สนทนาสารคดี

วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


มีคนชวนคุยเรื่องสารคดี แบบถามมาตอบไป เผื่อว่าอาจเป็นประโยชน์แก่ใครที่อาจผ่านมาแอบฟัง เลยแกะเทปมาให้อ่านบางตอน

ปกติชอบอ่านหนังสือประเภทไหน เพราะอะไร
เดิมชอบอ่านเรื่องสั้นเพราะจบเร็ว ต่อมาพอหัดเขียนบทกวีก็อ่านงานร้อยกรอง พอติดการอ่านแล้วก็อ่านไปหมด นิยายเล่มหนาๆ ฉลากยา ป้ายร้านค้า ป้ายทางหลวง อ่านอย่างคนเสพติดการอ่าน เหมือนอาหารที่ทุกวันต้องได้รับ อาจเป็นเมนูไหนก็ได้

คุณคิดว่า “ภาษา” มีพลังมากแค่ไหน
ก็มากเท่าที่บัลซัค บอกไว้ว่า “สิ่งที่นโปเลียนไม่อาจพิชิตด้วยกระบี่ ข้าจักทำให้ลุล่วงด้วยปากกา”

“มหาวิทยาลัยชีวิต” เป็นหนังสือเล่มที่คุณบอกว่าทำให้ชีวิตเปลี่ยน แต่ถ้าวันนั้นคุณไม่ได้อ่าน คุณคิดว่าตัวเองน่าจะทำอะไรอยู่ตอนนี้
ผมตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของเด็กอายุ ๑๕ปี ว่าจะเลิกเรียนหนังสือออกไปมีครอบครัว และเป็นชาวสวนยางอย่างคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน ทำอยู่ได้ ๒ ปี และไม่ทันได้แต่งงาน ผมได้อ่าน มหาวิทยาลัยชีวิต ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ทำให้เห็นความสำคัญของการเรียนหนังสือ และอยากเป็นนักเขียนเหมือนคนเขียนหนังสือเล่มนั้น หาไม่แล้ว ผมก็คงกลายเป็นผู้มีอันจะกินใช่วงยางกิโลละ ๒๐๐ กว่าบาทเมื่อช่วง ๑๐ กว่าปีก่อน และกลายเป็นคนตกยากในยุคยาง ๓ กิโลร้อยในตอนนี้ เช่นเดียวกับที่ผองเพื่อนแต่ครั้งเยาว์วัยกำลังเผชิญอยู่

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คุณยังคงรักที่จะเป็นนักเขียนแนวสารคดี
เขียนอย่างอื่นไม่เป็น-พูดเล่น พูดจริงๆ คือรู้สึกลงตัวกับการเป็นนักเล่าเรื่องจริง คล้ายๆ เป็นผู้บันทึก สะท้อน ถ่ายทอดเรื่องราว เป็นสื่อกลางระหว่างเรื่องราวทั้งหลายที่ไหลผ่านตัวเราไปสู่ผู้คนอีกหลากหลายที่เป็นคนอ่าน และเราเป็นคนหลงใหลในรสอักษร เมื่อเราเป็นนักเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือก็พยายามที่จะให้มีรสรื่นรมย์ มีมนต์เสน่ห์ชวนฟังผ่านการอ่าน

ในบรรดาผลงานทั้งหมดของคุณ เล่มไหนประทับใจที่สุด เพราะอะไร
ความรู้สึกมักเปลี่ยนไปเมื่อมีเล่มใหม่ๆ ออกตามมา ที่รู้สึกลงตัวเล่มหนึ่งคือ อีสานบ้านเฮา ในแง่ที่ว่าเป็นรวมเล่มงานสารคดีที่ตั้งใจวางโครงเรื่องไว้ตั้งแต่ต้น ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอีสานในมุม unseen แล้วก็ทำออกมาได้อย่างที่ตั้งใจ รวมหัวใจความเป็นอีสานผ่านมุมมองของเราไว้ในเล่มนั้น

ทำอย่างไรเมื่อความคิดตีบตันหรือเขียนไม่ลื่นไหล
ลุกออกไปจากตรงนั้น ไปทำอะไรสักอย่าง ส่วนใหญ่ผมใช้วิธีออกไปก้าวเดิน แล้วจะคิดออก

ท่ามกลางการล้มหายตายจากของสื่อสิ่งพิมพ์ ในฐานะคนทำนิตยสารที่ยังยืนยงคงกระพันมานาน สิ่งที่คุณอยากบอกคนอ่าน
ส่วนกับคนอ่าน อยากบอกว่าถ้าคุณรักหนังสือฉบับไหน ไม่อยากให้ล้มตาย ต้องช่วยบอกรับเป็นสมาชิกประจำครับ จะเป็นแสดงออกที่ส่งผลจริงต่อการคงอยู่ของหนังสือ มากกว่าการพร่ำบอกรักซ้ำๆ โดยไม่ได้ทำอะไร

“การอ่านกับคนไทย” สิ่งที่คุณอยากเห็น อยากให้เป็น…
การอ่านนั้นดีแน่ และกระดาษนั้นสำคัญและอยู่นาน โลกผ่านยุคสมัย ในแต่ละช่วงปี สิบปี มีสิ่งเกิดขึ้นใหม่ และมีสิ่งที่ลับหายเปลี่ยนแปลงไป แต่การบันทึกและสื่อสารเรื่องราวผ่านกระดาษยังไม่เปลี่ยนไปเลยในช่วงราว ๓ พันปี เรื่องนี้คล้ายจะปลุกปลอบใจว่าจะมีหน้าจอ มีออนไลน์ให้อ่านลวกๆ ง่ายๆ อย่างไร เราก็อย่าทิ้งหน้ากระดาษ เพราะการอ่านผ่านกระดาษถือเป็นอารยธรรมของมนุษยชาติก็ว่าได้


veeวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา