เรื่อง นภัสกร ปิงเมือง
ภาพ พิชญานิน คีรีแก้ว

อาจลืมไปเลยว่าอดีต-ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องน่าเบื่อ
เมื่อได้มาเปิดตาเปิดใจที่ “#พิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี”
ที่นี่ย่อส่วนเรื่องราวหลากแง่มุมทั้งจังหวัดไว้อย่างครบเครื่อง ทั้งวิถีชีวิต อาชีพปั้นเครื่องดินเผา ไปจนถึงภูมิปัญญาด้านต่างๆ โดยเฉพาะ “หนังใหญ่” ที่น้อยคนจะรู้ว่า “#หนังใหญ่นนทบุรี” มีดีไม่แพ้ที่ไหน

นิตยสารสารคดี ร่วมกับทรูปลูกปัญญา
นำเสนอผลงานเยาวชนในโครงการ “ทำ ก่อน ฝัน “

:: เริ่มผจญภัยในเมืองนนท์ ::

เช้าที่สดใสของวันใหม่ มาพร้อมแสงแดดสาดส่อง ผมเริ่มต้นท่องเที่ยวเมืองนนทบุรีด้วยรถสองแถวที่มีจุดหมายยัง “ท่าน้ำนนท์” โดยมี “หอนาฬิกา” เป็นแลนด์มาร์กสำคัญ

สิ่งก่อสร้างสูงตระหง่านนี้ผ่านแดดลมฝนมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๐ โดยกระทรวงมหาดไทยในสมัยก่อนซึ่งมีโรงเรียนตั้งอยู่บริเวณนี้ตระหนักถึงวัฒนธรรมการตรงต่อเวลาจึงพิจารณาให้สร้างหอนาฬิกาแห่งนี้ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมของประชาชนชาวนนทบุรีด้วย

การออกแบบหอนาฬิกาอาศัยเค้าโครงตามแบบของกรมโยธาธิการ มีความสูง ๑๗ เมตร มีหน้าปัดนาฬิกา ๔ ด้าน เหนือหน้าปัดนาฬิกาทำหน้าที่เป็นซุ้มหอกระจายข่าว รวมถึงที่ตรวจเพลิงไหม้ทั้งสี่ด้าน

และหอนาฬิกานี้ยังเป็นศูนย์กลางการนัดพบและค้าขายของชาวนนทบุรี มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน


:: กลางเก่า กลางใหม่ ::

แม้เข็มนาฬิกาจะหมุนเวียนไปกี่แสนกี่ล้านครั้ง
หลายสิ่งหลายอย่างสลายหายไปกับกาลเวลา
แต่ความเก่าและวิถีชีวิตรอบหอนาฬิกาท่าน้ำนนท์ก็ยังอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทุกวินาที

ท่ามกลางความเจริญด้านคมนาคมทางบก มีรถราทันสมัยเป็นพาหนะสนองความรีบเร่งและไปได้ในระยะไกลกว่าอย่างรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ และรถโดยสารประจำทาง ยังมีบางสิ่งยึดโยงเวลา

“สามล้อไหมครับ”
คือเสียงคุ้นที่ใครๆ มักได้ยินจากนักปั่นรุ่นเก๋า
พวกเขาจะยืนเรียกลูกค้าที่ยังคงสมัครใจเลือกวิธีสัญจรแบบเนิบนาบ ไม่เร่งรีบ และเป็นมิตรกับวิถีชุมชน อยู่บริเวณวินสามล้อถีบใกล้กับหอนาฬิกา พร้อมจะพาผู้โดยสารไปส่งยังจุดหมายในราคาที่คิดตามระยะทางและตามแต่จะตกลงกับผู้ใช้บริการโดยเริ่มต้นที่ ๑๐ บาท

การได้เห็นพาหนะในสองยุคขับเคลื่อนไปพร้อมกันบนเส้นทางที่มีทั้งความเก่าแก่และความเจริญผสมผสาน เป็นภาพที่ทำให้คนรุ่นใหม่อย่างผมรู้สึกอบอุ่น

:: Museum of Nonthaburi ::

ไม่ไกลจากหอนาฬิกา-ท่าน้ำนนท์ คือที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี”
เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันอังคาร-อาทิตย์ รวมถึงวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในเวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น.

