สุเจน กรรพฤทธิ์ : รายงาน
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ถ่ายภาพ

หากมีการสำรวจ ๑๐ อันดับ “ร้านหนังสือในดวงใจ” ของผู้ที่ชื่นชอบเดินทางท่องเที่ยวในเมืองไทยแล้ว เชื่อเหลือเกินว่าร้านหนังสือเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งเคยตั้งอยู่บนถนนพระอาทิตย์ น่าจะติด ๑ ใน ๑๐

“ร้านหนังสือเดินทางเป็นแหล่งเลือกซื้อหนังสือภาษาอังกฤษที่ดีแห่งหนึ่งในไทย ที่นี่ยังมีโปสการ์ดทำมือสวยๆ ให้เลือก คุณยังสามารถจิบกาแฟหรือชาได้อย่างสบายอารมณ์ด้วย”–หนังสือพิมพ์ New York Times

“แม้จะเป็นร้านเล็กๆ แต่ก็ตั้งใจให้เป็นที่รวมของหนังสือทั้งไทยและเทศ เป็นสโมสรของคนรักการเดินทาง”–ธีรภาพ โลหิตกุล

นี่เป็นเสียงส่วนหนึ่งจากสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศที่กล่าวขวัญถึง “ร้านหนังสือเดินทาง” ทั้งในแง่บรรยากาศและคุณค่าของร้านที่เป็นมากกว่าร้านขายหนังสือธรรมดา

“ร้านหนังสือเดินทาง” เป็นร้านหนังสือเล็กๆ ที่เปิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๕ ท่ามกลางกระแสการแข่งขันของร้านหนังสือขนาดใหญ่ไม่กี่เจ้าซึ่งแข่งกันเปิดสาขากระจายไปทุกซอกทุกมุมของกรุงเทพฯ ด้วยการริเริ่มของ หนุ่ม-อำนาจ รัตนมณี บัณฑิตจากรั้วเหลืองแดงผู้มีชีวิตแบบที่คนชั้นกลางกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ฝัน คือ ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศที่มีฐานะมั่นคงอย่างธนาคารโลกและได้ค่าตอบแทนดีกว่าอาชีพอื่นๆ หลายเท่าตัว

เพียงแต่…เป้าหมายชีวิตของเขาต่างจากคนอื่นๆ

หนุ่มเคยอธิบายสาเหตุที่ตัดสินใจหันมาทำร้านหนังสือว่า เพราะตั้งคำถามกับสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เช่น ทำไมทุกวันต้องดิ้นรนตื่นแต่เช้าออกไปผจญภัยบนถนนหลายชั่วโมงกว่าจะถึงที่ทำงาน ทำไมถึงใช้ชีวิตแบบที่ตนเองอยากใช้ไม่ได้ ประกอบกับนิสัยรักการอ่าน ความคิดในการทำร้านหนังสือจึงเกิดขึ้น และเมื่อพบทำเลเหมาะสม “ร้านหนังสือเดินทาง” จึงถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกที่ถนนพระอาทิตย์ โดยมีแนวทางชัดเจนว่า จำหน่ายหนังสือเกี่ยวกับการเดินทาง รวมไปถึงวรรณกรรมที่มีคุณค่า โดยเจ้าของร้านเป็นผู้เลือกเฟ้นหนังสือทุกเล่มที่นำมาวางขายในร้านด้วยตนเอง

ตั้งแต่ปี ๒๕๔๕-๒๕๔๘ เป็นเวลา ๔ ปีที่ร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทั้งในฐานะ “จุดหมาย” และ “ระหว่างทาง” ที่ควรแวะหากมีโอกาสผ่านถนนพระอาทิตย์ ในฐานะร้านหนังสือที่สามารถเจอหนังสือหายากได้ง่ายที่สุด ในฐานะมุมกาแฟ มุมพักผ่อน สถานที่พบปะสังสรรค์ของนักเดินทางทั่วโลกที่มาเยือนกรุงเทพฯ และในฐานะสถานที่ซึ่งมีการจัดเสวนาทางปัญญาน่าสนใจอยู่เป็นระยะ

ปลายปี ๒๕๔๘ การปิดตัวของร้านหนังสือเดินทางเนื่องจากเหตุผลบางอย่างทางธุรกิจ ปรากฏเป็นข่าวเล็กๆในสื่อหลายแขนง เว็บไซต์ดังอย่าง pantip.com ก็มีการกล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกัน ด้วยในความเห็นของคนในแวดวงวรรณกรรม นี่มิใช่การสูญเสียร้านหนังสือร้านเดียวบนถนนพระอาทิตย์เท่านั้น หากยังหมายถึงการสูญเสียชุมชนเล็กๆ ทางปัญญาของคนรักการเดินทางไปด้วย

ธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดีที่ผูกพันกับร้านแห่งนี้ เคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า

“ร้านหนังสือเดินทางเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าแท้จริงการเดินทางคือการแสวงหาทางปัญญาและจิตวิญญาณ การดำรงอยู่ของร้านหนังสือเดินทางเป็นการยืนยันว่ายุคสมัยการท่องเที่ยวเปลี่ยนไปแล้ว…การที่ร้านหนังสือเดินทางปิดลงอาจไม่ได้เป็นความสูญเสียมากมาย เพียงแต่เสียดายว่าในพื้นที่ศูนย์กลางใกล้แหล่งปัญญาชน (ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) ระบบทุนนิยมก็ไม่ยกเว้นว่าร้านนี้เป็นร้านหนังสือ เป็นธุรกิจที่ไม่มีกำไรมาก มันทำให้ชุมชนมีคุณค่า ถ้าเป็นที่ยุโรปจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เท่ากับว่าถนนพระอาทิตย์สูญเสียร้านหนังสือที่มีคุณค่าไปอย่างน่าเสียดาย”

ต้นเดือนมกราคม ๒๕๔๙ หลังจากร้านหนังสือเดินทางปิดตัวได้พักหนึ่ง เจ้าของร้านคนเดิมก็ได้ไปเริ่มต้นสร้างร้านใหม่ที่ห้องแถวเก่าแก่ริมถนนพระสุเมรุ ใกล้สะพานผ่านฟ้าฯ จนล่วงเข้าสู่ต้นเดือนพฤษภาคม ประตูห้องแถวของเขาก็แง้มขึ้นให้คนที่ผ่านไปมาเห็นว่าที่นี่มีร้านหนังสือกำลังจะเปิดกิจการ แน่นอน ถึงตอนนี้หนุ่มตัดสินใจสานฝันต่ออย่างแน่วแน่ เขาบอกว่าหากย้อนอดีต ดูปัจจุบัน แล้วมองไปยังอนาคต นี่คือการก้าวไปข้างหน้า

“เพราะชีวิตอยู่ในร้านหนังสือ ผมจึงเปิด ‘ร้านหนังสือเดินทาง’ ขึ้นมาอีกครั้ง คิดว่าการตัดสินใจครั้งนี้ถูกต้องสำหรับตัวเอง จริงๆ ผมคิดมาตลอดว่าเปิดร้านได้ก็ต้องปิดร้านได้ ถ้าไม่มีร้านหนังสือเดินทางสักพักคงไม่เป็นไร เพราะก่อนปี ๒๕๔๕ ก็ไม่มีร้านนี้ แต่เมื่ออยู่ในวิสัยที่ทำได้ ยังมีคนให้คุณค่ากับสิ่งที่เราทำ ดังนั้นจึงมีเหตุผลให้ทำต่อ อย่าเว้นวรรคมันเลย จริงๆ ผมก็ไม่อยากให้ร้านนี้หายไป อยากให้มันอยู่ได้นานที่สุดครับ”

นี่คือความรู้สึกลึกๆ ของหนุ่มในการเปิดร้านขึ้นอีกครั้งในทำเลใหม่ ซึ่งว่าไปแล้วเหตุผลในการเปิดร้านคราวนี้ก็ไม่ได้ต่างไปจากเดิม นั่นคือการทำในสิ่งที่ตนเอง “รัก” ล้วนๆ

