เครื่องรางคนค้าขาย (๑) – “ประเดิม”
ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
โลกของพ่อค้าแม่ขายคือโลกแห่งการประเมินสถานการณ์ ปรับตัวไปตามกระแส โดยต้องแบกรับความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา
ในบรรยากาศแบบนี้ นอกจากกลเม็ดเคล็ดลับชั้นเชิงการตลาดแล้ว อีกสิ่งที่มักพบควบคู่กันไปคือความเชื่อและแนวทางปฏิบัติอันเนื่องด้วย “อำนาจศักดิ์สิทธิ์” เสมือนเป็นการ “รับประกันความเสี่ยง” ขึ้นอีกชั้นหนึ่ง
เราจึงพบเห็นศาล หิ้งบูชา เครื่องรางของขลังสารพัดชนิด ได้ตั้งแต่ในห้างใหญ่ใจกลางเมือง ไปจนถึงพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย
นอกจากนั้นแล้ว ในหมู่คนค้าขายยังต้องมีวัตรปฏิบัติที่เป็นเรื่องทางเคล็ดลางต่างๆ อีกไม่น้อย
อย่างมีน้องที่รู้จักกันคนหนึ่งเปิดร้านอาหารเล็กๆ ใต้ถุนคอนโดฯ แต่เดิมเธอไปทำป้ายไม้ open/closed มาไว้สำหรับแขวนประตูกระจกหน้าร้าน ให้สามารถพลิกกลับไปมาหน้าหลังได้ แต่เมื่อคุณแม่เห็นเข้า รีบทักว่าไม่ดี ไม่ยอมให้เอามาติดร้าน เพราะมีคำว่า “ปิด” ฟังดูไม่เป็นมงคลกับกิจการที่เพิ่งเริ่มต้นใหม่ๆ
เรื่องนี้อาจนับเนื่องกับแนวคิดที่แพร่หลายทั่วไปว่าด้วยการ “ประเดิม” (แปลว่าเริ่มต้นเริ่มแรก) ได้
นั่นคือหากเริ่มต้นอย่างไร การค้าการขายก็จะเป็นแบบนั้นไปตลอด ดังนันจึงต้องเริ่มต้นให้ดีที่สุด
ลูกค้าคนแรกรายแรก คนขายจึงอยากให้ซื้อด้วยเงินสด ไม่ใช่เงินเชื่อ และไม่ชอบให้ต่อรองราคา
เมื่อได้เงินจำนวนแรก เช่นธนบัตรใบแรกของวันนั้นมา แม่ค้าจึงมักต้องเอาไป “ประเดิม” ด้วยการแตะๆ ตามสินค้าที่ตัวเองขาย ปากก็พร่ำพูดถ้อยคำมงคล เช่น “เฮงๆๆ” “ขายดีๆๆ” หรือบางคนก็จะมีตำราของตัวประมาณว่า “ประเดิมฉู่ฉี่ ขายดิบขายดี เป็นเทน้ำเทท่า” อะไรก็ว่ากันไป
ลูกค้าบางคนจึงอาจเคยมีประสบการณ์ว่า หากต้อง “ประเดิม” ด้วยสินค้าราคาต่ำ เช่นอยู่ๆ เขาเพิ่งเปิดร้านแล้วไปขอซื้อข้าวเปล่า พ่อค้าแม่ค้าก็มักไม่ค่อยพอใจ บางคนอาจจะถึงกับบอกว่าให้รอลูกค้าคนอื่นก่อน ก็มี
ยิ่งไปกว่านั้น หลายคน “ถือ” ไปถึงขนาดว่า ถ้ามีลูกค้าคนแรกมาต่อรองราคาสินค้าแล้วไม่ซื้อ แม่ค้าก็จะเก็บสินค้าชิ้นนั้นแยกออกไปเลย ค่อยเอาไว้ขายวันหลัง เพราะเชื่อกันว่าขืนวางเอาไว้ก็จะเกิดกรณีทำนองเดียวกันนั้นไม่จบไม่สิ้นไปจนตลอดทั้งวัน
แต่ก็เหมือนทุกเรื่อง นั่นคือมีตำรา “แก้เคล็ด” ด้วย บ้างให้ปิดไฟในร้านให้หมดแล้วเปิดไฟใหม่ ทำทีเหมือนกับเพิ่งเปิดร้านอีกครั้ง หรือบางคนก็ว่าเมื่อลูกค้าคนนั้นคล้อยหลังไปแล้ว ให้เอาไม้กวาดหรือพัด มาปัดกวาดสิ่งอัปมงคลให้กระเด็นกระดอนออกไปนอกร้าน
ธรรมเนียมการ “ประเดิม” นี้ ยังลามไปถึงเรื่องอื่นๆ อีก เช่นจำได้ว่าสมัยเด็กๆ ผู้ใหญ่ที่บ้านจะย้ำเสมอว่าถ้าจะเอาสินค้าไปเปลี่ยนไปคืน เช่นเสื้อผ้าที่ซื้อมาแล้วใส่ไม่ได้ ใหญ่ไปเล็กไป ก็ไม่ควรไปตั้งแต่ตอนที่เพิ่งเปิดร้าน เพราะ “เขาไม่ชอบ”
พนักงานที่จะไป “วางบิล” เก็บเงินตามบริษัทก็ย่อมรู้ธรรมเนียมนี้ดี ว่าควรไปวางบิลเก็บเช็คช่วงบ่ายๆ เราจึงเห็นตามบริษัทต่างๆ ที่เปิดให้มาวางบิลรับเช็คเฉพาะช่วงบ่ายในวันที่กำหนดเท่านั้น
ทีแรกยังคิดว่าแนวคิดเรื่องนี้อาจมาจากคนจีน แต่เมื่อลองค้นๆ ดู ปรากฏว่าธรรมเนียมการ “ถือ” เรื่อง “ประเดิม” แบบนี้ ทางภาคเหนือและอีสานก็มี เขาเรียกว่า “ลองหมาน” หรือ “แฮกหมาน”
ศรัณย์ ทองปาน
เกิดที่จังหวัดพระนคร ปัจจุบันเป็น “นนทบุเรี่ยน” และเป็นบรรณาธิการสร้างสรรค์นิตยสาร สารคดี