เก็บตก
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
แสตมป์เต่ามะเฟือง จำหน่ายเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙
“ผู้ใดมีสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในความครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าได้นำสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวมามอบให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ และให้สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน และเมื่อได้จดแจ้งชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าที่รับมอบไว้แล้วอธิบดีอาจมอบสัตว์ป่าดังกล่าวให้อยู่ในความดูแลของผู้นั้นต่อไปได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสัตว์นั้นเป็นสำคัญ”
บทเฉพาะกาล มาตรา ๖๖ พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕
…..
เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ได้จัดการประชุมขึ้น ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อถึงวาระที่ ๔ เรื่องแจ้งเพื่อทราบ ที่ประชุมได้รายงานผลการเสนอชื่อสัตว์ป่า อันประกอบด้วย วาฬบรูด้า(Balaenoptera edeni) วาฬโอมูระ(Balaenoptera omurai) ฉลามวาฬ(Rhincodon typus) และเต่ามะเฟือง(Dermochelys coriacea) เพื่อขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวนแห่งชาติ ว่าไม่ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากมีข้อสังเกตเรื่องการลิดรอนสิทธิของผู้ได้รับอนุญาตให้ครอบครองเต่ามะเฟืองและวาฬบรูด้า จึงยังไม่สามารถผลักดันสัตว์ป่าทั้ง ๔ ชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวนได้สำเร็จ
ก่อนหน้านี้ บัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวนตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ มีทั้งหมด ๑๕ ชนิด ประกอบด้วย ๑. นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร(Pseudochelidon sirintarae) ๒. แรด(Rhinoceros sondaicus) ๓. กระซู่(Didermocerus sumatraensis) ๔. กูปรีหรือโคไพร(Bos sauveli) ๕. ควายป่า(Bubalus bubalis) ๖. ละองหรือละมั่ง(Cervus eldi) ๗. สมันหรือเนื้อสมัน(Cervus schomburgki) ๘. เลียงผาหรือเยืองหรือกูรำหรือโครำ(Capricornis sumatraensis) ๙. กวางผา(Naemorhedus griseus) ๑๐. นกแต้วแล้วท้องดำ(Pitta gurneyi) ๑๑. นกกระเรียน(Grus Antigone) ๑๒. แมวลายหินอ่อน(Pardofelis marmorata) ๑๓. สมเสร็จ(Tapirus indicus) ๑๔. เก้งหม้อ(Muntiacus feai) และ ๑๕. พะยูนหรือหมูน้ำ(Dugong dugon)
นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เป็นต้นมา หรือผ่านมาแล้ว ๒๖ ปี บัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวนของไทยยังคงหยุดอยู่ที่ ๑๕ ชนิด ไม่เคยมีสัตว์ป่าถูกขึ้นบัญชีเพิ่มแม้แต่ชนิดเดียว ด้วยเหตุนี้เมื่อสังคมรับรู้ถึงความพยายามผลักดันให้วาฬบรูดา วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง ขึ้นชั้นเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ ๑๖ ๑๗ ๑๘ ๑๙ จึงได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะกลุ่มนักอนุรักษ์เท่านั้นที่อยากให้การผลักดันครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ
ความเป็นมาของการรณรงค์ให้มีการขึ้นทะเบียนสัตว์ป่าสงวนเพิ่ม ๔ ชนิด เริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อราวปี ๒๕๕๘ ในปีต่อมาก็สามารถระดมรายชื่อผู้สนับสนุนได้มากกว่า ๕๐,๐๐๐ คน เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ต่อมาคณะทำงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมประมง ได้เริ่มพิจารณาการขึ้นบัญชีสัตว์ป่าสงวน ๔ ชนิด พร้อมๆ กับการเสนอขึ้นบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองเพิ่ม ๑๒ ชนิด โดยนำเสนอต่อคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ที่มีรมต.กระทรวงทรัพยากรฯ เป็นประธาน ทางคณะกรรมการฯ ได้ลงมติสนับสนุน เช่นเดียวกับสภาปฏิรูปประเทศที่ลงมติสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ ไม่มีเสียงคัดค้านแม้แต่เสียงเดียว
ในทางกฎหมาย “สัตว์ป่าสงวน” ตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ หมายความว่า สัตว์ป่าที่หายากตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และตามที่จะกำหนด โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