“ถามว่าตอนเริ่มต้นทำร้านผมมีพื้นฐานทางธุรกิจไหม ไม่มี สิ่งเดียวที่มีคือความรู้สึกที่ว่าเราชอบอ่านหนังสือ พอมาทำร้านมันก็เหมือนเป็นการเอางานอดิเรกมาเลี้ยงชีพ ผมจำได้ว่าร้านหนังสือเดินทางสมัยอยู่บนถนนพระอาทิตย์ใช้เวลานานกว่าจะเข้าที่เข้าทาง ๓ เดือนแรกที่เปิดแทบไม่มีหนังสือขาย เพราะว่าวงการธุรกิจหนังสือไม่เห็นความสำคัญของร้านหนังสือเล็กๆ สำนักพิมพ์บางแห่งบอกชัดเจนว่าไม่มีนโยบายทำการค้ากับร้านหนังสือเล็กๆ บางแห่งก็เรียกเงินค้ำประกัน สมมุติว่าผมต้องการหนังสือจากสำนักพิมพ์ ก มาวางขาย ผมต้องเอาเงินวางไว้ ๓ หมื่นบาท ด้วยความที่ไม่เคยทำร้านหนังสือจึงไม่ได้เตรียมตัว เงินที่ผมมีตอนนั้นก็ใช้แต่งร้านไปแล้วส่วนหนึ่ง ต้องแก้ปัญหาด้วยการเอาเงินเดือนจากการทำงานประจำมาช่วย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ช่วงแรกหนังสือมาที่ร้านช้ามาก

“ตอนนั้นผมทำทั้งงานประจำและร้านหนังสือ จ้างน้องคนหนึ่งมาช่วยขายตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เก้าโมงเช้าถึงหกโมงเย็น ส่วนผมมารับช่วงตอนหกโมงเย็นถึงสามทุ่ม และวันเสาร์-อาทิตย์ สรุปคือทำงาน ๗ วันต่อสัปดาห์ เป็นช่วงที่หนักทั้งกายและใจ หลังปิดร้าน ดึกๆ ยังนั่งทาสีเก้าอี้ กว่าจะเคลียร์บัญชีเสร็จก็หกโมงเช้าของอีกวันก่อนจะออกไปทำงานประจำต่อ เป็นแบบนั้นอยู่ปีหนึ่งจนคิดว่าต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เพราะร่างกายจะไม่ไหวและงานจะเสียหมด ในที่สุดก็ตัดสินใจออกจากงานประจำมาทำร้านหนังสือเต็มตัว พอถึงเดือนที่ ๖ ภาวะขาดทุนก็ดีขึ้น ปลายปีก็ไม่ขาดทุนแล้ว แม้จะมีกำไรไม่มากมายแต่ก็มีสัญญาณที่ดี”

นั่นเพราะในเวลาไม่นาน ร้านหนังสือเดินทางได้กลายเป็นร้านหนังสือที่มีคนรู้จักมากที่สุดร้านหนึ่งในกรุงเทพฯ ด้วยบุคลิกและบรรยากาศของร้านที่เป็นเหมือน “ชุมชนนักเดินทาง” นอกเหนือไปจากการเป็นร้านสำหรับคนรักหนังสือ

“ผมเป็นคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาทำร้านหนังสือ ไม่มีสายสัมพันธ์หรือรู้จักนักเขียนมาก่อน เพียงแต่พอทำไปแล้ว ความจริงที่ว่าคนที่มีความรู้สึกดีๆ กับร้านหนังสือยังมีอยู่ ก่อนหน้าปี ๒๕๔๕ ร้านแบบนี้ไม่มีในสังคมไทย พอผมทำขึ้นมาจึงกลายเป็นแรงดึงดูดให้แต่ละคนมารู้จักกัน นักเขียนคนแรกๆ ที่เข้าร้านคือ ธีรภาพ โลหิตกุล ตอนนั้นผมเปิดร้านได้เดือนหนึ่ง พี่ธีรภาพผ่านมาที่ถนนพระอาทิตย์แล้วแวะเข้ามาที่ร้าน นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้คุยกับพี่ธีรภาพ แกยังถามด้วยความห่วงใยว่าร้านเป็นอย่างไร ซึ่งคงหมายถึงในแง่ธุรกิจด้วย ก่อนจากกันวันนั้นพี่เขาบอกว่า “มีอะไรให้ช่วยบอกนะ พี่ปวารณา”

