ชื่อจริงและชื่อเล่น (๑๔)
ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
ดั้งเดิม ผู้ใหญ่ เช่นพ่อแม่ คงเป็นคนตั้ง “ชื่อ” ตั้งแต่แรกเกิดให้แก่ลูก
เกณฑ์พื้นฐานอย่างแรกๆ คือเรียกตามรูปพรรณสัณฐานของเด็กเกิดใหม่ เช่นสีผิว
ดังที่รับรู้กันทั่วไปว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระบุรพกษัตริย์ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีพระนาม “โดยลำลอง” แต่เมื่อยังทรงพระเยาว์ว่า “องค์ดำ” ส่วนพระอนุชา สมเด็จพระเอกาทศรฐ เรียกกันว่า “องค์ขาว” ชื่อทำนองนี้คงเรียกกันในหมู่ชาววัง ถ้าจะให้เดาก็คงต้องว่าเรียกตามอย่างที่พระราชบิดาพระราชมารดาทรงออกพระนาม ตามพระฉวี (สีผิว)
วิธีแบบนี้ก็คงใช้กันในหมู่ชาวบ้านทั่วไปด้วย เช่นชื่อ “แดง” ซึ่งหมายเอาเด็กแรกเกิดที่ยังตัว “แดงๆ”
นอกจากนั้นยังมีชื่อเรียกตามลำดับพี่น้องหัวปีท้ายปี เช่น โต ใหญ่ กลาง เล็ก น้อย เอียด (แปลว่าเล็ก) หนุ่ย/นุ้ย (แปลว่าเล็กเหมือนกัน) หรืออย่างชื่อ หีด/หิด ในภาษาใต้ ก็คือน้อย ตรงกับคำว่า “นิด” ในภาษากลาง
ชื่อทำนองนี้คงใช้กันทั่วไป ตั้งแต่สามัญชนจนถึงเจ้านาย เช่นในรัชกาลที่ ๕ พระราชโอรสพระราชธิดาล้วนทรงมี “พระนามโดยลำลอง” หรือ “ชื่อเล่น” แบบนี้ (ซึ่งก็แน่นอนว่าย่อมต้องเป็นสมเด็จพระบรมราชชนกหรือสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเริ่มออกพระนามอย่างนั้นมาก่อน แล้วชาววังจึงค่อย “ตามเสด็จ” ไป) ดังเช่นพระราชโอรสใน “สมเด็จพระพันปีหลวง” สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงมีพระนามลำลองตามลำดับ ได้แก่
“ทูลกระหม่อมโต” (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
“ทูลกระหม่อมกลาง” (สมเด็จฯ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง)
“ทูลกระหม่อมเล็ก” (สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ)
“ทูลกระหม่อมเอียด” หรือ “เอียดใหญ่” (สมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์)
“ทูลกระหม่อมเอียดเล็ก” (สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมหลวงนครราชสีมา)
“ทูลกระหม่อมติ๋ว” (สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมหลวงเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย)
“ทูลกระหม่อมเอียดน้อย” (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)
จะสังเกตได้ว่าโดยเหตุที่รัชกาลที่ ๕ มีพระราชโอรสพระราชธิดามากพระองค์ด้วยกัน ย่อมมีนามซ้ำๆ กันอยู่ ดังนั้นจึงต้องมี “คำขยาย” เป็นพระนามที่ใช้ซ้อนกันกับอีกคำหนึ่ง เช่นพระนาม “เอียด” – “เอียดเล็ก” – “เอียดน้อย”
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี