สารคดีนิยาม
วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT มหาวิทยาลัยศิลปากร มีรายวิชาจุลนิพนธ์นิเทศศาสตร์ กำหนดให้นักศึกษาสร้างสรรค์งานใหญ่ก่อนจบการศึกษา เป็นวิชาสำคัญที่มีหน่วยกิจเยอะที่สุดตลอดหลักสูตรปริญญาตรี แต่ที่สำคัญกว่าคือเป็นโอกาสได้ฝึกทำงานจริง มีที่ปรึกษาที่เป็นมืออาชีพคอยให้คำปรึกษาดูแลใกล้ชิด อัตราส่วนที่ปรึกษาต่อนักศึกษาราว ๑ : ๒ คน และเมื่อสำเร็จแล้วมีผลงานสร้างสรรค์เป็นชิ้นเป็นอัน ถือออกจากมหาวิทยาลัยไปใช้ต่อได้อย่างมีน้ำหนักไม่น้อยกว่าใบปริญญา
นักศึกษาศิลปากร คณะไอซีที เอกวารสารราวครึ่งห้องเลือกทำจุลนิพนธ์เขียนงานสารคดี
แม้เป็นโครงงานด้านวรรณศิลป์ แต่ด้วยเป็นการศึกษาทางวิชาการ นักศึกษาจึงต้องทำวิจัยควบคู่ไปกับงานเขียนด้วย
เป็นคู่เทียบเคียงว่าผลงานเขียนนั้น ได้มาจากการศึกษาตามหลักการดังนี้ๆ เรียกว่าเป็นความรู้แบบทูอินวัน คือได้ทั้งองค์ความรู้ในแง่วิชาการ และได้ผลงานเขียนวรรณศิลป์เล่มหนึ่งด้วย
กลุ่มที่ทำจุลนิพนธ์เขียนงานสารคดีจึงต้องเริ่มตั้งแต่การให้นิยามความหมาย แบ่งกลุ่มประเภทของงานสารคดี ซึ่งมักไม่พ้นคัดลอกต่อกันมา
ไม่ค่อยมีใครได้กลับไปอ้างจากแหล่งที่มาต้นทาง แต่ใช้วิธีการอ้างต่อจากผลงานของรุ่นพี่ในปีก่อนๆ โดยไม่ได้ค้นต้นดูฉบับจริง
ต้องย้ำกันตั้งแต่ต้นว่าสำหรับข้อความที่อ้างอิงเป็นทางการ หากถ้อยคำตกหล่นไปแม้แต่คำเดียว หรือเรียงประโยคผิดพลาดคลาดเคลื่อน ความหมายจะผิดเพี้ยนไปไกล การลอกต่อๆ กัน ความผิดพลาดของคนแรกจะส่งผลต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ การอ้างอิงที่ดีต้องกลับไปหาออริจินัลเสมอ
นิยามความหมายงานสารคดีที่นักศึกษานิยมอ้างถึงกันมาก มาจาก ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ จึงลองค้นมาแบ่งปันกันดู
ให้ความหมายของสารคดีไว้ดังนี้
“สารคดี ตามนัยแห่งความหมายก็คือวรรณกรรมที่ให้ความรู้หรือความคิดเห็นที่เป็นคุณประโยชน์ แต่หนังสือสารคดีบางเรื่อง ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะเจตนาให้ความรู้แต่สำนวนภาษา และกลวิธีในการเสนอความรู้และความคิดเห็นนั้นมีมาตรฐานเยี่ยมยิ่ง จึงให้ความบันเทิงกับผู้อ่านไปด้วยอีกโสดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หนังสือสารคดีเป็นวรรณกรรมที่ผู้แต่งเจตนาให้ผู้อ่านใช้สติปัญญา มิได้มุ่งจะให้ใช้อารมณ์ ส่วนรูปแบบของบันเทิงคดีและสารคดีนั้นในบางคราวก็ขอยืมสับกันได้ ในสมัยก่อนๆ สารคดีนิยมใช้ร้อยกรองชนิดต่างๆ เกือบๆ เท่าร้อยแก้ว แต่ในปัจจุบันนี้มักนิยมใช้ร้อยแก้วมากกว่า สารคดีของไทยคล้ายคลึงกับของตะวันตกมากขึ้นโดยลำดับ”
จากหนังสือ แว่นวรรณกรรม พิมพ์ (ครั้งที่ ๒) เมื่อปี ๒๕๓๙
ไม่ได้ยากเย็นเกินเป็นไปได้ แค่พยายามเพิ่มขึ้นกว่า หาหนังสือเล่มที่เป็นต้นทางที่มาให้ได้ ผลที่เกิดขึ้นจะงดงามกว่าหากินง่ายๆ ด้วยการลอกมาตามๆ กัน
และว่าอย่างถึงที่สุดแล้ว การทำงานเขียนวรรณศิลป์ไม่ว่าแขนงใดก็ตาม เขาสอนกันมาว่าอย่าลอกงานคนอื่น
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา