เก็บตก
บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๑ ตรงกับวันทำความสะอาดโลก (World Cleanup Day) กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สำนักงานประเทศไทย) ได้รวบรวมอาสาสมัครและเยาวชนออกเก็บขยะบนชายหาดวอนนภา จังหวัดชลบุรี
นอกจากอาสาสมัครจะช่วยกันเก็บขยะบนหาดท่องเที่ยวสำคัญซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของหาดบางแสน ยังถือโอกาสเก็บบันทึกข้อมูลทางสถิติเพื่อหาคำตอบว่า ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงบนหาดวอนนภาเป็น “ผลิตภัณฑ์” จากสินค้า “ยี่ห้อ” หรือ “แบรนด์” ใดมากที่สุด
ผลการเก็บขยะและคัดแยกโดยอาสาสมัครจำนวน ๕๓ คน สามารถรวบรวมขยะพลาสติกได้ทั้งหมด ๒,๗๘๑ ชิ้น แบ่งออกเป็นขยะพลาสติกของผู้ผลิตข้ามชาติ (foreign brand) จำนวน ๘๑๗ ชิ้น ของผู้ผลิตในประเทศ (local brand) ๑,๖๐๖ ชิ้น และมีขยะพลาสติกที่เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ไม่สามารถระบุที่มาของผู้ผลิต ๓๕๘ ชิ้น เกือบทั้งหมดคือร้อยละ ๙๑ เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร (food packaging)
เมื่อนำมาจำแนกตามยี่ห้อ พบว่าในส่วนสินค้าของผู้ผลิตในประเทศ ดัชมิลล์เป็นสินค้ายี่ห้อที่สร้างขยะบนหาดวอนนภามากที่สุด รองลงมาคือ ซีพีกรุ๊ป โอสถสภา เสริมสุข และเครือสหพัฒน์ ตามลำดับ
ส่วนสินค้าของผู้ผลิตข้ามชาตินั้น โคคาโคล่าสร้างขยะบนหาดวอนนภามากที่สุด รองลงมาคือเป๊ปซี่โค ยาคูลท์ ยูนิลีเวอร์ และเนสท์เล่ ตามลำดับ
มีรายงานว่า เมื่อนำขยะพลาสติกทั้งหมดมาเปรียบเทียบกันตามสัดส่วน จะพบว่าขยะพลาสติกจากสินค้าของผู้ผลิตในประเทศมีมากกว่าผู้ผลิตข้ามชาติ และขยะที่เกิดจากผู้ผลิต ๑๐ ยี่ห้อดังกล่าวข้างต้นรวมกันแล้วคิดเป็นร้อยละ ๖๐ ของขยะพลาสติกทั้งหมดที่พบซึ่งมีอยู่มากกว่า ๑๐๐ ยี่ห้อ
รายชื่อขยะพลาสติกทั้งหมดได้ถูกบันทึกและส่งไปรวมเข้ากับข้อมูลของเครือข่ายอาสาสมัครเก็บขยะอันเนื่องในวันทำความสะอาดโลกในประเทศต่างๆ
ภาพ : จันทร์กลาง กันทอง / กรีนพีซ
วัน “ทำความสะอาดโลก” หรือ World Cleanup Day อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนักในเมืองไทย เมื่อเปรียบเทียบกับวันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมวันอื่นๆ อย่างคาร์ฟรีเดย์ (Car free day) รณรงค์ลดใช้รถยนต์ หรือแม้แต่กิจกรรมรณรงค์ปิดไฟ ๑ ชั่วโมงเพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour) หากแต่ในระดับโลกแล้ว กิจกรรมเก็บขยะตามสถานที่ต่างๆ ในวันทำความสะอาดโลกนับว่ามีผู้เข้าร่วมมากที่สุดกิจกรรมหนึ่ง โดยปีนี้มีอาสาสมัครเข้าร่วมมากถึงราว ๑ หมื่นคน ออกมาช่วยทำความสะอาดตามสถานที่ต่างๆ ๒๓๙ จุด ใน ๔๒ ประเทศ
มีรายงานว่าอาสาสมัครทั้งหมดสามารถเก็บขยะพลาสติกได้รวมกันถึง ๑๘๗,๘๕๑ ชิ้น แบ่งเป็นสินค้ายี่ห้อต่างๆ นับพันยี่ห้อ
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สำนักงานประเทศไทย) ให้รายละเอียดถึงความสำคัญของการเก็บขยะพลาสติกที่หาดวอนนภา จังหวัดชลบุรี ว่า
“ผลการตรวจสอบยี่ห้อสินค้าจากขยะพลาสติกในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการผลิตและการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกครั้งเดียวทิ้งที่ล้นเกิน และได้กลายเป็นมลพิษพลาสติกเล็ดลอดสู่สิ่งแวดล้อมในเวลาต่อมา”
รวมทั้งแสดงความกังวลว่า ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นสาเหตุของปัญหาขยะพลาสติกที่ทุกฝ่ายต้องลงมือปรับพฤติกรรมการใช้อย่างเร่งด่วน หากคิดจะต่อกรกับวิกฤตมลพิษพลาสติกในวันข้างหน้า
ผลการคัดแยกขยะ พบว่าขยะพลาสติกจากผู้ผลิตในประเทศมีมากกว่าผู้ผลิตข้ามชาติ ขยะที่เกิดจากผู้ผลิต ๑๐ ยี่ห้อแรกเมื่อรวมกันแล้วคิดเป็นร้อยละ ๖๐ ของขยะพลาสติกทั้งหมด (ภาพ : จันทร์กลาง กันทอง / กรีนพีซ)
ทั้งนี้กรีนพีซเรียกร้องให้ผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค “Fast Moving Consumer Goods” หรือ “FMCG” ที่มีลักษณะเฉพาะคือจำหน่ายเร็ว มีราคาถูก มีระยะเวลาบนชั้นวางสินค้าไม่ยาวนาน เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการใช้งานสูง ยกตัวอย่าง น้ำอัดลม น้ำยาทำความสะอาด อาหารสำเร็จรูป ของเล่น ฯลฯ ให้หันมาให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติ ๔ ข้อดังต่อไปนี้
๑) เปิดเผยข้อมูล “รอยเท้าพลาสติก” (plastic footprint) ให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้
๒) มุ่งมั่นที่จะลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละปี
๓) ขจัดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นปัญหาและไม่จำเป็นให้มากที่สุดภายปี พ.ศ. ๒๕๖๒
๔) ลงทุนกับระบบนำกลับมาใช้ซ้ำ และระบบกระจายสินค้าแบบใหม่
ในขณะที่ผู้คนบนโลกยังคงเสพติดการใช้พลาสติกชนิดครั้งเดียวทิ้ง การรณรงค์ลดใช้พลาสติกนอกจากจะต้องมุ่งไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว ความจริงจังในการแก้ปัญหา รวมทั้งสามัญสำนึกของผู้ผลิตสินค้าก็นับว่ามีความสำคัญ
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
อีกภาคหนึ่งของ “เจ้าชายหัวตะเข้” นักเขียนสารคดีที่เรียนจบมาด้านวิทยาศาสตร์ สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และกีฬาเป็นพิเศษ