ชื่อจริงและชื่อเล่น (๑๗)

ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


เคยมีคนเล่าให้ฟังว่า มีคนรู้จักของเขาได้งานใหม่ เข้าไปร่วมงานกับทีมขายของบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าคำสั่งแรกจากหัวหน้าทีม คือให้ไปเปลี่ยนชื่อ นามสกุล และชื่อเล่น ใหม่ทั้งหมด ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสมาชิกคนอื่นๆ เหตุผลคือ “เพื่อทีม” เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของหมู่คณะ เล่นเอาคนที่เข้าไปใหม่ไม่มีทางอื่น นอกจากต้องยอมทำตาม

การเปลี่ยนสู่สถานะใหม่ เข้าสู่ในองค์กรใหม่ แล้ว “เกิดใหม่” ด้วยการเปลี่ยนชื่อแบบนี้ พบทั่วไปในองค์กรศาสนา อย่างคณะสงฆ์เถรวาทของไทยก็มีประเพณีการตั้ง “ฉายา” ให้แก่กุลบุตรที่เข้าไปบวชใหม่ เพราะถือกันว่า การเข้าสู่ภิกขุภาวะเป็นเหมือนการ “เกิดใหม่” อีกครั้ง เป็นบุตรของพระพุทธองค์ สมควรต้องมีนามใหม่ เรื่องนี้คงได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป

ในประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ยังมีอีกองค์กรหนึ่งซึ่งสมาชิกได้ “เกิดใหม่” ด้วยชื่อใหม่ทำนองนี้เดียวกันนี้

แต่ต้องถือว่าอยู่อีกฟาก คนละฝั่งกับพระภิกษุสงฆ์

นั่นคือขบวนการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้าย หรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ช่วงก่อนทศวรรษ ๒๕๓๐

ยุคนั้น เมื่อมีสมาชิกใหม่ “เข้าป่า” ไปร่วมขบวนการ ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้ “ชื่อจัดตั้ง”

ในความหมายเชิงสัญลักษณ์ นี่เป็นเหมือนการตายจากไปจากตัวตนเดิม และโลกทัศน์ชีวทัศน์เก่าๆ พร้อมกับที่ “เกิดใหม่” ตามแนวทางการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง นี่คือการอำพรางปกปิดตัวตน เพราะเมื่อทุกคนรู้จักกันเพียงด้วย “ชื่อจัดตั้ง” จึงย่อมไม่อาจสืบสาวเชื่อมโยงไปถึงใครที่ไหนได้อีก เป็นวิธีป้องกันความลับรั่วไหล (ภาษาฝ่ายซ้ายเรียกว่า “เสียลับ”) เพราะพรรคคอมมิวนิสต์เป็นขบวนการใต้ดิน ไม่มีสถานะทางกฎหมาย ที่สำคัญ รัฐบาลในอดีตถือเป็น “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” (คงแปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า communist insurgents)

การเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ชื่อจัดตั้ง” คงนิยมทำกันมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่มีการเผยแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เช่นเมื่อครั้งที่อดีตประธานาธิบดีโฮจิมินห์ในวัยหนุ่ม เดินทางเข้ามายังสยาม เพื่อแสวงหาแนวร่วมกู้เอกราชจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสให้แก่เวียดนาม ก็ใช้ชื่อปลอมตัวต่างๆ กันไป

“ชื่อจัดตั้ง” ใน พคท. ยังมักใช้ร่วมกับคำนำหน้าใหม่ซึ่งเน้นความเสมอภาค ไม่แบ่งแยกชนชั้น นั่นคือ “สหาย” ซึ่งฝ่ายซ้ายไทยคงแปลมาจาก comrade ในภาษาอังกฤษ หรือ ถงจื่อ ในภาษาจีน

จิตร ภูมิศักดิ์ (๒๔๗๓-๒๕๐๙) ปัญญาชน นักประวัติศาสตร์ และนักปฏิวัติ ชื่อเดิมคือ สมจิตร แต่ต้องมาเปลี่ยนครั้งหนึ่งแล้วในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีนโยบายให้ชายหญิงมีชื่อสอดคล้องตามเพศ และ “สมจิตร” ฟังดูเป็นชื่อผู้หญิง จึงตัดเหลือเพียง “จิตร” จนต่อมาปลายทศวรรษ ๒๕๐๐ เขาเข้าร่วมต่อสู้กับ พคท. โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า “สหายปรีชา”

เท่าที่ทราบมา “ชื่อจัดตั้ง” ส่วนมาก เจ้าตัวเป็นคนเลือกเอง บางคนเลือกคำที่มีความหมายทางการเมือง ชนิดที่เปิดหาเอาจากหนังสือ “คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตุง” ก็มี แต่สหายระดับนำบางกลุ่มเลือกชื่อจัดตั้งของตนเองและพรรคพวกให้เข้าชุดกันด้วย

อัศนี พลจันทร (๒๔๖๑-๒๕๓๐) ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันดีเฉพาะในฐานะผู้ประพันธ์เพลง “เดือนเพ็ญ” มีชื่อจัดตั้งว่า “สหายไฟ”

เชื่อว่าเขาเป็นผู้เลือกชื่อ “สหายดิน” ให้แก่ ธง แจ่มศรี อดีตเลขาธิการ พคท. โดยภริยาของแต่ละคน มีชื่อจัดตั้งเป็น “สหายน้ำ” และ “สหายลม”

ครบธาตุทั้งสี่ที่ประชุมกัน คือ ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ

หลายคนเชื่อว่า “ลม” ซึ่งปรากฏหลายครั้งในคำร้องของ “เดือนเพ็ญ” (ชื่อเดิม “คิดถึงบ้าน”) เช่น “ลมเอยช่วยเป็นสื่อให้…” ก็หมายถึง “สหายลม” หรือ “ป้าลม” วิมล พลจันทร คู่ชีวิตคู่ทุกข์คู่ยากของ อัศนี พลจันทร นั่นเอง


srun

ศรัณย์ ทองปาน

เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี