ณ ดอย
เรื่องเล่าคัดสรรโดยเหล่าคนภูเขาตัวเล็ก-ฝันใหญ่ที่จะมาทำให้ใครๆ ตกหลุมรักบ้านนอก
เรื่อง : ป้าเขียว
ภาพ : ทรงศักดิ์ ด้วยดี
ฉันอาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรที่เปิดให้เข้าอยู่ฟรี
เป็นหนึ่งใน ๑๙ หมู่บ้านของโครงการ “รวมไทยพัฒนา” เขตพื้นที่ของกรมป่าไม้ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก สร้างปี ๒๕๓๐-๒๕๓๘ เพื่อทดแทนที่อยู่ให้ชาวไทยภูเขาที่ถูกบังคับย้ายจากทุ่งใหญ่นเรศวร และทหารเก่าร่วมกับผู้พัฒนาชาติไทย แต่นอกจากกลุ่มชาติพันธุ์ยังมีคนไทยภาคกลางมาจับจองบ้านในโครงการด้วย
บ้านทุกหลังมีขนาดพื้นที่ใช้สอยเท่ากันและหน้าตาคล้ายกันหมด
หมู่บ้านที่ ๑-๑๔ เป็นบ้านไม้สองชั้น ชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่ง ชั้นบนมีพื้นที่ส่วนกลางนิดหน่อยและมีสองห้องนอน ส่วนหมู่บ้านที่ ๑๕-๑๙ สร้างทีหลัง มีลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียวคร่อมดินโดยไม่มีการปูพื้น โครงสร้างหลักเป็นไม้ มุงสังกะสี ฝาผนังปูกระเบื้องแผ่นใหญ่ มีสองห้องนอนกับพื้นที่ใช้สอยส่วนกลางกว้าง ๑.๕x๓ เมตร
ชาวม้งเรียกบ้านแบบนี้ว่า “เจ๋ไท้” (Tsev taib) หมายถึง บ้านที่ทหารสร้างให้
บ้านฉันอยู่ในข่ายแรก พื้นบ้านชั้นสองปูไม้กระดานมีช่องว่างระหว่างไม้แต่ละแผ่นห่าง ๑ เซนติเมตร ฝาผนังก็ทำด้วยไม้ มีแผ่นไม้ที่ต่อกันไม่สนิทรอบบ้านหลายจุด อาจเป็นเจตนาประหยัดวัสดุสร้างบ้านหรือเกิดจากกระบวนการหดตัวของไม้ที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ยังไม่ทันแห้งสนิทจึงเกิดช่องว่างขึ้น
ช่วงฤดูหนาวจะมีลมยะเยือกพัดลอดช่องว่างระหว่างไม้กระดานแต่ละแผ่น ครอบครัวเรานำกระดาษหนังสือพิมพ์เก่ามาปิดฝาบ้านที่เป็นรู ใช้ผ้าถุงแม่มาปูพื้นที่มีช่องโหว่ ป้องกันลมหนาวที่โหมพัดเข้ามาในบ้าน ครั้นตกเย็นก็พากันไปขลุกอยู่ใน “เจ๋หมอ” (Tsev mov) ลักษณะเป็นบ้านคร่อมดินหลังเล็กตั้งอยู่ติดกับบ้านไม้สองชั้น ในเวลาปรกติพวกเราใช้บ้านคร่อมดินหลังนี้เป็นห้องครัว ห้องประกอบพิธีกรรมทางความเชื่อ และในวันที่อากาศหนาวเย็นก็จะใช้เป็นที่นั่งผิงไฟพูดคุยกันก่อนแยกย้ายกันขึ้นบ้านไม้เข้านอน
เพื่อนบ้านของเราในตำบลรวมไทยพัฒนามีทั้งชาวลีซู กะเหรี่ยง คนไทยภาคเหนือ คนไทยภาคกลาง ส่วนเพื่อนบ้านในตำบลใกล้เคียงก็มีทั้งพี่น้องชาวจีนยูนนาน และชาวลาหู่ พวกเราไปมาหาสู่กันเป็นปรกติ