อดีตที่นี่เคยเป็นศาลากลางจังหวัด และปัจจุบันก็ยังคงสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกประยุกต์ที่สร้างให้เข้ากับภูมิอากาศเขตร้อน หันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมในสมัยก่อน

ตัวอาคารวางผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบลานกว้าง เชื่อมต่อกันด้วยระเบียงทางเดินทำด้วยไม้ที่สร้างยื่นออกมารอบอาคาร

ด้วยคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรจึงขึ้นทะเบียนอาคารพิพิธภัณฑ์หลังนี้เป็นโบราณสถาน เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๔

แสดงให้เห็นถึงการเป็นมรดกล้ำค่าที่ได้รับการดูแลรักษาไว้ให้ลูกหลานชาวนนทบุรีรวมถึงชาวไทยได้หวงแหนและภาคภูมิใจ

:: วิจิตรศิลป์ถิ่นนนท์ ::

“น้อยคนที่จะรู้ว่าเมืองนนท์ก็มีหนังใหญ่ และวิจิตรตระการตาไม่น้อยกว่าที่ไหนเลย”

ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวสำคัญให้ผมได้ร่วมภาคภูมิใจในวันที่ผ่านมาเยือน

“หนังใหญ่” ที่จัดแสดงตรงหน้าเป็นผลงานสรรค์สร้างผ่านฝีมือของ “ครูวีระ มีเหมือน”

ป้ายนิทรรศการบอกเล่าขั้นตอนการทำหนังใหญ่ ตั้งแต่นำหนังวัวหรือหนังควายมาฉลุลวดลายและลงสีเป็นภาพตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์จนเกิดความวิจิตรงดงามมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๐

แต่สิ่งสำคัญที่น่าศึกษา คือการสืบทอดองค์ความรู้ของคนสมัยก่อน ด้วยวิธีฝากตัวเป็นศิษย์และอาศัยวิธีครูพักลักจำ ฝึกฝนด้วยตนเอง จนได้เป็น “ครูหนังใหญ่หนึ่งเดียวในจังหวัดนนทบุรี”

:: ตราแห่งความภาคภูมิ “เครื่องปั้นดินเผา” ::

นอกจากศิลปวัฒนธรรมทางการแสดงที่โดดเด่น
เครื่องปั้นดินเผา คือ อาชีพสำคัญของชาวนนทบุรี เป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อฝีมือโดยชาวมอญที่เข้ามาอาศัยบนแผ่นดินนนท์ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความวิจิตรงดงามและทำกันมากในชุมชนจน “หม้อน้ำลายวิจิตร” ได้รับเลือกเป็นสัญลักษณ์หรือตราประจำจังหวัดเพื่อสะท้อนรากเหง้าอันมีอัตลักษณ์โดดเด่นที่สืบทอดกันรุ่นต่อรุ่นมาช้านาน จวบปัจจุบันก็ยังมีลูกหลานจำนวนมากยังรักษาอาชีพนี้

เป็นสิ่งที่ใครเห็นก็ต้องร้องอ๋อ…นี่หละหนอ “ของดีเมืองนนท์”

:: จากมอญสู่นนท์ ::

ชั้นสองของพิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี นอกจากมีเรื่องราวของตราประจำจังหวัดจัดแสดงเด่นอยู่กลางห้อง ในห้องย่อยยังเต็มไปด้วยนิทรรศการเนื้อหาต่างๆ
หนึ่งในสิ่งน่าสนใจคือการทำ “เครื่องปั้นดินเผา”
ผ่านการจำลองวิถีชีวิตของชาวมอญซึ่งเป็นผู้นำภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์เข้าสู่เมืองนนท์

โดยขณะที่บรรพบุรุษชาวไทยเชื้อสายมอญหลีกหนีภัยสงครามในบ้านเกิดมาตั้งถิ่นฐานพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่สมัยอยุธยา พวกเขาก็นำฝีมือปั้นหม้อที่ติดตัวมาประกอบอาชีพต่อจนทำให้จังหวัดนนทบุรีมีแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขึ้นชื่อ ๒ แห่ง คือบ้านบางตะนาวศรี และบ้านเกาะเกร็ด

จนถึงปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ได้เป็นมากกว่าวิถีชีวิตหรือเป็นอาชีพ

แต่เป็นเอกลักษณ์ และความภาคภูมิใจของลูกหลานชาวนนทบุรี

เพราะเมื่อไรที่ใครพูดถึง “เครื่องปั้นดินเผา” จะนึกถึง “เมืองนนท์”