“เรื่องเอาสื่อมาประชาสัมพันธ์ร้านไม่คิดเลยครับ ตอนนั้นคิดแค่ว่าทำให้ดีที่สุด ให้คนรู้จักบ้างก็พอ แต่ก็รู้ว่าต้องทำให้คนรู้จักร้านอย่างเป็นทางการ เลยคิดว่าน่าจะเชิญนักเขียนที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางมาร่วม หาทางดึงพวกเขามาสร้างชุมชน เริ่มจากเชิญมาร่วมเสวนาในงานเปิดร้าน ด้วยความที่ไม่มีสายสัมพันธ์มาก่อน ผมก็หาเบอร์แล้วโทรศัพท์ไปหา อย่าง ภาณุ มณีวัฒนกุล ตอนนั้นพี่เขาอยู่คอนโดฝั่งธนบุรี ผมก็โทรศัพท์ไป บอกว่าพี่ครับ ผมทำร้านหนังสือครับ เล่ารายละเอียดแล้วเชิญมาร่วมเสวนา ตอนนั้นมี ธีรภาพ โลหิตกุล ภาณุ มณีวัฒนกุล ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ เป็นต้น คนมาเยอะมาก และจากวันนั้น สื่อก็ตามเข้ามา

“วันเปิดร้านผมยังให้แต่ละคนเอาของที่เป็นความทรงจำจากการเดินทางมาด้วย เช่น พี่จอบ (วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์) ก็เอากล้องส่องทางไกลที่เคยใช้ดูแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดแข่งขันที่สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดมา พี่ธีรภาพเอาหนังสือลุงโฮจิมินห์มา คือมันได้แบ่งปันความรู้สึกกัน ก็เริ่มเป็นชุมชนตั้งแต่ตอนนั้น มีกิจกรรมมากขึ้น มีคนแวะเวียนมามากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นของรูปธรรมบางอย่างที่ชอบและรู้สึกดีกับมันมาก

“บางคนบอกว่ามาที่นี่แล้วพบหนังสือที่ไม่มีในร้านอื่น คำพูดนี้ทั้งถูกและไม่ถูก เช่นนักเรียนคนหนึ่งอยากได้ คำพิพากษา ของ ชาติ กอบจิตติ ไปทำรายงาน ร้านอื่นไม่มีขาย แต่ร้านหนังสือเดินทางมี ผมมองว่าสาเหตุมาจากการที่หนังสือดีถูกละเลย ผมคิดว่าหนังสือดีอย่างนี้ร้านหนังสือส่วนใหญ่มี แต่เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเขาหลากหลาย เขาจึงต้องเอาหนังสือทุกประเภทมาวางขาย แล้วแต่ละวันมีหนังสือออกใหม่หลายเล่ม ขณะที่พื้นที่บนชั้นที่จะโชว์หนังสือมีจำกัด หนังสือบางประเภทที่เขารู้สึกว่าขายไม่ดี ทั้งๆ ที่อาจขายดีถ้าวางในตำแหน่งที่เหมาะสม ก็อาจถูกเอาไปแอบๆ ไว้ตามชั้น ลูกค้าเลยคิดว่าหนังสือเล่มนั้นไม่มีในร้าน แต่ร้านหนังสือเดินทางเรากำหนดประเภทหนังสือที่นำมาวางขายชัดเจน หนังสือทุกเล่มจึงได้รับการดูแล ลูกค้าเองก็จะรู้ว่าเขาจะหาหนังสือประเภทไหนได้ที่นี่ ผมรู้สึกว่านี่เป็นช่องว่างที่ทำให้เรามีที่ยืน

“ผมเห็นด้วยกับประโยคของท่านพุทธทาสที่ว่า ‘การทำงานคือการปฏิบัติธรรม’ การทำร้านหนังสือเดินทางทำให้ผมได้ฝึกตัวเอง เราเปิดร้านต้องพร้อมต้อนรับลูกค้าทุกคน แต่ในเชิงลึก ทุกคนหรือเปล่าที่เราอยากต้อนรับ บอกตามตรงว่าไม่ แต่จะไม่ต้อนรับเขาเหรอ ไม่ได้ บางทีผมอยู่ร้านคนเดียว คนมากมาย ชั้นบนสั่งเครื่องดื่ม ชั้นล่างอยากคุย ในใจเราต้องจัดลำดับแล้ว จะทำอะไรก่อน คือเราต้องดูแลทุกคนได้ ถึงจะยาก แต่ในที่สุดเราก็จะรู้ว่าสถานการณ์แบบนั้นมักจะเป็นแค่พักหนึ่ง หรือบางทีมีคนมาขโมยหนังสือ เราก็แอบดูเขาขโมย มันทำให้เรานิ่งขึ้น เข้าใจคนมากขึ้น ได้ข้อมูลในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น ๔ ปีบนถนนพระอาทิตย์ไม่นานเลยครับ เจอน้องบางคนเข้าร้านตั้งแต่เขานุ่งขาสั้นจนจบมหาวิทยาลัย มองเขาแล้วมองตัวเอง เฮ้ย ๔ ปีแล้วนะ ผมไม่สามารถบอกว่าชอบช่วงไหนที่สุด บอกได้แค่โอเคกับมันมาก ไม่เคยคิดว่าตัดสินใจผิดที่มาทำร้านหนังสือเดินทาง

“ปลายปีที่ ๓ ขึ้นปีที่ ๔ ของร้านที่ถนนพระอาทิตย์ ผมก็เจอสถานการณ์บางอย่างจนคิดเลิก มองแล้วการทำร้านต่อก็มีด้านดีอยู่มาก ตั้งแต่ทำร้าน ผมได้สัมพันธ์กับผู้คนที่รู้สึกดีด้วย ได้อยู่กับหนังสือ ได้สิ่งที่ต้องการระดับหนึ่ง ถามว่าถ้าอย่างนั้นทำไมถึงต้องเลิกร้านที่นั่น ต้องย้ายมาอยู่ผ่านฟ้าฯ คงต้องตอบว่าชีวิตจริงมันมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถก้าวต่อไปได้ เช่น ต้องทำงาน ๗ วันต่อสัปดาห์ ต้องคิดถึงตัวเลขตลอด แฟนผมเลิกงานที่ถนนวิทยุหกโมงเย็น แล้วมาช่วยงานในร้านที่ถนนพระอาทิตย์จนถึงสี่ทุ่มก่อนจะขับรถกลับบ้านที่บางแค ส่วนผมแหวกโต๊ะกาแฟชั้นสองทำเป็นที่นอนทุกคืน คือพอผ่านช่วงนั้นมาได้เรื่องอยู่ต่อทำได้แน่ แต่วงจรจะเป็นแบบเดิม ก็ต้องถามตัวเองว่านั่นคือสิ่งที่ต้องการไหม จริงอยู่ เมื่อผมทำร้านหนังสือย่อมไม่ได้มุ่งสู่ความเป็นมหาเศรษฐี เพียงแต่ที่ย้ายก็เพื่อต้องการแก้ไขบางอย่าง นอกจากนี้มันก็มีเงื่อนไขของระบบทุนนิยมที่ทำให้ความรู้สึกผมสะดุด คิดว่าการยุติร้านที่ถนนพระอาทิตย์จะแก้ปัญหาได้ จึงตัดสินใจยุติช่วงปลายปีที่ ๓ ตอนนั้นกะว่าเลิกเลย ต้องอธิบายว่าสัญญาเช่าที่ถนนพระอาทิตย์มี ๓ ปี ตั้งใจว่าถ้าอยู่ครบ ๓ ปีก็ถือว่าชนะตัวเองแล้ว แต่นี่อยู่ถึง ๔ ปี เมื่อตอบตัวเองได้แบบนั้น ปิดไปคงไม่มีปัญหา ถ้าเจอทำเลดีๆ ค่อยเปิดร้านใหม่ ซึ่งจะเป็นที่ไหน นานเท่าไรเราก็ไม่รู้ ระหว่างนั้นคงทำอาชีพอื่นไปก่อน ปีสุดท้ายจึงเป็นปีที่โล่งมากเพราะรู้ว่าจุดสิ้นสุดอยู่ไหน ร้านก็อยู่ตัวแล้ว ไปได้ดีทั้งในแง่ความรู้สึกและธุรกิจ

“ร้านที่ผ่านฟ้าฯ นี่ผมมาพบช่วง ๓ เดือนสุดท้ายก่อนร้านหนังสือเดินทางที่ถนนพระอาทิตย์จะปิด ตอนนั้นมีคนไปส่งข่าวว่ามีห้องแถวว่าง ก็มาดูแล้วตัดสินใจภายใน ๓ วัน รับได้ในแง่ค่าเช่ากับทำเล แน่นอน มันสู้ที่เดิมไม่ได้ ยืนยันว่าถนนพระอาทิตย์เหมาะกับร้านหนังสือเดินทางที่สุด แต่ถามว่าต้องเป็นถนนสายนั้นตลอดไหม ไม่จำเป็น ๔ ปีที่ผ่านมาคงสร้างต้นทุนบางอย่างให้ร้านได้แล้ว และการมาอยู่ที่ใหม่ก็น่าจะสร้างสังคมแบบเดิมได้ หวังลึกๆ ว่าคนที่รู้จักกันที่ถนนพระอาทิตย์จะมาหาเรา เลยกล้าย้ายมาอยู่ที่นี่

“บอกตรงๆ ผมเกลียดตัวเลขมาก ที่ทำร้านหนังสือเดินทางก็ไม่ได้ทำเป็นธุรกิจแบบสุดๆ มีคนถามว่าเปิดร้านหนังสือแล้วไม่ลดราคาอยู่ได้หรือ ร้านทั่วไปคงต้องคิดแล้วว่าซื้อ ๒ เล่มต้องลดราคาหรือแถมอะไรหน่อย แต่ ๔ ปีที่ผ่านมาผมขายเต็มราคาตลอด มีครับที่ถูกถามว่ามีส่วนลดไหม ผมก็อธิบายว่าหนังสือเล่มหนึ่ง ๑๐๐ บาท ผมได้ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ คือ ๒๐ บาท ต้องจ่ายค่าเช่าเดือนเท่านี้ๆ มันไม่ใช่ว่าผมไม่อยากลดให้นะ แต่นั่นเป็นกำไรที่น้อยที่สุดแล้วที่จะได้ ถ้าลดราคาผมอยู่ไม่ไหวจริงๆ แต่ผมก็เข้าใจลูกค้านะ บางทียังแนะนำร้านให้เขา บอกเขาว่าถ้าพี่ไม่ลำบากมีอีกร้านครับที่ให้ส่วนลด ลูกค้าหลายคนกลับมาซื้อหนังสือที่ร้านผมเพราะเข้าใจ ผมเองก็พยายามอุดช่องว่างตรงนี้โดยหาทางเพิ่มโอกาสให้เขาเจอหนังสือที่ต้องการเมื่อเข้ามาในร้าน โดยเลือกหนังสือดีๆ มาขาย นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องบรรยากาศที่ผมพยายามสร้างขึ้น

“๔ เดือนที่หยุดไป ไม่ได้ไปเที่ยวครับ นั่งเลื่อยไม้ ทาสี ตอกตะปู ขัดพื้น ทำทุกอย่างอยู่ในร้านใหม่ งานช่างที่ไม่เคยทำก็เริ่มทำ ทำไมต้องทำเอง เพราะผมรู้สึกว่าชีวิตอยู่ในนี้ รู้สึกว่าถ้าจะอยู่กับมันต้องมีความสุขกับมันด้วย เลยทำเองเป็นหลัก เพิ่งเปิดประตูร้านเมื่อเดือนพฤษภาคมนี้เอง ยอมรับว่าไม่ทันตามกำหนดที่วางไว้ (๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙) แต่ผมยังคงทำมันด้วยความรู้สึกเดิม คนทั่วไปคิดว่าทำร้านหนังสือยาก ข้อสรุปคือไม่รอดหรอก แต่ผมบอกตัวเองว่าต้องอยู่ให้ได้ ถ้าคิดว่าทำได้จะส่งผลในทางที่ดี ปัญหาที่เข้ามาผมไม่เคยคิดว่าเป็นปัญหา มันคือก้าวหนึ่ง ถ้าผ่านไปได้จะเข้มแข็งขึ้น ถามว่าลำบากไหม ไม่ สนุกที่ได้ผ่านชีวิตแบบนั้น มันภูมิใจ คนเราถ้าสร้างความภูมิใจให้ตัวเองได้จะนำไปสู่การสร้างสิ่งที่มีความหมายในชีวิต ผมทำร้านหนังสือ ๔ ปีไม่เคยมีวันไหนตื่นขึ้นมาแล้วถามตัวเองว่าจะทำอะไรต่อ ไม่เคยรู้สึกว่าเคว้งคว้าง ร้านนี้เติมเต็มจิตใจเราได้ รู้สึกว่าชีวิตมีอะไรบางอย่าง บางอย่างที่อยู่ข้างในไม่ได้เอาไว้อวดคนอื่น แต่พอมองเข้าไปแล้ว เออ นี่คือสิ่งที่เราสร้าง มันสุขกับตัวเอง นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมยืนยันจะทำร้านหนังสือต่อไปครับ”

ก่อนจากกันเขาทิ้งท้ายถึงอนาคตของร้านหนังสือที่เขารักไว้ว่า

“ไม่แน่ วันหนึ่งผมอาจย้ายร้านอีกครั้ง ร้านหนังสือเดินทางมีลักษณะบางอย่างทำให้ไม่สามารถอยู่ได้ทุกที่ ตอนนี้ผมเริ่มคิดว่า ถ้าต้องใช้เวลาและแรงงานเท่าเดิม ทำไมไม่ทำร้านใหญ่ ผมไม่ได้หมายถึงการมีสาขา แต่อยากให้ร้านมีพื้นที่เพิ่มขึ้น คิดว่าไม่ผิดที่จะขยับขยายมันนะครับ ให้มีหนังสือในร้านมากขึ้น คนเข้ามาได้มากขึ้น ผมมีความคิดใหม่ๆ มากขึ้นทุกวัน ความฝันผมคืออยากเห็นแถวนี้สักหนึ่งช่วงตึกมีแต่ร้านหนังสือ ถ้ามีที่ว่างผมจะเปิดร้านหนังสืออีกชื่อหนึ่งเลย อยู่ใกล้ๆ กันนี่ละ เห็นร้านเหล้าชอบทำ นี่นำมาสู่คำถามที่ว่าทำไมถนนหนังสือจึงไม่เกิดในเมืองไทย ทำไมคนไทยต้องมุ่งเป้าไปซื้อหนังสือในงานหนังสืออย่างเดียว

“อีก ๑๐ ปี ผมคิดว่าร้านหนังสือเดินทางยังคงอยู่ แต่จะอยู่ไหนเป็นอีกเรื่องนะครับ”

หมายเหตุ : ร้านหนังสือเดินทางแห่งใหม่ ตั้งอยู่เยื้องกับภัตตาคารนิวออร์ลีนส์ที่ปิดตัวไป หากมาจากสี่แยกสะพานวันชาติ ร้านหนังสือเดินทางจะอยู่ทางซ้ายมือ ก่อนถึงธนาคารกรุงเทพ สาขาสะพานผ่านฟ้า มีป้ายให้เห็นชัดเจนหน้าร้าน เปิดทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๐.๐๐-๒๐.๐๐ น.หากมีการสำรวจ ๑๐ อันดับ “ร้านหนังสือในดวงใจ” ของผู้ที่ชื่นชอบเดินทางท่องเที่ยวในเมืองไทยแล้ว เชื่อเหลือเกินว่าร้านหนังสือเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งเคยตั้งอยู่บนถนนพระอาทิตย์ น่าจะติด ๑ ใน ๑๐