ผู้เล่าเรื่อง : ผ่านบุรุษที่ ๒
วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ
๑
เล่าเรื่องด้วย “I” ฉัน ผม ข้าพเจ้า หรือสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง เป็นวิธีพื้นฐานและง่ายที่สุด ที่เรามักใช้กันอยู่แล้วในงานเขียนสารคดี
ผู้เขียนประสบพบเจอรู้เห็นเหตุการณ์หรือเรื่องราวใดมา ก็เขียนเล่าออกไปด้วยเสียงของ “ฉัน” ซึ่งว่าไปแล้วบางทีก็เหมือนกับการยืนพูดอยู่ข้างถนน ในตลาด หรือแม้กระทั่งเวทีกลางงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ซึ่งผู้คนผ่านไปมาวุ่นวาย ไม่รู้ว่าพูดอยู่กับใคร เรื่องเล่าของเราต้องมีจุดน่าสนใจพอคนเขาจึงจะแวะเข้ามาฟัง
ในงานเขียนถ้าลองพลิกนิดเดียวในการเล่าเรื่อง จากที่ “ฉัน” กำลังพูดอยู่กับใครก็ไม่รู้ เปลี่ยนเป็นพูดกับตัวละครหลัก (หรือแหล่งข้อมูล) ของเรา สารคดีเรื่องนั้นก็อาจมีสีสันแปลกใหม่ขึ้นทันทีในแง่การเล่าเรื่อง
เสียงของ “ผู้เล่าเรื่อง” จะพุ่งไปที่ “คุณ” เล่าผ่านสรรพนามบุรุษที่ ๒ ผู้จะเป็นคล้าย “เส้นนำสายตา” พาผู้อ่านไปตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง
๒
ผมเคยทดลองใช้วิธีนี้ในสารคดีเรื่อง “ภร.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร แม่หมอสมุนไพร ‘อภัยภูเบศร’ ” ประเด็นหลักของเรื่องต้องการสื่อเรื่องยาสมุนไพรไทย ผ่านองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์ของอภัยภูเบศร ซึ่งมี ภร.ดร.สุภาภรณ์ หรือ หมอต้อม เป็นกำลังหลักคนหนึ่ง ก็คิดว่าให้เธอเป็นตัวละครหลักของเรื่อง
แกนของการเล่าเรื่อง ผู้เขียน (วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง) จะพูดกับเธอในสรรพนาม “คุณ”
โดยน้ำเสียงนี้จึงไม่ใช่การพูดให้ใครฟังก็ไม่รู้อีกต่อไป แต่ชัดเจนว่ากำลังพูดกับใครคนหนึ่งคนนี้คือ-คุณ (ภร.ดร.สุภาภรณ์ หรือ หมอต้อม) ซึ่งผู้อ่านทั้งหลายหากใคร่จะฟังก็เชิญเข้ามาได้เลยด้วยความยินดี
เปิดเรื่องโดยแนะนำตัวเธอต่อผู้อ่าน แต่เหมือนการพูดกับเธอ โดยแทรกชื่อนามจริงของเธอไว้ในนั้น…
คุณเพิ่งได้รับรางวัลระดับชาติ “บุคคลดีเด่นแห่งชาติ ด้านการแพทย์แผนไทย” มาเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๓ ซึ่งคงเป็นความปิติยินดีแก่คนรอบข้าง แต่กับตัวเองคุณคงรู้อยู่แก่ใจว่า รางวัลนั้นเป็นแค่ เรื่องชั่วขณะ งานที่คุณทำอยู่นั่นต่างหากที่ยาวนานยิ่งกว่า
เมื่อถูกถามว่าทำอย่างไร–ในช่วงเวลาเพียงไม่ถึง ๑๐ ปี ผลิตภัณฑ์ตราอภัยภูเบศรก็ก้าวมาอยู่แถว หน้าสุดของประเทศในด้านสมุนไพร
คุณตอบว่า ไม่รู้
คนฟังไม่กังขาว่าคุณพูดอย่างเล่นลิ้น ก็คุณไม่ใช่แม่ค้า ไม่ใช่นักการตลาด คุณเป็นแค่นักฝัน นักสู้ นักธรรมชาตินิยม และนักมนุษยนิยม ที่เชื่อเรื่องความรู้สึกมากกว่าเหตุผล-ในบางกรณี
อาจมีหลายเรื่องที่คุณไม่รู้ แต่คุณรู้จักตัวเอง คุณบอกในว่าช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ดีของชีวิต