ในเขตตำบลมี ๖ โรงเรียน หลักสูตรตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ทั้งหมดเป็นโรงเรียนนานาเผ่าที่มีเด็กๆ พูดหลายภาษาราวกับโรงเรียนนานาชาติ ต่างตรงไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก และในสมัยที่ยังฉันเรียนชั้นประถม ยูนิฟอร์มของพวกเรายังได้รับการยกเว้นให้สวมชุดประจำเผ่าตน กลายเป็นสีสันให้รู้สึกเหมือนอยู่ในสวนดอกไม้นานาพรรณ แต่ปัจจุบันเด็กๆ ได้รับแจกชุดนักเรียนอย่างทั่วถึงแล้ว พวกเขาจึงจะได้สวมชุดประจำเผ่าไปโรงเรียนเฉพาะในโอกาสที่มีกิจกรรมพิเศษเท่านั้น
ข้อดีของความหลากหลายยังปรากฏผ่านวิถีชีวิตต่างๆ หนึ่งในนั้นคือวัฒนธรรมอาหารการกิน ช่วงหนึ่งที่โรงเรียนไม่มีงบประมาณอาหารกลางวันให้นักเรียน ฉันกับเพื่อนๆ จึงห่ออาหารกลางวันมาจากบ้านและแบ่งกันกิน พวกเราจึงได้แลกเปลี่ยนอาหารหน้าตาแปลกๆ แต่รสชาติอร่อยของเพื่อนต่างเผ่าทุกวัน
ฉันมีเพื่อนนักเรียนที่เป็นคนไทยพื้นราบไม่ถึง ๒๐ คน เรียนและเล่นด้วยกันจนเพื่อนคนไทยบางคนพูดภาษาม้งหรือภาษากะเหรี่ยงได้ แม้แต่ครูบางคนก็สามารถสื่อสารด้วยภาษาชนเผ่าได้โดยฝึกจากนักเรียน
ครูที่เสียสละตนมาสอนในพื้นที่ห่างไกลความเจริญแบบนี้ต้องมีใจรักในการสอนมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากต้องมีความรู้แล้ว ยังต้องมีความรัก เมตตา และอดทนมากๆ เพื่อจะสอนให้เด็กน้อยที่ฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่องแม้แต่คำเดียวสามารถอ่านออกเขียนได้และกล้าพูดคุยกับใครๆ ด้วยภาษาไทยอย่างมั่นใจ
อันที่จริงฉันก็เคยนึกเสียดายความเป็นอยู่ท่ามกลางธรรมชาติในทุ่งใหญ่นเรศวร
แต่การอยู่นอกป่าและได้ปรับตัวร่วมกับเพื่อนพ้องหลากชาติพันธุ์ก็นับเป็นเรื่องดี
อย่างน้อยที่สุดการได้เติบโตในหมู่บ้านรวมไทยพัฒนาแห่งนี้ ก็ทำให้ได้เรียนรู้ว่าสายเลือดคนละชนเผ่า พูดกันคนละภาษา ศรัทธาและความเป็นอยู่ในรูปแบบที่แตกต่าง ไม่ใช่อุปสรรคของการอยู่ร่วมกันเลย
และมิตรภาพก็เกิดขึ้นได้ง่าย เพียงเริ่มต้นด้วยการเคารพความหลากหลายในวัฒนธรรมของกันและกัน
ป้าเขียว
คือชื่อที่เพื่อนเรียกมากกว่าชื่อไทย รัตนา ด้วยดี หรือชื่อม้ง Nplaim Thoj (บล่าย ท่อ) อาจเพราะเป็นหนอนหนังสือตัวเล็กๆ ที่หลงรัก “สีเขียว” เป็นชีวิตจิตใจ แม้จะเกิดในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แต่เชื่อว่า “บ้าน” คือที่ไหนก็ได้ที่มีความรักและความสบายใจ
…….
สุชาดา ลิมป์ – บรรณาธิการคัดสรรเรื่องเล่าคอลัมน์ ณ ดอย
นักเขียนกองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้เสพติดการเดินทางพอกับหลงใหลธรรมชาติ-วิถีชาติพันธุ์ ทดลองขยับเป็นบรรณาธิการปรุงฝันให้ทุกอาชีพในชนบทได้แปลงประสบการณ์หลากรสออกมาเป็นงานเขียน