“สัตว์ป่าคุ้มครอง” หมายถึง สัตว์ป่าตามที่กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ในส่วนของการยื่นเรื่องขอให้มีการขึ้นบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองเพิ่มอีก ๑๒ ชนิดนั้น ในเวลาต่อมาก็ได้มีการออกกฎกระทรวงให้สัตว์ป่าทั้ง ๑๒ ชนิด อาทิ ปลาโรนินหรือปลากระเบนท้องน้ำ(Rhina ancylostoma) ปลากระเบนราหูน้ำจืดหรือปลากระเบนเจ้าพระยา (Himantura chaophraya) ปลาฉนากยักษ์(Pristis pristis) ปลากระเบนแมนต้าแนวปะการัง(Manta alfredi) ฯลฯ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ฉลามวาฬ ปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
หากแต่การยื่นเรื่องขอขึ้นบัญชีสัตว์ป่าสงวน ๔ ชนิดนั้นมีผลแตกต่างกัน
ถึงแม้เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๙ คณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติในหลักการของ “ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน พ.ศ. …” หากแต่เมื่อถึงขั้นการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กลับพบข้อสังเกตเรื่องการลิดรอนสิทธิของผู้ได้รับอนุญาตให้ครอบครองเต่ามะเฟืองและวาฬบรูด้า โดยกรมประมงมีหนังสือด่วนที่สุดแจ้งกรมอุทยานฯ ว่าคณะกรรมการฝ่ายวิชาการพิจารณาสถานภาพสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์น้ำ มีมติเห็นควรชะลอการเสนอพระราชกฤษฎีกาข้างต้นไว้ก่อน เนื่องจากมีผลกระทบและลิดรอนสิทธิของประชาชนผู้ได้รับอนุญาตครอบครองสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
กล่าวให้เข้าใจโดยง่าย คณะทำงานได้ตั้งข้อสังเกตว่าในทางกฎหมายแล้วยังไม่มีช่องทางให้ผู้ที่ครอบครองสัตว์น้ำทั้ง ๔ ชนิดมาก่อน สามารถแจ้งครอบครองได้อย่างไม่มีความผิด การขึ้นทะเบียนสัตว์ป่าทั้ง ๔ ชนิดให้เป็นสัตว์ป่าสงวนจึงถือเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ครอบครองมาก่อน
การขึ้นบัญชีเพิ่มสัตว์ป่าสงวนใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้น เมื่อครั้งที่ประเทศไทยยังใช้ พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ ยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เรามีสัตว์ป่าสงวนเพียง ๙ ชนิด ประกอบด้วย ๑. แรด ๒. กระซู่ ๓. กูปรีหรือโคไพร ๔. ควายป่า ๕. ละองหรือละมั่ง ๖. สมันหรือเนื้อสมัน ๗. ทรายหรือเนื้อทรายหรือตามะแน (Axis porcinus) ๘. เลียงผาหรือเยืองหรือกูรำหรือโครำ และ ๙. กวางผา
สัตว์ป่าสงวนเหล่านี้เป็นสัตว์ป่าหายาก หรือใกล้จะสูญพันธุ์ หรืออาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติเข้มงวดกวดขัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่สัตว์ป่าที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือแม้แต่ซากสัตว์ป่า ซึ่งอาจจะตกไปอยู่ต่างประเทศด้วยการซื้อขาย
ต่อมาเมื่อสถานการณ์ของสัตว์ป่าเปลี่ยนไป สัตว์ป่าหลายชนิดมีแนวโน้มถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าที่ใช้บังคับอยู่เดิมได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน มาตรการต่างๆ ที่มีอยู่ในกฎหมายดังกล่าวไม่สามารถทำให้การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลสมดังวัตถุประสงค์ของกฎหมาย จึงพิจารณาแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติฉบับเดิม และได้ตรา พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ ในยุคอานันท์ ปันยาระชุน เป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ได้มีการเพิ่มเติมชนิดสัตว์ป่าที่มีสภาพล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์ อย่างยิ่ง ๗ ชนิด และตัดสัตว์ป่าที่ไม่อยู่ในสถานะใกล้จะสูญพันธุ์แล้วเนื่องจากสามารถเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้มาก ๑ ชนิด คือ เนื้อทราย
เมื่อรวมกับสัตว์ป่าสงวนเดิม ๘ ชนิด จึงรวมเป็น ๑๕ ชนิด
สัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่ หมายความว่า สัตว์ป่าที่หายากตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และตามที่จะกำหนด โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ว่ากันว่าด้วย พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕ จะทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงชนิดสัตว์ป่าสงวนได้โดยสะดวก โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแก้ไขหรือเพิ่มเติมเท่านั้น ไม่ต้องถึงกับต้องแก้ไขพระราชบัญญัติอย่างเดิม