คุณเป็นข้าราชการ ชื่อตามตำแหน่งของคุณคือ เภสัชกรหญิง ดอกเตอร์สุภาภรณ์ ปิติพร เภสัชกร ๙ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม แต่ใครๆ มักเรียกคุณด้วยชื่อเล่นกันติดปากว่า “หมอต้อม” ในวันเวลาราชการคุณปฏิบัติงานราชการไปตามหน้าที่ อยู่ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดปราจีนบุรี และใช้เวลาในช่วงวันหยุดรวมทั้งยามว่างระหว่างวัน ไปกับงานเก็บรวบรวมความรู้เรื่องยาสมุนไพรจากหมอยาพื้นบ้าน จนพวกน้องๆ ที่ทำงานอยู่ด้วยบอกว่า คุณน่ะทำงานวันละ ๒๕ ชั่วโมง
แล้วก็เช่นเดียวกับการเล่าโดยวิธีอื่นใด ข้อมูลใดๆ ที่มีอยู่ในมือก็สามารถแทรกใส่เข้าไปในเรื่องได้หมด ผ่านการพูดกับ “คุณ”
คุณชอบ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กับบุคลิกที่หัวยุ่งฟูอย่างคนที่ตื่นตัวกับความคิดและการงานอยู่ ตลอดเวลา คุณชื่นชม โทมัส เอดิสัน จากเกร็ดชีวิตเขาบางตอนที่เคยอ่านเจอ
เมื่อเห็นสามีโหมทำงานหนักอย่างไม่มีเวลาหยุดพัก ภรรยาก็เตือนด้วยความห่วงใย
“ที่รัก-คุณน่าจะหาเวลาพักผ่อนบ้าง” คุณนายเอดิสันวอนสามี
“จะให้ผมไปไหนเล่า ?”
“ก็ไปที่คุณชอบ”
โทมัส เอดิสัน เดินกลับเข้าไปในห้องทำงาน
นั่นละ ที่ทำให้คุณชื่นชมในตัวเขา คุณก็เช่นกัน คุณบอกว่าความสุขและการพักผ่อนของคุณก็อยู่ในโมงยามการทำงานนั่นแหละ การงานในพื้นที่ งานในการเก็บรวบรวมความรู้เรื่องยาสมุนไพร ที่คุณทำมาตั้งแต่เริ่มรับราชการจนทุกวันนี้
ในวัยใกล้ ๕๐ ปี คุณยังคงทำงานหนักเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน ยังพร้อมสำหรับการลงพื้นที่ ไม่ว่าจะกันดารหรือเสี่ยงภัยแค่ไหน–หากรู้ว่าที่นั่นมีหมอยาพื้นบ้านให้คุณได้ขอความรู้-ฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาสมุนไพร
ข้อมูลที่ผู้เขียนค้นคว้ามา ก็นำมาพูดกับ “คุณ” ได้ แม้ว่าเธอจะเป็นผู้เขียนมาเองกับมือ
ในหนังสือ สมุนไพรอภัยภูเบศร คุณเขียนไว้ด้วยว่า การริเริ่มครั้งนี้ถือได้ว่าเป็น “จุดเปลี่ยน” ทั้งกับตัวคุณเองและงานที่ทำ
“จากการที่ใบไม้กลายเป็นยาได้ ทำให้เราตระหนักและภูมิใจว่าเราเป็นศิษย์มีครู ทำให้มั่นใจว่าถ้าเจอครูดีๆ จากคนรุ่นเรานี้มองย้อนกลับไปได้เป็นพันๆ ปี ในยุคที่คนยังอยู่กินกับใบไม้ เพียงแต่ให้เรานำกลับมาให้ได้ เราไม่มีห้องทดลองให้ทำวิจัย แต่สัจจะก็คือสัจจะ และเมื่อเราทำออกมา คนใช้ก็เชื่อถือ โรงพยาบาลก็เชื่อถือ”
จากนั้นงานผลิตยาสมุนไพรของคุณก็ขยายไปสู่ชนิดอื่นๆ อาทิ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน บอระเพ็ด เถาวัลย์เปรียง ฯลฯ บางชนิดมีที่มาจากความจำเป็นสำหรับคนใกล้ตัว บางชนิดก็อาศัยข้อมูลจากที่มีผู้วิจัย ไว้ก่อนแล้ว