ลวดลายแห่ง“นนทบุรี”

หากถามถึง “เครื่องปั้นดินเผา” นอกจากรูปทรงหรือรูปแบบในการปั้นแล้ว “ลวดลาย” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญและบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ได้เป็นอย่างดี โดยในนิทรรศการได้มีการนำเสนอเรื่องการทำลวดลายอย่างเจาะลึกและได้มีตัวอย่างของเครื่องปั้นประเภทหม้อที่หาชมได้ยากมาให้ชมกันอย่างใกล้ชิด

การตกแต่งเครื่องปั้นประเภทหม้อน้ำลายวิจิตร จะทำหลังจากเก็บเครื่องปั้นที่เสร็จแล้วระยะหนึ่งมาใช้ โดยในช่วงปั้นจะบรรจงประดิษฐ์ลายด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การสลักลายด้วยไม้สลักตัดดินและตกแต่งด้วยมีดปลายแหลมให้ลายเด่นชัด และใช้แม่พิมพ์กดประทับ ส่วนขารองนิยมฉลุเป็นลายโปร่ง

ขั้นตอนที่วิจิตรบรรจงประดิษฐ์ลวดลายลงไปบนเครื่องปั้น ได้ทำให้เรารู้ถึงความเก่งและความคิดสร้างสรรค์ของคนในสมัยก่อนได้อย่างดี ถือเป็นภูมิปัญญาวิถีที่น่าภาคภูมิใจ

:: ภูมิปัญญาที่น่าค้นหายังคงมนต์เสน่ห์ ::

ท่ามกลางสิ่งจัดแสดงมากมายที่เรียงรายอวดโฉมอยู่ในพิพิธภัณฑ์

ผมสนใจ “เครื่องปั้นดินเผา” เป็นพิเศษ ทั้งหม้อน้ำลายวิจิตร โอ่ง อ่าง ครก ฯลฯ นอกจากเสน่ห์ด้านความสวยงาม คุณค่ายังปรากฏที่ความเก่าแก่และเรื่องราวที่มาที่ไปทำให้ข้าวของทุกชิ้นเปี่ยมมนต์ขลัง

โดยเฉพาะหม้อน้ำที่มีลวดลายแกะสลักอย่างประณีตหาชมได้ยาก ซึ่งเดิมเป็นของสะสมของ “อาจารย์พิศาล บุญผูก” ชาวไทยเชื้อสายมอญ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมมอญ กรุณามอบให้เป็นสมบัติแก่พิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้แก่คนรุ่นหลัง
สำหรับผม…

พิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรีแห่งนี้ ย่อส่วนเรื่องราวอันยาวนานไว้ได้ค่อนข้างสมบูรณ์

ผมไม่แปลกใจเลยที่รู้ว่าทั้งชาวนนทบุรี ชาวไทย และชาวต่างชาติ ให้ความสนใจ

:: เมืองนนท์ ในมุมคนรุ่นใหม่ ::

ผม…ในวัยที่ยังจัดอยู่ในกลุ่มเยาวชน
ภาคภูมิใจและยินดียิ่งที่มีโอกาสได้บอกเล่าเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

เพราะที่นี่ไม่เพียงบรรจุเรื่องราวอดีตของบรรพบุรุษชุมชนที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็ยังจับต้องได้
ยังทำให้ผมรู้สึกเสียดายที่มีเวลาไม่มากพอจะออกไปท่องเที่ยวเมืองนนท์ให้ทั่วถึงกว่านี้ เพราะมีหลายสถานที่ในนิทรรศการที่ทำให้เชื่อว่าน่าจะตื่นเต้นหากได้เห็นของจริงที่ยังมีให้เห็นอยู่ในพื้นที่ชุมชน

แต่อย่างน้อยที่สุดความรู้ฉบับรวบรัดที่ได้จากการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ก็ทำให้ผมผู้มาจากจังหวัดทางเหนือของประเทศไทยได้เปิดโลกความรู้เกี่ยวกับจังหวัดไกลบ้านที่น่าสนใจ

ใครจะไปคิดว่า…
การเที่ยวพิพิธภัณฑ์จังหวัดในเวลาอันจำกัดจะทำให้รู้จักจนเริ่มตกหลุมรักเมืองนี้ได้