หากแต่เมื่อมีการยื่นเสนอชื่อสัตว์ป่า ๔ ชนิด ให้เป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่มครั้งในรอบ ๒๖ ปี ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ โดยทางคณะกรรมการฝ่ายวิชาการมีมติเห็นควรชะลอไว้ก่อน
วาฬบรูด้าในอ่าวไทย
วาฬโอมูระ ลักษณะคล้ายวาฬบรูด้า แต่ตัวเล็กกว่า (ภาพ : Royal Society Open Science)
มีการตั้งข้อสังเกตว่า พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ในส่วนบทเฉพาะกาล มาตรา ๖๖ ระบุไว้ว่า
“ผู้ใดมีสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในความครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าได้นำสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวมามอบให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ และให้สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน และเมื่อได้จดแจ้งชนิดและจำนวนของสัตว์ป่าที่รับมอบไว้แล้วอธิบดีอาจมอบสัตว์ป่าดังกล่าวให้อยู่ในความดูแลของผู้นั้นต่อไปได้ตามที่เห็นสมควร…”
นั่นหมายความว่าระยะเวลายื่นเรื่องครอบครองสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง “ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” ผ่านพ้นไปแล้วตั้งแต่เมื่อ ๒๖ ปีก่อน-ใช่หรือไม่ ?
หากใช่ การขึ้นบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองจะยังสามารถทำได้ เนื่องจาก บทเฉพาะกาล มาตรา ๖๑ ได้เปิดช่องเอาไว้ให้มีการขึ้นบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองเพิ่ม โดยระบุว่า
“เมื่อได้มีกฎกระทรวงตามมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง ใช้บังคับ การดำเนินการแก่สัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดเพิ่มเติมขึ้น ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวที่มีอยู่ในความครอบครองของบุคคลใดก่อนวันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ ให้เป็นไปดังนี้ (๑) กรณีสัตว์ป่าคุ้มครอง ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองแจ้งชนิดและจำนวนสัตว์ป่าคุ้มครองที่อยู่ในความครอบครองของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้ว หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นไม่ประสงค์จะเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไป ให้จำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นให้แก่ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะตามมาตรา ๒๙ หรือจำหน่ายสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา ๑๗ ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์ตามมาตรา ๑๘ ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่…หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น ประสงค์จะเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพการเลี้ยงดูสัตว์ป่าคุ้มครองของผู้นั้นว่าอยู่ในสภาพอันสมควรและปลอดภัยแก่สัตว์นั้นเพียงใด หากเห็นว่าสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นได้รับการเลี้ยงดูด้วยความเอาใจใส่ในสภาพอันสมควรและปลอดภัย ให้อธิบดีอนุญาตให้ผู้นั้นครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองนั้นต่อไปได้ โดยออกใบอนุญาตครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราวให้ไว้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง…”
แต่ไม่ได้ระบุเช่นนี้ไว้ในกรณีสัตว์ป่าสงวน ?
การเสนอขึ้นบัญชีสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติม ๔ ชนิดจึงติดขัด ตามที่กรมประมงตั้งข้อสังเกตว่าในทางกฎหมายแล้วยังไม่มีช่องทางให้ผู้ที่ครอบครองสัตว์น้ำทั้ง ๔ ชนิดมาก่อนสามารถแจ้งครอบครองได้อย่างไม่มีความผิด อันจะเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ได้รับอนุญาต-ใช่หรือไม่ ?
หากเป็นเช่นนั้นแล้วการรณรงค์ให้สัตว์น้ำทั้ง ๔ ชนิดขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทยควรจะดำเนินการอย่างไร ?
เมื่อกฎหมายฉบับนี้ได้สร้างกำแพงใหญ่เพื่อกันไม่ให้ประเทศไทยมีสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ ๑๖
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
อีกภาคหนึ่งของ “เจ้าชายหัวตะเข้” นักเขียนสารคดีที่เรียนจบมาด้านวิทยาศาสตร์ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และกีฬาเป็นพิเศษ