ขมิ้นชัน กับฟ้าทะลายโจร : คุณได้ข้อมูลการใช้ที่เป็นผลจากการศึกษาวิจัยของ สุพจน์ อัศวพันธุ์ธนกุล รุ่นพี่ร่วมสถาบันที่คุณยกย่องนับถือเป็นต้นแบบและเป็นแรงบันดาลใจให้คุณทำในสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้–รวมทั้งการเก็บรวบรวมความรู้เรื่องยาสมุนไพร ซึ่งรุ่นพี่คนที่คุณศรัทธานั้นก็เคยทำมาก่อน เขาไปอาศัยอยู่วัด ในชุมชนทางภาคเหนือเพื่อศึกษาและเก็บความรู้เรื่องยาสมุนไพรจากหมอยาพื้นบ้าน เขาได้รู้จักสรรพคุณของขมิ้นชันจากชาวบ้านที่ต้องมีขมิ้นชันติดย่ามไว้ด้วยเสมอยามเดินป่า เอาไว้กินยามเกิดปวดท้องขึ้นมา ต่อมาเขาเอามาทดลองใช้ด้วยตัวเอง และพบว่าได้ผล เขาเผยแพร่ผ่านวารสาร ข่าวสารสมุนไพร ที่เขาเป็นบรรณาธิการเองด้วย จนเป็นที่แพร่หลาย กระทั่งกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ อาศัยความรู้เบื้องต้นจากการศึกษาของเขา ในการเผยแพร่ยาสมุนไพรไทย ๔ ชนิดแรกสู่สาธารณชน ได้แก่ ขมิ้นชัน-แก้โรคกระเพาะ ท้องอืดท้องเฟ้อ ฟ้าทะลายโจร-แก้ไข้ เจ็บคอ ท้องเสีย ชุมเห็ดเทศ-เป็นยาระบาย เสลดพังพอน-แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
เถาวัลย์เปรียง : คุณมีข้อมูลจากหมอยามาก่อนแล้วว่า ชาวบ้านใช้ต้มกินแก้กระษัย จนเมื่อแม่ของพยาบาลคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกับคุณ ทนกินยาแก้ปวดข้อที่มีผลข้างเคียง เรื่องกัดกระเพาะอาหารต่อไปไม่ได้ คุณจึงส่งสมุนไพรชนิดนี้ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิจัย ก่อนจะนำมาใช้ ก็พบว่าไม่มีพิษ หากยังสร้างภูมิคุ้มกัน คุณจึงเริ่มนำมาเป็นยาแก้ปวดเส้นปวดหลัง กับสบู่สมุนไพรเปลือกมังคุดก็เช่นกัน คุณบอกว่าทำออกมาทีแรกเพื่อให้น้องในสำนักงานที่เป็นสิวได้ใช้
ยอ : เริ่มจากพยาบาลคนหนึ่งจะปวดท้องทุกรอบเดือน คุณรู้จากงานวิจัยว่าลูกยอนอกจากช่วยให้ เจริญอาหาร ยังมีสรรพคุณช่วยเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาว จึงเป็นยาที่ดีมากสำหรับผู้หญิงและผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งใช้กันแพร่หลายอยู่ที่เมืองนอก ที่สำคัญคุณบอกว่ายอไทยนั้นดีกว่าพันธุ์ของเมืองนอกเสียอีก แต่พอกระแสซาลงการวิจัยก็พลอยเงียบหายไปด้วย
เช่นเดียวกับถ้อยคำที่เธอให้สัมภาษณ์ ก็นำมาใช้เป็นโคว๊ชได้ดังในงานสารคดีโดยทั่วไป
คุณถึงตั้งคำถามกับตัวเองและกระทรวงสาธารณสุขว่า กับโรคง่ายๆ พวกนี้ทำไมไม่ใช้สมุนไพร ในบ้านเราก่อน ทั้งที่เป็นเรื่องไม่เกินความเป็นไปได้
คุณเสนอแนวคิดพร้อมแสดงข้อมูลกราฟ ๒ เส้นที่กางกว้างทิ้งช่วงห่างกันมาก
“เส้นสีน้ำเงินเป็นเภสัชแผนใหม่ นำเข้าสารเคมีเอามาทำเป็นยาเม็ด ยาน้ำ เราซื้ออยู่ปีละ ๗ หมื่นกว่าล้านบาท นี่เป็นตัวเลขของปี ๒๕๔๙ ส่วนเส้นสีชมพูที่อยู่ด้านล่างเป็นยาสมุนไพรที่เราผลิตได้ มีสัดส่วนประมาณ ๒ เปอร์เซ็นต์ เราอยากให้ตัวเลขมันขยับขึ้นมาบ้าง อย่างน้อยก็สักหมื่นล้าน”
ซึ่งคุณดูมั่นใจในความเป็นไปได้
“เรามีสมุนไพรหลายอย่างที่เราสู้ยาฝรั่งได้ และใช้ได้อย่างปลอดภัย เราต้องส่งเสริมให้ประชาชนใช้ และต้องชัดเจนว่าในอนาคตเราจะมีแนวทางพัฒนาสมุนไพรต่อไปอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้หายไปจนคนไม่มี ทางเลือกอื่น”
พอถูกถามต่อว่า จะพัฒนาอย่างไร ?
