ผมเคยมีญาติใกล้ชิดที่เสียชีวิตเพราะติดเหล้า และยังมีเพื่อนที่เสียชีวิตด้วยมะเร็งปอดเพราะติดบุหรี่
การติดเหล้าติดบุหรี่ หรือติดยาเสพติดร้ายแรงอื่น ๆ ถูกฝังในความเข้าใจเรามาตลอดว่าเป็นเรื่องพฤติกรรมส่วนบุคคล อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะฤทธิ์ยาเสพติด
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เราก็มองหรือมีภาพของคนติดยาคนเสพยา ว่าเป็นคนไม่ดี และถึงขั้นคนร้าย
และแน่นอนคนทั่วไปอย่างเราควรอยู่ให้ห่างๆ ห่างทั้งคนติดยาและยาเสพติด
การแก้ไขปัญหายาเสพติดตลอดเวลาหลายสิบปีของทางการจึงเป็นการปราบปราม จับกุม ลงโทษ ทั้งคนเสพยา คนติดยา ถูกรวมเป็นอาชญากรเหมือนผู้เกี่ยวข้องในขบวนการค้ายาเสพติด
คำถามคือการจับกุมลงโทษจะทำให้ผู้เสพยาหรือติดยาหยุดการเสพยาหรือหายจากการติดยาได้หรือไม่
คำตอบนั้นน่าจะพอเดากันได้ไม่ยาก
ข้อมูลปี ๒๕๖๑ ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ต้องโทษในคดียาเสพติดกว่า ๒ แสนคน และแม้จะมีพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ แต่ผู้ติดยาก็ยังเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายและกระบวนการฟื้นฟูก็มีลักษณะของการบังคับมากกว่าความสมัครใจ ทำให้การฟื้นฟูยากจะประสบความสำเร็จ
หัวใจสำคัญคือการเปลี่ยนมุมมองของคนในสังคมและกฎหมายว่าผู้ติดยาเสพติดคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการช่วยเหลือและรักษา ไม่ใช่อาชญากร ซึ่งหลายประเทศกำลังขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาผู้เสพยาเสพติดด้วยนโยบายตามแนวทางนี้
ขณะที่ข้อมูลใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมองและวิวัฒนาการได้ช่วยเปิดเผยสาเหตุการติดยาเสพติดว่าไม่ใช่เรื่องของพฤติกรรมส่วนบุคคล แต่ถือเป็น “โรคเรื้อรัง” อย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับโรคเบาหวาน มะเร็ง หรือโรคหัวใจ
สาเหตุนั้นมาจากปัจจัยที่ผสมผสานกัน ทั้งปัจจัยด้านประสาทชีววิทยา จิตวิทยา สังคม และพันธุกรรม
ไม่ว่าผู้ติดยาจะเริ่มเสพยาด้วยเหตุผลอะไร แต่ผลของยาเสพติดคือการเพิ่มขึ้นของสารเคมีในสมองที่ชื่อว่าโดปามีน (dopamine) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้รู้สึกมีความสุข และเป็นสารสำคัญในวงจรสมองส่วนระบบการให้รางวัล เพื่อให้คนเราดำเนินกิจกรรมที่จำเป็นต่อการมีชีวิตรอด เช่น การกินอาหาร หรือการมีเพศสัมพันธ์
ปัญหาคือยาเสพติดทำงานดีเกินกว่าระบบให้รางวัลปรกติ ผู้เสพจะมีความสุขล้นเหลือ และเมื่อเสพบ่อย ต่อเนื่อง สมองจะพยายามปรับตัวเพื่อหาจุดสมดุลระหว่างช่วงโดปามีนท่วมท้นกับช่วงโดปามีนปรกติ โดยลดการผลิตโดปามีนตามธรรมชาติ หรือลดเซลล์ตัวรับโดปามีนในสมองทำให้ผู้เสพต้องพึ่งพาโดปามีนจากยาเสพติด และต้องการปริมาณยามากขึ้นเรื่อยๆ หากขาดโดปามีน ผู้ติดยาจะเกิดความเครียด หดหู่กระวนกระวาย ในที่สุดความอยากยาก็กลายเป็นสิ่งสำคัญกว่าเรื่องอื่นใดทั้งหมด
ผลข้างเคียงที่ร้ายแรงคือ เนื่องจากโดปามีนมีบทบาทสำคัญต่อการเรียนรู้และความทรงจำ มันจึงเชื่อมประสบการณ์เสพยากับสภาพแวดล้อม ทั้งคน สถานที่ สิ่งของ หรือเหตุการณ์ ทำให้ผู้ติดยาถูกกระตุ้นให้อยากยาได้เมื่อเจอคนหรือสภาพที่คุ้นเคยมาก่อน การเลิกยาจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นอกจากนี้ยังพบว่าประสาทสมองส่วนการใช้เหตุผลของผู้เสพยังถูกทำลายไปด้วย
แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่เคยเสพยาจะติดยา เรื่องนี้ยังเกี่ยวข้องกับสภาพทางจิตวิทยา สังคม โดยเฉพาะพันธุกรรม
การค้นพบที่ดูเหลือเชื่อได้จากการศึกษาผู้ติดยาจำนวนหนึ่งแล้วพบว่า ผู้ติดยามีโอกาสจะมีสารพันธุกรรมแปลกปลอมในยีนที่ทำหน้าที่ผลิตโดปามีนมากกว่าคนไม่ติดยาสองถึงสามเท่า
สิ่งแปลกปลอมนี้มาจากไหน
คำตอบคือมาจากไวรัสประเภทหนึ่งที่ฉีดสารพันธุกรรมของตัวมันเข้าสู่ยีนมนุษย์ตั้งแต่เมื่อราว ๒.๕ แสนปีก่อน !
นักวิทยาศาสตร์คาดว่าสารพันธุกรรมของไวรัสนี้น่าจะส่งอิทธิพลต่อการทำงานของยีนตัวอื่นรอบ ๆ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจนทำให้คนติดยา และยังคาดว่าร้อยละ ๕-๘ ของประชากรมนุษย์ทั่วโลกมีสารพันธุกรรมของไวรัสนี้
การค้นพบนี้น่าจะทำให้คำว่า ผู้ติดยาเสพติดคือผู้ป่วย ชัดเจนยิ่งขึ้น
และอาการเสพติดโดปามีนหรือสารแห่งความสุขอาจเป็นพันธุกรรมที่ฝังอยู่ในมนุษย์บางคนมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com
#สมัครสมาชิกวันนี้ต่อชีวิตนิตยสารไปยาวๆ