เรื่อง: ชนินทร์ โถรัตน์
ภาพ: วิภาส วิเชียรสินทธุ์
ในบรรดา ไม้ดอก วงศ์ต่างๆ ที่มีอยู่บนโลกเรานี้ กล้วยไม้ คือพืช ที่มีสมาชิกในวงศ์มากที่สุด ประมาณกันว่าจำนวนชนิดของกล้วยไม้ที่มนุษย์รู้จักแล้ว อาจสูงถึง ๓ หมื่นชนิด
กล้วยไม้ เป็นหนึ่งในบรรดาพืชพรรณที่มนุษย์เรารู้จัก และให้ความสนใจมากที่สุด ทั้งนี้ด้วยความสวยงาม โดดเด่น และความหลากหลายของรูปร่าง ลักษณะ อันน่ามหัศจรรย์เกินกว่าพืชชนิดใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในป่าเขตร้อน
อาจเป็นเรื่องที่จินตนาการได้ยาก เมื่อเราได้ฟังข้อเท็จจริงที่ว่า ภายในป่าเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์นี้ บนต้นไม้ต้นเดียวกัน เราอาจพบกล้วยไม้ในสกุล Bulbophyllum ที่มีขนาดต้นใหญ่กว่า หัวเข็มหมุดเพียงเล็กน้อย และหนักไม่ถึงหนึ่งกรัม ในขณะที่บนคาคบสูงขึ้นไปอาจมี กล้วยไม้สกุล Grammatophyllum ที่มีลำต้นสูงกว่า ๕ เมตร และมีน้ำหนักทั้งกอรวมกัน มากกว่า ๑๐๐ กิโลกรัม ขึ้นอยู่ และยิ่งฟังดูเหลือเชื่อที่เรามีกล้วยไม้ สกุล Epipaotis ซึ่งขึ้นอยู่ในน้ำ ขณะที่ กล้วยไม้อีกหลายชนิดกลับขึ้นอยู่บนลานหิน อันร้อนระอุตามยอดเขาได้อย่างไม่สะทกสะท้าน กล้วยไม้สกุล Vanilla และ Galeola บางชนิด มีลำต้นเป็นเถาเลื้อยไต่ไปตาม ต้นไม้ใหญ่ในป่าได้ไกลหลายสิบเมตร ในขณะที่กล้วยไม้สกุล Chiloschista และ Taeniophyllym กลับไม่ปรากฏใบหรือต้นให้เห็นชัดเจน แต่จะมีเพียงกระจุกรากเกาะติดอยู่ตามเปลือกไม้ ส่งช่อดอกห้อยลงมาดูแปลกประหลาดยิ่งนัก
เป็นที่ยอมรับกันว่าประเทศไทยครอบครองความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตไว้มากที่สุดแห่งหนึ่ง ทั้งนี้ด้วยที่ตั้งและลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัยของสัตว์ และพืช โดยครอบคลุมชนิดพันธุ์ทั้งสัตว์ และพืชที่แพร่กระจายมาจากเขตภูมิภาคต่างๆ โดยรอบ
กล้วยไม้นับเป็นหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวข้างต้นได้อย่างดี ทั้งนี้เพราะกล้วยไม้แต่ละชนิดมักมีอาณาเขตการกระจายพันธุ์ไม่กว้างขวาง เช่น พืชพรรณกลุ่มอื่นๆ
ทางภาคเหนือ และภาคอีสานมีกล้วยไม้หลายชนิด ที่พบมากแถบเทือกเขาหิมาลัย และประเทศจีน รวมทั้งเทือกเขาอันนัม ของประเทศเวียดนาม ส่วนทางภาคใต้ และภาคตะวันออก ก็พบกล้วยไม้ที่มีอยู่ในภูมิภาคอินโดมาลายันเป็นส่วนใหญ่ แต่ทว่าในขณะเดียวกันก็มีกล้วยไม้ของประเทศไทยหลายชนิดที่เป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่น (Endemic Species) ซึ่งไม่พบในที่อื่นใด
จนถึงปัจจุบัน มีการสำรวจพบพืชวงศ์กล้วยไม้ในประเทศไทยแล้ว ประมาณ ๑,๑๕๐ ชนิด ในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งจัดเป็นพรรณไม้ที่หายาก และอีกหลายร้อยชนิด แทบไม่มีการพบอีกเลย นับตั้งแต่หลังยุคทองของการศึกษาสำรวจทางพฤกษศาสตร์ในประเทศไทย เมื่อกว่า ๕๐ ปีที่แล้ว
ทุกวันนี้อาจดูเหมือนว่าการสำรวจทางพฤกษศาสตร์ในบ้านเราได้หยุดชะงักลง ทว่าที่จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่เพราะยังคงมีกลุ่มคน จำนวนหนึ่งกำลังทำหน้าที่ค้นหาความหลากหลายของพืชพรรณรวมทั้่งกล้วยไม้อยู่อย่างต่อเนื่อง
อาจกล่าวได้ว่า ในช่วงเวลาก่อนจะสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ นี้เอง ที่การค้นพบกล้วยไม้ชนิดใหม่ๆ ในประเทศไทยกำลังปรากฏผลออกมาอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด มีการตีพิมพ์ การตั้งชื่อ กล้วยไม้ ชนิดใหม่ของโลก (New Species) ซึ่งพบในประเทศไทย มากกว่า ๒๐ ชนิด รวมทั้งที่พบเป็น รายงานใหม่ (New Record) อีกประมาณ ๒๐ ชนิด
ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีตัวอย่าง (Specimens) ที่ถูกค้นพบแล้ว แต่ยังต้องรอการ จัดจำแนกโดย ผู้เชี่ยวชาญ อยู่อีก เป็นจำนวนมาก คาดกันว่า ยังคงมีกล้วยไม้ ที่ไม่มีใครรู้จัก อีกไม่น้อย ที่หลบ ซ่อนอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ในป่าดิบรกชัฏ ของ ประเทศ ไทย ที่ไม่มีใคร เคยเหยียบย่างเข้าไปถึง
จึงยังคงเป็นสิ่งที่น่าเย้ายวน และท้าทาย สำหรับผู้พิสมัยการสำรวจและการค้นพบ ให้เดินทางเข้าไปสู่โลกอันมหัศจรรย์ของกล้วยไม้