คุณตอบกลั้วหัวเราะ
“ดิฉันไม่ใช่อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยนะ คำตอบสำหรับจุดที่พอเอื้อมมือถึงคือ เราต้องเตรียมความรู้ เพื่อให้ประชาชนพึ่งตัวเองได้ ตอนนี้ความรู้มันหาย เราต้องเริ่มจากไปเก็บความรู้ แล้วค่อยๆ นำออกเผยแพร่ ในสถานการณ์ที่คนส่วนหนึ่งเข้าถึงยาไม่ได้ และโรคเรื้อรังแปลกๆ เกิดขึ้นมาก คนจะหันกลับมาหาสมุนไพรกันมากขึ้น ถ้ามีความรู้พอสังคมก็มีทางออก และเป็นความคุ้มค่าของประเทศ สมกับที่บ้านเมืองของเรามีตัวยาอยู่แล้ว”
เล่าข้อมูลที่ค้นคว้ามา ที่สัมภาษณ์ และที่ติดตามสังเกตการณ์ ผ่านน้ำเดียวคือการพูดกับ “คุณ” ไปจนจบเรื่อง ซึ่งแม้ว่าโดยใจความจะเป็นความคิดหรือมุมมองของผู้เขียน แต่ก็ซ้อนแฝงอยู่ในเสียงพูดถึง “คุณ”
ใครที่ทำสิ่งใดได้ดีเด่นกว่าคนอื่น มักได้รับการนิยามว่า เกิดมาเพื่อเป็น…
คุณเองอาจไม่ได้สำคัญตนว่าเป็นคนเก่งกาจถึงขนาดว่า เกิดมาเพื่อจะเป็นหมอยา คุณพูดเองว่า นี้คงเป็นหน้าที่ และทุกการพบเจอระหว่างคุณกับหมอยาพื้นบ้านทุกคน-ไม่ใช่ความบังเอิญ หากเป็นเรื่อง ที่ถูกจัดวางมาโดยธรรมชาติ
“เราอาจเป็นผู้ถูกเลือก…” คุณพูดถึงสิ่งที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ แต่สัมผัสได้ ด้วยใจของตัวเอง “…หมอยาแต่ละคน เขาก็เป็นผู้ที่ถูกธรรมชาติเลือก ที่จะฝากความหวังของเขาไว้ และเราเองก็เป็นผู้ที่ธรรมชาติเลือกให้เป็นผู้รับการสื่อสารจากหมอยาโบราณเหล่านั้น”
โดยนัยนี้ คุณเปรียบตัวเองว่าเป็นแค่ร่างทรงของธรรมชาติ ที่จะถ่ายทอดรหัสแห่งการดูแล รักษาชีวิตไปสู่มวลมนุษย์
ผู้เล่าเรื่อง โดย ฉัน-บุรุษที่ ๑ หรือ คุณ-บุรุษที่๒ ถือเป็นการเล่าด้วยเสียงเดียว
ตอนหน้ามาว่ากันต่อในการเล่าแบบพหุผู้เล่า ซึ่งในงานเขียนเรื่องหนึ่งมีเสียงผู้เล่ามากกว่าหนึ่งก็ได้
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ที่มีผลงานตีพิมพ์ทั้งในนิตยสาร และตีพิมพ์รวมแล่มมากมาย อาทิ แผ่นดินนี้ที่อีกฟากเขา และแสงใต้ในเงามรสุม และ อีสานบ้านเฮา