึงไม่แปลกที่ภาคเกษตรกรรมและผู้ผลิตไทยยังคงย่ำแย่อยู่กับที่
งานวิจัยจากองค์การอ็อกแฟมสากล (๒๕๖๑) ยืนยันปัญหาในห่วงโซ่อุปทานว่า เกษตรกรรายย่อย การผลิตอาหารและแรงงานในภาคเกษตรกรรมผู้ผลิตขั้นต้นกลับเป็นผู้ขาดความมั่นคงทางอาหาร (Food Inseccurity) สืบเนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ
ความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานสินค้าอาหารที่วางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ชวนให้ตั้งคำถามถึงบทบาทและความเท่าเทียมกันของภาคเศรษฐกิจ และนี่จึงเป็นที่มาของการทำงานขององค์กรภาคีฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก และองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย ในการประเมินนโยบายสาธารณะของซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำเพื่อสังคมและความโปร่งใส
ในปี พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๑ มีซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ๗ แห่ง ได้แก่ เทสโก้ โลตัส, แม็คโคร, บิ๊กซี, ฟู๊ดแลนด์, วิลล่า มาร์เก็ต, ซีพี เฟรชมาร์ท และ Gourment Market ให้ความร่วมมือและร่วมประเมินกับโครงการ “ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” สรุปในภาพรวม มี ๔ ซุปเปอร์มาร์เก็ตรายที่ได้รับผลการประเมิน ในขณะที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตอีก ๓ แห่ง ยังไม่ได้รับคะแนนเนื่องจากข้อมูลยังไม่ครบตามหลักการประเมิน
นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา หนึ่ง่ในผู้ร่วมรณรงค์ กล่าวว่า
“แน่นอนว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นผู้เล่นที่มีอำนาจการต่อรองสูงกว่า สามารถใช้พลังตรงนี้เปลี่ยนแปลงได้ เริ่มตั้งแต่เปิดเผยและพัฒนานโยบายตัวเองให้ดี ดีต่อทั้งสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค และที่สำคัญคนต้นทางการผลิตอย่างเกษตรกร แรงงาน และขยายไปสู่การส่งเสริมคู่ค้าด้วยในอนาคต ถ้าทำแบบนี้จะเป็นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง แถมโดนใจลูกค้าด้วย เพราะเป็นแนวโน้มของผู้บริโภคยุคใหม่ทั่วโลกที่มุ่งสู่ทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตจะหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป”
จากข้อมูลข้างต้นที่ได้กล่าวมาเป็นตัวอย่าง คงทำให้เห็นภาพมากขึ้นว่าตอนนี้เรากำลังเป็นผู้สนับสนุนความไม่เท่าเทียมโดยไม่รู้ตัว ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวรายการข่าวสามมิติ หนึ่งในตัวแทนผู้บริโภคและเป็นสื่อที่นำเสนอข่าวสาร ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ เรื่องข่าววแรงงานประมง ที่ติดเกาะเบนจิน่าในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ ๓ ปีที่แล้วว่า
“ได้พบแรงงานที่กลายเป็นคนผีในอินโด (ไม่มีบัตร) บางคนถูกขังคุกอยู่เกาะเบนจิน่า สภาพชีวิตแต่ละคนติดเหล้า การเป็นอยู่คุณภาพชีวิตแย่มาก สภาพเหล่านี้ทำให้เราเห็นถึงการค้าแรงงาน ซึ่งพวกปลาที่เขาหาได้ก็คงถูกส่งไปตามโรงงานต่าง ๆ อีกที มันทำให้เราไม่กล้าซื้อพวกสินค้าประเภทนี้อยู่พักหนึ่ง ”
อีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการล่วงละเมิด และความไม่เท่าเทียมของแรงงาน ที่ต้องทำงานอย่างหนักของคนที่เรียกว่า ‘ต้นทาง’ สู่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สร้างเม็ดเงินให้ธุรกิจซุปเปอร์มาร์เก็ต
ฐปณีย์ ยังได้กล่าวต่ออีกว่า การค้ามนุษย์ในเรือแสดงให้เห็นถึงการถูกเอาเปรียบด้านแรงงาน ซึ่งแรงงานเหล่านั้นเป็นต้นทางของอาหารที่เรากิน
“แรงงานไม่ใช่เพื่อแลกเงิน แต่แลกชีวิตไปวันๆ”
คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ของแรงงานคนผีในอินโด บางคนถูกขังคุกบนเกาะเบนจิน่า บางคนเป็นคนไทยแต่ถูกเปลี่ยนให้เป็นสัญชาติพม่า ทำงานอย่างหนักและเสียชีวิตที่นั่น ตัวอย่างของการถูกเอาเปรียบด้านสิทธิและความเท่าเทียมของแรงงานที่ฐปณีย์ได้พบเจอนั้น เป็นเพียงหนึ่งประสบการณ์ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าในยุคสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมเป็นเรื่องที่ทุกคนให้คามสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “แรงงาน”
บทเรียนในครั้งนี้คงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ซุปเปอร์มาร์เก็ต ตัวกลางที่ขับเคลื่อนทั้งด้านผู้ผลิตอย่างคนต้นทางและผู้บริโภค ตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้น
ตัวอย่างความไม่เสมอภาคและสิทธิความเท่าเทียม ไม่ได้เกิดเฉพาะกับแรงงานที่เป็นคนเท่านั้น วริศรา ศรเพชร ผู้อำนวยการ change.org ประเทศไทย กล่าวถึงตัวอย่างผลกระทบที่ปรากฎในซุปเปอร์มาร์เก็ต
‘ปลานกแก้ว’ ปลาที่มีลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับปลาในวงศ์ปลานกขุนทอง อาศัยอยู่ตามแนวปะการังเขตร้อนและเขตอบอุ่นในน่านน้ำไทยพบได้ในฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน หนึ่งในวัตถุดิบอาหารที่ใครหลาย ๆคนเคยรับประทาน ปลานกแก้วมีประโยชน์ต่อในเรื่องระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบนิเวศปะการัง ปกติคนไม่นิยมรับประทานปลานกแก้วกันมากนัก แต่เนื่องจากห้างนำมาขาย ก็เริ่มมีคนรับประทานกัน กลุ่มพิทักษ์ปะการัง จึงออกเรียกร้องไม่ให้มีการขายปลานกแก้ว
หลังการเรียกร้องจากกลุ่มดังกล่าว ปรากฎว่าภายใน ๒ สัปดาห์ ไม่มีการขายปลานกแก้วในห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต
จากกรณีที่วริศราได้ยกตัวอย่างการเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์ปะการัง แสดงให้เห็นว่าเสียงของทุกคนสามารถขับเคลื่อน หรือช่วยจัดระเบียบสังคมได้
“มันคือการหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่การขัดแย้งกัน บางที่บริษัทเขาก็รับฟัง มันเป็นการเปิดพื้นที่ให้ได้สนทนาการ”
ทั้งสองกรณีไม่เพียงแต่เรื่องของความไม่เท่าเทียมและสิทธิเสรีภาพของแรงงาน หรือเรื่องอำนาจการขายของซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ส่งผลต่อด้านสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างที่กล่าวข้างต้นว่า การดำเนินชีวิตประจำวันของเราอาจส่งผลกระทบต่อความเท่าเทียมหรือสิทธิเสรีภาพ หรือเราอาจโดนล่วงเกินสิทธิเสรีภาพหรือความเท่าเทียมโดยไม่รู้ตัว
วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง SpokeDark TV หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “จอห์น วิญญู” ได้บอกเล่าประสบการณ์ในมุมที่เราอาจโดนล่วงเกินเรื่องสิทธิว่า
“ผมทำรายการ และได้ทำเกี่ยวกับพวกสารเคมีในอาหาร พบว่าอาหารหรือผักบางอย่างที่อยู่ในห้างหรือซุปเปอร์มาเก็ตก็มีสารตกค้าง แม้กระทั้งออร์แกนิคบางทีก็ยังไม่ออร์แกนิค” การได้รับข้อมูลที่เป็นเท็จถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค
ปัญหาเหล่านี้ที่จริงเป็นสิ่งที่ทาง “ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” กำลังสนใจและผลักดันมาโดยตลอด ซุปเปอร์มาร์เก็ต มีข้อมูลการซื้อ แต่ไม่มีข้อมูลต้นตอการผลิต สิ่งสำคัญของการที่จะช่วยแก้ปัญหารายย่อย การผลิตอาหารและแรงงานในภาคเกษตรกรรม คือการเก็บข้อมูลแหล่งต้นตอการผลิต เพราะนอกจากจะช่วยให้ทราบถึงผลกระทบของกลุ่มเกษตรกรรายย่อย การผลิตอาหารและแรงงานในภาคเกษตรกรรม หรือปัญหาอื่นของ ๆ ของผลิตภัณฑ์ที่ปรากฎในซุปเปอร์มาร์เก็ตอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นข้อมูลยืนยันในตัวสินค้าเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอีกด้วย
“ถ้าเขาสามารถเปิดเผยหรือแสดงให้เห็นถึงที่มาของอาหาร ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี หลายครั้งที่คุณทำเรื่องการประชาสัมพันธ์ คุณก็เอาเงินไปลงกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ผมรู้สึกว่าจริง ๆ แล้ว การประชาสัมพันธ์แบบเปิดเผยต้นตอที่มา มันยั่งยืนกว่า และทำให้คนมองว่า แบรนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ตของคุณใส่ใจ” วิญญูกล่าวทิ้งท้าย
ภาพของซุปเปอร์มาร์เก็ต แหล่งช็อปปิ้งจับจ่ายใช้สอยของใครหลาย ๆ คนที่นิยมชมชอบกัน อาจแฝงด้วยคราบ น้ำตา หยาดเหงื่อ และการกดขี่ แรงงาน ความเท่าเทียม ของคนอีกมากมาย คงดีไม่น้อยหากเราได้ร่วมกันช่วยเป็นหนึ่งแรงผลักดัน
เสียงเล็ก ๆ ที่เป็นกำลังในการส่งเสริมให้ซุปเปอร์มาร์เก็ต เห็นถึงความสำคัญของการเปิดเผยและพัฒนานโยบายต่อทั้งสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค และที่สำคัญคือ คนต้นทางผู้ผลิตอย่างเกษตรกรและแรงงาน
ข้อมูลประกอบการเขียนจาก
- งาน confessions of shoppers วันอังคาร ที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๗.๐๐ ถึง ๒๐.๐๐ น. ณ สยามสมาคส กรุงเทพฯ
- เอกสาร ซุปเปอร์มาร์เก็ตไทย กับ นโยบายสาธารณะสังคม ผลประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของซุปเปอร์มาร์เก็ตไทยรายงาน ซุปเปอร์มาร์เก็ตไทยกับนโยบายสาธารณะด้านสังคม